อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 15 วันนี้ แอดมินนำเรื่องราวของนักสิทธิจากดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นปลายด้ามขวานอย่างจังหวัดปัตตานีว่าจะมีประเด็นอะไรร้อนแรงบ้าง หลังจากมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

TVS: แนะนำตัวเองหน่อยค่ะ ว่าเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน
ลุกหมาน: ชื่อ”ลุกหมาน” หรือเรียนสั้นๆ ว่า “มัง” เป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 15 ทำงานอยู่ที่ศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) จังหวัดปัตตานี ปัจจุบันเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยครับ

TVS: พอพูดถึงศูนย์ทนายความมุสลิม ช่วยอธิบายคร่าวๆ ได้ไหมคะว่าบทบาทเค้าทำอะไรบ้าง
ลุกหมาน: MACเนี่ยก็ช่วยเหลือด้านคดีความทั่วไป มีออฟฟิศอยู่ใน 5 พื้นที่ คือ กทม. นราธิวาส สงขลา ยะลา ปัตตานี
แต่งานหลักจริงๆ แบ่งได้เป็น 4 งานใหญ่ๆ งานแรกเป็นงานเกี่ยวกับศาล ว่าความคดีต่างๆ
อย่างที่สองเป็นพวกกิจกรรม งานเชิกรุกต่างๆ ของ MAC ลงพื้นที่อะไรแบบนี้
อันที่สามเป็นงานรับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิ
ส่วนงานบทบาทสุดท้ายนี่เป็นงานภายในออฟฟิศ เกี่ยวกับพวกข้อมูลต่างๆ ที่เป็นข้อมูลดิบ หน้าที่ผมจะเน้นทำในส่วนของงานภายในออฟฟิศ งานร้องเรียนมากกว่า

TVS: ที่ภาคใต้มีประเด็นอะไรที่โดดเด่นแตกต่างออกไปจากภาคอื่นๆ ไหมคะ
ลุกหมาน: ก็คือ กฎหมายพิเศษที่ภาคใต้นี่จะมีการประกาศบังคับใช้อยู่ 3 ฉบับ
อย่างแรกเป็นพวกพ.ร.บ. พ.ร.ก. กฎอัยการศึก อย่างที่สองก็พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างที่สามเป็นพ.ร.ก.ความมั่นคง ที่มีการประกาศใช้เฉพาะในภาคใต้

TVS: คิดว่าทำไมเราถึงต้องมีกฎหมายที่แบ่งแยกแตกต่างออกไป
ลุกหมาน: คิดว่ารัฐทำงานยากในการจับกุม กฎหมายปกตินี่ต้องมีหมายจากศาลมาถึงจะเรียกจะจับได้ แต่ที่ภาคใต้นี่ เมื่อรัฐสงสัยว่าใครทำผิดก็เชิญตัวมาได้เลย

TVS: เท่าที่ทำงานคลุกคลีกับข้อมูลต่างๆมา มีอะไรที่เรารู้สึกไม่โอเคไหม
ลุกหมาน: เอาตามข้อมูลจากเดือนก่อนที่เป็นข้อมูลสดๆ ร้อนๆ เลยนะ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่มีการมาเก็บ DNA จากประชาชน แต่ก่อนฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายทหารนี่จะมีการมาเก็บ DNA ในพื้นที่นี่ มันมีการปิดล้อมมีการปะทะกัน มีการวิสามัญคนไป 4 คน ไม่พอ เจ้าหน้าที่ยังสงสัยว่ามีผู้ร้ายเหลืออยู่ แค่นี้ก็เพียงพอกับการมาเปิดบูธมีชาวบ้านโดนเก็บ DNA ไปเกือบ 20 คน ซึ่งผมมองว่าจากสถานการณ์โควิดปัจจุบันนี่ก็ไม่เหมาะสมนะที่จะมารวมกลุ่มกัน
วิธีการเก็บนี่ก็คือ เค้าจะเอาก้านสำลีมาขูดๆที่กระพุ้งแก้ม ถึงจะมีแบบฟอร์มถามความยินยอมก็ทำๆ ให้เหมือนถูกต้องไปอย่างงั้น แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้มีความยินยอมกันจริงๆ เพราะถ้าไม่ยอมก็จะถูกสันนิษฐานว่าเป็นคนร้ายไว้ก่อน ประมาณว่ามัดมือชกนั่นแหละ

TVS: จากก่อนหน้ามาจนตอนนี้ที่เราได้ทำงานกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม แนวคิดทางการเมืองของเราคงเดิมหรือว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างคะ
ลุกหมาน: ผมก็พยายามจะเข้าใจภาครัฐนะ แต่ต้องเล่าก่อนว่าทางภาคใต้มันมีความขัดแย้งที่ชัดเจนมากแล้วเราก็รู้กันอยู่ ประเด็นที่ผมจะอธิบายก็คือในเมื่อฝ่ายตรงข้ามที่หมายถึงคู่ต่อสู้ของรัฐยังประกาศยุติการต่อสู้เพื่อให้หมอทำงานได้สะดวกขึ้นในสถานการณ์โควิด แต่ฝ่ายรัฐกลับเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะปราบปรามคู่ขัดแย้งของเค้า ผมเกรงว่ามันจะเกิดเงื่อนไขที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลับมาสร้างความไม่สงบอีก ในเมื่อเค้ายอมยุติ รัฐก็ควรยุติหรือชะลอออกไปก่อน ซึ่งผมมองว่ารัฐบาลชุดนี้พยายามที่จะฉวยโอกาสให้มาก พูดง่ายๆ ก็คือไม่ฟังที่ NGO พยายามสะท้อนปัญหาอะไรเลย

TVS: คำว่า “ฝ่ายตรงข้าม” ที่ว่านี่หมายถึงใครคะ
ลุกหมาน: ต้องเล่าก่อนว่าเมื่อก่อนรัฐพยายามที่จะปกปิดข่าว เรื่องปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลก็มีการยอมรับเพราะเริ่มๆ ถูกกดดัน เช่นพวกกลุ่ม BRN ที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มปลดปล่อยที่เค้าเรียกว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดน

TVS: คิดว่าการเรียนกฎหมายของเรานี่มันช่วย Support งาน หรือสังคมอย่างไรบ้าง
ลุกหมาน: จริงๆ ผมตัดสินใจเรียนกฎหมายเพราะตอนเด็กๆเคยมีประสบการณ์ที่หมู่บ้านถูกปิดล้อมครั้งใหญ่เลย เราก็เกิดคำถามในใจ ไม่เข้าใจว่าทำไมทหารต้องทำขนาดนี้ พอปิดล้อมแล้วเหมือนการตรวจค้นของเค้าไม่มีหลักการอะไรเลย ทำให้เกิดความคิดว่าเราต้องเริ่มเรียนกฎหมายแล้วแหละ(ฮา) การที่เราเรียนกฎหมายมามันก็ช่วยให้เราคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ เกิดความกล้าคุยกับเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้นเพราะเราเริ่มรู้สิทธิมากขึ้นแล้ว

TVS: เราอยากบอกอะไรกับผู้ใช้อำนาจ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน (นายสั่งมา) โดยไม่สนว่าเป็นการละเมิดสิทธิชาวบ้านไหม
ลุกหมาน:อยากให้เลิกกฎหมายความมั่นคง กฎหมายนี้มันเปราะบางมากอยู่กับสิทธิมนุษยชน ผมอยากจะบอกว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่เนี่ยควรที่จะเปิดช่องเพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะตรวจสอบการทำงานตรงนี้ได้ อย่างประเด็นการวิสามัญเนี่ย ข้อมูลจากชาวบ้านก็เป็นข้อมูลชุดนึง จากแหล่งข่าวก็เป็นอีกชุดนึง จากไอโอก็เป็นอีกชุดนึง

TVS: ที่บอกว่ามีการวิสามัญล่าสุดนี่ทราบไหมคะว่าเป็นใครทำไมถึงถูกวิสามัญ
ลุกหมาน: เป็นคู่ต่อสู้ของรัฐนี่แหละ มีคดีติดตัวอยู่ประมาณ 9 หมาย แต่จุดที่เจ้าหน้าที่ไปวิสามัญของเค้าคือที่บ้านภรรยาของเค้า ไม่รู้ว่าเค้ามีอาวุธหรือไม่มีอาวุธ ชาวบ้านก็ถกกันอยู่ว่าเค้าไม่มีอาวุธแค่กลับบ้านมาเฉยๆ ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงขั้นต้องวิสามัญเค้า ผมมองว่าแค่คนๆ เดียวทำไมเจ้าหน้าที่ต้องพากันไปเป็นร้อยๆ คน แต่ก็พอเข้าใจแหละว่าเป็นเรื่องความปลอดภัย แต่ทำไมต้องวิสามัญเค้า ไม่มีความจำเป็นเลย

ทุกๆ ครั้งที่เกิดการวิสามัญ เราจะได้ข่าวจากชาวบ้านว่าเจ้าหน้าที่จับคนร้ายไปแล้ว มีการสร้างภาพว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนแล้วนะ แต่ก็ไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้จริงๆ เพราะก่อนที่จะวิสามัญเจ้าหน้าที่ก็มักจะอ้างว่าฝ่ายตรงข้ามเริ่มก่อน แม้สังคมจะเกิดคำถามแต่สุดท้ายแล้วคำถามนั้นมันก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้

TVS: เราพอจะมองเห็นหนทางแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง
ลุกหมาน: เท่าที่ผมเห็นตอนนี้ก็คือ ต้องมีการตรวจสอบได้ แล้วต้องบอกก่อนว่าทางองค์กรไม่ค่อยมีงานทำงานในเชิงรุก ส่วนมากจะเป็นการทำงานที่ปลายเหตุมากกว่า ปัญหามันก็เลยยังอยู่ตรงนี้แล้วมันเป็นการต่อสู้เชิงโครงสร้าง ผมมองว่าก็คงต้องสู้ไปอีกนาน

TVS: พอพูดว่า “คงต้องสู้ไปอีกนาน” เรามีความรู้สึกยังไงตอนที่ต้องเอ่ยประโยคนี้ออกมา
ลุกหมาน: ผมก็ไม่ได้ท้อนะ มันเป็นพลังมากที่เรายังสามารถทำประโยชน์ได้เรื่อยๆ แต่ก็อยากให้จบเร็วๆ เหมือนกัน (ฮา)

TVS: ท้ายสุดนี้เราอยากบอกอะไรกับชาวบ้านที่ยังคงไม่ตระหนักในเรื่องสิทธิของตัวเอง หรือยังคงเห็นดีเห็นงามกับการที่เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิประชาขนบ้างไหมคะ
ลุกหมาน: ผมอยากบอกว่ามันสุ่มเสี่ยง แม้ว่าคุณจะไม่ใช่ผู้กระทำความผิดแต่ทุกคนก็มีสิทธิที่จะถูกเชิญตัว คือผมมองว่าตัวคุณค่าของความเป็นมนุษย์มันเท่ากันไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรก็ตามแต่สุดท้ายแล้วคุณก็คือมนุษย์

ประท้วงที่นี่ล่าสุดก็เมื่อวันที่ 7 สิงหา ที่นราธิวาส ปัตตานี เป็นม็อบสาขาย่อย (ฮา) เหมือนว่าวันเสาร์ที่ 14 นี้ก็จะมีอีกนะ มันเป็นเหมือนปรากฏการณ์หนึ่ง เพราะว่าปัตตานีนี่หลังจากที่มีการสลายการชุมนุมเมื่อประมาณ 15 – 16 ปีที่แล้ว มันก็ไม่มีการชุมนุมอีกเลย คนเค้าก็กลัวกันแหละ แค่ไปร่วมชุมนุมนี่ก็ถูกตราหน้าแล้วว่าเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบแล้ว มันเคร่งกว่าในเมืองอีก การจะปราบม็อบหรือสลายการชุมนุมนี่ก็ยิ่งทำได้ง่ายมากกว่าเพราะเมื่อรัฐใช้กฎหมายความมั่นคงนี่เค้าก็จะพาตัวไปที่ค่ายของทหารเลย กฎหมายมันระบุว่าไม่ให้ไปที่สถานีตำรวจหรือเรือนจำ แล้วต้องบอกว่าคนที่เข้าไปในค่ายจาก 9 ใน 10 รายถูกซ้อมให้รับสารภาพในค่าย ข่าวเมื่อราว 2 ปีที่แล้วก็มีที่ตายในค่ายแล้วทหารบอกว่าลื่นล้มในห้องน้ำ กล้องวงจรปิดทุกตัวพร้อมใจกันเสีย ไม่มีอะไรที่ตรวจสอบได้เลย เวลาเค้าเรียกตัวก็คือถูกสันนิษฐานไปก่อนแล้วว่าเป็นคนทำผิด ซึ่งมันผิดหลักการ เรื่องแบบนี้มันชินไม่ได้นะ แต่น่ากลัวที่ชาวบ้านก็ชินไปแล้ว

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai