ตอนสุดท้ายของบทสัมภาษณ์นี้ ฝุ่นคุยต่อในประเด็นที่ค้างไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า

ฝุ่น : ผมว่าจริงๆแล้วการพัฒนาในรูปแบบนี้ (การให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิด) อาจจะไม่สามารถใช้ได้กับคนรุ่นใหม่ทุกคนที่อยากจะกลับบ้าน เพราะต้นทุน(ที่ดิน ปัญหาชุมชน น้ำ อื่นๆมากมาย) ของแต่ละคนไม่เท่ากัน และฐานทรัพยากรของแต่ละชุมชนก็ไม่เท่ากันด้วย ซึ่งผมก็คิดว่าภาวะของคนรุ่นใหม่ประเภทนี้มีจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์อยู่กับกรอบความคิดที่สังคมกำหนดให้ด้วยความจำยอม (ผมขอเรียกว่า “ทาสทางความคิดและจิตวิญญาณ” ที่มีคนรุ่นใหม่ในสังคมไม่มากนักที่จะหลุดพ้นวงจรทางความคิดนี้) และถามว่าแล้วจะทำอย่างไร (คือ ผมไม่ใช่ผู้มีอำนาจ ผู้มีบารมีหรือผู้มีพลังวิเศษมาจากไหน) แต่ก็พอจะคาดเดาตามความคิดและประสบการณ์ที่มีอยู่ได้ว่า สังคมไทยขาด “กระบวนการพัฒนาทางความคิดเชิงบวก” ให้กับคนรุ่นใหม่ที่ถือเป็นอาวุธที่ดีที่สุดของการอยู่ร่วมกันทางสังคมและสามารถสร้างความตระหนักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ประเด็นที่ผมพยายามอธิบายมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ต้องกลับไปสู่ชุมชนบ้านเกิดทุกคน และต้องออกมาทำธุรกิจเพื่อสังคมทุกคน แต่ผมกำลังชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าคนรุ่นใหม่จะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จะต้องมีกระบวนการคิดและทบทวนต่อตนเอง ชุมชน และความรับผิดชอบต่อสังคมมากว่าคุณค่าที่เป็นตัวเงิน ยกตัวอย่างเช่น กรณีการสมัครเข้าทำงานบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง การคิดทบทวนว่าบริษัทนั้นดำเนินงานส่งผลกระทบต่อสังคม กระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ ถ้ามีผลกระทบย่อมไม่ควรเข้าทำงานกับองค์กรเหล่านั้น และที่สำคัญกว่าก็คือ การเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นใหม่กับชุมชน ทั้งชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่และ/หรือชุมชนอื่นๆในสังคม ถ้าคิดว่าชุมชนนั้นมีความสำคัญทั้งต่อตนเองและคนอื่นๆ ในสังคม อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตอาหารอินทรีย์  เป็นชุมชนป่าต้นน้ำ ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้คือเหตุผลที่จะต้องพยายามทำให้คนรุ่นใหม่มีตัวตนในชุมชน ทำให้เกิดกลไกประสานงานกับกลุ่มคนในชุมชนให้มากที่สุด หรือแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะไม่ได้ทำงานในชุมชนโดยตรง แต่เขายังสามารถสนับสนุนปัจจัยอย่างอื่นได้ ดังนั้นการที่กระแสของคนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิดหรือกลับมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ในสังคมนั้นผมคิดว่า ยังเป็นแค่กระแสตามค่านิยมของความอยากได้ อยากมี อยากถ่ายภาพลง Facebook และผมก็คิดว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศจีนก็เช่นกัน ที่ยังอยู่ในภาวการณ์การชักจูงหรือการถูกคอบงำทางความคิด ซึ่งถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงอีกประมาณ 5 – 10 ปี ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเลือกเส้นทางชีวิตของตนเองทางใดทางหนึ่งเพื่อให้ตนเองและสังคมอยู่รอดได้ภายใต้สภาวะสังคมโลกที่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของดิน ฟ้า อากาศ คน และเทคโนโลยีที่ไม่สามารถคาดเดาได้

คำถามสุดท้ายของบทสัมภาษณ์นี้ เป็นประเด็นที่ฝุ่นฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากหวนคืนบ้านเกิด ทั้งในจีนและภูมิภาคอาเซียน?

ฝุ่นตอบมาว่า : ผมขอฝากในฐานะของคนรุ่นใหม่คนหนึ่งซึ่งเติบโตในชุมชนชนบท หากจะถามว่า เรายังจำกันได้หรือไม่ในช่วงสมัยที่พวกเราสามารถจะวิ่งหรือเดินขึ้นบ้านไหนก็ได้ ทำกิจกรรมตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน อยากกินมะม่วงก็ปีนเก็บได้เลย อยากกินผักก็ปลูกไว้ตามหลังบ้าน  อยากกินปลาก็หาได้ตามแม่น้ำ เราปลูกข้าว ดำนาเอง หาของป่า ทำบุญที่วัดร่วมกัน สภาพแวดล้อมในชุมชนเหล่านั้นได้เลี้ยงดูและหล่อหลอมกระบวนการการใช้ชีวิตของเรามา (คนรุ่นใหม่บางคนอาจจะมีประสบการณ์ร่วมที่ดีในพื้นที่อื่นๆ ก็ได้) ความรู้สึกดีๆเหล่านี้ยังจำประสบการณ์เหล่านี้ได้ดีในหัวใจของเด็กตัวเล็กๆคนหนึ่ง  ประเด็นก็คือถ้าเรารู้สึกได้ถึงสิ่งที่เราได้รับในครั้งนั้นว่าเป็นความสุข คำถามก็คือ แล้วเราจะสร้างความสุขเหล่านั้นให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ และชุมชนของตนเองได้อย่างไร ทำอย่างไรจะให้ความสุขเหล่านั้นยังคงอยู่ในชุมชนของตนเองผ่านเด็กๆ เยาวชน และคนรุ่นใหม่แบบร่วมสมัย โดยมีความตระหนักรู้ หวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้สรรพสิ่งในชุมชนอยู่รอดปลอดภัยร่วมกัน ส่วนคนที่อยากมีส่วนร่วมสร้างชุมชนอื่นให้มีความสุขร่วมกันก็สามารถสนับสนุนกันได้ทุกจังหวัดทุกภูมิภาค ยกตัวอย่างประเด็นการสร้างเขื่อนในพื้นที่จังหวัดจังหวัดหนึ่ง คนต่างพื้นที่สามารถร่วมสนับสนุนต่อต้านการสร้างเขื่อนร่วมกันได้ก็ได้เนื่องด้วยมีความทรงจำที่ดีร่วมกัน


ทั้งนี้การกลับบ้านหรือการพัฒนาพื้นที่ของคนรุ่นใหม่สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดมีอยู่ 4 ประเด็น 1. การรวมกลุ่มหรือสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ทั้งในและนอกพื้นที่ 2.คนพื้นที่บริหารจัดการชุมชนร่วมกัน 3.คนรุ่นใหม่ต้องมีอุดมการณ์ร่วมกัน 4. การสร้างเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมาเราใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เกษตรอินทรีย์ เป็นเงื่อนไขในการคืนสู่บ้านเกิด ใช้วิธีการการเข้าไปสนับสนุนงานด้านเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการฯ เพื่อที่จะพยายามสร้างกลุ่มเครือข่าย/องค์กรเกษตรกรรุ่นใหม่ในชุมชนที่สามารถจัดการพื้นที่ร่วมให้เป็นฐานทัพการพัฒนาพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ใช้การพบปะชุมนุม การเปลี่ยนแลกเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือการสร้างอุดมการณ์ร่วมของคนรุ่นใหม่หัวใจวิถีอินทรีย์ เพื่อสร้างความพอเพียงปูทางสู่ความเป็นธรรมทางสังคม ทำให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากบนฐานทรัพยากรชุมชนอย่างแท้จริง

ติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ และอ่านบทความย้อนหลังที่ คลิ๊ก

———————————————
จารุวรรณ สุพลไร่ / เรื่อง
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai