พูดคุยกับแจ๊ค อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 17 ถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน การเข้าไปทำงานร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ปัญหาระหว่างการทำงานและเคสที่ไม่สมเหตุสมผลสุด ๆ ของกระบวนการยุติธรรมที่แจ๊คได้เจอ

ทำไมถึงเลือกสมัครเข้ามาเป็นอาสานักสิทธิมนุษยชน

” ตอนแรกเราไม่รู้เลยว่ามี NGOs ที่ทำประเด็นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา เราได้รู้จักกับบุคคลท่านนึงแล้วเขาก็แนะนำให้รู้จักครับ พอมาลองสมัครดูก็ได้มาฟังการชี้แจงองค์กร ซึ่งตอนแรกเลือกไว้ 3 ที่ครับ เป็นประเด็นใกล้เคียงกันหมดเลย ก็คือประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองทั้ง 3 ที่เลยครับ สรุปแล้วก็เลยเลือกที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนครับ “

ส่วนตัวคิดว่าประเด็นด้านสิทธิมีความสำคัญหรือน่าสนใจอย่างไร

” มันเป็นการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงสิทธิ์ได้มากที่สุดครับ ประชาชนบางคนอาจจะยังไม่ทราบว่าเรามีสิทธิเสรีภาพอะไรบ้าง ซึ่งเราสามารถที่จะขยายความหรืออธิบายให้เขาเข้าใจได้โดยง่าย หรือคนที่ถูกละเมิดถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ เราก็ให้ความช่วยเหลือเขาได้ “

ขยายประเด็นที่ได้ทำอยู่ตอนนี้และบทบาทหน้าที่มีอะไรบ้าง

” หลังจากที่ได้เข้าศูนย์ทนายไป บทบาทหน้าที่ที่เราได้รับในศูนย์ทนายจะเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประสานงานคดีในชั้นพนักงานสอบสวน การทำงานของเราก็คือจะต้องประสานงานลูกความ ทนายอาสา แล้วก็ตำรวจเป็นหลัก รวมถึงทนายในศูนย์ทนายด้วยครับ สมมุติว่ามีการนัดรับทราบข้อกล่าวหา เราก็คอยจัดการขอทนายแล้วก็จัดการให้มันเสร็จทั้งกระบวนการ นอกจากนั้นก็มีการรับเรื่องร้องเรียน เวลามีเหตุมีอะไรเร่งด่วนก็จะคอยรับเรื่องร้องเรียนครับ “

ทีมมอส.ได้สอบถามเพิ่มเติมว่าปัจจุบันเคสที่ศูนย์ทนายรับไว้มีจำนวนเท่าไหร่และส่วนใหญ่เป็นเคสแบบไหน ซึ่งแจ๊คก็ได้บอกกับเราเพิ่มเติมว่า

” จำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้เลยครับ แต่ว่าหลายร้อยคดีครับ ทั้งกระบวนการน่าจะเป็นหลักพัน แล้วก็จะมีมาเพิ่มเรื่อย ๆ ซึ่งเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ครับ ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคดีเชิงรับ เป็นคดีที่คนโดนเวลาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การชุมนุม หรือการโดนโทษคดี 112 คือคดีที่เกี่ยวกับหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ครับ “

ถ้าเกิดให้ลองสะท้อนตั้งแต่เริ่มทำงาน ปัญหาที่เจอมากที่สุดคืออะไร

” เราขอแยกเป็น 3 ส่วนก็แล้วกันเพราะเราทำในส่วนประสานงาน, ส่วนรับเรื่องร้องเรียน แล้วก็ส่วนที่เราต้องไปศาลเองด้วยก็มีครับ ”

ส่วนแรกคือการประสานงาน ปัญหาที่เราพบส่วนใหญ่ก็จะเป็นคดีเยาวชน คดีที่น้อง ๆ อาจจะยังอาจจะยังไม่ตรงต่อเวลามากนัก ลืมวันก็มี หรือว่าการบริหารจัดการยังไม่ดี จนทำให้บางทีก็มีเคสที่โดนตำรวจออกหมายจับ จากการที่เราไม่ไปตามนัดครับ พอไม่ได้ไปตามนัด 2 ครั้ง เขาก็ออกหมายจับ ก็รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่เราไม่ประสบความสำเร็จในช่วงแรก ๆ รู้สึกกังวลมาก ๆ เราติดต่อน้อง ๆ ไม่ได้ ไม่รู้จะติดต่อยังไง ผู้ปกครองก็ไม่รับสาย อันนี้เป็นปัญหาในเรื่องของการประสานงานครับ หรืออย่างกรณีที่ทนายความอาจจะให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายไม่ครบถ้วน คือกระบวนการในชั้นสอบสวนเนี่ย มันคือกระบวนการรับทราบข้อกล่าวหา มันมีความสำคัญ มันคือด่านแรกของกระบวนการยุติธรรม กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างสำคัญที่สุดแล้วก็จะพลาดไม่ได้ แล้วคนที่ทำตรงนี้ก็คือทนายอาสาซึ่งอาจจะยังไม่ใช่พนักงานประจำศูนย์ทนาย จริง ๆ ก็มีการอบรมหรือการประเมินแล้ว แต่ว่าบางทีอาจจะมีตกหล่นทางข้อมูลไปบ้าง ซึ่งเราก็ไล่ ๆเก็บก่อนที่จะขึ้นศาล มันก็เป็นปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ นะครับยังไม่ใหญ่มาก “

” ในส่วนที่สอง การรับเรื่องร้องเรียนเนี่ย ที่เจอก็มีหลายประเด็นเหมือนกัน ส่วนใหญ่ที่โทรมาเนี่ยมันไม่ตรงหลักเกณฑ์ของศูนย์ คือศูนย์ทนายความจะทำเกี่ยวกับประเด็นเขาเรียกว่าคดีอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับการแสดงออกสิทธิเสรีภาพทางการเมืองหรือการชุมนุม แต่ส่วนใหญ่ที่รับเรื่องร้องเรียนก็จะเป็นประเด็นอื่นที่มันไม่เกี่ยว ซึ่งเราอาจจะยังไม่มีชุดข้อมูลที่เราจะรู้ทั้งหมดว่า ประเด็นที่คุณอยากจะให้เราช่วยเนี่ย เราควรจะไปปรึกษาองค์กรไหน ส่วนใหญ่ก็จะโยนให้สภาทนายความซึ่งเขาให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้ครับ หากเป็นคดีที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจก็จะส่งไปให้กลุ่มฟื้น ก็พยายามจะรู้ให้มากที่สุดแต่ว่าเราก็รู้ยังไม่เยอะพอ จะรู้แค่ว่ามูลนิธิกระจกเงา, กลุ่มฟื้น, สภาทนายนี่แหละครับ ซึ่งบางอย่างมันไม่ใช่หน้าที่ของเราหรอก แต่ว่าด้วยสภาพจิตใจที่เขามาแล้ว เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการรับฟังเขาได้ หลีกเลี่ยงการที่เราจะบอกปัดไปเลยเขาร้องไห้มาครับ จิตใจเรามันก็ไม่ดีไปด้วย เขาก็ไม่ดีด้วย ดังนั้นเราก็ต้องรับฟังเขาก่อนว่าเขาเจออะไรมา “

” มีเคสที่รุนแรงแบบก็เป็นน้อง ๆ ที่ได้ข้อมูลจากนักเรียนนักเรียนเลวครับ เขาโดนคุกคามเกี่ยวกับที่เขาไปโพสต์ทวิตเตอร์ในประเด็นเกี่ยวกับทรงผม แล้วก็ทางโรงเรียนทราบก็เลยไปหาต้นตอของต้นโพส ซึ่งน้อง ๆ เขาก็กลัวแล้วก็มีการไล่ตรวจโทรศัพท์ น้อง ๆ บางคนก็ยินยอม ซึ่งจริง ๆ แล้วตามกฎหมายเขายังต้องมีหมายเลยถึงจะได้ตรวจเลย แต่นี่อาจารย์ถือวิสาสะไปตรวจ เป็นประเด็นแบบนี้แหละครับซึ่งมันไม่เข้าหลักเกณฑ์แต่ว่าเราก็ต้องให้คำแนะนำเบื้องต้น ให้เขาไปจัดการในชีวิตเขาต่อได้ หรือว่าประเด็นโดนข่มขืนกระทำชำเรามา ประเด็นเกี่ยวกับคดีแพ่ง ประเด็นคดีปกครอง ประเด็นเกี่ยวกับเยาวชน คือมันเยอะมาก ซึ่งเราก็ต้องรับฟัง บางทีเราก็ไม่สามารถที่จะให้การช่วยเหลือได้ก็รู้สึกเศร้าด้วย แล้วก็จะมีประเด็นต่อไปที่เกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียนคือ ประเด็นที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์แล้วก็โทรมาดึกด้วยครับ ตอนนี้เราต้องพกโทรศัพท์ของศูนย์ทนายติดตัวไว้ตลอดเวลา รวมกับโทรศัพท์ส่วนตัวก็เป็น 2 เครื่อง พอโทรมาก็จะมีตั้งแต่ช่วงห้าทุ่มถึงตีสามเลยครับ ถ้ารับบางทีก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์เพราะว่าถ้าเกิดโทรดึก ๆ เนี่ยบางทีก็เราก็ต้องคิดแล้วว่ากรณีโดนจับหรือเปล่า เพราะว่าศูนย์ทนายจะต้องสแตนบายเพื่อขอทนายเร่งด่วนเพื่อความยุติธรรมให้ได้มากที่สุดเนอะ บางทีเราก็ต้องยอมตื่นมาตอนตีสอง ตีสามขึ้นมาเพื่อรับโทรศัพท์ ไม่งั้นเขาก็อาจจะโดนอะไรที่มันส่งผลเสียกับเขาได้ครับ “

แล้วประเด็นที่ไปทำงานในชั้นศาลล่ะ

” คือทนายจะให้เราไปจัดการยื่นคำร้องหรือไปดำเนินการทางศาล เช่นฟังคำพิพากษา ก็ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นกระบวนการของศาลซึ่งเรื่องความยากเนี่ยมันก็ยากในบริบทของมันนะ แต่ว่าเรื่องความเอื่อยเฉื่อยของระบบข้าราชการไทยมันทำให้ทุกอย่างมันช้า ทั้ง ๆ ที่มันมีวิธีที่ดีกว่านี้ครับ แล้วก็มีการกลั่นแกล้งกัน โดยที่เราก็สังเกตได้ตัวเองนะว่ามันคือการกลั่นแกล้ง เช่นบางกรณีเนี่ยเราจัดการประกันตัวผู้ต้องหามาแล้ว ยื่นเรื่องไปแล้วก่อนใครแต่สิ่งที่ได้กลับมาก็คือคำสั่ง ประกันตัวมาท้ายสุด เลทยาวยันเย็น ซึ่งจริง ๆ แล้วเราไปยื่นประกันตั้งแต่สิบโมง สิบเอ็ดโมงแล้ว ซึ่งเราพอที่จะดูออกว่ามันเป็นการกกลั่นแกล้งเหมือนกันครับ หรือไม่ก็ชั้นพนักงานสอบสวนซึ่งย้ายสถานีตำรวจ สมมุติว่าเหตุเกิดที่สน.นี้แต่ว่าโดนย้ายไปอีกสน.หนึ่งเพื่อกลั่นแกล้ง หรือเพื่อเขาอ้างเหตุผลประการอื่นเพื่อดึงไป มันไม่ถูกต้องตามกฎหมายเท่าไหร่ “

” คือมันเป็นปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าถามว่ามันเล็กน้อยจริง ๆ มั้ย มันก็ค่อนข้างส่งผลเสียทุกอย่างครับ ทั้งกระบวนการยุติธรรมไทยใน มันเป็นโดมิโน่ที่พอทำอย่างนี้ได้แล้วมันก็จะเกิดต่อไปมากขึ้น เพราะเคยชินกับสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง “

เคสที่นอนเซ้นส์ (Nonsense) ที่สุด

” จริง ๆ มันก็นอนเช้นส์ทุกเคสนะ แต่ที่หนักสุดคงเป็น หยุด APEC คือวันนั้นเราได้มอนิเตอร์ด้วย ได้ลงพื้นที่จริง ๆ ด้วยตั้งแต่วันก่อนหน้าแล้วก็วันนั้น เราได้เห็นสิ่งที่มันประหลาดพิกลในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการเลยครับ คือการเริ่มที่จะสลายการชุมนุมอ่ะครับ มันไม่มีน้ำหนักพอที่จะสลายด้วยซ้ำ การใช้ความรุนแรงหรือใช้อารมณ์ซึ่งมันก็มีหลักฐานชัดเจนครับ ไม่ใช่สิ่งที่เขากล่าวหาแต่มันคือการที่มีหลักฐานชัดเจนในการใส่อารมณ์ การทำร้ายประชาชน แล้วเหตุผลที่สลายการชุมนุมก็ไม่มี “

” ต่อมาก็คือการนำตัวผู้ต้องหาไปที่สน.ก็ไม่ถูกหลักอย่างที่กล่าวข้างต้น เหตุการณ์ที่เกิดเนี่ย ถ้าไม่ใช่สน.ชนะสงครามก็สำราญราษฎร์ แต่กลับพาไปสน.ทุ่งสองห้อง โดยเขาอ้างว่ากลัวมวลชนจะกดดัน กลัวสถานที่ไม่เพียงพอ มันเล็กนิดเดียว ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ถูกต้อง “

” ต่อมาในกระบวนการนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บด้วยบางคนที่บาดแผลค่อนข้างเห็นได้ชัดเนี่ย เขาก็จะพาไปโรงพยาบาลจุฬาภรณ์แต่ว่าไม่ได้พาไปทุกเคสนะ มีเคสที่มีบาดแผลรุนแรงเหมือนกันแต่ไม่ถูกพาไป โดยแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจเนี่ย ได้มาตรวจร่างกายและให้ความเห็นว่า ไม่รุนแรงคิดว่าทนได้ จนมีทนายเขาได้สู้ในประเด็นนี้ว่า คุณพูดเองรึเปล่า คุณยืนยันไหม ถ้ายืนยันจะได้บันทึกไว้ว่าเขายืนยัน สรุปแล้วเขาก็ไม่กล้ายืนยัน ก็เลยได้ไปคุยกับผู้การที่จัดการในคดีนี้ เขาก็รับทราบ แต่ระยะเวลากว่าที่ผู้ได้รับบาดเจ็บจะได้ไปเป็นเวลานานมาก 3-4 ชั่วโมง สรุปไปแล้วก็คือมีบาดแผลบริเวณใบหน้า พูดง่ายๆคือกระดูกใบหน้าแตก หัวช้ำ ฟันหัก ปากแตก มีแผลโดนยิงบริเวณแขนด้วยกระสุนยาง โดนกระทืบหน้าอก เขารู้สึกแน่นหน้าอกและปวดหัวในเวลานั้น คือมันไม่เบาเลยครับ ไม่ไปโรงพยาบาลยังไงก็ไม่ได้ ถ้าใบหน้าแตกเนี่ยจริง ๆ มันก็ค่อนข้างอันตรายแล้วเนอะ ถ้าสมมุติว่ากระโหลกมันแตก มันบวม มันอักเสบ ติดเชื้อขึ้นมา มันจะสายเกินไปรึเปล่า “

” หลังจากนั้นเนี่ยพอได้ไปแล้ว กระบวนการก็ดำเนินไปโดยที่ตำรวจไม่ได้มีการเตรียมการใด ๆ เลย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทั้งทนายความและผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่ เบื้องต้นก็มีการให้ข้าวกินแต่ก็ไม่ได้อำนวยความสะดวกมาก คือเขาปล่อยระยะเวลาให้ยืดยาวและมีท่าทีที่จะไม่ให้ประกันตัวด้วย จนต้องมีการต่อรองกัน ก็คือพี่บารมี ขออนุญาตเอ่ยชื่อนะครับ พี่บารมีได้ต่อรองกับตำรวจ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นรองผบ. ซักอย่าง เขาได้ต่อรองว่าอยากจะให้ประกันตัวแต่เหมือนมีคำสั่งมา ซึ่งเขาไม่สามารถตัดสินใจเองได้ คำสั่งก็คือการประชุม APEC ยังไม่หยุดเลยยังไม่ปล่อย ทั้ง ๆ ที่ทุก คนเขาก็บาดเจ็บ ไม่มีแรงไปชุมนุมต่อแล้ว โดนทำร้ายมา โดนขังมาก็เพลียกันหมด ตอนแรกมีท่าทีจะไม่ปล่อย จนเขาต่อรองว่า โอเค จับเขาไว้คนเดียว แล้วยืนยันว่าเราจะไม่ไปชุมนุม สรุปแล้วก็ได้ประกันตัวในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นคดีเล็กน้อยมาก คดีพรบ.ชุมนุมธรรมดา มันค่อนข้างที่จะนอนเซ้นส์จริง ๆ นั่นแหละครับกระบวนการตอนนั้น มีท่าทีแข็งกร้าวกับประชาชนที่มาให้กำลังใจ จะเห็นได้ตามคลิปว่ามีการตั้งแนวโล่ห์ป้องกันสน.ไว้ มีการถ่ายรูปอยู่ตลอดเวลาเพื่อคุกคามครับ ประมาณนี้ เคสนี้ที่เราคิดว่าใกล้ตัวสุดแล้วก็หนักสุด “

” เขาจับก่อนแล้วเขาก็ไปประชุมกันในห้องชั้นสามของสน.ทุ่งสองห้องครับ ว่าจะให้ข้อหาอะไร ก็คือมีการจับไปก่อน เราไปถามเขาว่าจับข้อหาอะไร เขาก็บอกประชุมกันอยู่เดี๋ยวจะบอกทีเดียว เขาก็มีการประชุมกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ครับ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ไปเอาคนที่จบใหม่มาทำ เขาก็ตัดสินใจเองไม่ได้ ก็ต้องรอฟังคำสั่งจากผู้ใหญ่อยู่ดี คือมีการตีธงไว้ชัดเจนครับว่าเบื้องต้นจะไม่ให้ประกันตัว แล้ววันนั้นก็มีสส.จากพรรคการเมืองทั้งหมด 2 พรรคมาช่วยพูดกับระดับผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ช่วยพูดกับระดับรัฐมนตรีให้ ก็เป็นประโยชน์ที่ได้ช่วยตรงนี้ อาจเป็นเพราะมีการช่วยเหลือของสส.ด้วย มีการต่อสู้จากทนายด้วย มีการต่อรองของผู้ต้องหาด้วย หลายๆอย่าง วันนั้นก็เลยได้ประกันตัวครับ “

ถ้าเกิดให้ลองมองสถานการณ์ด้านสิทธิในไทย อตีดปัจจุบัน และแนวโน้มอนาคต คิดว่ามีทิศทางอย่างไร

” สถานการณ์สิทธิในบ้านเมืองไทย คิดว่าสถานการณ์มันดีขึ้นจากแต่ก่อนอยู่แล้ว แต่ว่ามันยังไม่ใช่จุดที่เราต้องการ มันยังมีการต่อสู้ต่อ คือมันก็ไม่ใช่ว่าจะดีในทุก ๆ ด้านนะ สิทธิมนุษยชนมันมีหลายด้านมาก ซึ่งบางอย่างมันก็มีการพัฒนาไปด้วยแต่ว่าบางอย่างก็ยังอยู่ที่เดิมตั้งแต่โบราณ บางอย่างลดน้อยต่ำลงเลยครับ คือมันไปในแนวทางที่ดีขึ้นแต่ว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด “

ถ้าเกิดว่าหลังจบโครงการ จะทำงานด้านสิทธิฯ ในรูปแบบตัวเองอย่างไร

” อยากเป็นทนายทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนครับ อยากเก่งแบบทนายความหลายๆท่าน อย่างทนายด่าง ทนายสมชาย ประมาณนี้ครับ ซึ่งเก่งในที่นี้ไม่ใช่แค่เก่งด้านสิทธิอย่างเดียวแต่อยากเก่งในคดีอาญาทั้งหมด เราอยากเป็นทนายความที่มีความสามารถแบบนั้น แล้วก็อยากจะอยู่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อไปครับ “

ติดตามพวกเราได้ที่ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai