จุดเริ่มต้น
ถ้าพูดถึงกัมพูชา สิ่งแรกที่ผมนึกถึงเลย คือ ปราสาทหินนครวัด 1 ในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เป็นสถานที่ที่ผมอยากไปมานานมากแล้ว แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ไป จนกระทั่งวันหนึ่งไถโทรศัพท์ไปเรื่อยๆ ตาก็ไปลุกวาวทันทีเมื่อได้เห็นประกาศ “ชวนไปแลกเปลี่ยนความรู้ข้ามพรมแดน ไทย – กัมพูชา” ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็ไม่ได้แรงมากเท่าไหร่ เมื่อ บวก ลบ คูณ หาร เรียบร้อย ผมก็กดสมัครไปเลย
มาครับ…มาไปเรียนรู้กัมพูชาในมุมมองของผมกัน
Day 1
ต่างคนต่างแบกกระเป๋าผ่าน ตม. เพื่อข้ามไปยังฝั่งกัมพูชา การข้ามประเทศเที่ยวนี้ทำให้หลายคนหัวเสียมาก ทุกคนดูหัวร้อนกับเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้น เพราะพวกเราพึ่งโดน ตม. ฝั่งกัมพูชาเรียกเก็บเงินค่าเข้าประเทศคนละ 100 บาท ซึ่งความจริงไม่จำเป็นต้องจ่ายก็ได้ หลังจากข้ามฝั่งมาที่กัมพูชาแล้ว เรามุ่งหน้าต่อไปยังจุดนัดพบกับเพื่อนเจ้าของถิ่น หลังจากที่เราถึงจุดนัดพบไม่นานสักพักก็มีเพื่อนฝั่งกัมพูชาเอารถทัวร์มารับพวกเรา ในใจคิดว่าคงไม่มีเหตุการอะไรให้ต้องเซอร์ไพรซ์อีกแล้ว แต่ก็ดันมีเหตุเกิดขึ้นอีก เพราะรถที่เพื่อนกัมพูชาเอามารับนั้น ดันวิ่งทับเส้นรถประจำทางที่วิ่งจากปอยเปต – เสียมเรียบ ทำให้มีตำรวจมาคุมรถเพื่อไปยังสถานีเดินรถ คุยกันอยู่พักใหญ่ ตำรวจก็อนุญาติให้พวกเราเดินทางต่อไปได้
อาหารมื้อแรกที่ผ่านเข้าท้องคือก๊วยเตี๋ยวหมู เป็นก๊วยเตี๋ยวไม่ต่างกันจากไทยมากเท่าไร มีผัก ถั่วงอก เนื้อ และเครื่องปรุง ที่ใครต้องการรสเผ็ด จัดจ้าน หรือกลมกล่อม ก็ปรุงตามแบบที่ตนเองต้องการได้เลย แต่ข้อสงสัยมาอยู่ที่เนื้อในชาม เพื่อนชาวไทยหลายคนก็งง ใช่เนื้อหมูจริงหรือเปล่าว่ะ เพราะดูยังไงก็ไม่ใช่หมูอยู่ดี ถามกัน สงสัยกันพักใหญ่
“หมาแน่เลย” เพื่อนชาวไทยคนหนึ่งพูดขึ้นมาแกมติดตลก
“เดี๋ยวผมไปดูหลังร้านให้” ผมกล่าวขึ้น
พอผมเดินไปดูหลังร้านก็ไม่มีอะไรผิดปกติ มีขวดน้ำเปล่าและเครื่องดื่มสัญลักษณ์โค้กเขียนเป็นภาษากัมพูชา คลายความสงสัย ขึ้นรถตู้เดินทางต่อ จากปอยเปตไปเสียมเรียบใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง วิวสองทางเป็นทุ่งโล่ง อากาศร้อน มีเพียงวัวอยู่บ้าง บ้านเรือนไม่ได้แตกต่างจากชุมชนที่ต่างจังหวัดของไทยเลย ช่วงนั้นนักเรียนเลิกโรงเรียนพอดี มีเด็กกำลังปั่นจักรยานกลับบ้าน มีคนออกมาซื้อของตามตลาดเพื่อไปทำอาหารเย็น ตลาดก็เหมือนกับตลาดนัดคลองถมหรือถนนคนเดินที่เมืองไทย ไม่ได้ต่างกันมากนัก
พวกเราเดินทางถึงที่พักประมาณห้าโมงเย็น ที่พักเป็นโบสถ์คริสต์ โบสถ์แห่งนี้มีไว้คอยช่วยเหลือผู้พิการ ฉะนั้นในโบสถ์นี้จึงมีผู้พิการอาศัยอยู่ เราเก็บของเข้าที่พัก เก็บกระเป๋าเข้าที่ เยาวชนทั้งไทยและกัมพูชาก็ได้มาทำความรู้จักกัน สิ่งแรกที่เป็นอุปสรรคสำหรับตัวผมเองเลยคือ ภาษา ผมไม่เก่งภาษาอังกฤษเลย พอฟังรู้เรื่องบางประโยค แต่ถ้ายาวๆ จะงงไปเลย แต่ดีหน่อยที่ทางทีมงานของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) และทีมงานกัมพูชา ได้เตรียมล่ามไว้สำหรับคนที่ยังสื่อสารภาษาอังกฤษได้ไม่ค่อยคล่องนัก
คืนแรกเรารู้จักกันเพียง ชื่อ อายุ และสถานะ (โสด มีแฟน แต่งงาน) กันเท่านั้น และทางผู้จัดกระบวนการก็ได้แจ้งว่ากำหนดการพรุ่งนี้มีอะไรบ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การไปชมนครวัด สิ่งนี้เป็นเรื่องตื่นตาตื่นใจมาก สำหรับผู้ไม่เคยเห็นสิ่งมหัศจรรย์ใดๆ ในโลกมาก่อนเช่นผม
ผมเข้านอนพร้อมกับนึกฝันว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรน่าตื่นเต้นและน่าเรียนรู้รอเราอยู่
Day 2
เสียงสัตว์ต่างๆ ดังขึ้นแต่เช้า ทันใดนั้นเราก็ตื่นขึ้นจากภวังค์ของความฝัน นานมากแล้วที่ไม่ได้ตื่นเช้าอะไรอย่างนี้ ปกติช่วงเวลานี้คงหมกตัวอยู่ใต้ผ้าห่ม ยังคงเคลิบเคลิ้มไปกับความฝันอันเหลือเชื่ออยู่
วันนี้ผมยังคงทำกิจกรรม Workshop กันที่โบสถ์นี่
“ความรักคืออะไร ?
ความสัมพันธ์ใดที่เราอยากจะรัก ?”
นั่นคือสองคำถามในเช้าวันที่ 2 ที่ทุกคนต้องตอบตนเองให้ได้ ผู้นำกระบวนการบอกให้พวกเราไปอยู่กับตัวเองเงียบๆ ถามตัวเองและค้นหาว่าสองคำถามนั้น เราจะตอบว่าอย่างไร สำหรับตัวผมเองแล้ว เป็นคำถามที่ไม่ง่ายเลย ผมไม่ได้เชี่ยวชาญและช่ำชองในเรื่องความรักแม้แต่น้อย หรือเพราะนั่นอาจจะเป็นความรักเฉพาะบุคคล แต่ถ้าเป็นความรักระหว่างประเทศหล่ะ ไทย – กัมพูชา สองประเทศนี้อยู่ใกล้ชิดกันมาช้านาน มีประวัติศาสตร์ บาดแผล การเมืองที่โหดร้ายประชาชนที่ยังคงทุกข์ยาก ลำบาก ความเหลื่อมล้ำยังคงมีให้เห็น แล้วความรักของประชาชนสองฝากฝั่งประเทศล่ะ เป็นเช่นไร ถ้าไม่มีรัฐ ไม่มีพรมแดน สองประเทศนี้จะเป็นเช่นไร ?
เมื่อได้พูดคุย (โดยมีล่ามแปล) กับเพื่อนกัมพูชา เขาน่ารักมาก คุยสนุก เฮฮา เป็นกันเอง แต่ถ้าชวนคุยเรื่องการเมือง เขาจะบอกก่อนเลยว่า นายกรัฐมนตรีประเทศนี้ ดี !! เพราะไม่สามารถพูดถึงนายกไปในทางที่เสื่อมเสียได้ คงเป็นเพราะความกลัวบางอย่างที่ทางรัฐบาลปลูกฝังให้กับประชาชนจนเสรีภาพในการแสดงความคิดเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ได้มีเพียงแค่ฝั่งกัมพูชาเท่านั้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดบางเรื่องพูดถึงไม่ได้ ไทยแลนด์แดนสยามในบางเรื่องเราก็พูดถึงไม่ได้ อะไรที่เป็นเรื่องเสื่อมเสีย ทำให้ประเพณีอันดีงามหรือวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองในอดีตถูกลดคุณค่าลง ก็ถูกห้ามพูดถึง น่าขันที่โลกก้าวไปข้างหน้า เทคโนโลยีต่างๆ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เรายังชื่นชมและฝันอยากให้บ้านเมืองกลับไปสงบสุขเช่นในอดีต
กลับไปที่สองคำถามของวัน ผมย้อนกลับมาหาตัวเองและตอบตัวเองได้เพียงคำถามเดียวดังนี้
ความสัมพันธ์ที่อยากจะรัก ? ความสัมพันธ์แบบเพื่อน คือ ความสัมพันธ์ที่หวังดีต่อกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกันและกัน
ไม่ผูกมัดและยึดติดกัน แน่นอนว่าย่อมมีบ้างที่ทำให้เราไม่พอใจ น้อยใจ
แต่เพื่อนก็เป็นเพื่อน เราให้อภัยได้เสมอ
เพื่อนในที่นี้ หมายถึง ทุกวัย แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็สามารถเป็นเพื่อน หรือน้องสาว พี่ชาย ก็เป็นเพื่อนได้ เพราะไม่อยากเอาสถานะมากำหนดว่า พอเป็นน้อง เป็นพ่อ เป็นแม่ ก็ไม่สามารถมีสถานะเป็นเพื่อน เพราะความสัมพันธ์ที่อยากจะรัก ไม่ควรมีเรื่องสถานะมาเป็นเงื่อนไข
Day 3
ทุกคนต่างสะลืมสะลือ งัวเงียจากการตื่นนอน พวกเรากำลังจะไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่นครวัด
ใช่แล้ว..ดูพระอาทิตย์ขึ้นในศาสนสถานที่เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ปราสาทหินยิ่งใหญ่ตระการตา ผู้คนล้นหลามส่วนใหญ่แล้วเป็นนักท่องเที่ยว ต่างรอคอยที่จะเห็นแสงนวลของรุ่งอรุณในยามเช้า ท้องฟ้าเปิดโล่ง มีหมอกจางๆ แต่พอเปิดแอพ AirVisual ดูแล้ว ปรากฏว่า นี่ไม่ใช่หมอก แต่คือฝุ่น PM 2.5 นี่เอง หลบฝุ่นจากกรุงเทพฯ มา ดันมาเจอฝุ่นที่นครวัดอีก ไม่ใช่แค่นครวัด ที่เสียมเรียบก็สามารถมองเห็นฝุ่นได้เช่นกัน ช่วงค่ำผมมักจะเห็นการเผาตามบ้านเรือนเป็นกองไฟเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ใกล้โบถส์ที่พัก ผมได้สอบถามเพื่อนคนไทยที่ทำวิทยานิพนธ์อยู่พนมเปญดู เขาก็บอกว่า “ ไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไมต้องเผาทุกเย็น ”
แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า การเผาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น
พระอาทิตย์ส่องแสงผ่านปราสาทหิน แสงสะท้อนกับบึงน้ำเล็กๆหน้าปราสาท กล้องและมือถือพากันไปจ้องตรงมุมนั้น ปราสาทนครวัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 12 ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 สร้างขึ้นเพื่อเป็นปราสาทประจำพระองค์และประจำรัฐ อีกทั้งยังใช้เป็นสุสานสำหรับฝังพระศพของพระมหากษัตริย์อีกด้วย อย่างไรก็ตามปราสาทแห่งนี้ก็ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% เพราะพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 สวรรคตไปเสียก่อน แต่ถึงกระนั้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็มาสานต่อภารกิจ สร้างนครวัดจนสำเร็จ และสร้างนครธมกับปราสาทบายนเพิ่มอีกสองแห่ง ซึ่งอยู่ห่างจากนครวัดไปทางเหนือไม่กี่กิโลเมตร ไกด์พาพวกเราเดินชมความยิ่งใหญ่ของเทวาลัย อากาศร้อนอบอ้าว แต่ผมยืนทึ่งในความยิ่งใหญ่ สถาปัตยกรรมต่างๆ ความประณีต วิจิตรศิลป์ แท่นหินแกะสลัก ภาพนูนต่ำ ทำให้ผมอึ้งมากกับความสามารถของคนในยุคสมัยนั้น ตัวปราสาททั้งหมดเกิดจากการเอาหินมาวางทับซ้อนกัน โดยไม่มีการใช้ปูนซีเมนต์เลย เดินไปตามระเบียงคด ไกด์ก็เล่าเรื่องความเป็นมา และความหมายของภาพหินแกะสลักแต่ละชิ้นให้ฟัง พอได้เห็นสิ่งปลูกสร้างยิ่งใหญ่ตระกาลตา ทำให้อดนึกไม่ได้ถึงความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ หินแต่ละก้อนซึ่งหนักเป็นตัน ภาพแกะสลักหิน สิ่งเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยเลือดและหยาดเหงื่อสักเท่าไรหนอ ความงามของสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า ราคาของการก่อสร้างต้องแลกมาด้วยกี่ชีวิต
เช้ายันค่ำกับการเดินชมปราสาทหินสิ่งมหัศจรรย์ของโลก พวกเรากลับถึงที่พักด้วยความอ่อนล้า
Day 4
เข้าสู่วันที่ 4 ของการมากัมพูชาแล้ว การมาร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนไทย – กัมพูชา ครั้งนี้ ในแต่ละวันจะมีหนึ่งกิจกรรมที่ผมคิดว่าเป็นกิจกรรมหลักเลยล่ะ นั่นคือ Family Tree หรือ ต้นไม้ครอบครัว เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน จากนั้นให้สมาชิกในกลุ่มผลัดกันเล่าเรื่องครอบครัวของตนเองว่าในเครือญาติมีใครบ้าง ญาติฝ่ายพ่อ ฝ่ายแม่ มีใครบ้าง ทุกคนในกลุ่มได้มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองให้เพื่อนๆในกลุ่มฟัง บางคนเล่าถึงการได้รับแรงกดดันจากพ่อแม่ การกดดันเรื่องเรียนและเรื่องชีวิตในอนาคต บางคนก็ไม่เคยเจอพ่อกับแม่เลยตั้งแต่เกิดมาทั้งที่อยากรู้เหมือนกันว่าพวกเขาเป็นใคร ในกลุ่มที่ผมอยู่มีพี่คนหนึ่งอายุราวๆวัยกลางคน แกบอกว่าแกมีลูกชาย แกอยากจะกดดันเขาให้น้อยลง ไม่อยากบังคับเขา
พอมาถึงคำถามว่า “กลับไปบ้านอยากเปลี่ยนอะไรบ้าง?”
ทุกคนต่างอยากทำสิ่งที่มันมีอยู่ให้ดีขึ้นทั้งนั้น บางคนจะโทรหาพ่อกับแม่มากขึ้น เพราะไม่ได้อยู่ใกล้กันและไม่ได้เจอกันบ่อย บางคนบอกจะคุยกับพี่ตนเองให้มากขึ้น เพราะเมื่อก่อนไม่ค่อยได้คุยกันเลย จากนี้ไปถ้าได้คุยมากขึ้นความสัมพันธ์ในครอบครัวคงแน่นแฟ้นขึ้นไปด้วย ในกลุ่มมีทั้งคนไทยและกัมพูชา ทุกคนต่างที่มา ได้มาเจอกันที่นี่ มาแชร์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องราวชีวิตของตัวเอง บางคน บางเรื่องราว เขาไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลย แต่ได้มีโอกาสมาเล่าที่นี่เป็นครั้งแรก บางเรื่องเล่าทำเอาผู้เล่าถึงกับน้ำตาซึมออกมาพร้อมๆกับการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองออกมาให้เพื่อนฟัง ส่วนผู้ฟังก็ฟังอย่างตั้งใจจนเพื่อนคนนั้นๆเล่าจบ สิ่งที่เพื่อนๆในกลุ่มปฏิบัติต่อกันคือการเข้าไปปลอบและให้กำลังใจกัน ให้สิ่งที่เจอมากลายเป็นอดีตไป แน่นอนว่าทั้งตัวผู้เล่าและผู้ฟังก็ต้องก้าวข้ามเรื่องราวเหล่านั้นไป ปล่อยให้มันผ่านพ้นแล้วกลับมาเข้มแข็งและใช้ชีวิตกันต่อไป
ค่ำคืนส่งท้าย เยาวชนไทยและกัมพูชาพากันแสดงวัฒนธรรมประเทศของตน มีการประชุม มีเตรียมการกันทั้งสองฝ่าย ปรากฏว่า การร้องเพลง คือ การแสดงที่ทั้งสองประเทศเตรียมมา เพลงที่ฝั่งกัมพูชาเอามาร้องเป็นเพลงไทย สำเหนียงการร้องก็คล้ายๆ คนไทยพึ่งหัดพูดอังกฤษ คือไม่ค่อยชัดเท่าไร แต่ทุกคนก็สนุก ปรบมือ ร้องเป็นกำลังใจให้กัน พอมาฝั่งไทยก็เลือกเพลง เต่างอย เพลงนี้ด้วยทำนอง ดนตรี ทำให้สนุก เต้นกันมันมันส์ยกใหญ่ ค่ำคืนนี้เป็นค่ำคืนที่สนุกสนาน เป็นการเฉลิมฉลองก่อนที่วันพรุ่งนี้พวกเราจะต้องลาจากกัน
Day 5
ผมสูดลมหายใจที่กัมพูชาเข้าไปเต็มปลอด ก่อนลาจากที่นี่ไป
“วันนี้คงเป็นวันสุดท้ายของการมาอยู่ที่นี่แล้วสินะ” ผมเอ่ยขึ้นในใจ
นอกจากการมอบประกาศนียบัตร ถ่ายรูปรวมแล้ว กิจกรรมส่งท้าย คือ การเขียน !! แต่ละคนจะได้รับกระดาษคนละสองแผ่น แล้วเอาเทปมาแปะไว้ข้างหลัง จากนั้นเดินไปให้เพื่อนทุกคนเขียน แล้วแต่ว่าใครจะเขียนอะไรให้ ผมว่ามันลึกซึ้งมากนะกิจกรรมนี้ เรารู้จักเพื่อนที่นี้แค่ไม่กี่วัน สิ่งที่เขาเขียนมาให้ ก็มาจากที่เขารู้จักเรา บางคนก็บอกว่า ยินดีที่ได้รู้จักกันนะ Nice to miss you , Good luck แต่ถ้าบางสนิทกันแล้ว สิ่งที่เขียนให้ก็จะยืดยาวหน่อย มีทั้งความในใจที่อยากจะขอโทษและขอบคุณ ทั้งคำคม คำกวนๆ และความรักที่เป็นมิตรภาต่อกัน ระบายผ่านตัวอักษร
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ บ่งบอกถึงมิตรภาพที่เรามีต่อกัน เขตแดนเป็นเพียงแค่มายาคติเท่านั้น แต่เมื่อเรามาอยู่ด้วยกัน เราได้พังทลายเขตแดนนั้นทิ้งไป เหลือเพียงแค่ความเป็นคนเหมือนกัน ได้ใช้ชีวิตอย่ด้วยกันในค่ายแห่งนี้ มีสุข ทุกข์ เศร้า เสียใจ ไม่ต่างกัน มีเพื่อนกัมพูชาคนหนึ่งเดินมาหาผมแล้วยื่นมือถือมาให้อ่าน ข้อความในมือถือผมแปลผ่าน Google Translate ได้ใจความว่า “แล้วเราจะได้พบกันอีก” ผมกอดเขา แล้วบอกกลับไปว่า “ใช่..แล้วเราเจอกันอีก”
หลังกินข้าวเที่ยงเสร็จ รอรถมารับไปส่งที่ปอยเปต วงสนทนา การถ่ายรูปคู่ ถ่ายรูปเป็นกลุ่ม ครั้งสุดท้าย วันเวลา 5 วันผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอรถมารับมาถึง นั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกถึงเวลาที่เรามีต่อกันกำลังจะหมดลง บอกลา จับมือ เข้าสวมกอด นั่นคือสิ่งที่เราพอจะทำให้กันได้ “แล้วเจอกันใหม่นะ” เป็นคำสุดท้ายที่ผมเอ่ยขึ้น
บทส่งท้าย
ตลอดการเดินทางที่ผ่านมา สิ่งที่ผมได้พบอีกอย่าง คือ การเรียนรู้นั้นไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเราต้องการที่จะศึกษา เพิ่มพูนความรู้หรือทักษะให้ตัวเอง เราก็จะเต็มที่ไปกับสิ่งๆนั้น การเรียนรู้มันไม่มีเส้นแบ่ง คนเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะช่วงอายุเท่าไหร่ เพียงแค่เราพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆเข้ามา อย่างผมที่พยายามจะก้าวผ่านความกลัวในเรื่องของภาษา ออกไปท่องโลกกว้างเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เส้นแบ่งเขตดินแดนต่างๆ ไม่สามารถแบ่งแยกความเป็นเพื่อน มิตรภาพ และความเป็นมนุษย์ของเราได้
แล้วเราจะมาพบกันอีก..ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลกใบนี้ก็ตาม
กฤษฏิ์ บุญสาร : เขียน