ยู

ยูฮานี เกิดที่จังหวัดปัตตานี ปัจจุบันเธอทำงานด้านกฎหมายที่ Asylum Access ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานให้คำปรึกษาแนะนำทางกฎหมาย ประสานงานกับองค์การ UNHCR เกี่ยวกับการพิจารณาให้สถานะผู้ลี้ภัย สร้างเข้มแข็งให้ชุมชน และสนับสนุนสิทธิมนุษยชนเพื่อผู้ลี้ภัย

เธอก้าวเข้าสู่สายงานเพื่อสังคมแบบไม่ได้ตั้งใจนัก เนื่องจากเธอสนใจงานทนายความด้านธุรกิจมากกว่า แม้จะเห็นป้ายประกาศของโครงการ อส.นักสิทธิ์ในมหาวิทยาลัย แต่เธอก็ไม่ได้สนใจกับมันมากนัก กระทั่งเมื่อเพื่อนเธอแนะนำและสนับสนุนให้เธอกรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เธอเปิดโอกาสให้ชีวิตได้เข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์และพบปะกับผู้คนใหม่ๆ มากขึ้น

ยูฮานีผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ โดยเธอเลือกทำงานเป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม พื้นที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งการที่เธอมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว จึงเหมือนเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้เธออยากทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพวกเขามากขึ้นไปอีก

1 ปีกับการคลุกคลีทำงานไม่เพียงพอสำหรับประสบการณ์ที่เธอต้องการ เธอจึงอยู่ทำงานต่ออีก 3 ปีหลังจากหมดวาระอาสาสมัคร ภารกิจของเธอส่วนใหญ่เป็นการลงพื้นที่ภาคสนามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยทำงานร่วมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกจับกุมหรือถูกทรมาน รวมถึงการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลในกรณีการเรียกร้องค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน

เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้กฎหมายความมั่นคงถูกนำไปประกาศใช้ในพื้นที่ แน่นอนว่าชาวบ้านต้องตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ เธอต้องจับตาสถานการณ์นี้ และด้วยความที่เธอเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว การใช้ภาษามลายูสำหรับการสื่อสารกับคนพื้นที่จึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับเธอ หากมีกรณีพิพาทในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น เธอจะเป็นผู้ที่ทำกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำหน้าที่สืบค้นข้อมูลในกรณีที่มีการละเมิดอำนาจระหว่างการจับกุมดำเนินคดี สิ่งที่เธอเชื่อคือ กระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริงได้ในพื้นที่

เธอเชื่อเสมอว่าสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องนามธรรม แต่มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่นเดียวกับเวลาที่มีคนบอกว่า “ต้องเคารพในสิทธิแห่งตัวฉัน เมื่อฉันถูกคุกคามฉันสามารถสัมผัสกับการละเมิดสิทธิหรือการถูกทำร้ายนั้นได้โดยตรง สิ่งนี้แหละคือสิทธิมนุษยชนในเชิงรูปธรรม” ส่วนผลที่เกิดขึ้นต่อชุมชนที่เธอทำงานด้วยก็คือ ชาวบ้านรู้สึกได้เลยว่า นอกเหนือจากพวกเขาด้วยกันแล้ว ยังมีกลุ่มคนและหน่วยงานอื่นๆ ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือพวกเขาและครอบครัวที่ได้รับการคุกคาม เธอบอกว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ “ชาวบ้านได้เรียนรู้ว่าหากเกิดกรณีพิพาท หรือการละเมิดสิทธิ์ ชาวบ้านจะเข้าแจ้งความอย่างไร และหาช่องทางเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไรด้วย”

ก่อนหน้าที่เธอจะสมัครเข้าโครงการ อส.นักสิทธิ์ เธอตั้งใจจะสมัครเข้าทำงานด้านกฎหมายกับบริษัทเอกชนสักแห่งเพื่อเก็บเงินให้ได้เยอะๆ แต่หลังจากที่เธอได้เข้าร่วมโครงการ โครงการก็ได้เปลี่ยนความตั้งใจเดิมของเธอทั้งหมด เธอเลือกที่จะทำงานอยู่เคียงข้างชาวบ้าน เลือกที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น เธอบอกว่า “ฉันรู้สึกว่าฉันได้รับค่าตอบแทนทางใจจากการทำงาน ซึ่งมันทำให้ฉันสามารถยืนหยัดทำงานเพื่อผู้อื่นได้” มันทำให้เธอมีความภาคภูมิใจว่า การได้ช่วยเหลือผู้อื่น “มันคือสิ่งที่เป็นความแท้จริงของหัวใจ”

การที่ได้ทำงานกับเครือข่ายหรืองานประสานความร่วมมือคือการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับยูฮานีไม่แพ้สิ่งอื่นๆ เธอบอกว่า “อีกอย่างหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้จักโครงการ อส.นักสิทธิ์ คือ ฉันได้รู้ว่าฉันมีกลุ่มเพื่อนๆ ที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของกันและกัน” และเพื่อนๆ เหล่านี้แหละที่เธอได้ร่วมกับพวกเขาจัดทำโครงการหรือค่ายระยะสั้น 1 อาทิตย์ เพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เธอพูดถึงโครงการนี้ว่า “คนหนุ่มสาวต่างรู้สึกตื่นเต้นกับการเข้าร่วมโครงการ ทุกคนต่างพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ แบ่งปันแนวคิดให้กับเยาวชนทุกคน” อย่างไรก็ตาม พวกเขาประเมินว่าโครงการที่จัดขึ้นนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี

การเป็นนักกฎหมายในบริษัทเอกชนเราอาจใช้กฎหมายทำร้ายผู้อื่นได้ แต่การเป็น อส.นักสิทธิ์เราได้ใช้กฎหมายเพื่อปกป้องผู้อื่น ยูฮานีเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นกับการทำงานอย่างมาก เธอบอกว่า “ฉันคิดว่าฉันได้ค้นพบเส้นทางของฉันแล้ว มันคือเส้นทางที่ฉันต้องการใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อทำให้เกิดความชอบธรรมมากที่สุด” เส้นทางนี้สร้างโอกาสให้เธอได้เติบโตไปพร้อมๆกับการเรียนรู้ชีวิตในหลายมิติ เธอบอกว่าค่าตอบแทนที่เธอได้รับจากการทำงานมันเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า “เพราะมันได้มาแบบที่ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ใคร”

ทุกสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากงานที่เธอทำ ตั้งแต่ปัญหาเล็กๆ เช่นการทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงขั้นของการเสียชีวิตซึ่งเธอต้องจัดการกับมัน สิ่งเหล่านี้มันเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับเธอ เธอเล่าว่า เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่ฝันที่จะทำงานในศาลไม่ว่าจะเป็นอัยการหรือผู้พิพากษาก็ตาม ทำให้เขาเหล่านั้นต้องติดกับดักของการสอบ 5-10 ปี สำหรับเธอแล้วนั่นไม่ใช่ความต้องการของเธอ เธอเพียงอยากจะทำงานในภาคสนาม คอยให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเพื่อให้เข้าถึงความยุตธรรม เธออยากอยู่กับสถานการณ์จริง สัมผัสกับมันได้จริงๆ เท่านั้น เธอเล่าว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตนักกฎหมายไม่ใช่การได้ทำงานในศาล การกล่าวคำรายงานในชั้นศาลไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ที่สามารถสร้างสันติและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน”

เธอคิดว่านักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยังมีน้อย  นักศึกษากฎหมายส่วนใหญ่จะทำงานกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความเอกชน ด้วยความคิดที่ว่างานด้านนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนไม่สามารถตอบสนองทางด้านเศรษฐกิจได้ เธอก็ยังมีข้อเสนอให้ มอส.ดำเนินโครงการนี้ต่อไป อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาจบใหม่ได้เรียนรู้ความเป็นจริงของสังคม รวมถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน โครงการฯ จะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการทำงานในอนาคต ไม่ว่าหลังจากจบวาระอาสาสมัครแล้วเขาจะเลือกเดินทางสายนี้ต่อไปหรือจะเลือกเดินตามกระแสก็ตาม แต่ที่แน่ๆ เธอเชื่อว่าหัวใจของพวกเขาจะยังคงระลึกถึงความทุกข์และความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเสมอ

ความฝันของยูฮานีคือการได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก แต่เมื่อเธอได้เข้าร่วมโครงการ อส.นักสิทธิ์ เธอก็ได้คิดว่า นี่คือช่วงเวลาของการเรียนรู้ชีวิตอีกช่วงหนึ่ง การที่พ่อของเธอทำงานสัมพันธ์กับชุมชนอยู่แล้วยิ่งทำให้เธอคุ้นเคยกับงานชุมชนได้เป็นอย่างดี ประสบการณ์จากการทำงานทำให้เธอได้เรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติบางอย่างในตัวเธอ ก่อนหน้านี้เธอมักจะคิดแบบแยกเขาแยกเรา โดยเฉพาะกับกลุ่มแรงงานพม่าที่เธอทำงานด้วย เธอมักคิดว่า “ขอให้เธออยู่ในที่ของเธอ ส่วนฉันก็อยู่ในที่ของฉัน” แต่ ณ ขณะนี้ประสบการณ์การทำงานได้ทำให้เธอเปลี่ยนไป เธอคิดได้ว่าเราทุกคนเป็นคนเหมือนกัน อาจจะต่างกันบ้างก็เพียงรายละเอียด เธอกล่าวว่า “เราจะคิดว่าแรงงานข้ามชาติต่ำหรือสูงกว่าเราไม่ได้ เพราะมันเป็นความคิดที่ผิดอย่างมหาศาล เราต้องคิดแบบใหม่ ต้องคิดว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเราเอง และตอนนี้ฉันก็ได้เปลี่ยนมันแล้ว”

แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับการที่จะเปลี่ยนทัศนคติของใครสักคน แต่มันเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก คนรุ่นใหม่ต้องทำความเข้าใจว่า การศึกษาไม่ใช่เพียงช่องทางเดียวของการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ดีๆ ให้กับชีวิต การเรียนรู้ที่แท้จริงต้องผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ต้องลงพื้นที่ศึกษาจริง ต้องทำงานกับชาวบ้านที่เป็นกรณีปัญหา จึงจะเข้าในวิถีชีวิตของเขาเหล่านั้น และเราอยากเห็นอนาคตของประเทศไทยเป็นแบบไหน “จงก็อย่ายึดติดกับการศึกษาเพียงในกระแสหลักเท่านั้น ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าเธอเป็นคนไม่ดี เพียงเพราะเธอได้ก้าวเท้าออกมานอกกรอบกฎเกณฑ์ทางสังคมเพื่อมาสัมผัสกับปัญหาทุกข์ร้อนของชาวบ้าน”

Siza Nepal / สัมภาษณ์
อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai