ประกาศ

เปิดรับอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 18 (วันนี้ - 29 ก.พ. 67)

ลงชื่อเข้าร่วมในแถลงการณ์จากกลุ่มภาคีนิติธรรมพลเมือง "สารถึงคนหนุ่มสาวผู้กล้าหาญ และคำเรียกร้องต่อศาลเพื่อทรงสถิตยุติธรรม"

กลุ่ม @BeachForLifeTH เเละขบวนประชาชนทวงคืนชายหาด 91 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อทวงคืนชายหาดจากการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

#ดงมะไฟ ไม่ใช่เหมืองธรรมดา แต่เป็นเหมืองที่ยึดคืนจากรัฐและนายทุน❗️การต่อสู้ของเครือข่ายชาวบ้านกินเวลานานกว่า 27 ปี

สื่อ The Reporters รายงานมีผู้ลี้ภัยจีนถูกจับหน้าสถานทูตจีน ระหว่างชูป้ายประท้วงประธานาธิบดีจีน ระหว่างประชุมเอเปค ฐานเข้ามาในไทย

ด่วน 10.06 น. ✍️ ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว แซม พรชัย, แม็ก สินบุรี และมิกกี้บัง สามสมาชิก #ทะลุฟ้า โดยให้วางหลักประกันคนละ 100,000 บาท

สมบัติ ทองย้อย ? ถูกคุมขังย่างเข้า 200 วัน หรือนานกว่าครึ่งปีแล้ว! ในคดี ม.112 กรณีโพสต์ #เก่งมากกล้ามากขอบใจ และอีก 2 ข้อความ

เขียนโดย นายสุทธิเกียรติ ธรรมดุล อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 7 ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
วันพฤหัสบดีที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013

ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทำลายความเป็นจริง1

“..เมื่อเอาเหตุผลส่วนตัวทิ้งไป แล้วทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทำให้รู้สึกได้ว่า เวลาทำงานเพื่อสังคม แรงบวกในชีวิตมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้รู้สึกว่า “การทำงานเพื่อความสุข” มันเป็นอย่างนี้นี่เอง”

สรุปบทเรียนการทำงานวาระ 4 เดือน [กรกฎาคม-พฤศจิกายน 2555] นายสุทธิเกียรติ ธรรมดุล อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 7 ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทำลายความเป็นจริง2
“สิทธิชุมชน” คือ สิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการเข้ามามีส่วนร่วม จัดการ ดูแล บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน”

ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอแนะนำองค์กรที่ได้เข้ามาเป็นอาสานักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่วนใหญ่จะรู้จักกันในนาม “องค์กรพี่แย้” หรือสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความผู้เป็นหัวหน้าองค์กร “ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น” จ.เชียงใหม่ มีประเด็นการทำงานในด้านกฎหมายเป็นหลัก โดยเฉพาะในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในด้าน “สิทธิชุมชน” ในฐานการจัดการทรัพยากร ที่ดิน และป่า อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสิทธิตามกฎหมาย และกลไกการคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มคนชายขอบ

กิจกรรมที่ทำคือ ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือคดีความที่ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ หากทว่าองค์กรได้เรียกตัวเองว่า “เป็ด” เนื่องจากเป็ดเป็นสัตว์ที่ทำทุกอย่างที่ขวางหน้า เวลาลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลหรือไปจัดกิจกรรม รวมถึงลงไปช่วยเหลือทางคดี ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าจะไม่มีประเด็นอื่นๆ ตามมา อาทิ ประเด็นสัญชาติ, สิทธิสถานะ, แรงงาน เป็นต้น ในการทำงานในพื้นที่ของคนชายขอบ องค์กรจึงไม่สามารถจำกัดความในประเด็นการทำงานให้แคบลงได้

นอกเหนือจากงานที่กล่าวมาคือ ช่วยเหลือคดีความให้คำปรึกษาในด้านกฎหมายแก่ชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิฯ องค์กรยังทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพรวมไปถึงสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในพื้นที่ โดยการสร้างเครือข่ายขององค์กร อีกทั้งสร้างเครือข่ายของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง โดยในโครงการเสริมสร้างพลังชุมชน ชนเผ่าชาติพันธ์ ในการใช้สิทธิชุมชนและพัฒนาประชาธิปไตย อบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำและอาสาสมัครชุมชน โดยการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชน ชนเผ่าชาติพันธุ์ มีความรู้ ความเข้าใจนโยบายและกฎหมาย

หากจะกล่าวถึงปัญหาที่ชาวบ้านต้องเผชิญนั้น ส่วนใหญ่มักถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาหรือฐานความผิด บุกรุก ขับไล่ หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นรัฐกับนายทุนที่ดำเนินคดีแก่ชาวบ้าน ต่อศาลยุติธรรม ซึ่งทางองค์กรเข้าไปช่วยเหลือต่อสู้ในเรื่องของคดีความ จนกว่าคดีความจะถึงที่สุด จากคดีความที่องค์กรได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ผลของคดีก็เป็นไปตามกระบวนการทางยุติธรรม ในมุมของข้าพเจ้าคิดว่า บทบาทขององค์กรอีกอย่างคือ การเป็นผู้รับฟัง กล่าวคือจากการที่ชาวบ้านมาระบายความรู้สึกของตนเองออกมาอีกทาง

ตัวอย่างปัญหาที่ข้าพเจ้ามีโอกาสได้สัมผัส เป็นกรณีรัฐกับชาวบ้านจังหวัดน่าน ได้เข้ามาปรึกษาปัญหากับทางองค์กร ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่า ชาวบ้านได้เข้าไปทำกิน(ปลูกข้าวโพด) เจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยป้องกันรักษาป่า ได้รับแจ้งว่ามีการบุกรุกแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีความผิดตาม ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 14 แต่อย่างไรก็ดีขณะนี้ชาวบ้านคนนั้นยังมิได้ถูกดำเนินคดี เพราะอยู่ในระหว่างการตรวจสำนวนของอัยการว่า ควรจะสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งทางองค์กรก็ต้องเตรียมตัวเพื่อที่จะต่อสู้คดีต่อไป
ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทำลายความเป็นจริง3

ยังมีอีกคดีเป็นที่น่าเสียใจกับการต่อสู้คดี คือ กรณีชาวบ้าน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกนายทุนฟ้องขับไล่ โดยคดีถึงชั้นบังคับคดีแล้ว(โดยศาลตัดสินขับไล่และให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากพื้นที่) ก่อนที่จะเข้ามาปรึกษากับองค์กร ข้อเท็จจริง มีอยู่ว่า ชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. (ที่ดินที่รัฐให้ประชาชนครอบครอง เพื่อปฏิรูปที่ดินเป็นพื้นที่ทำกิน บุคคลมีสิทธิครอบครองที่ดินไม่เกิน 25 ไร่ และครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่) ทั้งนี้มีนายทุนมาแอบอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวโดยได้มาจากการซื้อขายต่อมากันเป็นทอดๆ

จากที่ฟังชาวบ้านเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ จะเห็นได้ว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม กล่าวคือ ทนายของจำเลย(ชาวบ้าน) น่าจะมีส่วนเกี่ยวพันกับผลประโยชน์แห่งคดีนี้ ซึ่งการต่อสู้คดีเป็นไปอย่างเห็นได้แน่ชัด เนื่องจากประเด็นหลักที่น่าจะหยิบยกมาต่อสู้มีไม่กี่ประเด็น แต่ทนายมิได้ต่อสู้ในประเด็นนั้น อย่างไรก็ดีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวบ้าน มิใช่ปัญหาที่ชาวบ้านจะต่อสู้ไม่ได้ แต่ทว่ามันขึ้นอยู่กับผู้ที่จะต่อสู้คดีแทนชาวบ้าน

ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากชาวบ้านจะตกเป็นจำเลยในคดี ก็ยังมีโอกาสเป็นโจทก์ฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในบางกรณี นอกจากนั้นก็มีคดีทางปกครองเกี่ยวกับการกระทำของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิชาวบ้าน อย่างเช่นคดีชาวบ้านแม่ตะละม้ง มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการออกกฎ คำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ มีข้อเท็จจริงดังนี้

จำหน่ายทะเบียนบ้าน “ชาวม้งบ้านแม่ตะละ”

เดิมบ้านเรือนของชาวบ้านแม่ตะละม้ง ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านแม่ตะละ หมู่ที่ ๖ ต.ยั้งเมิน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ต่อมานายอำเภอสะเมิง ได้ออกประกาศให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนในบ้านแม่ตะละแจ้งย้ายและจำหน่ายทะเบียนบ้านเพื่อย้ายเข้าหมู่ที่ ๗ ต.แม่แดด อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ภายใน ๓๐ วัน หากไม่แจ้งย้ายภายในเวลาที่กำหนดจะทำการย้ายรายการบุคคลเข้าทะเบียนบ้านกลาง และจำหน่ายรายการเลขที่บ้าน โดยให้โต้แย้งชี้แจงข้อเท็จจริงของตนเป็นหนังสือภายใน ๓๐ วัน เมื่อครบกำหนดนายอำเภอสะเมิงอ้างว่าไม่มีราษฎรผู้ใดโต้แย้งชี้แจงภายในเวลาที่กำหนด จึงได้แจ้งย้ายราษฎรหมู่บ้านแม่ตะละ จำนวน ๓๕๔ คน เข้าทะเบียนบ้านกลาง และจำหน่ายรายการเลขที่บ้าน จำนวน ๔๓ หลังคาเรือน เป็นผลให้ชาวบ้านแม่ตะละม้งทั้ง ๒๔๙ คน ถูกระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียน ไม่สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนและทำการแจ้งย้ายปลายทางได้

ดังนั้นการที่นายอำเภอสะเมิง แจ้งย้ายราษฎรบ้านแม่ตะละ เข้าทะเบียนบ้านกลางและจำหน่ายรายการเลขที่บ้านดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการดำเนินดังกล่าวอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการกำหนดเขตตำบลในท้องที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการกำหนดเขตตำบลในท้องที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความจริง โดยในการสำรวจอาณาเขตและบรรยายอาณาเขตของตำบลยั้งเมิน ไม่ครอบคลุมบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรบ้านแม่ตะละ กรณีนี้จึงทำให้ชาวบ้านแม่ตะละม้งทั้ง ๒๔๙ คนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลและศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาและคำสั่งบังคับให้เพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศสำนักทะเบียนอำเภอสะเมิงแล้ว

จากคดีตัวอย่างที่ข้าพเจ้ายกมา จะเห็นได้ว่าชาวบ้านหรือราษฎร จะตกเป็นผู้เสียเปรียบในการที่จะต่อสู้คดีกับรัฐหรือนายทุนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกกีดกัน(เพราะถูกมองว่าไม่ใช่คน) ความไม่เข้าใจในตัวบทกฎหมาย บางรายอ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น ฯลฯ แม้แต่การช่วยเหลือของทนายความที่มีนอกมีในเองก็ตาม

ชาวบ้านมักจะเชื่อและเข้าใจมาตลอดว่าที่ดินที่ทำกินหรือที่อยู่อาศัยในปัจจุบันนั้น เป็นที่ดินที่ได้รับความคุ้มครองและสามารถทำประโยชน์ได้ เพราะเป็นที่ดินที่สืบทอดต่อกันมาเป็นทอดๆ จากรุ่นสู่รุ่น อย่างไรก็ตามชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนชายขอบหรือกลุ่มชาติพันธ์ ที่มีการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในเขตป่า และยังไม่มีความรู้ ขาดสิทธิในเรื่องการเดินทาง การทำงาน (ในบางชุมชน) ด้วยเหตุอันจำเป็นในการดำรงชีวิตที่จะหาเลี้ยงตนเอง ครอบครัว ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ที่จะประกอบอาชีพอื่นๆ นอกเสียจากการทำไร่ ทำสวน เพื่อยังชีพไปตามสมควรแก่อัตภาพและฐานะ ซึ่งเป็นการดำรงชีวิตสืบทอดกันมาตามวิถีวัฒนธรรมประเพณี ดังนั้นน่าจะเป็นที่เข้าใจได้ว่าความรู้สึกของชาวบ้านเป็นเช่นไรเมื่อมีการถูกละเมิดสิทธิ์ขึ้น

ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทำลายความเป็นจริง4

สิทธิชุมชนมาก่อน กฎหมายมาทีหลัง

แต่เดิมแนวความคิดเรื่องการจัดการป่าไม้ก่อนการปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ชุมชนอยู่ในฐานะที่อยู่เหนือการควบคุมจากรัฐ การจัดการทรัพยากรป่าไม้แต่ละชุมชนเป็นไปในลักษณะที่มีการวางกฎเกณฑ์ไว้ในรูปแบบของจารีต หลังจากการปฏิรูประบบบริหารราชการในสมัยราชกาลที่ 5 ถือเป็นช่วงผ่านที่สำคัญในโครงสร้างอำนาจในการบริหารที่มีการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ทันสมัย ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้มีการจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นในปี พ.ศ.2439 และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติและกฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมป่าไม้และที่ดิน จึงทำให้มีการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อโอนอำนาจในการจัดการป่าไม้ทั้งหมดคืนสู่รัฐบาล อาทิ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484, ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504, พ.ร.บ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เป็นต้น เมื่อกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ออกมา ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อนแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ต้องกลายเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายและต้องออกจากพื้นที่นั้นๆ เพราะกฎหมายให้คำนิยามของคำว่า “ป่า” คือ “ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน” รัฐซึ่งถือว่าตนเป็นผู้ออกกฎหมาย จึงถือสิทธ์ผูกขาดการจัดการที่ดินและป่าทั้งหมด

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการกระจายอำนาจการปกครองมากขึ้น หากแต่แนวความคิดเรื่องการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางนั้นมีมาแต่อดีต หรือมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ที่รัฐยังคงปฏิบัติเช่นนี้อยู่ ซึ่งหมายความรวมไปถึงเรื่องอำนาจในการจัดการทรัพยากรเหนือชุมชน จึงเป็นการไม่สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น จึงถือได้ว่าชาวบ้านหรือชุมชนยังได้รับผลกระทบจากรัฐเพราะขาดการมีส่วนร่วม

เห็นได้จากข้อมูล(การสำรวจสภาพการใช้ที่ดินของกรมพัฒนาที่ดินปี 2551-2552)ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ดินอยู่ประมาณ 320 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ประมาณ 127 ล้านไร่ เป็นที่ดินที่รัฐสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะประมาณ 193 ล้านไร่ ทั้งยังคงมีที่ดินถูกทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพ ทั้งในส่วนที่เป็นที่ดินของเอกชนและที่ดินของรัฐ จึงพบว่าที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดขณะที่ประชากรเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันประชากรส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีที่ดินเป็นของตนเองเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพตามฐานานุรูป อาทิเช่น ทำไร่ ทำสวน เพื่อยังชีพไปตามสมควรแก่อัตภาพ ดังนั้นไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่าสาเหตุของปัญหาคือ “ที่ดิน” เพราะที่ดินคือรากฐานของทุกสิ่งอย่าง

ข้อกล่าวหาเลื่อนลอย “คนต้นน้ำทำไร่เลื่อนลอย”

สังคมทั่วไปยังเข้าใจว่า คนชายขอบเป็นคนตัดไม่ทำลายป่า แนวคิดดังกล่าวฝังอยู่ในความคิดของคนไทย แต่สังคมลืมคิดไปว่า ทรัพยากรหรือสิ่งที่นำมาสร้างความสะดวกสบายทั้งหลายนั้นมันมาจากไหน และมันนำไปสู่คำถามของข้าพเจ้าที่ว่า คนต้นน้ำ(คนชายขอบ) คือคนที่ทำลายป่าจริงหรือ? หากกลับกันพวกเขาเป็นคนรักษาป่าเอาไว้ด้วยซ้ำ และคนทั่วไป(คนพื้นราบ)หวงแหนป่าไว้เพื่ออะไร เหตุใดจึงคิดหวงแหน จึงคิดเสมอว่าพวกที่อยู่ต้นน้ำคือพวกทำลายป่า ในเมื่อตัวเองยังไม่รู้จักคำว่าป่าด้วยซ้ำไป

มายาคติในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับการแก้ปัญหา เพื่อให้สังคมยอมรับในข้อเท็จจริงดังกล่าว ในการแก้ปัญหาดังกล่าวน่าจะมีกระบวนการสร้างการเรียนรู้ ให้มีการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติให้กับคนในสังคมส่วนใหญ่ ให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตและประเพณีของคนชายขอบอย่างแท้จริง มิใช่การปลูกป่าแต่ไม่เคยได้ดูแลป่าเลย
 
อีกประเด็นที่ยังเป็นปัญหาในการต่อสู้คดีความในเรื่องที่ดินที่ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต อีกทั้งยังถูกกำกับด้วยกฎหมายหลายฉบับ และอยู่ภายใต้การควบคุมด้วยกลไกที่ซับซ้อนและรัดกุม ฉะนั้นกระบวนการดำเนินคดี ระหว่างความถูกต้องต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ตรงตามความเป็นจริง จะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มิใช่แต่เพียงจะอ้างเอกสารสิทธิ์เท่านั้นคงไม่พอ จะต้องมีกระบวนการสำรวจข้อเท็จจริงอย่างจริงจัง และควรจะมีการตรวจสอบว่าการออกและการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่

ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทำลายความเป็นจริง5ส่งท้าย สิ่งที่ได้เรียนรู้

“ไม่ว่าจะเจอปัญหาหรือว่าอุปสรรคแค่ไหน ข้าพเจ้าจะขอก้าวไป ก้าวไป ก้าวต่อไป” เป็นประโยคที่ข้าพเจ้าได้เขียนใส่ไว้ในกระดาษรูปหัวใจ ตอนทำกิจกรรมตอนปฐมนิเทศอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เวลาที่นึกถึงทีไรมันเหมือนเป็นแรงผลักดันให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ต่อ แม้ข้าพเจ้าจะยังไม่สามารถตอบได้ว่ามีศักยภาพในการทำงานมากน้อยเพียงไร เพราะว่าในการทำงานที่ผ่านมามันเป็นช่วงของการเรียนรู้และศึกษางานขององค์กร ข้าพเจ้าจึงยังไม่สามารถที่จะตอบได้เลยว่ามีข้อจำกัดในการทำงานเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งมันจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในทุกๆ ด้าน

รายงานสรุปบทเรียนการทำงานวาระสี่เดือน จึงทำให้เกิดการมองถึงตัวเอง ทบทวนตัวเอง รวมถึงการสะท้อนความคิดของตัวเองเกี่ยวกับการทำงานในด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากการทำงานที่ผ่านมาคือ การได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองจากที่เคยว่างเปล่าไม่มีแม้แต่ส่วนเติมเต็ม ทำให้เกิดความรู้สึกถึงชีวิตของตัวเองได้เปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้มันจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ค่อยๆ ก้าวไปทีละก้าวอย่างระมัดระวังและตั้งใจ มันจึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาการเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับที่ดิน ป่าไม้ทั้งหมด เพราะว่าความรู้เท่าที่มีมันแทบจะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านนี้ไม่ได้เลย อีกทั้งยังรวมไปถึงการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องสัญชาติ, กฎหมายปกครอง, กฎหมายแรงงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ เรื่องการเข้าถึงชุมชนก็เป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ต้องมีการปรับทัศนคติของตัวเองและการทำให้เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันเป็นอย่างที่ใครเขาพูดกันว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่การเรียนรู้และยอมรับมัน” และเมื่อเอาเหตุผลส่วนตัวทิ้งไป แล้วทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทำให้รู้สึกได้ว่า เวลาทำงานเพื่อสังคม แรงบวกในชีวิตมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้รู้สึกว่า “การทำงานเพื่อความสุข” มันเป็นอย่างนี้นี่เอง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai