หากนับช่วงวัยทำงานของชัญญาแล้ว ถือว่าเธอเริ่มทำงานโดยการช่วยกิจการของครอบครัวตั้งแต่อายุ 13 ปี และเส้นทางชีวิตของเธอจากการทำงานธุรกิจครอบครัวสู่เส้นทางอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน แทบไม่น่าเชื่อแต่แล้วมันก็ได้เกิดขึ้น หลังจากเธอเรียนจบและสอบใบอนุญาตว่าความได้พร้อมๆ กับผ่านขั้นของเนติบัณฑิตแล้ว เธอยังมีดีกรีปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชนสากลจากสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้แล้วเธอยังได้ทุนสำหรับเรียนต่อที่ประแคนนาดา เธอเคยทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ และในปี 2558 ฝันก็เป็นจริงเมื่อเธอเข้ารับการฝึกอบรมผู้พิพากษา

เป้าหมายหลังเรียนจบของเธอคือ การมุ่งหน้าสู่งานกระแสหลัก เธอเคยได้ยินเรื่องงานอาสาสมัครจากน้องสาว แต่เธอก็ยังไม่เคยสมัครที่ไหน กระทั่งน้องสาวได้ส่งใบสมัครมาที่ มอส. เธอจึงสมัครมาด้วย เธอได้รับคัดเลือกเป็นอาสาสมัคร โดยทำงานที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนของ มอส. เป็นระยะเวลา 1 ปี

ที่ มพบ. เธอทำงานที่ศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย มีภารกิจหลักคือการจัดการและเตรียมเอกสารคำร้องสำหรับใช้ในกระบวนการศาล รวมถึงการให้คำแนะนำกับผู้ที่เข้ามาปรึกษากฎหมาย แม้งานที่ มพบ. จะไม่ตรงตามที่เธอได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งคือการได้ทำงานที่ศาลและได้ฝึกการใช้กฎหมายควบคู่กันไป แต่เธอกลับพบว่า งานที่เธอทำมันให้ประสบการณ์ที่ดี เธอเล่าว่า “มันเป็นกระบวนการที่จะได้เห็นคนก่อนที่จะขึ้นศาล และฉันคิดว่ามันเป็นประโยชน์ต่อสิ่งที่ฉันกำลังจะทำต่อไป” หลังจากครบวาระอาสาสมัครฯ แล้วเธอยังอยู่ช่วยงานที่ มพบ. ต่ออีก 2 เดือน

หลังจากนั้นเธอเตรียมตัวเข้าฝึกอบรมผู้พิพากษาหลังจากสอบผ่านข้อเขียนแล้ว เธอเล่าว่า “หากจะว่าไปแล้ว โครงการ อส.นักสิทธิ์ของ มอส. เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่ฝันจะเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ เพราะโครงการฯ จะให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการก่อนชั้นศาลได้เป็นอย่างดี” ในสถานการณ์ทั่วไปเราไม่ได้เห็นความเดือดร้อนของประชาชนในภาพรวมทั้งหมด แต่สำหรับเธอแล้ว “โครงการนี้เป็นวิธีการที่ดีที่ทำให้เธอมองเห็นภาพรวมเหล่านั้น”

เธอรู้จัก มอส. เมื่อนานมาแล้วแต่เธอไม่มีแรงกระตุ้นมากพอที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ก่อนหน้านี้เธอมุ่งมั่นทำแต่งานที่รับผิดชอบซึ่งเป็นงานกระแสหลักทั่วไป เธอบอกว่า “วันหนึ่งฉันย้อนถามตัวเองว่า ทำไมฉันมาอยู่ตรงนี้ อะไรคือความหมายของชีวิต ฉันจะแค่ทำงาน เล่น แล้วก็นอนแค่นั้นหรือ แล้วหลังจากนั้นคืออะไร มันทำให้ฉันย้อนไปตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วชีวิตฉันต้องการจะทำอะไร และมีอะไรที่ฉันยังไม่ได้ทำกันแน่” ช่วงที่เธอกำลังถามหาความหมายของชีวิตนี่เอง เป็นช่วงที่น้องสาวของเธอได้ยื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการอาสานักสิทธิ์ เธอจึงตัดสินใจยื่นเช่นกัน

ช่วงแรกที่เธอเข้าร่วมโครงการเธอรู้สึกผิดที่ไม่เลือกในสิ่งที่ควรจะเลือก ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษาหรือช่วยธุรกิจของครอบครัวก็ได้ เนื่องจากเธอเป็นลูกคนโตของครอบครัวซึ่งมีธุรกิจของตัวเอง เธอบอกว่า “มันเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของฉันในการร่วมโครงการอาสาสมัครของ มอส.”

(ติดตามตอนจบ–จันทร์หน้า)

—————————————————
Siza Nepal / สัมภาษณ์

อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล

เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai