3 ตอนแรกฝุ่นได้เล่าเรื่องราว ประสบการณ์จากฉงฉิ่ง-แผ่นดินจีนไปแล้ว และอีก 3 ตอนถัดจากนี้ ฝุ่นจะเล่าเรื่องราวต่อจากจีน ย้ายมาสู่เชียงใหม่ ประเทศไทย บ้านเกิด

ณ เชียงใหม่ ภาคเหนือของไทย
คำถามแรก ที่ให้ฝุ่นช่วยเล่าเริ่มจากว่า ตอนนี้ฝุ่นรับผิดชอบโครงการอะไรอยู่  :

ผมทำ “โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมสู่ชุมชนบ้านเกิด” เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) ผมทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับอาสาสมัครในโครงการ กลุ่ม องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ นอกจากภารกิจเรื่องการประสานงานโครงการแล้ว ผมยังมีภารกิจอีกอย่างคือการบริหารการจัดฝึกอบรม การจัดศึกษาดูงาน/การเรียนรู้ รวมถึงการติดตามและประเมินการทำงานของอาสาสมัครในพื้นที่ชุมชน

คำถามที่สอง เราพุ่งไปที่ความเชื่อมั่นและและความฝันของฝุ่นเองว่าเขาเชื่อมั่นและฝันอะไรในภารกิจที่เขาทำอยู่ในปัจจุบันนี้ :

ฝุ่นเล่าว่า : ถามว่าฝันอะไร คือ ฝันเยอะมากและก็คิดว่าเป็นความฝันของอีกหลายๆ คนที่กำลังคิดและกำลังฝันอยู่ในขณะนี้ ปัญหาสังคมชุมชนไทยโดยเฉพาะในชนบทตอนนี้คือ ไม่ค่อยมีคนหนุ่มสาวหลงเหลือในชุมชน ถึงแม้จะมีบ้างแต่ก็น้อย และก็เป็นส่วนน้อยที่เข้าทำงานให้ระบบราชการหรือบริษัทที่ตั้งในย่านชุมชน แต่การเกิดปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่ออยากจะพัฒนาและร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนที่เป็นบ้านเกิดตนเองนั้นยังไม่ค่อยมีให้เห็น (คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ชุมชนมองและเรียกพวกเขาว่า “คนบ้าบอ” เพราะเป็นกลุ่มคนที่จบการศึกษาชั้นสูง คำถามคือ จะกลับมาทำอะไรที่บ้าน ถ้าเรียนจบแล้วคิดจะกลับมาทำนา ทำสวนจะเรียนไปทำไม) การกลับคืนสู่บ้านเกิดของตนเองถือเป็นความท้าท้ายอย่างมากกับการพยายามตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจชุมชนของคนรุ่นใหม่ การกลับบ้านเกิดของเองตน ทำให้ประเด็นการสร้างฐานเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่มุ่งสู่การทำเกษตรเพื่อให้สามารถเลี้ยงชีพตนเอง มีรายได้บนฐานทรัพยากร (ที่ดิน น้ำ และแรงงาน) ที่มีอยู่ในครอบครัวและชุมชน

อย่างไรก็ตาม การสร้างความแตกต่างระหว่างเกษตรแบบดั้งเดิมของคนรุ่นเก่า กับเกษตรแบบประยุกต์ของคนรุ่นใหม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทางเลือกหนึ่งที่โครงการฯได้ใช้เป็นเครื่องมือของการนำคนรุ่นใหม่คืนสู่ชุมชนก็คือ การทำเกษตรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์การทำเกษตรเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีเข้มข้นจนส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี การกลับไปสร้างฐานอาหารที่บ้านเกิดของคนรุ่นใหม่ทำให้มีอาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภค ซึ่งตนเอง ครอบครัว และชุมชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

นอกจากนี้แล้วสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากคนรุ่นใหม่กลับบ้าน คือการสื่อสารและส่งต่อข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อต่อผลกระทบด้านสุขภาพ จิตใจและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เป็นความฝันที่กำลังทำให้เป็นจริง เพราะสิ่งที่โครงการต้องการไม่ใช่เพียงแค่ต้องการให้คนรุ่นใหม่ได้กลับบ้านแล้วมีงานทำที่ดีเท่านั้น แต่ต้องการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ร่วมมองปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างเข้าใจบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เกิดการเรียนระหว่างกันทั้งเรื่องภูมิปัญญาดั้งเดิมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่มีคนรุ่นใหม่เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา การสร้างเศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่เป็นของทุกคนในชุมชนอย่างแท้จริง

ติดตามอ่านช่วงสุดท้ายของตอน 4 และอ่านตอน 5 ต่อได้จันทร์หน้า

———————————————
จารุวรรณ สุพลไร่ / เรื่อง
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai