ในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของอาสาคืนถิ่นไม่ได้ราบรื่นไปเสียทุกอย่าง เรารู้สึกดีที่ได้เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเพื่อนๆ และนั่นทำให้เราค้นพบคำตอบของการเป็นผู้นำที่ไม่ใช่ผู้นำ แบบที่เราใฝ่ฝันอยากจะเป็น”
คำบอกเล่าของนุช นุชนาฏ สว่างแก้ว อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จากจังหวัดอุบลราชธานี


กลับบ้านเพื่อสร้างจุดยืนที่มั่นคง
บทบาทของนุช เธอคือผู้หญิงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ความเข้มแข็ง และความหนักแน่นในตัวตน
“เราอยากอยู่ที่บ้านเพราะต่อให้เดินทางไปแห่งหนไหน สุดท้ายเราก็ต้องกลับบ้าน เพราะทรัพย์สมบัติและที่ทำกินของเราอยู่ที่นี่” นุชย้ำให้ฟังว่าเธอกลับบ้านเพราะว่าบ้านคือบ้าน

“เราเริ่มต้นจากการทำนา” นุชเอ่ยขึ้นก่อนจะเล่าต่อไป
“ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนที่นาดินตม ซึ่งสร้างความลำบากให้กับการทำนา มาเป็นนาที่สามารถให้ผลผลิตข้าวที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้”
นุชเล่าให้ฟังถึงบทพิสูจน์แรกของเธออย่างภาคภูมิใจ

เรียนรู้และเข้าใจตนเองผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน
ถึงแม้ว่าตัวเธอและครอบครัวจะอยู่รอดด้วยอาชีพเกษตรกรรมการปลูกพืชผสมผสาน ที่มีรายได้หมุนเวียนตลอดปี อย่างการทำนาข้าว ปลูกมันสำปะหลัง กรีดยาง และเก็บผลผลิตมะม่วงหิมพานต์ แต่ชีวิตของเธอไม่ได้ราบรื่นนัก
อย่างเรื่องการต่อสู้ในประเด็นบุกรุกพื้นที่อุทยาน ที่ทั้งครอบครัวเธอและของชาวบ้านอีกหลายคนถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่รัฐ
เธอลงใจและลงแรงมาตลอระยะเวลาหลายปี จนการต่อสู้นั้นสิ้นสุดลง ทำให้เธอและคนในชุมชนได้พื้นที่ทำกินกลับคืนมาและนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้นุชได้ทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเธอต้องพบกับอุปสรรคมากมาย
ทั้งการไม่เห็นด้วย และแรงต่อต้านจากคนในชุมชน อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้กลับทำให้เธอได้เห็น คุณค่าของตัวเอง

“ครั้งแรกที่ทำงานกับชุมชนเราเจอปัญหาหลายอย่าง มันคือความผิดหวังครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต ไม่มีใครเห็นด้วย และถูกใส่ร้ายจากใครบางคน
แต่อุปสรรคเหล่านี้กลับให้บทเรียนแก่เรา ทำให้เราค้นพบความเชื่อมั่นและความกล้าในตัวของเรา
เราก้าวผ่านมันได้ด้วยตัวเราเอง นุชเล่าทบทวนความหลังซึ่งย้ำชัดในความเก่งและแกร่งที่อยู่ข้างในตัวตนของเธอ

แรงบันดาลใจในชีวิตมาจากบทเรียนของการอยู่ร่วม
เธอสรุปถึงบทเรียนที่ได้จากเรื่องราวร้ายๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต โดยบอกว่า
“หากใครอยากจะกลับบ้านก็ใช้ความกล้าหวนกลับมาเลย แต่จะต้องยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ได้ด้วยเช่นกัน”

หากจะบอกว่าเธอเป็นคนเก่งที่ ‘ครบเครื่อง’ แล้ว ก็อาจจะกล่าวเช่นนั้นได้ แต่เมื่อถามถึงสิ่งที่บูขต้องการ และอะไรที่ทำให้เธอตัดสินใจเข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่น เธอบอกว่าเพราะเธออยากเป็นผู้นำที่ไม่ใช่ผู้นำ

“ผู้นำสำหรับเราต้องไม่เข้าถึงยาก ไม่ต้องผ่านกระบวนการยากเย็นในการเข้าถึงตัว
สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง เราอยากให้คนอื่นรู้สึกกับเราแบบนั้นในฐานะผู้นำในฝันของเรา”

“ในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของอาสาคืนถิ่นไม่ได้ราบรื่นไปเสียทุกอย่าง เรารู้สึกดีที่ได้เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเพื่อนๆ และนั่นทำให้เราค้นพบคำตอบของการเป็นผู้นำที่ไม่ใช่ผู้นำ”

ตั้งแต่วันแรกจนจบกระบวนการของอาสาคืนถิ่น รุ่น 4 ถึงวันนี้
เธอบอกว่าเธอได้คำตอบนั้นแล้ว การได้ทำงานร่วมกับเพื่อนคนรุ่นใหม่อีก 14 คน ทำให้เธอเรียนรู้บทบาทการเป็นผู้นำแบบที่เธอฝันได้แล้ว

______________________________________________________
นุช-นุชนาฎ สว่างแก้ว
อาสาคืนถิ่น รุ่นที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี
ข้อมูล : เว็บไซต์อาสาคืนถิ่น
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : How to return home กลับบ้านอย่างไรให้รอด

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai