เรื่อง : กฤษ แสงสุริทร์ /เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้-ภายใต้ กป.อพช.ใต้
———————-
3…2…1… Action!!!
1
……เขียนอะไรดีวะ
2
ก็สวัสดีครับ “ผมชื่อเหน่ง” เป็นคนร้อยเอ็ด เรียนที่ขอนแก่น และปีนี้มาเป็นอาสาสมัครของ “โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 13” หรือเรียกกันสั้นๆว่า “นักสิทธิฯ” เรียกยาวๆว่า นักสีททททททททททททททททททททธิฯ …………..ครับ
3
อาสานักสิทธิฯเนี่ย เป็นโครงการที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.)เป็นผู้จัด เขาจะรับสมัครเด็กนักศึกษา ป.ตรี ที่เรียนจบใหม่ๆ(หรือที่คาดว่าจะจบ)ไปเรียนรู้หรือไปทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในประเทศเป็นเวลา 1 ปี มีค่ายังชีพให้ด้วยนะ(ไม่ธรรมดา) ถึงจำนวนจะไม่มากแต่ก็คิดว่าเพียงพอให้ได้ใช้สอยประทังชีวิตพอได้เป็น ค่าข้าว ค่าเบียร์ กันไป
4
ก็นั้นแหละ ผมเป็นอาสาสมัครนักสิทธิฯ ซึ่งก็เลือกมาเรียนรู้กับองค์กรที่มีชื่อเท่ๆ ว่า เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ เป็นองค์กรใหม่เอี่ยม พึ่งตั้งปีนี้เป็นปีแรก โดยมีสำนักงานเล็กๆ น่ารักๆ ตั้งอยู่ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้ได้นั่งทำงาน ผมเองก็มาขออาศัยใช้เป็นที่ซุกหัวนอน เพื่อจะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายค่าเช่าที่พัก
5
กำลังคิดว่าจะเล่าอะไรก่อนดี ระหว่างเรื่องขององค์กรกับเรื่องที่ว่า “ทำไมเราถึงเลือกมาสมัครนักสิทธิฯ และเลือกที่จะมาทำงานที่นี่”
6
เอาเป็นว่าผมจะพูดถึงเรื่องขององค์กรก่อนแล้วกันนะ องค์กรที่ผมทำงานอยู่มีชื่อเท่ๆ ว่า “เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้” เนี้ย เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยมีทนายความรุ่นใหม่เป็นแก่นเป็นแกน เป็นตัวตั้งตัวตีขึ้นมา เพื่อทำงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีงานหลักๆอยู่สามสี่เรื่องก็คือพวกให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน ช่วยว่าความในคดีสิทธิมนุษยชน ประสานงานกับทนายความในพื้นที่ภาคใต้ที่สนใจช่วยเหลือในคดีสิทธิฯต่างๆ แถมยังมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในภาคใต้เพื่อเผยแพร่ความรู้และมุมมองด้านสิทธิฯ อีก
7
แต่ก็นั่นแหละ ด้วยความที่เป็นองค์กรเกิดใหม่ และปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่อยู่เพียง 3 คน เป็นทนายความ 2 คน และอาสาสมัครอีก 1 คน(ผมเอง) มันก็เลยยังมึนๆงงๆกันอยู่ อาจจะยังมีอะไรที่ยังไม่ลงตัวซึ่งต้องปรับต้องเพิ่มกันอีกเยอะ ช่วงนี้ภารกิจที่ผมทำอยู่ก็คือการติดตามพี่ๆทนายไปเรียนรู้การทำงานนั่นนี่ ก็จะเป็นแนวๆการพิจารณาคดีความ คดีเดินเทใจให้เทพา ที่ชาวบ้านโดนฟ้องว่าทำผิด พรบ. ชุมนุมฯ ซึ่งก็น่าสนใจทีเดียว ไว้เดี๋ยวมีอารมณ์ขยันแล้วจะมาเล่าให้ฟัง แต่ก็นั้นแหละ ทุกคนก็ยังก้าวต่อไปเรื่อยๆ ค่อยๆขยับกันไป
8
ผมเป็นคนอีสาน ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาเป็นนักสิทธิฯ ผมเคยลงมาภาคใต้แค่ครั้งเดียวและแค่ไม่กี่วัน ก็งงตัวเองนิดๆว่า แล้วอยู่ๆโผล่มาทำงานที่นี่ได้ไง ความคิดผมมันน่าจะเริ่มต้นจากที่ช่วงนั้นกำลังจะเรียนจบ เดิมตอนที่เรียนมหา’ลัยเราเคยทำกิจกรรมมาซึ่งคิดว่าตัวเองค่อนข้างชอบงานด้านนี้ ผสมกับที่เรียนจบกฎหมายมาด้วย ก็เลยคิดว่าอยากที่จะทำงานด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนต่อไป เผอิญกับเป็นช่วงจังหวะเหมาะเจาะเหลือเกินที่ช่วงนั้นมีประกาศรับสมัครโครงการนี้พอดี จำได้ว่าตัวเองรู้สึกลังเลอยู่นานเหมือนกัน ด้วยความที่ใจเราอยากทำงานอยู่ที่อีสาน แต่ไม่มีองค์กรไหนในภาคอีสานที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมายเปิดรับสมัครอาสาสมัครเลยสักองค์กร จนกระทั่งวันสุดท้ายของการรับสมัคร จึงได้จังหวะนั่งปั่นๆๆๆๆๆๆๆ ใบสมัครแล้วส่งไปที่ มอส. ……….. แล้วก็เสือกผ่านซะงั้น
9
เอาจริงๆนะ….ตอนที่โครงการให้เลือกองค์กรที่เราอยากจะไปเป็นอาสาสมัคร 2 องค์กร ผมไม่ได้เลือกองค์กรที่ผมทำงานอยู่ตอนนี้เป็น 1 ใน 2 องค์กรนั้น เหตุผลเพราะหนึ่งคือมันไกลบ้านไกลช่องผมเหลือเกิน ไกลเพื่อนฝูงจนเกินไป และเราก็เป็นคนติดเพื่อนซะด้วย และสองคือตอนที่เราเช็ครายชื่อองค์กรในประกาศรายชื่อองค์กรที่ต้องการรับอาสาสมัคร “ชื่อองค์กรที่ผมทำงานอยู่ในปัจจุบันนี้ดันเป็นชื่อกองประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ไม่ใช่เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้” ผมก็เลยข้ามไปโดยไม่ได้อ่านรายละเอียด
10
สุดท้าย สององค์กรที่ผมเลือกเขาไม่เลือกผมซะงั้น…..5555 หลังจากนั้นก็มีเสียงโทรศัพท์จากพี่ๆ มอส. ดังขึ้น บอกให้ผมเข้าไปสัมภาษณ์กับอีกองค์กรหนึ่ง เพราะองค์กรนั้นก็ไม่มีคนเลือกเช่นกัน 5555555555 ก็เลยได้รู้ตอนนั้นแหละว่ายังมีองค์กรที่ทำงานด้านกฎหมายอีกหนึ่งองค์กร(ในตอนนั้นก็ใจห้าวระดับหนึ่ง) ทั้งอยากได้งานทำมาก ในใจตอนนั้นที่ไหนก็ได้หมดถ้าทำงานในสายนี้ และอยากลองไปเรียนรู้ประเด็นใหม่ๆ ในพื้นที่ที่ไม่เคยไป อยากท้าทายตัวเองมากกกกก…มาก สุดท้ายก็เลยได้สัมภาษณ์และตกลงใจได้ว่าจะทำงานที่นี่แหละวะ
11
“เมื่อได้มาทำงานได้มาอยู่จริงๆ ผมรู้สึกได้ว่าเหมือนผมเป็นปลาเปลี่ยนน้ำ” เคยอยู่ในแม่น้ำที่อากาศอบอุ่นแสงแดดจ้า เปลี่ยนมาอยู่ในน่านน้ำที่ฝนตกชุกไม่เว้นวัน ทุกอย่างมันแปลกไปจากเดิมไปหมด ทั้งวัฒนธรรมที่ไม่เคยเจอ ภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่อง ที่อยู่ที่ทำงานที่ห่างไกลถิ่นเก่าซะเหลือเกิน ไกลจนไม่สามารถกลับไปได้ง่ายๆ(ไม่มีตังค์) บริบทชีวิตแบบใหม่ที่ไม่มีเพื่อนที่คุ้นเคยให้ไปเล่นไปหา ทุกอย่างมันหลุดออกจากกรอบเงื่อนไขของตัวผมไปหมด จนเคยรู้สึกว่าจะอยู่ไม่ได้หรือเปล่าวะ ตอนนั้นกลายเป็นไปตกในสภาวะที่หลับหูหลับตาใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ หมดไปวันๆโดยที่ในหัวมีแต่เรื่องเงื่อนไขของตัวเองที่มันไม่ตรงกับเงื่อนไขของที่นี่เอาซะเลย
12
“ก็พึ่งได้ไปขบคิดกับตัวเองในช่วงสามสี่วันที่ผ่านมา ที่ผมได้ไปเกาะติดทีมงาน มอส. ที่มาลงพื้นที่เยี่ยมอาสาสมัครไปกับเขาด้วย ซึ่งมันก็ได้ปลดปล่อยหลายๆความคิดและได้คิดกับตัวเองมากขึ้น ก็เลยเออ นึกขึ้นได้ว่า เฮ้ย เรามาเรียนรู้นี่ แล้วทำไมเงื่อนไขของเรามันมาจำกัดการเรียนรู้จำกัดอิสระของเราไป อาจเพราะเงื่อนไขของเราคือสิ่งที่ทำให้เราสบายใจเมื่อครั้งอยู่ในถิ่นฐานเดิมของเรา แต่พอมาอยู่ในที่ใหม่แล้วเรากลับพบว่าเงื่อนไขของเราเหล่านั้นมันไม่มีอยู่ในที่แห่งนี้ และพอเป็นอย่างนั้นเจ้าเงื่อนไขที่อบอุ่นของผมมันกลับสร้างกรอบในใจขึ้นมาแทนซะได้ มันไม่ควรเป็นอย่างนั้นสิ”
13
ก็อย่างที่ว่า มันคือสภาวะปลาเปลี่ยนน้ำ แต่ถ้าปลาอยากอยู่ให้รอดอย่างแข็งแรงในน่านน้ำใหม่ปลาตัวนั้นก็ต้องวางเงื่อนไขของตัวเองลงและปรับตัวตามเงื่อนไขของธรรมชาติ มันก็อาจเปรียบได้เหมือนกันหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมคิดว่าถ้าอยากจะเรียนรู้ ผมก็ควรที่จะวางเงื่อนไขของตัวเองลงไป แล้วลองหยิบจับเงื่อนไขของที่นี้ขึ้นมาเรียนรู้และอยู่กับมันศึกษาจ้องมองมันให้ละเอียด มันคงทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆได้กว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น ผมคงต้องลองเปิดใจรับสภาพแวดล้อม แล้วเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเรียนรู้กับทุกสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นนับจากนี้ และหวังว่าจะได้เห็นอีกหลายๆมุมมอง ที่ในเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาผมมองข้ามไป
14
จบดีกว่า…….สวัสดี