“ดาไม่เข้าใจหรอกว่าลึกๆ แล้วปัญหามันคืออะไรกันแน่ ดารู้แค่ว่าดาเป็นมนุษย์และเป็นลูกหลานของโลกใบนี้  เหตุผลนี้แหละที่ทำให้ดาคิดว่ามันเป็นสิทธิ์ที่ดาควรได้รับเหมือนเด็กคนอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกัน”  มึดาย้อนถึงความรู้สึกของตัวเองสมัยที่ยังเป็นนักเรียนที่มีสถานะของคนไร้รัฐ ทำให้เธอยืนหยัดทำงานเพื่อสิทธิของคนไร้รัฐในไทยเรื่อยมา

เดิมทีพ่อแม่ของเธออาศัยอยู่ที่รัฐกะเหรี่ยงในประเทศพม่า แต่ต้องอพยพหนีภัยสงครามมาจากประเทศพม่าแล้วมาตั้งรกรากในประเทศไทยนานกว่า 47 ปี มึดาเกิดที่แม่ฮ่องสอนและต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย เกือบ 9 ปีกว่าที่เธอจะได้สัญชาติในปี 2551 เธอเล่าประสบการณ์การที่ต้องอยู่ในสถานะคนไร้สัญชาติ ซึ่งต้องประสบปัญหาต่างๆ เธอเล่าว่า “ผู้ที่ไร้สัญชาติจะถูกจำกัดสิทธิ์เรื่องการเดินทางออกต่างจังหวัด เพราะไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยเข้มงวดเป็นอย่างมาก”

ปัญหาอีกอย่างของเด็กไร้สัญชาติคือ การถูกยึดใบประกาศนียบัตรรับรองวุฒิทางการศึกษา มึดาก็เป็นหนึ่งในนั้น ซ้ำถูกอาจารย์เพ่งเล็งว่าเป็นกลุ่มคนที่หนีปัญหามาจากประเทศอื่น ช่วงแรกของการเรียนในระดับวิทยาลัย เธอได้เข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมนักศึกษา ร่วมออกค่ายเพื่อหาประสบการณ์ชีวิต เธอเคยได้ยินเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่เธอไม่รู้สึกๆ อะไรมากนัก แต่เหตุนี้ก็ทำให้เธอตัดสินใจเรียนคณะนิติศาสตร์ เธอบอกกับตัวเองว่า “ถ้าฉันได้มีโอกาสได้เข้าเรียนกฎหมาย ฉันจะใช้ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดการทำงาน จะทำให้คนในหมู่บ้านของฉันได้รับสัญชาติไทยทุกคน” ที่สุดฝันของเธอก็เป็นจริงเมื่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพได้อนุมัติทุนการศึกษาให้ เธอเล่าว่า “ดารู้สึกว่าเป็นคนที่โชคดีที่สุดในรอบหลายปีที่มีแต่โชคร้ายมาตลอด”

ช่วงที่เธอเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายในส่วนเนื้อหาที่ว่าด้วยการมีสัญชาติไทย เธอเป็นหนึ่งในคนไร้สัญชาติที่ได้รับสัญชาติไทย เธอจึงเป็นตัวแทนของคนไร้สัญชาติที่ออกมาพูดถึงปัญหาของคนไร้สัญชาติต่อสาธารณะ เธอฝันไว้ว่า หลังจบการมหาวิทยาลัย เธออยากจะทำงานเพื่อคนในชุมชนของเธอ อยากทำงานเพื่อคนในสังคม อยากปกป้องคนอื่นๆ ประกอบกับการที่เธอได้รับข้อมูลมาจากเพื่อนๆ เกี่ยวกับโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนของ มอส. ความฝันนี้บวกกับข้อมูลที่มี ผลักดันให้เธอก้าวเข้ามาสมัครเป็นอาสาสมัครในโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน

ขณะที่เธอเรียนในมหาวิทยาลัยความจริงที่เธอพบคือ แม้จะมีผู้ประกอบอาชีพด้านกฎหมายเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ค่อยเห็นคนหนุ่มสาวให้ความสนใจที่จะทำงานประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเอาจริงเอาจัง เมื่อหันกลับมามองนักศึกษาด้านกฎหมาย เธอเห็นว่า มีนักกฎหมายจำนวนน้อยที่ใส่ใจปัญหาสังคมอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่มุ่งเอาดีด้านธุรกิจมากกว่าที่จะมุ่งให้ความช่วยเหลือสังคม หลังจากเข้าร่วมกระบวนการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนแล้ว  เธอได้พบกับกลุ่มคนที่มีความฝันและหัวใจเดียวกันที่พร้อมจะก้าวไปช่วยเหลือผู้คนในสังคม เขาเหล่านี้ทำให้เธอได้พบว่าเธอไม่ได้โดดเดี่ยวบนหนทางสายนี้ แต่เธอมีเพื่อนอีกมากที่พร้อมจะเดินไปบนเส้นทางของการปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยกัน แม้เส้นทางนี้จะมากด้วยปัญหาที่แตกต่างในรายละเอียด แต่เธอก็เชื่อว่ากฎหมายจะต้องถูกประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม ตามอัตลักษณ์และบริบทของพื้นที่แตกต่างกันไป และที่แน่นอนที่สุดก็คือ เธอและเพื่อนๆ จะร่วมกันทำงานและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ

หลังจากเรียนจบเธอคิดว่าเธอต้องทำงานกับคนไร้สัญชาติต่อไป ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ เพราะเธอคือหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้น  ถึงแม้เธอจะโชคร้ายที่เกิดมาเป็นคนไร้สัญชาติ แต่เมื่อเธอได้ย้อนไปทบทวนเรื่องราวชีวิตของเธอตลอดเวลาที่ผ่าน มันทำให้เธอรู้สึกว่าเธอโชคดีมากที่ได้มีโอกาสทำให้คนอื่นๆ ได้รับโอกาสเช่นเดียวกับเธอ ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นนอกจากทำให้เธอเข้มแข็งแล้ว ยังเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้เธอกล้าที่จะก้าวออกไปช่วยเหลือผู้อื่น เธอบอกกับตัวเองเสมอว่า “ฉันไม่ควรหยุดภารกิจเรื่องคนไร้สัญชาติไว้เพียงเพราะว่าฉันได้สัญชาติแล้วเท่านั้น แต่ดาควรทำมันต่อไป”

(ติดตามตอน 2 สัปดาห์หน้า)

————-

Siza Nepal / สัมภาษณ์

อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล

เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai