ธรธรร ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากการเป็นอาสาสมัคร เช่น เทคนิคการทำงานจัดตั้งชาวบ้าน เทคนิคการแก้ไขปัญหาที่นอกเหนือไปจากการใช้วิธีการทางกฎหมาย เช่น การจัดขบวนชุมนุมหรือขบวนรณรงค์เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เขาบอกว่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการนี้เขาไม่เคยได้รับจากรั้วมหาวิทยาลัยเลย หลายครั้งที่เขาได้เข้าร่วมขบวนชุมนุมที่กรุงเทพฯ กับชาวบ้านเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เขาเล่าว่า “ผมเดินทางมาพร้อมชาวบ้าน นอนบนรถบัส บนรถไฟ บนถนน ผมรับรู้ความรู้สึกทุกอย่างที่ชาวบ้านรู้สึก  มันเป็นความรู้สึกที่เกิดจากสถานการณ์จริง”  นี่คือสิ่งที่เขาเล่าพร้อมๆ   กับการคิดย้อนไปถึงประสบการณ์ช่วงที่ยังเป็นอาสาสมัคร ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้คือ ชาวบ้านต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ผ่านสถานการณ์จริงด้วยกันทั้งนั้น

เนื่องจากประเด็นสิทธิมนุษยชนถือเป็นประเด็นใหม่ในประเทศไทย ธรธรรมบอกว่าในช่วงที่เขาเข้าร่วมกับโครงการอาสาสมัครในระยะแรกๆ ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน การลงพื้นที่ครั้งแรกของเขาทำให้เขารู้ว่าชาวบ้านไม่รู้จักคำว่าสิทธิมนุษยชนเลย ไม่สามารถตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐได้แม้แต่น้อย แต่หลังจากที่ได้ผ่านเวทีฝึกอบรมให้ความรู้แล้ว ชาวบ้านก็สามารถตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างไม่ยากเย็น ธรธรรให้ความเห็นว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ชาวบ้านจะต้องเข้าใจมัน เพราะเมื่อเข้าใจแล้วเขาก็จะรู้สิทธิ์ของตัวเองและทำอะไรได้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย”

“ในส่วนของคดีแพ่งและคดีอาญาบริษัทสามารถฟ้องร้องชาวบ้านได้ แต่ในคดีปกครองชาวบ้านสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กลุ่มชาวบ้านได้พยายามที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับบริษัทให้มากที่สุด แต่กับหน่วยงานรัฐแล้วเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นชาวบ้านสามารถตั้งคำถามต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้แบบตรงไปตรงมา เช่น กรณีที่บริษัทดำเนินการยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านซึ่งถือว่ามีความผิดในทางกฎหมาย กรณีลักษณะนี้ ชาวบ้านสามารถฟ้องรัฐบาลและตั้งคำถามกับรัฐเกี่ยวกับการให้อำนาจกับบริษัทในการกระทำการ

เขาทำงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ดินทำกินในหลายลักษณะ เช่น ประเด็นปัญหาที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์หรือเขตป่าอุทยานซึ่งมีชาวบ้านอาศัยและทำกินอยู่เป็นจำนวนมาก และเขาพบว่าชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์และก่อนการประกาศใช้กฎหมายจำกัดสิทธิทำกินของชาวบ้าน เขาได้ทำงานร่วมกับเอ็นจีโอเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาผ่านกลไกการต่อรองกับหน่วยงานรัฐ เขาเล่าว่า “แม้ปัญหาส่วนใหญ่จะถูกแก้ไขผ่านกระบวนการต่อรอง แต่เรายังไม่สามารถแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านได้”

นักวิชาการและนักกฎหมายอาวุโสหลายท่านซึ่งทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เขาเดินหน้าทำงานเรื่อยมา เขาเล่าว่าความรู้ที่เขามีอยู่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้มาก มีชาวบ้านชนเผ่าปกาเกอะญอหรือเผ่าม้งจำนวนมากที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเขาก็จะพยายามใช้เครื่องมือทางกฎหมายเข้าช่วยเหลือชาวบ้านให้มากที่สุด

(ติดตามตอนจบ จันทร์หน้า)

—————————————————
Siza Nepal / สัมภาษณ์

อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล

เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai