“ธรธรร การมั่งมี” เกิดในครอบครัวเกษตรกรยากจนครอบครัวหนึ่ง เขามีเชื้อจีนจากพ่อและมีความเป็นชนเผ่าปกาเกอะญอจากแม่ เขาเล่าว่า “ผมคิดว่าผมเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของความเป็นชนเผ่ามากกว่านักกฎหมายคนอื่นๆ เลยนะ” ธรธรรได้รับแรงบันดาลใจอย่างมหาศาลจากการอ่านหนังสือเรื่อง “ทนายข้างถนน” ที่เขียนโดย John Grisham เขาตัดสินใจทิ้งเงินเดือนจำนวนมากไว้เบื้องหลังจากอาชีพนายธนาคาร เพื่อเลือกที่จะเป็นนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานเพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม
หลังจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ ธรธรรได้สมัครเข้าทำงานในธนาคารแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นเขาได้ทราบข่าวการรับ อส.นักสิทธิ์ ของ มอส. เขาตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อสมัครโครงการทันที ที่สุดเขาผ่านการคัดเลือกโดยทำงานเรื่องที่ดินและชุมชนแออัดที่จังหวัดอุบลราชธานี เขาทำงานอยู่กับกลุ่มคนไร้สัญชาติ ชาวลาวที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในไทยเป็นเวลานานแต่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เขาทำงานอยู่กับองค์กรนี้จนครบวาระอาสาสมัคร 1 ปี และทำงานอยู่ที่นั่นต่อแบบคนไม่มีเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือน มีเพียงน้ำใจจากเพื่อน อส.รุ่นเดียวกันเท่านั้น ที่ช่วยบริจาคเป็นค่าใช้จ่ายให้เขาเดือนละ 500 บาท แม้เป็นจำนวนเงินเพียงน้อยนิด แต่มันช่วยปลุกกำลังใจให้เขาทำงานต่อไป หลังจากนั้นธรธรรตัดสินใจย้ายกลับไปปักหลักที่บ้านเกิดจังหวัดเชียงใหม่ และได้เข้าทำงานที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิชุมชนท้องถิ่นซึ่งทำงานในประเด็นที่ดินและสิทธิชุมชน
ปัจจุบันเขาทำงานที่ Earth Rights International โดยทำงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศและประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งเขาเฝ้าติดตามประเด็นเขื่อนฮัตจีในพม่าที่ลงทุนโดยรัฐบาลไทยและ กฟผ. เขาทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายขององค์กร เขาเล่าว่าเขาได้รับโอกาสที่ดีมากจากงานที่เขาทำ เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านต่างๆ ในระดับสากลจากชาวต่างชาติ ซึ่งแตกต่างจากประสบการณ์เดิมที่เขาได้เรียนรู้มาในช่วงก่อนหน้านี้ ที่ถูกจำกัดอยู่แค่ระดับท้องถิ่นเท่านั้น
เขาเล่าว่า “ก่อนหน้านี้ผมพุ่งเป้าการทำงานเฉพาะระดับท้องถิ่น และไม่ได้สนใจประเด็นงานในระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติมากนัก เพราะคิดว่าไม่มีประโยชน์หรือส่งผลกระทบใดๆ ต่อประเทศไทยเลย” แต่หลังจากเขาได้พบประสบการณ์จริง ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า คนรุ่นใหม่ควรจะให้ความสำคัญกับกลไกการทำงานในระดับนานาชาติมากขึ้น
ภารกิจหลักของเขาคือการทำกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้กับชาวบ้าน ซึ่ง EIA เป็นเรื่องสำคัญมากหากจะพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ในช่วงนี้เขาได้จัดเวทีให้ข้อมูลกับชาวบ้านขึ้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับกลไกด้านกฎหมาย
ธรธรรเล่าว่าก่อนที่เขาจะเข้าร่วมโครงการ อส.นักสิทธิ์ เขารู้จักเฉพาะประเด็นปัญหาชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น เขาไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่ในที่สุดเขาก็รู้จักกับมันหลังจากเข้าร่วมโครงการ อส.นักสิทธิ์ และได้ทำงานในพื้นที่ชุมชนแออัดที่อุบลราชธานี เขาพบว่าชาวบ้านประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน บริษัทเอกชนได้ทำการยึดที่ดินทำกินและดำเนินการทางกฎหมายฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ตัวเขาเองเป็นหนึ่งพลังที่คอยสนับสนุนช่วยเหลือชาวบ้านให้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์กับบริษัทและจากรัฐ
ธรธรร ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากการเป็นอาสาสมัคร เช่น เทคนิคการทำงานจัดตั้งชาวบ้าน เทคนิคการแก้ไขปัญหาที่นอกเหนือไปจากการใช้วิธีการทางกฎหมาย เช่น การจัดขบวนชุมนุมหรือขบวนรณรงค์เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เขาบอกว่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการนี้เขาไม่เคยได้รับจากรั้วมหาวิทยาลัยเลย หลายครั้งที่เขาได้เข้าร่วมขบวนชุมนุมที่กรุงเทพฯ กับชาวบ้านเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เขาเล่าว่า “ผมเดินทางมาพร้อมชาวบ้าน นอนบนรถบัส บนรถไฟ บนถนน ผมรับรู้ความรู้สึกทุกอย่างที่ชาวบ้านรู้สึก มันเป็นความรู้สึกที่เกิดจากสถานการณ์จริง” นี่คือสิ่งที่เขาเล่าพร้อมๆ กับการคิดย้อนไปถึงประสบการณ์ช่วงที่ยังเป็นอาสาสมัคร ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้คือ ชาวบ้านต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ผ่านสถานการณ์จริงด้วยกันทั้งนั้น
เนื่องจากประเด็นสิทธิมนุษยชนถือเป็นประเด็นใหม่ในประเทศไทย ธรธรรมบอกว่าในช่วงที่เขาเข้าร่วมกับโครงการอาสาสมัครในระยะแรกๆ ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน การลงพื้นที่ครั้งแรกของเขาทำให้เขารู้ว่าชาวบ้านไม่รู้จักคำว่าสิทธิมนุษยชนเลย ไม่สามารถตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐได้แม้แต่น้อย แต่หลังจากที่ได้ผ่านเวทีฝึกอบรมให้ความรู้แล้ว ชาวบ้านก็สามารถตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างไม่ยากเย็น ธรธรรให้ความเห็นว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ชาวบ้านจะต้องเข้าใจมัน เพราะเมื่อเข้าใจแล้วเขาก็จะรู้สิทธิ์ของตัวเองและทำอะไรได้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย”
“ในส่วนของคดีแพ่งและคดีอาญาบริษัทสามารถฟ้องร้องชาวบ้านได้ แต่ในคดีปกครองชาวบ้านสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กลุ่มชาวบ้านได้พยายามที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับบริษัทให้มากที่สุด แต่กับหน่วยงานรัฐแล้วเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ชาวบ้านสามารถตั้งคำถามต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้แบบตรงไปตรงมา เช่น กรณีที่บริษัทดำเนินการยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านซึ่งถือว่ามีความผิดในทางกฎหมาย กรณีลักษณะนี้ ชาวบ้านสามารถฟ้องรัฐบาลและตั้งคำถามกับรัฐเกี่ยวกับการให้อำนาจกับบริษัทในการกระทำการ
เขาทำงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ดินทำกินในหลายลักษณะ เช่น ประเด็นปัญหาที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์หรือเขตป่าอุทยานซึ่งมีชาวบ้านอาศัยและทำกินอยู่เป็นจำนวนมาก และเขาพบว่าชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ และก่อนการประกาศใช้กฎหมายจำกัดสิทธิทำกินของชาวบ้าน เขาได้ทำงานร่วมกับเอ็นจีโอเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาผ่านกลไกการต่อรองกับหน่วยงานรัฐ เขาเล่าว่า “แม้ปัญหาส่วนใหญ่จะถูกแก้ไขผ่านกระบวนการต่อรอง แต่เรายังไม่สามารถแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านได้”
นักวิชาการและนักกฎหมายอาวุโสหลายท่านซึ่งทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เขาเดินหน้าทำงานเรื่อยมา เขาเล่าว่าความรู้ที่เขามีอยู่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้มาก มีชาวบ้านชนเผ่าปกาเกอะญอหรือเผ่าม้งจำนวนมากที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเขาก็จะพยายามใช้เครื่องมือทางกฎหมายเข้าช่วยเหลือชาวบ้านให้มากที่สุด
ในฐานะที่ “ธรธรร” มีอาชีพเป็นนักกฎหมาย การที่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้เป็นเรื่องที่เขาพอใจมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายกรณีที่เขาไม่สามารถทำอะไรได้เลย กฎหมายไทยสั่งห้ามไม่ให้คนอาศัยในเขตป่าอุทยาน ศาลพิพากษาโดยใช้เพียงกรอบทางกฎหมายเท่านั้น สิ่งที่ชาวบ้านทำได้มีเพียงการแสดงเอกสารบางอย่างที่เป็นหลักฐาน ว่าพวกเขาอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตอุทยาน แต่โชคร้ายที่ชาวบ้านไม่รู้วิธีการแสดงหลักฐานดังกล่าว ทำให้หลายครั้งชาวบ้านต้องเลือกที่จะจำนนต่อข้อกล่าวหาและยอมสารภาพผิด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องถูกจับเข้าคุกหรือเพื่อให้ศาลสั่งปล่อยตัว แต่ในทางกลับกันหากชาวบ้านเลือกที่จะสู้พวกเขาจะต้องถูกจับเข้าคุก เขาเล่าว่า “การที่ศาลตัดสินว่าชาวบ้านผิด ทั้งๆ ที่ผมก็รู้อยู่เต็มอกว่าชาวบ้านไม่ผิด ผมกลับทำอะไรไม่ได้เลย เหตุการณ์ลักษณะแบบนี้มันทำให้ผมรู้สึกเศร้ามากๆ”
ความสำเร็จหนึ่งที่เขากล่าวถึงคือ กรณีการต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อยืนยันสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ของชนเผ่าม้ง เป็นกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้าน โดยทั่วไปแล้วจะพบว่ามีหลายชุมชนที่เป็นชนเผ่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นหมู่บ้านไว้กับหน่วยงานรัฐ แต่กรณีที่เป็นปัญหาก็คือ มีหมู่บ้านม้งแห่งหนึ่งซึ่งมีผู้อยู่อาศัยกว่า 400 ชีวิต ได้ทำการขึ้นทะเบียนหมู่บ้านไว้กับหน่วยงานรัฐเมื่อราวๆ 40 ปีที่ผ่านมา แต่รัฐกลับปฏิเสธการมีอยู่ของหมู่บ้านแห่งนี้ อีกทั้งได้เสนอทางเลือกให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ แม้ชาวบ้านได้พยายามที่จะทำการต่อรองเพื่อให้ได้อยู่อาศัยต่อไปแต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อมองหาหนทางแก้ไขปัญหาไม่ได้ จึงได้เข้ามาปรึกษากันเพื่อหาทางออก เขาเล่าว่า “ชาวบ้านได้เข้ามาขอความช่วยเหลือ ในขณะที่ผมกำลังจัดเวทีฝึกอบรมให้กับอีกหนึ่งหมู่บ้านพอดี ผมนั่งคุยกับพวกเขาจนได้ข้อสรุปว่า ชาวบ้านจะยื่นฟ้องรัฐ และหลังจากการดำเนินการได้ระยะหนึ่ง ศาลก็ได้ตัดสินให้ชาวบ้านชนะคดี ผมรู้สึกได้ว่าชาวบ้านมีความสุขอย่างมากจากการชนะคดีในครั้งนี้”
ธรธรรมีข้อเสนอต่อโครงการ อส. นักสิทธิ์ว่า มอส. ควรเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์โครงการ ให้นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยได้เข้าถึงข่าวสารของทางโครงการฯ มากขึ้น เขาบอกว่านักศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางสังคมเลย ไม่เคยรู้เลยว่ามีโครงการ อส.นักสิทธิ์ ทั้งที่โครงการนี้เป็นโครงการที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เขาบอกว่าเพื่อนของเขาคนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไปได้ไวมาก คือ เขาเรียนจบกฎหมายตอนอายุ 23 ปี และก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาก่อนที่อายุจะขึ้นเลขสาม ซึ่งสามารถตัดสินชีวิตมนุษย์ได้แล้ว ดังนั้น ธรธรรจึงคิดว่าโครงการ อส.นักสิทธิ์ จำเป็นอย่างมากในการหนุนเสริมประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ ได้เข้าใจปัญหาสังคมก่อนการออกไปเผชิญกับชีวิตการงานที่แท้จริง
เขาบอกว่า คนรุ่นเราถือว่าโชคดีที่คนรุ่นก่อนได้สร้างฐาน สร้างทางไว้ให้แล้ว ดังนั้นเมื่อมีโอกาสในการช่วยเหลือคนอื่นเราจึงควรทำ เขาพยายามผลักดันให้เพื่อนหลายคนทำงานด้านการช่วยเหลือสังคม ซึ่งบางคนก็เข้าใจในสิ่งที่เขาสื่อสาร บางคนก็อ้างเรื่องภาระหน้าที่ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยทางเศรษฐกิจก่อนเป็นลำดับแรก แต่เท่าที่สังเกตเขาพบว่า หลังจากที่เขาเหล่านั้นมีฐานะที่ดีพอ เขาก็ยังคงไม่สนใจที่จะทำงานด้านสังคมเช่นเดิม เขามองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล เช่นเดียวกับที่เขาลาออกจากงานธนาคารซึ่งได้เงินเดือนค่อนข้างสูง เพื่อมาเป็น อส.นักสิทธิ์ ขณะที่เพื่อนของเขาได้ลาออกจากการทำงานเพื่อสังคม เพื่อเข้าทำงานกับบริษัทเอกชนด้วยเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจและครอบครัว
เขาฝากประเด็นไปถึงคนรุ่นใหม่และเน้นย้ำกับตัวเองเสมอว่า “การหลีกหนีจากความรับผิดชอบต่อครอบครัว มันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คุณต้องมีศรัทธาในตัวเอง ต้องศรัทธาในความคิด และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นในตัวของคุณเอง”
Siza Nepal / สัมภาษณ์
อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง
ชวนผู้สนใจ สมัครเข้าร่วมโครงการ
“อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 15”
คลิกกรอกใบสมัครได้ที่นี่
คุณสมบัติผู้สมัคร
1. จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ
2. อายุระหว่าง 20-30 ปี
3. สามารถเป็นอาสาสมัครเต็มเวลาจนครบวาระ 1 ปี (1 สิงหาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 กรกฎา 2564)
หลักฐานการสมัคร
1. รูปถ่าย
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
3. สำเนาทะเบียนบ้าน
4. สำเนาวุฒิการศึกษา หรือทรานสคลิป
5. ใบสมัครออนไลน์ (ตามลิงค์ด้านล่าง)ที่กรอกเสร็จเรียบร้อย
องค์กรทั้งหมด ที่เปิดรับอาสาสมัครนักสิทธิฯ รุ่น 15
คลิกดูรายละเอียดที่นี่
ชวนร่วมบริจาคสมทบทุน เพื่อส่งต่อการแบ่งปัน
สนับสนุนกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสังคม
สามารถบริจาคได้ที่บัญชี “กองทุนมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม” ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 075-2142483
- โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน
- โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
- โครงการพลเมืองอาสา
- โครงการแลกเปลี่ยนสหรัฐอเมริกา
- โครงการอาสาสมัครนักวิจัย PAR
- โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมร่วมสร้างชุมชนยั่งยืน (อาสาคืนถิ่น)
- โครงการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพองค์กรทำงานด้านเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างพลังพลเมืองเข้มแข็ง (Young Move)