เขียนโดย ประชาไท
วันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2013

เสวนา เสรีภาพสื่อมวลชนในอาเซียน1ภาพประกอบโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

นักวิชาการ-สื่ออาวุโส ร่วมวิเคราะห์เสรีภาพสื่ออาเซียน ตั้งข้อสังเกตสื่อขาดความเข้าใจเพื่อนบ้าน เน้นข่าวเศรษฐกิจและการตลาด ขาดมิติสังคมวัฒนธรรม ขณะที่สถานการณ์เสรีภาพ ยังมีการละเมิดทั้งทางกายและการใช้กฎหมายควบคุม คาดพม่าจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อบรรยากาศการปรับตัวด้านเสรีภาพ

24 ม.ค. 2556 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย จัดการเสวนาเรื่อง เสรีภาพสื่อมวลชนในอาเซียน ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยวิทยากรประกอบด้วย กุลชดา ชัยพิพัฒน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์สิทธิเสรีภาพ จากสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า), สุภัตรา ภูมิประภาส สื่อมวลชนอาวุโส และผู้ประสานงานโครงการมีเดีย อินไซด์เอาท์, สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวอาวุโส, รศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ดำเนินรายการโดย ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

มุมมองจากซีป้า การรับรองเสรีภาพสื่อยังอยู่แค่ในกระดาษ

กุลชดา ชัยพิพัฒน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์สิทธิเสรีภาพ จากสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) กล่าวว่าเสรีภาพสื่อนั้นเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเสรีภาพของประชาชน และการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ดูเหมือนว่าผู้นำอาเซียนให้ความสำคัญกับบทบาทของสื่อ แต่หลักการที่เขียนในเอกสารกับการปฏิบัตินั้นต่างกัน กุลชดา กล่าวว่า เสรีภาพสื่อกับอาเซียนนั้น อาจจะมองได้ 4 ประเด็นคือ การปรับตัวของสื่อในประเด็นอาเซียน, หลักประกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ, การละเมิดสื่อ การไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทสื่อ ด้วยการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ยังมีอยู่มากและประเด็นสุดท้าย ความท้าทายใหม่ๆ ที่สื่ออาเซียนควรปรับตัวและรับรู้ด้วย

ตัวแทนจากซีป้าระบุว่า การปรับตัวของสื่อเข้ากับสมาคมอาเซียน มีการปรับตัวในเชิงปริมาณ มีคอลัมน์พิเศษเกี่ยวกับอาเซียนมากขึ้น แม้แต่สื่อวิทยุโทรทัศน์ หรือเฟซบุ๊ก ก็มีเพจเกี่ยวกับอาเซียนหลายเพจ แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าข้อมูลที่เอามาแชร์เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้แค่ไหน นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมนักข่าวมากขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนในอินโดนีเซียและไทย

อย่างไรก็ตาม พบว่าข่าวมีความกว้างแต่ไม่ลึก และสื่อต่างๆ เน้นนำเสนอในมุมประเทศของตัวเองกับอาเซียน และเน้นข่าวเศรษฐกิจ เพราะจับต้องได้และทำได้เร็ว ไม่ค่อยมองในภาพรวมแบบพหุภาคี ข้อจำกัดอีกประการเกี่ยวกับการปรับตัวของสู่สู่ประเด็นอาเซียนคือ บุคลากรด้านสื่อยังน้อย คนที่เข้าใจอาเซียนได้ทุกมิติยังไม่มากพอ ภาครัฐยังมองสื่อของตัวเองเป็นกระบอกเสียงมากกว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบ ทั้งรัฐบาลและประเทศสมาชิกว่าปฏิบัติตามข้อตกลงอาเซียนได้มากน้อยแค่ไหน

สำหรับประเด็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ทุกประเทศสมาชิกล้วนให้การรับรองปฏิญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 2491 และเมื่อมีการออกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ปี 2509 (ICCPR) ก็มีบทบัญญัติข้อ 19 ที่พูดถึงหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่มีแค่ 6 ประเทศที่ลงนามเป็นรัฐภาคีของ ICCPR คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม ขณะที่ธรรมนูญอาเซียนก็ระบุหลักการสิทธิมนุษยชนทั่วไป แต่ไม่ระบุหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกชัด

เรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ อาเซียนเพิ่งมีปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากล รวมถึงกระบวนการในการร่างปฏิญญาก็มีปัญหา ประชาสังคมต่างๆ มีส่วนร่วมน้อย และไม่ได้พูดถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นข้ามพรมแดน ซึ่งถือเป็นจุดบอดเพราะแสดงนัยสำคัญว่าประเทศในอาเซียนหวงพื้นที่เสรีภาพภายใน ซึ่งขัดแย้งกับเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้เกิดการปิดกั้นการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารออนไลน์

“การละเมิดสิทธิเสรีภาพในอาเซียน เรามองเห็นพัฒนาการตัวนี้ผกผันกับความพยายามที่จะเกิดการรวมตัวของอาเซียนในเชิงเศรษฐกิจ และถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ จากการเก็บสถิติ มีการละเมิดไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ในจำนวนนี้ 71 ครั้งเป็นการใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม และอีก 29 ครั้งเป็นการละเมิดโดยใช้ความรุนแรง เช่น ทำร้ายร่างกาย ยิงทิ้ง ข่มขู่ด้วยวาจา ปิดล้อมสำนักข่าว”

กุลชดากล่าวต่อไปว่า แม้ในประเทศประชาธิปไตย ก็ยังพบการละเมิดสิทธิเสรีภาพและทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าว เช่นกรณีของฟิลิปปินส์ โดยตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ความรุนแรงทางกายภาพนั้นมักเกิดกับนักข่าว หรือสื่อ แต่สำหรับประชาชน หรือบล็อกเกอร์จะใช้กฎหมายที่เข้มงวด ทั้งนี้เธอกล่าวว่า สิ่งที่น่าจับตามองคือความเปลี่ยนแปลงในพม่า ซึ่งเชื่อว่า การปฏิรูปสื่อจะส่งผลต่อภาพรวมต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยในอนาคต

ขณะเดียวกัน ประชาสังคมในอาเซียนก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในแง่การต่อรองเชิงสันติ แต่มีพลัง พร้อมทั้งขยับบทบาทจากแต่ก่อนที่ต้องพึ่งพาสื่อมาเป็นที่พึ่งพาของสื่อ และมีพลังในการทำให้ประเด็นไปถึงสังคมในวงกว้างและเร็วขึ้น สำหรับสื่อใหม่นั้น ตัวแทนจากซีป้ากล่าวว่า จะมีพลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สื่อออนไลน์นั้นเป็นทางเลือกของข้อมูลข่าวสาร แต่ก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์สงครามแย่งชิงระหว่างรัฐกับสื่อใหม่รุนแรงด้วยเช่นกัน เช่น การจับบล็อกเกอร์โดยรัฐบาลเวียดนามเป็นตัวอย่างที่ดี

สื่อพม่าบนถนนสู่ประชาธิปไตย

สุภัตรา ภูมิประภาส สื่อมวลชนอาวุโส และผู้ประสานงานโครงการมีเดีย อินไซด์เอาท์ ซึ่งติดตามประเด็นการเปลี่ยนผ่านในพม่าอย่างใกล้ชิดกล่าวถึงสถานการณ์สื่อในพม่าว่า วันที่ 20 ส.ค.2555 ประวัติศาสตร์ใหม่เพิ่งเกิดเมื่อกรมสารสนเทศประกาศว่าไม่ต้องส่งต้นฉบับให้กรมฯ พิจารณาอีกต่อไป และเมื่อพม่าเปิดประเทศก็มีการขยับอันดับเสรีภาพสื่อขึ้นมา จาก 174 เป็น 169 ซึ่งดีกว่าเวียดนาม ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือเมือเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นักข่าวออกมาเดินขบวนเรียกร้องเสรีภาพสื่อ ซึ่งไม่มีการปราบปรามแต่อย่างใด ถือเป็นมิติใหม่ของสื่อในพม่า
สุภัตราระบุว่า สิ่งที่น่าจับตามองที่สำคัญสำหรับสื่อในพม่าก็คือ บทบาทและความท้าทายของสื่อพลัดถิ่นที่เคยมีฐานอยู่ในต่างประเทศ เช่น มิซซิมม่า ที่มีฐานในนิวเดลี ประเทศอินเดีย, เสียงประชาธิปไตย ซึ่งตั้งอยู่ที่ ออสโล ประเทศนอร์เวย์ และอิระวดี ที่ตั้งอยู่ในเชียงใหม่ ประเทศไทย เมื่อพม่าปรับตัวสู่การเปิดประเทศทำให้สื่อพลัดถิ่นที่จากบ้านมามากกว่า 20 ปี ก็เริ่มได้รับอนุญาตให้กลับไป และสามสำนักข่าวสามารถกลับไปตั้งสำนักงานสาขาในประเทศได้แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก และ เดอะอิระวดีสามารถออกนิตยสารในย่างกุ้งได้เป็นครั้งแรก

ขณะที่ความท้าทายสื่อพม่าพลัดถิ่น ปัญหาหลักคือเรื่องแหล่งทุน และการถูกเรียกร้องให้เป็นสื่อมืออาชีพมากขึ้นเพราะที่ผ่านมาเป็นกระบอกเสียงฝ่ายต่อต้านเผด็จการ เมื่อเป็นกึ่งประชาธิปไตยก็จะถูกเรียกร้องความเป็นมืออาชีพมากขึ้น มีแหล่งข่าวที่หลากหลาย ไม่ใช่ด่ารัฐบาลอย่างเดียว

สื่อพลัดถิ่นจะถูกจับจ้องจากนักเคลื่อนไหวว่าบทบาทใหม่ต้องประนีประนอมกับรัฐบาลไม่มากก็น้อย หรือร่วมมือกับสื่อในประเทศสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันสื่อ รวมถึงต่อรองกับแหล่งทุน ในปีที่ผ่านมา พม่ายังปล่อยนักข่าวจากการคุมขัง ทำให้พม่าซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีนักข่าวถูกคุมขังมากที่สุดในโลก ไม่มีสถิติการคุมขังนักข่าว โดยตัวเลขสถิติของนักข่าวที่อยู่ในคุกซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการปกป้องนักข่าว (Committee to Protection Journalists) ระบุว่านักข่าว บรรณาธิการ และคนทำงานวิชาชีพสื่อจำนวน 232 คนทั่วโลกที่ยังถูกคุมขังอยู่ โดยไม่มีสื่อพม่าอยู่เลย ขณะที่เวียดนามมีนักข่าวถูกคุมขัง 14 คน และไทย 1 คน คือนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข

ชีวิตสื่อในอินโดจีน กับคำถามสมาชิกอาเซียนพร้อมเป็นครอบครัวเดียวกันหรือ

สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวอาวุโสที่คร่ำหวอดในการทำข่าวในภูมิภาคอินโดจีนมาเป็นเวลากว่า 30 ปี แสดงความเห็นว่าไทยยังไม่พร้อมจะเป็นครอบครัวอาเซียนหรือเปล่า

“ผมคิดว่าเราไม่มีความพร้อม มีหลายเรื่องที่เหลวไหล โดยเฉพาะเรื่องเขมรที่บอกว่ามีการยิงกันที่ชายแดน หรือการบอกว่าที่พระตะบองมีการเขียนด่าคนไทยตามกำแพงวัด แหล่งข่าวมาจากตลาดโรงเกลือ หรือคาสิโนปอยเปตคลองลึก ผมไม่ชอบข่าวโคมลอยหรือข่าวเขาเล่าว่า”

สงวนกล่าวด้วยว่า มีเสียงสะท้อนจากแหล่งข่าวที่เป็นนักการทูตว่า AEC มากกว่าความเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งเขาเห็นว่าสื่อควรต้องให้ความสนใจเสาหลักด้านอื่นๆ ของอาเซียนด้วย

“ผมคิดว่าเสาหลักของอาเซียนควรไปพร้อมกันโดยเฉพาะเสาวัฒนธรรม-สังคมนั้นสำคัญที่สุด ก่อนที่จะเข้าใจเพื่อนบ้าน ต้องเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของเขา นิสัยใจคอ แต่ที่ผ่านมาสื่อไทยใช้แว่นตามีสี”

ผู้สื่อข่าวอาวุโสตั้งข้อสังเกตว่า จากประสบการณ์ของเขาหลายครั้งพบว่าเพื่อนบ้านรู้จักเมืองไทยมากกว่า เช่น คนขับรถในกัมพูชารู้จำนวนประชากรในไทย หรือแม่แต่ในพจนานุกรมไทย-กัมพูชา ซึ่งตีพิมพ์ในกัมพูชา มีศัพท์คำว่า ปิดสนามบิน หรือยึดทรัพย์ระหว่างดำเนินคดีด้วย

นิวมีเดียอาเซียน ไม่ได้มีแค่อินเทอร์เน็ต อย่าลืมวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวี

รศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยทำวิจัยด้านบทบาทสื่อใหม่ระบุว่า เมื่อพูดถึงสื่อใหม่ คนทั่วไปมักไปโฟกัสที่อินเทอร์เน็ต แต่ละเลยสื่อที่ส่งผลสะเทือนและเข้าถึงผู้คนอย่างกว้างขวาง คือ วิทยุชุมชน และทีวีดาวเทียม

เขาอธิบายการเปลี่ยนแปลงบทบาทสื่ออินเทอร์เน็ตว่า สำหรับประเทศไทยในยุครัฐบาลทักษิณ การใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงนั้นถือเป็นช่วงเริ่มต้น มีการแชร์ข้อมูล มีชุมชนออนไลน์ แต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงประเด็นใหญ่ๆ แม้จะเริ่มมีโต๊ะราชดำเนิน ในเว็บบอร์ดดังอย่างพันทิปแล้วก็ตาม โดยพิชญ์ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรเน็ตกว่ายี่สิบล้านคน จากสถิติปี 2547 มีประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ถึงล้านคน แต่เว็บที่ตัดอันดับท็อปเท็นเป็นเว็บบันเทิงต่างๆ เช่น สนุกดอทคอม เว็บดูดวง โดยมีเว็บไซต์ผู้จัดการติดอันดับหนึ่งในสิบเสมอ แต่ปัจจุบันนี้เว็บที่เป็นสื่อที่เริ่มเข้ามาเบียดแทรกคือไทยรัฐ

ในส่วนของภาครัฐก็จับตาอินเทอร์เน็ตต่างจากปัจจุบัน คือเน้นปิดกั้นเว็บลามกอนาจาร (ก็จับตาอินเทอร์เน็ตต่างจากเดิมที่เน้นปิดกั้นเว็บลามกอนาจาร)

“ก่อนรัฐประหาร ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปิดเว็บโป๊มากกว่าเว็บประเภทอื่น แต่หลังรัฐประหารประเทศไทยปิดเว็บอื่นมาก กว่าเว็บโป๊” โดยเขากล่าวต่อไปว่าปัจจุบันจนถึงวันนี้การจับกุมข้อหากระทำผิดที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตซับซ้อนขึ้นแล้ว และยิ่งเมื่อพ่วงกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ยิ่งซับซ้อนขึ้น “อย่างกรณีจีรนุช (เปรมชัยพร-ผอ.เว็บไซต์ประชาไท) ที่เป็นกรณีใหญ่ คือ พ.ร.บ.คอมพ์ยุคแรกไม่มีเป้าประสงค์เรื่องกฎหมายหมิ่นฯ ยุคทักษิณนั้นเน้นประเด็นเรื่องอีคอมเมิร์ซต่างๆ แต่ พ.ร.บ.คอมพ์มาออกหลังการรัฐประหารแล้วก็ถูกบิดไปใช้ในกรณีจีรนุช ซึ่งมีเนื้อเกี่ยวพันกับ 112”

ดร.พิชญ์กล่าวต่อไปว่าอินเทอร์เน็ตขยับตัวเองจากเว็บบอร์ดมาสู่เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เข้าถึงประชาชนประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ และในจำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 99.13 เปอร์เซ็นต์ใช้เฟซบุ๊ก

เคเบิลทีวีหมดยุคเหลือแดง จับตา เหลือง-ฟ้า

ดร.พิชญ์กล่าวว่า กรณีเคเบิลทีวีในเมืองไทย หมดยุคการแข่งขันระหว่างเหลือง-แดงแล้ว แต่สงครามแย่งชิงคนดูอยู่ที่เหลือง-ฟ้า คือระหว่างเอเอสทีวี กับบลูสกาย ทั้งนี้เพราะคนดูสามารถเข้าถึงสื่อทีวีแดงอย่างเอเชียอัพเดท และเอเอสทีวีได้จากจานดำเหมือนกัน ทำให้แยกแยะลำบากว่า ประชาชนติดตามช่องไหนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในเชิงสถิติแล้ว ขณะนี้ ช่องเอเชียอัพเดทนั้นเป็นช่องที่มีผู้ชมเป็นอันดับหก ขณะที่เอเอสทีวี และบลูสกายยังไล่หลังมาห่าง ซึ่งนักรัฐศาสตร์ผู้นี้ระบุว่า ทีวีดาวเทียมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง และยังคงมีความสำคัญต่อมวลชน โดยหลักฐานที่ชัดเจนว่าทีวีดาวเทียมมีความสำคัญก็คือการที่รัฐบาลในปี 2553 มีความพยายามที่จะปิดกั้นทีวีดาวเทียมของฝ่ายเสื้อแดงนั่นเอง

ธุรกิจสื่อในอาเซียน

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวธุรกิจสื่อว่า ในเชิงธุรกิจสื่อ คนทำธุรกิจสื่อจะลงทุนโดยใช้ทุกเครื่องมือไปด้วยกัน ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบรอดแคสต์ หรือสื่อออนไลน์ และทั้งสื่อเก่าสื่อใหม่นั้นเป็นสิ่งที่หนุนเสริมกัน โดยยกตัวอย่างว่าก่อนหน้านี้เมื่อเริ่มมีวิทยุและโทรทัศน์ ก็มีการคาดการณ์ว่าสื่อหนังสือพิมพ์จะตายไปแต่ในที่สุดแล้ว ก็มีการเชื่อมกัน เพียงแต่คนที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลง

ในส่วนของไทย การขยับตัวมาสู่นิวมีเดียนั้น สื่อสำนักต่างๆ ล้วนตระหนักว่าสิ่งพิมพ์อย่างเดียวนั้นอยู่ไม่ได้ โดยยกตัวอย่างการปรับตัวที่รวดเร็วของไทยรัฐ ที่แม้จะเริ่มหันมาทำออนไลน์ภายหลังแต่ก็ไปได้เร็ว จากนั้นเมื่อไทยรัฐก้าวมาทำทีวี ก็เริ่มด้วยการถ่ายทอดฟุตบอล เพื่อให้คนจำนวนมากดูฟุตบอลก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่การนำเสนอเนื้อหา

ส่วนข้อสังเกตว่า สังคมไทยไม่รู้เรื่องอาเซียนนั้น นิธินันท์กล่าวว่าในส่วนของคนทำสื่อเองก็อาจจะพอๆ กันกับประชาชน และอาจจะเป็นคล้ายๆ กันในทุกชาติสมาชิก คือมีลักษณะจับประเด็นเป็นแฟชั่น แต่ไม่มีเนื้อหาเชิงลึก เน้นข่าวธุรกิจ หวังทำรายได้ และเป็นเรื่องการตลาดมากกว่า

“ทิศทางที่น่าเป็นห่วงคือปริมาณ ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในเมืองไทยเองจะมีดิจิทัลทีวี แต่คนทำธุรกิจจริงๆ เขาไม่ค่อยลงทุนดิจิทัล เขาไม่สนใจประมูล เขาไปเล่นดาวเทียม เพราะที่สุดแล้วระบบใหม่ๆ เกิดขึ้นสามารถดูได้ทั่วโลก ถ้าไปได้ไกลก็มีโอกาสสูง อย่างไรก็ตามพอปริมาณช่องเกิดเยอะ หลายคนเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟ แต่ไม่มีเนื้อหา ยังมั่นใจว่ายังมีพื้นที่ให้กับคอนเทนต์โพรไวเดอร์”

นิธินันท์กล่าวว่าไทยเองเคยเป็นแม่แบบบทบาทสื่อในอาเซียนมาก่อน เพราะโดยรวมถือว่ามีอิสระ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ และสื่อจากประเทศเพื่อนบ้านก็มีเริ่มเข้ามาจับมือกับสื่อไทย เป็นเทรนด์ใหม่ เช่นที่เครือเนชั่นก็เริ่มจับมือกับสื่อพม่าอย่าง Media Eleven

“ทุกวันนี้สื่อไม่มีที่ไหนอยู่ได้ด้วยการทำข่าวอย่างเดียว แต่ต้องทำธุรกิจเป็นเรื่องการใช้เครื่องมือสื่อสาร อาจจะรับจ๊อบทำงานพีอาร์ให้กับเพื่อนบ้าน สื่อทำธุรกิจแน่ๆ แต่สื่อไทยก็ยังพอใจจะใช้คำใหญ่โตเรื่องสิทธิเสรีภาพของตัวเองว่ายิ่งใหญ่เหนือกว่าสิ่งอื่น อุดมการณ์ไม่ได้หายไปแต่บางทีก็หลงลืม และทำมาหากินอย่างเดียว ถ้าสังเกตดู บางครั้งข่าวในหน้าสื่อก็เป็นข่าวพีอาร์ของธุรกิจ การประเมินคุณค่าของสื่อคือ สปอนเซอร์จะจ่ายหรือเปล่าสำหรับข่าวนี้”

อย่างไรก็ตาม เธอระบุว่า ข้อจำกัดแม้แต่สื่อก็มีข้อจำกัดไม่ต่างกับประชาชนทั่วไป คือเทคโนโลยี และภาษา

“เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญมาก เคยพยายามทำการแลกเปลี่ยนข่าวกับเวียดนาม ก็พบปัญหาเทคนิค คนทำสื่อส่วนใหญ่ในไทยทำเนื้อหาแต่ไม่เก่งเทคโนโลยี ในที่สุดก็จบไป อินโดนีเซียก็มีการคุยกัน แลกข่าวกันแต่โหลดไม่ผ่าน”

สิ่งท้าทายประการสุดท้ายสำหรับสื่อในอาเซียนในมุมมองของสื่ออาวุโสคือ พื้นที่ของอาเซียนนั้นเล็กและไม่ค่อยมีประเด็นน่าสนใจในระดับสากล

“โลกตะวันตกอาจจะมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก แต่ไม่ได้สนใจอะไรมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่าไหร่เพราะมันไม่ใหญ่ เว้นแต่การรัฐประหาร หรือข่าวอองซาน ซูจี หรือข่าวของสมยศ ในแง่นี้ผู้ผลิตสื่อต้องคิดว่าอะไรที่ตลาดข้างนอกเขาจะสนใจเพราะข่าวธรรมดาๆ ขายไม่ได้ สิ่งที่ต้องหัดคือมุมมองสากล และเทคโนโลยี”

นิธินันท์กล่าว

ที่มาข่าว http://www.prachatai.com/

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai