“บึงก๊อก” (Boeung Kak) ชุมชนโบราณก่อนยุคเขมรแดง ต่อมาได้กลายเป็นพื้นที่มีราคา และได้กลายเป็นหนึ่งในหลายชุมชนที่ถูกหมายไล่รื้อจากทางการเพื่อยึดที่ดินไปพัฒนาเป็นย่านธุรกิจ แต่ด้วยความสามัคคีของคนในชุมชน โดยเฉพาะพลังผู้หญิง และกลยุทธ์การต่อสู้แบบสันติวิธี พวกเขาสามารถทัดทานนโยบายดังกล่าว และอ้างสิทธิ์ของการเป็นผู้บุกเบิก จนสามารถอยู่อาศัยในที่ดินเดิมมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องเก่าเกี่ยวกับการเดินทางไปดูงานประเทศเพื่อนบ้าน “กัมพูชา” ของคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมรุ่นที่ 2 กว่า 30 ชีวิต ตั้งแต่วันที่วันที่ 8-12 มิถุนายน 2558 ภายใต้โครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม หลักสูตร 5 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) ซึ่งมีโอกาสได้ลงพื้นที่ ชุมชน “บึงก๊อก” ผ่านองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนในพนมเปญ

บันทึกและเรียบเรียงเป็นบทสัมภาษณ์โดย เก้า ชีวิต

Q: อาศัยอยู่ที่นี่กันนานรึยังคะ

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1970-1980 มาจนถึงปัจจุบัน พอสมัยเขมรแดงก็มีคนย้ายมาอยู่มากขึ้น จากค่ายอพยพไซต์ 2 ในไทย (ไซต์ก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุด) กลับประเทศมาอยู่ที่นี่ มาแบบถูกต้องตามกฎหมาย คนอื่นก็รับรู้ทั่วกัน อยู่อาศัยเกิน 5 ปี ตามกฎหมายถือว่ามีกรรมสิทธิ์ เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาแต่เราต้องการความยุติธรรม

Q: ช่วยเล่ารายละเอียดเหตุการณ์หน่อยค่ะ

บึงก๊อกมี 10 หมู่บ้าน อยู่กลางเมืองพนมเปญ กว่าจะได้ที่ดินมาก็ต้องต่อสู้ เจอปัญหาทุกอย่าง มีมากกว่า 1,000 หลังคาเรือนถูกไล่รื้อที่ แต่มีเพียง 700 หลังคาเรือนที่ต่อสู้ ที่ได้ที่ดินคืนเพราะร้องเรียนกับ World Bank ที่ World Bank ให้เงินรัฐบาลมาช่วยชาวบ้านแต่รัฐบาลรับเงินมาแล้วไม่ช่วย แต่กลับเอาเงินไปจ้างทหารมาย่ำยีเรา

World Bank รู้สึกผิดที่ไม่ได้ติดตามผล เราคิดว่า World Bank ควรรับผิดชอบ จึงร้องเรียนให้ World Bank จัดการเรื่องนี้ World Bank บอกรัฐบาลว่าถ้าไม่ช่วยชาวบ้านจะตัดเงินทุกอย่างวันที่ 9  สิงหาคม ค.ศ. 2011 วันนั้นรัฐบาลฮุนเซ็นก็ประกาศว่ามีแหล่งทุนอื่น ไม่แคร์ World Bank แต่ 2 วันต่อมารัฐบาลมีหนังสือมอบที่ดินจำนวนหนึ่งให้ชาวบ้านบึงก็อก ซึ่งตัวเลขในหนังสือเกินกว่าความเป็นจริง อีกทั้งประชาชน 700 ครัวเรือนก็ได้ที่ดินไม่ครบทุกครัวเรือน รัฐบาลใช้ช่องว่าใครที่ไม่ไปทำเรื่องในวันนั้นก็ไม่ได้ที่ดินคืน ผลคือที่ดินถูกแบ่งเป็นสองซีก ซีกหนึ่งชาวบ้านได้น้อยลง อีกซีกหนึ่งบริษัทได้เยอะขึ้น

Q: ชาวบ้านต่อสู้กันโดยลำพังหรือครับ

พวกเราไม่ค่อยรู้เรื่องกฎหมาย สิทธิฯ การต่อสู้ เริ่มแรกการต่อสู้เริ่มจากชุมชนเอง พอเห็นว่ามีองค์กรอื่นร่วมสังเกตการณ์ ผนวกกับเมื่อมีเหตุการณ์แล้วภาคประชาสังคมก็ได้ช่วยสื่อสารและให้ความรู้เรื่องกฎหมาย สิทธิต่างๆ สร้างเครือข่ายกับชุมชนอื่นๆ มีองค์กร CLEC, ลิกาโด้ ฯลฯ ช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ที่ต่อสู้ในประเด็นเดียวกัน

Q: ทำไม World Bank จึงมาช่วย

ตอนแรก World Bank ไม่มีท่าทีรับผิดชอบ แต่เราประท้วงที่หน้าลานประชาธิปไตยเป็นอาทิตย์จนเป็นข่าวดังทั่วโลก

Q: ทำไมรัฐบาลถึงมาใช้ที่ของบึงก็อก

รัฐบาลอ้างว่าจะพัฒนาที่ดิน เข้ามาถมที่ พอชาวบ้านถูกจับข้อหาประท้วง ก็สร้างอะไรเล็กน้อยมาบังหน้า เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการพัฒนาที่ดิน ปัญหานี้เกิดทุกที่ในกัมพูชา

Q: ทำไมคนในบึงก็อกที่ต่อสู้ส่วนใหญ่ถึงเป็นผู้หญิง

เรามีประสบการณ์ที่ว่าเมื่อไหร่ที่มีผู้ชายเยอะ รัฐบาลจะใช้ความรุนแรงถึงแก่ชีวิต เราสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่เราก็ยังโดนอยู่ แต่คิดว่าน้อยกว่าที่ผู้ชายโดน เราสู้โดยไม่คิดชีวิตเพราะไม่มีทางเลือก เราตอบโต้ความรุนแรงด้วยอหิงสา เราปรับการต่อสู้ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบ เช่น กลวิธี 1,000 อย่าง แต่งตัวแฟนซี เปลี่ยนธีมเพื่อดึงดูดให้ต่างประเทศสนใจ ใส่ใจ เราได้รับความสนใจจากฮิลลารี่ คลินตัน องค์กรของฮิลลารี่มอบรางวัลให้บึงก๊อก ปี 2012 ผู้เคลื่อนไหวถูกจับเข้าคุก ฮิลลารี่เขียนหนังสือมาให้รัฐบาลปล่อยตัว นอกจากนี้เรายังได้รางวัลจากประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วย

Q: มีเยาวชนเข้าร่วมการต่อสู้บ้างไหม

ชุมชนมีเยาวชนน้อยมาก แต่ก็มาร่วม ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก ตอนที่แม่ๆ ติดคุกก็ออกมาช่วย

Q: ทำไมโลกถึงรู้จักบึงก๊อก

จาก 3 รางวัลระดับสากลที่ได้รับ ทำให้โลกรู้จักบึงก๊อก โลกรู้ว่ารัฐบาลกัมพูชาไม่ให้ความยุติธรรมกับประชาชน เทียบความโหดร้ายและชื่อเสียงกับเขมรแดงเลย ชาวบ้านที่นี่ต่อสู้อย่างต่อเนื่องเหมือนฝนไม่ขาดสาย ชี้แจงให้เขาได้ยินว่าเราเดือดร้อนยังไง แล้วนานๆ ไปแม้แต่ตำรวจก็เห็นใจเรา แม้จะถูกทำร้าย ฉีกเสื้อผ้า ถูกทำให้แท้ง เราก็ไม่โกรธ จนตำรวจใจอ่อน ยอมโดนตัดเงินเดือน ไม่มาทำร้าย

Q: มีอาวุธไหมที่ไปต่อสู้กับเขา

อาวุธที่ปกป้องเราได้คือ “ความดี” เราไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ผิดบาป

Q: ตอนนี้ที่นี่กำลังถูกต่อเติมสร้างเป็นอะไร

ที่นี่กำลังสร้างศูนย์ชุมชน เพื่อประชุม ประสานงาน ต้อนรับหน่วยงานต่างๆ ที่มาดูงาน หรือขอรับข้อมูล

Q: กลัวไหมในการต่อสู้ แล้วจัดการความรู้สึกอย่างไร

สิ่งสำคัญที่ทำให้เราไม่กลัวการต่อสู้คือ “บ้านและครอบครัว” เพราะบ้านคือชีวิตของเรา แม้แต่สัตว์ยังต้องมีบ้าน เราเป็นแม่ต้องมีบ้านให้ลูก ตอนที่มีการไล่รื้อที่ดินก็เกิดทุกขเวทนาอย่างใหญ่หลวง ถ้าเราไม่สู้ลูกก็ไม่ได้รับการศึกษา กว่าจะได้บ้านหลังหนึ่งเราต่อสู้มาครึ่งชีวิตแล้ว ถ้าหาบ้านใหม่ต้องเริ่มกันใหม่ เราในฐานะแม่ต้องสู้เพื่อลูก

ที่ตั้งของบึงก๊อกใกล้โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ทำงาน อยู่กลางเมือง หาทำเลดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว แม้เขาให้เงินเราก็ไม่คุ้ม หรือไล่เราไปที่อื่นก็ไม่เหมือนอยู่ที่บ้านเรา

สิ่งที่เราทำมันถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง เรามีความชอบธรรม

Q: ทำไมถึงเลือกใช้สันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง มีบทเรียนมาก่อนรึเปล่า

จากการได้ยินประวัติศาสตร์เขมรแดง ทำให้เราคิดว่าไม่ควรตอบโต้ด้วยความรุนแรง ความรุนแรงมีแต่จะนำความเสียหายมาอย่างมหาศาล

Q: สุดท้ายนี้ มีอะไรจะฝากไว้ไหม

เรามีชีวิต มีลมหายใจ เราจะส่งเสียงของเราให้โลกได้ยิน (พี่วันดี)

เมื่อพูดคุยเสร็จแล้ว แม่ๆได้พาคณะเดินดูบึงก๊อก ซึ่งบัดนี้ ไม่เหลือเค้าเดิมของการเป็นแหล่งน้ำ หากแต่ถูกถมที่ เตรียมก่อสร้างเรียบร้อย ระหว่างทางแม่ๆ ยังชี้ให้ดูบ้านคนที่ร่วมต่อสู้ด้วยกันอีกด้วย

 

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai