“โครงการอาสาสมัครนักวิจัย PAR” มีชื่อเต็มว่า “โครงการเสริมสร้างศักยภาพอาสาสมัครเยาวชนรุ่นใหม่โดยงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมบนฐานชุมชน” มาจากชื่อภาษาอังกฤษว่า Capacity Building For Young Volunteer : Participatory Action on Community Base Research(PAR) เป็นโครงการที่เริ่มต้นจากการมองปัญหาในปัจจุบันว่า ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางฐานะ เพราะคนจนและคนเกือบจนนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 15.5 ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตามมา เพราะเด็กและเยาวชนในวัยเรียนอายุระหว่าง 3 – 17 ปี นั้นยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน ส่วนใหญ่จะมีจำนวนปีของการศึกษาเฉลี่ยเพียง 8.5 ปี และมีแนวโน้มออกจากระบบการศึกษามากที่สุดในช่วงระดับมัธยมศึกษา ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเนื่องจากอัตราการเกิดลง และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2564 จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงถึง 20%

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) เป็นองค์กรที่สร้างพื้นที่และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 20 – 30 ปี เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้มีจิตสาธารณะ มีทักษะ มีความรู้ทางสังคม โดยเฉพาะสถานการณ์สังคมของคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี ปัจจุบัน มอส. มีกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ 3 กระบวนการหลักคือ  1.การเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติงาน (Learning by Doing)  2.การเรียนรู้จากการอบรม มอส. จัดการระบบอย่างต่อเนื่อง  และ 3.กระบวนการติดตามระหว่างการปฏิบัติงาน โดยทีมพี่เลี้ยงจาก มอส.

ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าเยาวชนรุ่นใหม่ที่ออกจากชุมชนเพื่อศึกษาและทำงานต่อ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของ มอส. จะกลับไปอยู่ในชุมชนของตนเองมากขึ้น ตัวอย่างเช่น อาสาสมัครของโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมร่วมสร้างชุมชนยั่งยืนประมาณ 90% ตัดสินใจกลับคืนสู่บ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากต้องการกลับไปดูแลพ่อแม่ที่อายุเพิ่มมากขึ้น ต้องการกลับไปสร้างฐานชีวิตผ่านการทำเกษตรอินทรีย์  หรือกลับไปช่วยธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเป็นต้นทุนสำคัญในการร่วมกันพัฒนาชุมชนในอนาคต

มอส. เล็งเห็นความสำคัญของ PAR เพราะเป็นกระบวนการที่ให้คนทำวิจัยมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ชุมชนเพื่อนำไปสู่การตั้งโจทย์หรือคำถามวิจัย การทบทวนทุนเดิมในพื้นที่ การออกแบบและวางแผนปฏิบัติการงานวิจัย การเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล การทดลองปฏิบัติงานจริงเพื่อสร้างรูปธรรมในการตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิจัย

โครงการวิจัย PAR มีพื้นดำเนินการทั้งหมด 6 พื้นที่คือ จังหวัดพะเยา มหาสารคาม ลำพูน เชียงใหม่ ชุมพร และนครศรีธรรมราช โดยมีนักวิจัยโครงการซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่มีอายุระหว่าง 18 – 30 ปี ทั้งหมดจำนวน 50 คน มีบทบาทในการทำงานเพื่อชุมชน มีความสนใจในกระบวนการ PAR สามารถทำงานเป็นทีม และเข้าร่วมกระบวนการจนจบ ส่วนทีมพี่เลี้ยงเป็นกลุ่มคนที่ถูกคัดเลือกมาจากผู้ที่เคยมีประสบการณ์การทำงานวิจัย PAR และเคยมีประสบการณ์การทำงานสนับสนุน/หนุนเสริมงานชุมชนมาก่อน บทบาทของพี่เลี้ยงจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและหนุนเสริมการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาของนักวิจัยและชุมชน

เป้าหมายโครงการ มีทั้งหมด 3 ข้อคือ 1. สร้างคนเป็นแกนนำเยาวชน  2. สร้างความรู้และเครื่องมือ  3. สร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนเพื่อชุมชนสุขภาวะ เสริมสร้างศักยภาพอาสาสมัครเยาวชนในการพัฒนาชุมชนโดยงานวิจัยแบบมีส่วนร่วม และ วัตถุประสงค์โครงการ 2 ข้อ คือ  1. เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความสามารถในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนสุขภาวะ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม  2. รวบรวมและพัฒนาองค์กรองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพอาสาสมัครเยาวชนในการพัฒนาชุมชนโดยงานวิจัยแบบมีส่วนร่วม โดยจะแบ่ง วิธีการดำเนินงาน เป็น 3 ระยะคือ   1. ระยะที่ 1 เตรียมการ  2. ระยะที่ 2 การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและปฏิบัติการเพื่อหนุนเสริมการขับเคลื่อนของเยาวชนในพื้นที่  3. ระยะที่ 3 สรุปและถอดบทเรียนการดำเนินโครงการวิจัย

โครงการวิจัยได้กำหนดผลที่คาดว่าจะได้รับ หลังเสร็จสิ้นโครงการ 3 ส่วน คือ ผลผลิต(Output)  ผลลัพธ์(Outcome) และผลกระทบ(Input)  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ผลผลิต (Output) มี 2 ลักษณะคือ 1) ผลผลิตเชิงองค์ความรู้  ซึ่งประกอบด้วย  หลักสูตรการฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพอาสาสมัครเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาชุมชน และ ชุดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการเสริมสร้างศักยภาพอาสาสมัครเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาชุมชน 2) ผลผลิตเชิงการพัฒนา ซึ่งหลังจบโครงการ จะมีนักวิจัยเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาชุมชนโดยใช้เครื่องมืองานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเกิดขึ้นอย่างน้อย 30 คน  มีการใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาชุมชนเพื่อนำมาสู่ชุมชนสุขภาวะจำนวน 6 ชุมชน คนในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างน้อยชุมชนละ 50 คน และเกิดการประสานความร่วมมือระหว่างทีม มอส. ทีมวิจัยเยาวชน องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีพัฒนาต่างๆ ในการขับเคลื่อนทำงานพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผลลัพธ์ (Outcome)  มีทั้งหมด 4 ส่วนคือ 1) เกิดแนวทางการขับเคลื่อนงานพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนที่มี Evidence Based ที่เป็นรูปธรรมและเชื่อมโยงทั้งประเด็นครอบครัว เด็ก และเยาวชนในชุมชน เพื่อนำไปสู้การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน 2) มีการรวบรวมบทเรียน ประสบการณ์จากการทำงานการพัฒนาชุมชนโดยงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมบนฐานชุมชนที่เป็นระบบ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนแบบมีส่วนร่วมและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น  3) อาสาสมัครเยาวชนที่ทำงานพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นได้เห็นพลังของตนเอง ในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม 4) ชาวบ้านในชุมชนตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของเยาวชนรุ่นใหม่

ผลกระทบ (Impact) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังเสร็จสิ้นโครงการมี 2 ส่วนคือ 1) เป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนา เช่น มีองค์ความรู้ มีพื้นที่ที่มีรูปธรรม การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน 2) เกิดนโยบายในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศที่อยู่บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เป็นผลจากเครื่องมือวิจัยท้องถิ่นและบทเรียนที่ดีจากการปฏิบัติงาน

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai