เราได้เห็นการก้าวเดินของเธอคนนี้ตั้งแต่วันแรกที่เธอเข้ารับการสัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วม “โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมร่วมสร้างชุมชนยั่งยืน” หรือ “อาสาคืนถิ่น รุ่น 4” จนปัจจุบัน เราได้เฝ้ามองการเติบโตของเธอโดยเฉพาะมุมมองและความคิดต่อโลกที่กำลังหมุนไปอยู่ทุกวัน

วันนี้แอ๊ดมินขอนำเรื่องราวดีๆของเธอมาเล่าให้เพื่อนๆฟัง คิดว่าอาจสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆคนที่ยังลังเล กับการตัดสินใจมุ่งหน้ากลับสู่ชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง อันนี้ต้องขอบอกว่าอย่ารอช้านะ ยิ่งตอนนี้ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.)กำลังเปิดรับสมัครอาสาคืนถิ่น รุ่น 5 เพื่อสนับสนุนศักยภาพให้กับเพื่อนๆได้กลับบ้านอย่างยั่งยืน กลับบ้านอย่างไรให้ชีวิตมีคุณค่าทั้งต่อตัวเองและชุมชน เพื่อนๆ ที่สนใจสมัครร่วมโครงการอาสาคืนถิ่น รุ่น 5 ยังสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 พฤษภา 64 เลย และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “เพจอาสาคืนถิ่น”

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ จากเว็บไซต์ https://returnhomeland.com และเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวคนกลับบ้านไปติดตามอ่านได้นะ

เอาหละทีนี้ก็มาถึงเรื่องราวจากเธอคนนี้ซะทีเนาะ…ชวนเพื่อนๆอ่านเลย

หัวใจสำคัญของการกลับบ้าน คือ เห็นคุณค่าของต้นทุนที่มี

“ไม่ใช่ว่าโชคดีที่เรามีต้นทุนแต่เรารู้สึกโชคดีที่มองเห็นต้นทุนในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น ”

“โบว์-จินตหรา ดาปะ” น้องเล็กที่สุดในบรรดาเหล่าอาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จากอำเภอภูหลวง จังหวัดเลยเล่าให้ฟังถึงใจความสำคัญในการกลับบ้านของเธอ โบว์เป็นเด็กจบใหม่ที่ตัดสินใจกลับบ้าน ทันทีที่เรียนจบอย่างไม่ลังเล และปัจจุบันเธอกำลังขับเคลื่อนธุรกิจของชุมชน “ขุนเลย” แบรนด์ผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของชุมชนที่เธอเล็งเห็นคุณค่าของสิ่งนี้เสมอมา โบว์เริ่มหยิบจับงานหลายอย่างในธุรกิจของชุมชนนี้ ทั้งการเงิน ประสานงาน ตลอดจนการรื้อฟื้นข้อมูลเพื่อนำมาเรียงร้อยเรื่องราวของผ้าฝ้าย เธอเล่าให้ฟังราวกับว่าการสร้างคุณค่าให้กับสินค้านั้นไม่ยากเท่ากับทำให้คนในชุมชนรู้สึกเข้าใจในคุณค่าของต้นทุนที่มี

ถึงแม้ว่าเธอจะลงแรงลงใจกับงานชุมชน ในขณะเดียวกันเธอก็ต้องคิดหาวิรีที่จะสร้างรายได้ให้กับตัวเองให้อยู่รอดได้เพื่อพิสูจน์ถึงการกลับบ้านของเธอด้วย

“ฝ้ายอยู่กับคนในชุมชนเรามานาน นานจนชาวบ้านไม่รู้สึกถึงคุณค่าของมันแล้ว”

โบว์เล่าให้ฟังว่าเธอใช้วิธีหางานจัดแสดงสินค้า และนำสินค้าจากชุมชนไปขายยังที่ต่างๆ ทำให้ร้ายได้ของเธอมาจากการออกนอกพื้นที่ซึ่งหักออกไปเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ ก็จะเห็นประโยชน์ที่จะส่งผลไปยังคนรอบข้างได้ “ชุมชนเรามีเด็กติดยาเสพติด ถ้ามันเป็นปัญหาใหญ่ที่เรามองเห็น ในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น เรารู้สึกอยากแก้ไขปัญหานี้” ปัญหาอื่นๆก็เช่นกัน นอกจากโบว์จะดูแลธุรกิจผ้าฝ้ายทอมือของชุมชนแล้ว เธอยังมีความหวังว่าจะมีโอกาสได้ดึงมือคนรุ่นใหม่ในชุมชนเข้ามาเห็นคุณค่าของผ้าฝ้ายและสร้างรายได้ที่สุจริตให้กับตัวเขาได้

“ในวิกฤตแบบนี้คนตกงานเยอะมากๆ ถ้าได้ชวนเขามามาทำงานตรงนี้คงจะช่วยให้หลายอย่างดีขึ้น”

โบว์พูดอย่างมีความหวังที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกดีๆ

ยืนหยัดให้ได้ด้วยขาตัวเอง
และแม้ว่าทางบ้านของเธอจะเป็นเสมือนหัวเรือใหญ่ในการสร้างกลุ่มสินค้าชุมชนนี้ขึ้นมา แต่โบว์ก็มีความคิดอยากสร้างสรรค์แบรนด์ของตัวเองออกมาโดยที่เธอยังคำนึงถึงคนในชุมชนของเธอเป็นอันดับแรก

“อยากพัฒนาชุมชนอยากทำแบรนด์ของตัวเองเป็นผลิตภัณฑ์ใดก็ได้ที่ไม่ทับซ้อนกับชุมชน”

โบว์ยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยวสำหรับเธอการกลับบ้านคือการค้นหาตัวเองไปพร้อมๆ กับการทำงานร่วมกับชุมชน การพูดคุยกับโบว์เหมือนกับได้คุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน ด้วยอายุเพียง 24 ปี สิ่งที่โบว์ต้องการไม่ใช่สิ่งของหรือเงินทองมากมาย แต่เธอต้องการการยอมรับและพิสูจน์ความสามารถของเธอ

“ไม่อยากให้คนอื่นมองเราเพราะเป็นเราเป็นลูกของใคร แต่อยากพิสูจน์ให้เห็นว่าเราเป็นอย่างนี้ได้ด้วยตัวเอง”

โบว์พูดอย่างมีความหวังอีกครั้ง

อาสาคืนถิ่นคือพี่น้อง
การเข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่นของเธอถือเป็นกำไรชีวิต โบว์มองว่าตัวเองยังเด็ก การมาที่นี่จึงเป็นเสมือนการสังเกตการณ์ที่มาพร้อมกับโอกาสดีๆ พาให้เธอได้ทำความรู้จักกับเครือข่ายคนกลับบ้านเหมือนกัน ซึ่งเธอเองก็หวังว่าจะได้แนวทางดีๆ กลับไปพัฒนาตัวเองและชุมชนไม่มากก็น้อยด้วย

“อาสาคืนถิ่นเป็นเครือข่าย เชื่อเลยว่าถ้าเราเจอใครที่มาจากอาสาคืนถิ่นไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน เราจะเป็นพี่น้องกันไปโดยปริยาย”

โบว์เอ่ยด้วยน้ำเสียงปนยิ้ม ก่อนจะกล่าวทั้งท้าย “เราอยากบอกใครที่กำลังกลับบ้านเหมือนกันว่า ถ้าเขาท้อให้คิดว่าไม่ได้ท้อคนเดียว คนที่สู้ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียว ยังมีคนกลับบ้านอีกมากที่ก้าวข้ามบทพิสูจน์ไปด้วยกัน” นี่คือความงดงามของเด็กสาวที่กลับบ้านด้วยความตั้งใจ

“เราอยากบอกใครที่กำลังกลับบ้านเหมือนกันว่าถ้าเขาท้อให้คิดว่าไม่ได้ท้อคนเดียว คนที่สู้ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียว ยังมีคนกลับบ้านอีกมากที่ก้าวข้ามบทพิสูจน์ไปด้วยกัน”

ติดตามเรื่องราวของเธอและการเดินทางของแบรนด์ขุนเลยได้ที่ แฟนเพจ “Khunloei ขุนเลย”

_____
ขอบคุณ
เนื้อหา/ภาพ : https://returnhomeland.com/jintara/ และ แฟนเพจ “Khunloei ขุนเลย
(ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2564)

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai