เปิดมุมมองนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม จั๊มพ์-ณัฐชยา พิเชฐสัทธา ดีกรีนักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแถวสามย่าน
ผ่านบทสัมภาษณ์บอกเล่าแนวคิดและประสบการณ์ในการทำงานสิ่งแวดล้อมท่ามกลางสภาวะทางการเมืองที่คุกรุ่น

TVS : แนะนำตัวเองให้โลกรับรู้กันหน่อยครัช ว่าเป็นใคร เรียนอะไร ทำอะไรที่ไหนมา แล้วปัจจุบันทำอะไรเอ่ย?
จั๊มพ์: สวัสดีค่ะ ชื่อจั๊มพ์-ณัฐชยา พิเชฐสัทธา จบจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ สาขากฎหมายมหาชน ปัจจุบันเป็นนักกฎหมายอยู่ที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW) และอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนแบบสมทบ รุ่น 15

งานหลักๆที่ทำอยู่ตอนนี้จะมี งานคดีปกครอง เรื่องการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กับงานขับเคลื่อนผลักดันให้มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมต่างๆในไทย หรือมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เช่น การเสนอร่างกฎหมายการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) และงานสนับสนุนทางด้านวิชาการและระหว่างประเทศ

TVS : ที่พูดถึง PRTR อธิบายคร่าวๆได้ไหมว่าคืออะไร?
จั๊มพ์: กฎหมาย PRTR ย่อๆก็คือ เป็นกฎหมายที่จะทำให้มีฐานข้อมูลด้านการปล่อยมลพิษของแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ เช่นโรงงาน และทำให้ข้อมูลเหล่านี้ ประชาชนสามารถเข้าถึง – รับรู้ – ร่วมกันตรวจสอบความเสี่ยงจากมลพิษและสารเคมีอันตรายได้ สามารถตรวจสอบได้ว่าชุมชนของตนเองมีแหล่งกำเนิดที่ปล่อยสารมลพิษอะไรอยู่รอบๆ ตัวบ้าง ทำให้ประชาชนสามารถเลือกที่อยู่อาศัยโดยรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสารมลพิษรอบตัว และสามารถเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากสารมลพิษได้อย่างปลอดภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งกฎหมายนี้มีใช้ในประเทศกว่า 50 ประเทศทั่วโลกแล้ว แต่ในประเทศของเรายังไม่มีสักที

ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ถูกยื่นเสนอเข้าสู่สภาฯไปแล้ว แต่ถูกตีความว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า ร่างกฎหมายการเงิน จะเสนอต่อสภาฯได้ ต่อเมื่อมีคำรับรองจากนายกฯ เท่านั้น และเมื่อเดือนที่แล้ว นายกฯได้ปัดตกร่างกฎหมาย PRTR

แต่นี่ยังไม่ใช่จุดจบของการมีกฎหมาย PRTR ในไทย ตอนนี้ EnLAW กับ EARTH กำลังเตรียมผลักดันโดยจะทำการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชน เป็นแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ. PRTR ต่อสภาอีกครั้ง ซึ่งคงจะต้องขอแรงจากประชาชนทุกคน ร่วมกันส่งเสียงและผลักดันให้มีกฎหมาย PRTR ในประเทศของเราสักที

TVS : ฟังดูน่าสนใจ..แล้ว PRTR มันจะส่งเอฟเฟคสังคมไทยในปัจจุบันกับอนาคตยังไงบ้างล่ะ?
จั๊มพ์: ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากที่สุด น่าจะเป็นบทเรียนจากกรณีเหตุระเบิดของโรงงานที่กิ่งแก้ว เมื่อต้นเดือนที่แล้ว ที่เมื่อเกิดเหตุประชาชนไม่มีข้อมูลเลยว่าโรงงานใกล้บ้านของพวกเขาปล่อยมลพิษอะไรออกมาบ้าง สารเคมีหรือสารพิษนั้นเป็นอันตรายแค่ไหน เมื่อไม่มีข้อมูลเหล่านี้ จึงไม่มีการเตรียมตัวรับมืออย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมาย PRTR ในไทย

TVS : 1 ปีที่ทำงานมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง คิดว่าENLAW ให้อะไรกับเรามากน้อยแค่ไหน?
จั๊มพ์: งานของ EnLAW จะเป็นงานที่ลงพื้นที่ค่อนข้างเยอะ (ช่วงก่อนโควิด) และเป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้ลองทำงานที่หลากหลาย ทำให้เราได้เรียนรู้หลายๆด้าน แล้วก็ทำให้ได้เจอความถนัดของตัวเองชัดขึ้น ว่าเราชอบทำงานแบบไหน เราเหมาะกับการทำงานด้านไหน เป็นเหมือนโรงเรียนชีวิตที่สอนบทเรียนหลายๆอย่างให้เราใน 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากที่พูดไปเมื่อกี๊ อีกอย่างที่ EnLAW ให้กับเรามากๆ คือให้ความหวังและพลังในการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นต่อไป

TVS : จากสิ่งที่เจอมาทั้งหมดทั้งมวลตอนทำงาน ต่างจากตอนเรียนยังไงบ้าง แล้วมันเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่เรามีต่อรัฐบาลบ้างไหม?
จั๊มพ์: คิดว่าไม่ได้เปลี่ยน แต่เป็นการยืนยันแนวคิดมากกว่า ว่าสิ่งแวดล้อมกับการเมืองไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแก้ได้แค่จากการช่วยกันคนละไม้ละมือของแต่ละคนเท่านั้น เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาโครงสร้าง ที่มีความยึดโยงกับการเมือง การบริหารประเทศ

จากการทำงานเราได้เห็น การออกกฎหมายและคำสั่งมากมายในช่วงรัฐบาลคสช. ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 4/2559 ที่ยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการโรงไฟฟ้าขยะ หรือการแก้ไขพ.ร.บ. โรงงาน ซึ่งก่อผลกระทบต่อสิทฺธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นการลดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและชุมชน

เราได้เห็น งบประมาณทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกหั่นลดลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อน สวนทางกับ “ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” ที่มาพร้อมกับการก่อมลพิษทางน้ำ อากาศ และทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นรวดเร็ว

เราได้เห็น กฎหมาย PRTR ที่จะมาเป็นเครื่องมือช่วยรัฐแก้ปัญหาการจัดการมลพิษ ถูกปัดตกโดยรัฐบาล สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำงานตรงนี้ เป็นการยืนยันว่า ถ้าจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ เราต้องมีการเมืองที่ดี ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส และตรวจสอบได้

TVS : ท้ายสุดนี้ขายของให้ EnLAW หน่อยจ้า
จั๊มพ์: ปัญหาทางด้านกฎหมายและนโยบายสิ่งแวดล้อมในไทยยังมีปัญหาอยู่มาก มีข้อจำกัด มีอุปสรรคค่อนข้างเยอะ…ก็อยากจะชวนมาช่วยกันขับเคลื่อน และร่วมต่อสู้ ให้ประชาชนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และได้มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai