บันทึกการลงพื้นที่ : คนจนเมือง ณ ศูนย์พักคนไร้บ้านบางกอกน้อย สุวิทย์ วัดหนู
ประยุทธ์ ขันเงิน (บอย)
โครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่น 3
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.)

 วันที่ 19 มีนาคม 2561

ในคืนวันที่ 18 มีนาที่ผ่านมาเป็นช่วงของการเลือกพื้นที่ในการเรียนรู้ของโมดูล 2 การเรียนรู้ชุมชนชายขอบ ซึ่งมีอยู่ 7 พื้นที่ประเด็นการเรียนรู้ประกอบไปด้วย

  1. HIV/เอดส์ และพนักงานบริการ
  2. แรงงานข้ามชาติ
  3. คนรุ่นใหม่ก้าวพลาด
  4. คนจนเมือง
  5. เมืองกับสิ่งแวดล้อม ผังเมืองและเกษตร
  6. นักโทษทางความคิดและผู้ลี้ภัย
  7. คนพิการ

ผมเลือกลง ในหัวข้อที่ 4 คนจนเมือง ผมเลือกหัวข้อนี้มาเป็นอันดับแรก ซี่งผมก็ได้มันสมดังใจ

คำถามต่อมาคือคาดหวังอะไรต่อการลงพื้นที่ในครั้งนี้?
ผมมีความหวังมากมายที่จะได้รับ มันเป็นด้านลบทั้งนั้นในสิ่งที่คาดหวัง คือต้องการที่จะมาพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราเห็นคนไร้บ้านตามพื้นที่ต่างๆ ของภาคอีสานที่เราพบเจอจะมีความแตกต่าง หรือ คล้ายกันอย่างไรแบบไหน และเพื่อลดทิฐิ ในใจของตัวเอง หากมันไม่ได้แย่เหมือนความคิดแรก

ทิฐิในตัวเอง ในตัวผมคือ ความเห็นชอบเห็นด้วย ความเห็นผิด ความไม่เห็นด้วย เดิมตัวผมเองเคยมีประสบการณ์ในการถูกละเมิด คุกคาม จากคนเร่ร่อนที่ไม่รู้ที่มาที่ไปของพวกเขา จะเอาตังค์จากผมซึ่งในตอนนั้นผมไม่ได้รู้สึกกลัวอะไร แต่เพียงไม่ชอบในการกระทำ และการแสดงออกแบบนี้
ในวันนี้ผมได้มีโอกาสที่จะได้ศึกษาและลงพื้นที่จริงเพื่อไขข้อสงสัย ข้อข้องใจ ต่อกลุ่มคนแบบนี้ ผมไม่พลาดที่จะเลือกลง เลือกศึกษาในพื้นที่หัวข้อ   คนจนเมือง  นี่คือสิ่งที่เป็นความคาดหวัง และต้องการเข้าใจ ต่อคนไร้บ้าน
ผมและเพื่อนๆ ที่เลือกไปลงพื้นที่คนจนเมือง เริ่มเดินทาง 07.00 น. ออกจากบ้านผู้หว่านนครปฐม ไปศูนย์พักคนไร้บ้านบางกอกน้อย สุวิทย์ วัดหนู  ผมตื่นเต้นมากกว่าการเลือกพื้นที่ซะอีก ระหว่างทางที่เดินไปที่ศูนย์พักคนไร้บ้าน มันทั้งผ่านทางรถไฟ และทางที่แปลกไปจากที่ ที่เคยเดิน  พอเข้าไปถึงที่ศูนย์ก็ทำให้เห็นอะไรที่เริ่มไม่เหมือนที่คิดไว้   ประการแรก “คือคิดว่าที่ศูนย์ต้องมีคนเยอะและระเบียบการจัดการที่พัก และการจัดการคนที่พักจะมีความวุ่นวายและสกปรกไปหมด”

สรุปคือไม่ได้เป็นอย่างที่ผมคิดไว้อย่างสิ้นเชิง

จากนั้นก็มีการต้อนรับที่ประทับใจมากเราได้เริ่มคุยกันก่อนกับ คนไร้บ้านซึ่งเป็นตัวจริงของจริง เราคุยกันได้สักพัก พี่โด่ง พี่ที่เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลศูนย์ก็มาถึง  เราเลยเริ่มคุยเพื่อเตรียมความพร้อม ในหลายๆ เรื่อง วิธีการในการเข้าถึงข้อมูลที่เราต้องการ ก่อนลงพื้นที่จริง ตอนนั้นคือใจผมมันก็กล้าๆ กลัวๆ ที่พี่โด่งแกพูดว่าอาจมีการทำร้ายร่างกายได้ คือผมเริ่มใจคอไม่ดีละ แต่พี่โด่งได้จัดพี่เลี้ยงให้ประกบซึ่งเป็นคนไร้บ้าน
ที่รู้จักกับคนในพื้นที่เป็นอย่างดี คอยติดตามและคอยดูเราอยู่แบบไม่ห่างทำให้ผมใจชื้นขึ้นมาอีกขั้น

แรกเราได้เดินทางไปกินข้าวฟรีที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งนำทางโดยคนที่ศูนย์พักคนไร้บ้าน ซึ่งเราเดินทางกันด้วยเท้าเปล่าไปในทางที่พวกเขาเดินกันประจำ คือผมตื่นเต้นทุกอย่างที่เกิดขึ้นในทั้งวัน  พอไปถึงเราก็ไปร่วมทานข้าวเที่ยงกับพี่น้องที่วัดซึ่งคนเยอะมาก บอกตรงๆ คือผมกินข้าวได้ไม่อร่อยเลย ไม่รู้ทำไมกินหมด หมดแบบไม่เหลือเม็ดข้าวเลย และยังไปกินข้าวช่วยพี่เฟิร์นได้อีก จากนั้นเราก็เดินทางกลับที่พัก เพื่อจัดการแบ่งทีมลงพื้นที่จริงในตอนเย็นเราพูดถึง กิจกรรมที่จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น คือวิธีเดินกาแฟ
เดินกาแฟ มาจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งบ้านเขาเป็นเมืองหนาวจึงใช้วิธีการเดินชาเพื่อเข้าช่วยเหลือคนไร้บ้าน การเดินชาก็ประกอบด้วยกระเป๋าผ้า เสื้อผ้ากันหนาวและของใช้จำเป็น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนในการให้ข้อมูลของผู้ที่เข้าไปเก็บข้อมูลกับคนไร้บ้าน
สำหรับที่นี้ ณ ศูนย์พักคนไร้บ้านบางกอกน้อย สุวิทย์ วัดหนู  เขาก็ได้ดัดแปลง วิธีการเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของคนไทยที่เกิดขึ้นเพื่อการเข้าถึง และเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงพวกเขามากขึ้นซึ่งการเดินชา จะประกอบด้วยกระเป๋าผ้า 1 ใบต่อ 1 คน ในกระเป๋าก็จะมีของใช้จำเป็น เช่นยาจุดกันยุง เครื่องอาบน้ำ และของใช้จำเป็นที่ต้องใช้ต่างๆ

เวลาประมาณ 17.00 น.
เราก็ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ลานคนเมืองที่เป็นสถานที่ในการลงไปเจอพี่น้องคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่จริงในพื้นที่ความรู้สึกต่างๆ นาๆ ก็เริ่มเข้ามาอย่างมากมายรวมทั้งความกลัวก็แฝงอยู่ในใจนั้นด้วย
ลานคนเมืองเป็นลานสาธารณะที่ดึงดูดคนหลายประเภทในการเข้าไปใช้พื้นที่ตรงนั้น ทั้งออกกำลังกาย,เล่นกีฬา พักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่สาธารณะ ทั้งครอบครัว คนทั่วไปสามารถเข้าใช้ได้ ซึ่งในพื้นที่นั้นมีคนไร้บ้านมากมายอยู่ตรงนั้นด้วยถ้าหากคนทั่วไปมองก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีพวกเขาอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย   ผมดูออกเพราะผมถูกฝึกมาให้ดูคนไร้บ้านออก ซึ่งคนแรกคนสอง   คนแรกผมแทบจะทายไม่ถูกเลยเพราะความแตกต่างภายนอก ถ้าดูจากบุคลิกภาพ มันน้อยมากแทบจับไม่ได้เลย แต่จะดูออกที่พฤติกรรมการแสดงออกทางแววตา และการแสดงออกทางร่างกายที่ขาดความมั่นใจ และการระวังตัวเองอยู่เสมอ ซึ่ง ต้องตั้งใจและใส่ใจเท่านั้นที่จะรู้ได้ ไม่ใช่เพราะใครก็ได้ ที่จะรู้ได้
ผมขอบอกก่อนเลยว่าการเตรียมตัวในการรับมือและการตั้งรับกับคนไร้บ้านคือผมจะมาจับความเจ้าเล่ห์ ฉวยโอกาสจากคนพวกนั้น (ขอโทษที่ใช้คำแบบนี้) เพราะมันคือความรู้สึกในตัวผมในตอนนั้นจริงๆ
จากที่ได้เริ่มพูดคุยกับคนไร้บ้านผมขอเล่าถึง ลุงเกษม
ลุงเกษม  ชื่อ นายเกษม   …   อายุ 63 ปี
คำถามแรกผมได้ถามว่าลุงกินข้าวอิ่มไหม นอนหลับสนิทไหม มีใครมากวนหรือทำอะไรลุงหรือเปล่า (น้ำตาผมแทบจะไหลในตอนนั้น) พอลุงตอบ ทุกอย่างที่ลุงได้ตอบมามันไม่ได้ตรงสักอย่างกับคำถามที่ผมได้ถามที่ถามไปเลย เดิมลุงได้เริ่มสำหรับการใช้ชีวิตเร่ร่อนแบบนี้ ตั้งแต่อายุ 20 ปี ครอบครัวเสียไปกันหมดเหลือแต่ตัวเองกับน้องชายในตอนนั้น
เดิมเมื่อลุงอายุ 39 ปี แกยังอาศัยอยู่ที่สะพานพุทธ 3 ปี และก็ได้ย้ายไปย้ายมา อยู่ใต้สะพานลอยบ้าง พื้นที่สาธารณะบ้าง โดยลุงแกมีโรคประจำตัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ริดสีดวง เจ็บหู อาการที่ควบคุมการเยี่ยวของตัวเองลำบาก และโรคชรา โดยแกไม่สามารถกินอาหารที่มีรสจัดๆได้เพราะด้วยจะกระทบกับอาการของแก  และแกเองก็กินยาที่ได้มาจากการซื้อมาอยู่ตลอด

ผมก็ถามต่อว่าได้เงินมาจากไหน แกได้มาจากเงินเดือน คนชรา 600/เดือน เงินสวัสดิการรัฐ 200บาท/เดือน  และเงินจากการเก็บขวดขายของแก ผมถามต่อว่าน้องชายลุงเองกับครอบครัว ทำไมไม่ย้ายไปอยู่ด้วยกันกับน้องชาย ?
คำตอบที่ได้แกไม่อยากเป็นภาระของน้องชายแก และอีกอย่างแกก็แก่มากแล้ว ทั้งเกรงใจ,และหลายๆอย่างในใจแกที่แกไม่สามารถกลับไปได้ ที่แกแทบไม่ต้องพูดออกมา แต่ผมรับรู้ได้ในสถานการณ์ตอนนั้น
ผมถามต่ออีกว่าลุงต้องการอะไรไหมขาดเหลืออะไรหรือเปล่า  แต่คำตอบที่ได้คือแกไม่ต้องการอะไรเลยแต่ลุงแก กลับเกรงใจกลัวว่า จะโดนเขาว่าเอาว่าต้องการนั่นต้องการนี่ ทั้งๆที่ความต้องการของลุงมันแสดงออกมาทั้งสภาพร่างกายและบทสนทนา แววตาของลุงทั้งหมด โดยที่ลุงแทบจะไม่ต้องพูดอะไรออกมาเลย
ผมก็ถามต่ออีกว่าแล้วลุงมีความสุขไหม ?
ลุง : มีความสุขดีนะกับการได้คุยกับเพื่อนๆ ที่เข้าใจกัน ความสุขที่ได้เดินทาง การกินอาหารตามวัด ตามโรงทาน และได้ไปรับของจากผู้บริจาค
ทุกอย่างที่ลุงได้พูดมามันล้วนเป็นเรื่องง่ายมากๆที่คนทั่วไปจะสามารถพบเจอ แต่กับพวกเขาแล้วมันเป็นสิ่งล้ำค่า ที่ต้องแสวงหาและตามหาในทุกวัน ผมจึงย้อนมองตัวเองว่าแล้วเราได้พยายามตามหาความสุขจริงๆของเราบ้างหรือป่าวซึ่งมันอาจจะง่ายมากๆ ใกล้มากๆ ที่เราจะเจอความสุขนั้นได้

ผมถามต่อว่าแล้วลุงมีความกลัวอะไรไหม ?
ลุง : ลุงมีความกลัวเพียง 3 อย่าง คือ
1. กลัวการพิการ  แกได้อธิบายว่าความพิการจะทำให้แกทำงานได้ยากขึ้น เป็นภาระได้มากขึ้น และการใช้ชีวิตที่ยากขึ้น
2. กลัวตาบอด แกได้อธิบายว่าการตาบอดจะทำให้แกมองไม่เห็นความสุขอีกเลย ในคำตอบของลุง
3. กลัวความจำเสื่อม แกได้อธิบายว่ากลัวการความจำเสื่อมเพราะการใช้ชีวิตของแกต้องมีการเดินทาง ไปไหนมาไหนตลอดมันจะทำให้แกไม่สะดวก และไม่สามารถกลับที่ๆเคยอยู่ได้

สิ่งที่ลุงแกได้บรรยายออกมาทั้งหมด มันไม่มีเรื่องราวของความท้อแท้ และ ความสิ้นหวังเลยแม้แต่นิดเดียว คำเดียว ก็ไม่มี  ผมแทบไม่อยากเชื่อในสิ่งที่ผมได้ยินในตอนนั้น

คำถามนี้เป็นสุดท้ายผมได้เกริ่นกับลุงว่า ถ้าลุงไม่สบายใจที่จะตอบก็ไม่เป็นไร ผมตัดสินใจนานมากกว่าจะกล้าถามคำถามนี้ออกไป คือ

ก่อนวันสุดท้ายของลุงจะมาถึงลุงจะทำยังไงครับ  ?  ลุงเลือกที่จะตอบ (อารมณ์ผมและลุงในตอนนั้น ในส่วนตัวถ้าเป็นครอบครับ เพื่อน หรือคนรู้จัก ผมแทบอยากกอดคอกันร้องไห้ ) ในคำตอบนั้น

ลุง : ลุงตอบว่าเมื่อลุงรู้สึกว่าตัวเองจะไม่ไหวร่างกายจะหมดพลังจะหมดแรง ลุงจะไปกระโดดน้ำตาย

โดยในคำตอบของคำถามสุดท้ายของลุงและผม สรุปได้จากบทสนทนาทั้งลุงและผมได้คุยกันในระยะเวลาเกือบ 1 ชม. ลุงไม่เคยจะขออะไรจากใคร แม้แต่คนที่เป็นทั้งพี่น้อง ร่วมสายเลือด และในการจะลาโลกในวันสุดท้ายของแก ยังไม่ขอความช่วยจากเหลือจากใคร ซึ่งแตกต่างจากคนอื่นหลายคนที่มีทุกอย่าง และมีมากกว่า ที่ยังต้องการนู่นต้องการนี่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่รู้จักพอ

จากที่ได้ฟังเรื่องราวของหลายๆคน ในวันนั้น ทุกคนต่างมีเรื่องราวในใจมากมายที่สามารถพูดออกมาได้และไม่สามารถพูดออกมาได้ มันทำให้ผมได้เปลี่ยนความคิดทั้งหมด จากที่มองว่าพวกเขาขี้เกียจ ไม่ขยันทำมาหากิน และคอยแต่ขอความช่วยเหลือ จากคนอื่นและภาครัฐ และเป็นคนไม่ดี   ซึ่งทำให้มองเห็นการรับผิดชอบต่อภาครัฐที่ไม่เล็งเห็นความสำคัญที่มากพอ ต่อกลุ่มมนุษย์คนเดินดินด้วยเท้าเปล่า ที่เป็นจริงเป็นจัง ซึ่งมันก่อให้เกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่

จากที่ได้คุยและสรุปถอดบทเรียนกันในกลุ่มลงพื้นที่ด้วยกัน ก็ได้มีการเปิดคำถามข้อเสอแนะ ทุกคนต่างออกความเห็นกันต่างๆ นาๆ จนถึงคิวผมผมได้เสนอว่า น่าจะมีการสร้างหรือให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถ หรือ Case study ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ที่คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่ถูกมองว่าเป็นคนไร้ความสามารถ เพราะผมเห็นจากหลายๆ คนและหลายๆ อาชีพที่ประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้หลายคนที่มีอาชีพเดียวกันหรือบุคคลทั่วไปได้มีแรงบันดาลใจ ในการจะพัฒนาตนเอง และจะเป็นการกลับมาช่วยเหลือและเยียวยาจากบุคคลที่เคยเป็นบุคคลไร้บ้านด้วยกัน และที่สำคัญยังจะสามารถ จัดการคนไร้บ้านหน้าใหม่ได้ ในความคิดและความรู้สึกส่วนตัวในตอนนั้น

พื้นที่คนรุ่นใหม่ พื้นที่เสรีภาพ คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai