“การสลายการชุมนุมเมื่อวานนี้เหรอ ผมว่ารัฐบาลยังคงแก้ปัญหาได้แย่เหมือนเดิม ตั้งแต่ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนไปจนถึงวิธีการสลายการชุมนุม เห็นชัดอยู่ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ประชาชนชุมนุมโดยความสงบ ไร้อาวุธ ถึงจะเสี่ยงโควิดแต่ก็ยอมฝ่าออกมา เพื่อจะมาขอทวงอนาคตตัวเอง อยู่ต่อก็เสี่ยงตาย ออกมาเสี่ยงตายแต่อย่างน้อยได้เปล่งเสียงตัวเอง เป็นการสร้างทางเลือกให้กับตัวเองและคนส่วนใหญ่อีกด้วย”

มีภาพที่ทีมสื่อแห่งหนึ่งหนึ่งถ่ายเก็บไว้ได้ คือเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเตะผู้ร่วมชุมนุม อีกทั้งวิธีปราบปรามการใช้กระสุนยาง ระเบิดควัน แก๊สน้ำตา และการฉีดน้ำแรงดันสูง เป็นการปราบปรามเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางการเมืองโดยมีเยาวชนเป็นแกนนำ สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย สำหรับผมยังมองว่าอยู่ในขั้นวิกฤต และอ่อนแอ ตั้งแต่สถาบันครอบครัว จนถึงสถาบันสูงสุด”

นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว “เอ็ม” พูดยังมีความเห็นเกี่ยวกับ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ที่ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองคือ

“3 ข้อเรียกร้อง การแสดงออกทางการเมืองของราษฎร 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ยุบสภา จากทั้งหมด 3 ข้อนะ ผมว่าขอแค่ข้อ 1 ข้อเดียวรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่เห็นว่าจะทำได้ ผมมองว่าการคุกคามไม่ว่าจะด้วยวิธีรูปแบบไหน มันสะท้อนการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ คือผลผลิตอำนาจนิยม “

ต้องบอกว่าขึ้นต้นบทสนทนาระหว่างเรารอบนี้เขาคุยจั่วหัวก่อนเลยเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองเราในตอนนี้ เรียกได้ว่าค่อนไปแนวเผ็ดจริงๆ เดี๋ยว Admin ขอพาไปรู้จักกับเขาคนนี้ก่อนว่าเขาเป็นใครกัน

Admin : สวัสดีเอ็ม แนะนำตัวนิดนึงครับ
เอ็ม : สวัสดีครับผมชื่อ “เอ็ม-จรัสรวี ไชยธรรมW นะครับ อายุ 23 ปี จบจากสาขาวิชาการจัดการชุมชน มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ผมทำกิจกรรมช่วยงานมหาวิทยาลัย และช่วยงานอาจารย์ทำโครงการพัฒนาชุมชนต่างๆตลอดเลย

มีโอกาสได้เป็นประธานกลุ่ม G-TID ยอดหญ้าในป่าแห้ง ทำกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเยาวชนรุ่นใหม่นำการเปลี่ยนแปลง ในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ – แพร่ ฯลฯ เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายเยาวชนคนมือดี ที่มีเพื่อนต่างสถาบันภาคเหนือตอนบน และประเทศลาว ผมเคยเป็นอาสาช่วยงานพี่แอน กลุ่มพลังโจ๋ จังหวัดแพร่ด้วยครับ

และมีโอกาสได้เข้าไปฝึกงานที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ(มพน.) ที่นั่นผมได้เรียนรู้ประเด็นสิทธิที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผมว่าผมคุ้นเคยกับการทำงานภาคประชาสังคมและงานพัฒนาชุมชน ทั้งหมดที่ว่ามาคือประสบการณ์ก่อนที่ผมจะตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการอาสานักสิทธิฯ ของ มอส. และตอนนี้ผมยังอยู่ในสถานะของ “อาสานักสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ 15” ที่ “สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม หรือ GreenNews ภายใต้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมครับ

Admin : ไหนๆก็ขึ้นต้นด้วยประเด็นการลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้ว ขอต่อประเด็นนี้เลยนะ …..คิดยังไงกับการออกมาชุมนุมภายใต้สถานการณ์เฝ้าระวังโควิดที่เรียกได้ว่าตอนนี้รุนแรงมาก
เอ็ม : คิดว่าคงไม่มีอะไรจะมาหยุดพลังของราษฎรได้ ตอนนี้อยู่ในสถานการณ์คับขันทั้งนั้น อยู่เฉยๆแล้วไม่ได้ออกไปไหนก็เสี่ยงติดโควิด ขณะที่การได้ออกไปเปล่งเสียงแสดงออกบนท้องถนนแม้จะเสี่ยงติดโควิคแต่อาจได้สร้างปรากฏการณ์อะไรบางอย่างกลับมา

ม็อบ 18 กรกฎาคม มีหลายกลุ่ม/หลายฝ่าย ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิฯและขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่น กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย DRG, ขบวนการริมสระ, คณะประชาธิปไตยเพื่อความหวัง DemHope, เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยทะลุฟ้า, เฟมินิสต์ปลดแอก, ภาคีบุคลากรสาธารณสุข, เยาวชนปลดแอก FreeYOUTH, ราษฎรมูเตลู,  ศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, สหภาพคนทำงาน, สหภาพไรเดอร์, SUPPORTER THAILAND, We Volunteer

ภายใต้สถานการณ์โควิด -19 คงไม่มีอะไรร้ายแรงกว่านี้อีกแล้ว เขาเตรียมตัวดีอยู่แล้ว มาตราการต่างๆที่ออกมาป้องกัน  แค่ตอนนี้สิ่งที่ต้องการคืออนาคตที่ดีกว่านะครับ

Admin : อธิบายคำว่าอนาคตที่ดีกว่าหน่อยครับ
เอ็ม : ผู้นำที่สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เช่น กรณีสิทธิที่ดิน ชาวบ้านบางกลอย กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กรณีวิกฤตมลพิษอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง วิกฤต PM 2.5 และอื่นๆ อันนี้คือยกตัวอย่างนะครับ ก็ที่ผ่านมาผมยังไม่เห็นรูปแบบวิธีการจัดการปัญหาที่ตอบโจทย์กับชุมชนได้อย่างยั่งยืนเลย

เห็นมีแต่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาแต่แล้ว ยืดเยื้อเวลาการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นไปเรื่อยๆ ผ่านไป 5 ปี บ้าง 10 ปี บ้าง บางกรณีปัญหายืดเยื้อกว่า 30 ปี ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

การปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ หรือแก้ปัญหาแบบพอให้เสร็จๆเพียงเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แบบตัดปัญหาไปก่อน มันทำได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งผมรู้สึกว่านี่ไม่ใช่อนาคตที่ผมอยากเห็นและอยากมี ผมต้องการเห็นสังคมไทยมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าสถานะทางสังคมจะแตกต่างหลากหลายแค่ไหน แต่มาตรฐานมันต้องเท่าเทียมกัน

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่น รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมองว่าปัญหาบางกลอยไม่ใช่ปัญหาเรื่องของสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังผลักดันให้บางกลอยเป็นพื้นที่มรดกโลก นี่คือเรื่องใหญ่มากนะครับที่คนที่เป็นถึงระดับผู้นำมองว่าปัญหาที่ดินไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน

เราย้อนกลับมาดูเรื่องของระบบการบริหารประเทศไทยของระบอบประยุทธ์นะครับ เห็นได้ชัดเจนคำว่าโครงการพัฒนาต่างๆหลายโครงการถูกเร่งรัดให้มีการดำเนินการในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หรือในยุค คสช. ปัญหาบานเลยครับมีชุมชนกว่า 40,000 ชุมชน ในเขตป่าไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา

อีกทั้งงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันรวมประมาณ 37,228 ล้านบาท หรือ 1.12% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด 3,300,300 ล้านบาท ก็รู้สึกว่าเป็นการใช้จัดสรรที่ไม่สมเหตุสมผลนะครับ คือ ผมว่าเราเกิดมาในยุคนี้แล้ว เราไม่ใช่คนยุคก่อน คือเราเห็นได้ชัดเลยว่าระบบสถาบันพระมหากษัตริย์คือระบบที่ถูกสร้างมาเพื่อกดขี่ประชาชน งบประมาณภาษีของประชาชนมีรัฐเป็นผู้จัดสรร และงบประมาณเพื่อบริหารประเทศ ถูกจัดสรรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับคนเพียงบางกลุ่ม เอาง่ายๆคือ แค่ดูจากการใช้งบประมาณ ก็เห็นได้ชัดแล้วครับว่าองค์กรไหนทำอะไรเพื่ออะไร

ยกตัวอย่างเช่น งบประมาณเกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยง 26 โครงการ ใช้งบประมาณ 109 ล้านบาทในช่วงปี 2555 ถึงปี 2563  เปรียบเทียบกับประชาชนจำนวนมากที่แทบไม่มีข้าวจะกินนะครับ โดยเฉพาะกลุ่มคนจนในเมือง มันชวนสงสัยและน่าตั้งคำถามมากว่า ประเทศไทยคือประเทศเกษตรกรรมแต่ทำไมกลับมีคนอดอยากจำนวนมากอยู่เต็มไปหมด ทำไมสิ่งเหล่านี้ยังมีให้เห็นในสังคมไทย ไม่ใช่เพราะกลุ่มคนบางกลุ่มเหรอครับที่ผูกขาดอาหารและตลาด ทำให้กลุ่มคนจนไม่สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้

สิ่งที่อยากเห็นคือ ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการกำหนดอนาคตของประเทศไทย ผมอยากเห็นและฝันมานานแล้วด้วยว่ารัฐบาลจะสามารถกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ผมเชื่อว่าท้องถิ่นควรมีอำนาจในการตัดสินใจเหลือกกำหนดอนาคตตัวเอง เพราะเขาคือเจ้าของปัญหา แต่ความเป็นจริงตอนนี้คือ อำนาจการตัดสินใจต้องมาจากส่วนกลาง จากส่วนกลางมาจังหวัด จากจังหวัดมาอำเภอ มาตำบล สุดท้ายแล้วใครตัดสินใจครับ ก็ท้องถิ่นอยู่ดีไหม

มีหลายโครงการมากครับที่ผมรู้สึกว่างบประมาณมันบานมากเลย หลายโครงการถูกจัดสรรมาให้ประชาชน ให้คนในท้องถิ่นดำเนินการ เช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงโน่นนี่นั่น แต่ผู้ริเริ่มโครงการไม่ได้มาจากประชาชนท้องถิ่นนะครับ แม้ในหลักการจะบอกว่าโครงการเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อให้พวกเขามีอาชีพ มีรายได้ แต่สุดท้ายกลับพบว่าหลายโครงการถูกพับเก็บ ผมรู้สึกว่ามันน่าเสียดายมาก

ผมอยากเห็นปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขด้วยรูปแบบการบริหารจัดการปัญหาอย่างชาญฉลาด เพราะที่ผ่านมาผมไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลนี้จะสามารถทำจุดนี้ได้ดีเลย เมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น คำตอบที่ได้จากรัฐบาลชุดนี้มีเพียงคำตอบแบบขายผ้าเอาหน้ารอด เป็นการตอบเพื่อที่จะหลีกหนีปัญหา

ความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงก็คือนายกรัฐมนตรีคุณต้องเก็บทุกเรื่องของประชาชนอย่างใส่ใจ สิ่งที่ผมอยากเห็นคือภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรียุคนี้ก้าวพ้นความโง่ของตัวเอง ก้าวพ้นความอคติหรือความคิดแบบเก่าๆที่มีอยู่

ถามว่าผมอยากฝากอะไรถึงกลุ่มผู้นำประเทศ ผมอยากฝากบอกว่า ตอนนี้พวกท่านคือกลุ่มคนสูงอายุ คุณโชคดีมากเลย พวกคุณทำปัญหาไว้เยอะแยะมากมายให้กับรุ่นผม แต่พวกคุณกลับไม่ต้องมารับผิดชอบปัญหาเหล่านั้น สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือค่านิยมเดิมที่ถูกเปลี่ยน ผู้ใหญ่ในสังคมไทยเปิดรับฟังและทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น เปิดรับปัญหาให้มากขึ้น อย่าเพิ่งด่วนตัดสินพวกเขา อย่าเพิ่งตัดสินว่าพวกเขาทำไม่ได้ คุณทำอะไรเอาไว้ ผลของมันจะถูกส่งต่อไปถึงยุคพวกผม เอาจริงๆ นะสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ารัฐบาลยุคนี้ต้องยอมรับให้ได้คือ ยอมรับว่าตัวเองไม่มีประสิทธิภาพแค่นั้นครับ

Admin : ประเด็นข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม เอ็มมองตรงนี้ยังไง
เอ็ม : เห็นด้วยครับห แม้กระทั้งสื่อก็ยังออกมาพูดเรื่องรูปแบบการบริหารประเทศ คือผมก็ไม่อยากให้มันแย่ไปกว่านี้ล่ะครับ แล้วถ้าแย่กว่านี้อีกผมก็ไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้ารุ่นของเราจะกอบกู้ได้ทันไหม หนี้เศรษฐกิจอีกรวมไปถึงภาวะการสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ครับพี่ยอดพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

เพิ่งออกข่าวมาไม่กี่วันนี้เองครับว่าประยุทธ์พึ่งจะใช้กลยุทธ์ในการตรวจผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุกคือเคาะตามบ้าน ซึ่งเราคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันควรต้องรีบทำตั้งแต่ช่วงที่คนเริ่มติดเชื้อกันไม่มากในช่วงแรกๆ แต่การตัดสินใจที่ล่าช้าแบบนี้มีแต่สร้างความสูญเสีย ก่อนหน้านี้เราต้องสูญเสียอะไรไปบ้างถูกไหม

มันไม่มีใครต้องการคนที่จะยอมรับความสูญเสียสิ่งเหล่านี้ครับไม่มีใครอยากอยู่ภายใต้การปกครองประเทศที่เอื้อให้ประโยชน์แก่กลุ่มคนบางกลุ่ม นโยบายการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาแต่ละอย่างที่ออกมา ทำให้รู้สึกเศร้าใจครับ ให้เด็กๆไปออกนโยบายแทนเผลอๆอาจทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำครับ

Admin : สดๆร้อนๆ เลย เอ็มคิดอย่างไรกับการสลายการชุมนุม
เอ็ม : การสลายการชุมนุมเมื่อวานนี้เหรอ ผมว่ารัฐบาลยังคงแก้ปัญหาได้แย่เหมือนเดิม ตั้งแต่ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนไปจนถึงวิธีการสลายการชุมนุม เห็นชัดอยู่ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ประชาชนชุมนุมโดยความสงบ ไร้อาวุธ ถึงจะเสี่ยงโควิดแต่ก็ยอมฝ่าออกมา เพื่อจะมาขอทวงอนาคตตัวเอง อยู่ต่อก็เสี่ยงตาย ออกมาเสี่ยงตายแต่อย่างน้อยได้เปล่งเสียงตัวเอง เป็นการสร้างทางเลือกให้กับตัวเองและคนส่วนใหญ่อีกด้วย

มีภาพที่สื่อถ่ายภาพได้ คือเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเตะผู้ร่วมชุมนุม อีกทั้งวิธีปราบปรามการใช้กระสุนยาง ระเบิดควัน แก๊สน้ำตา และการฉีดน้ำแรงดันสูง เป็นการปราบปรามเสรีภาพขั้นพื้นฐานการแสดงออกทางการเมืองโดยมีเยาวชนเป็นแกนนำ สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย สำหรับผมยังมองว่าอยู่ในขั้นวิกฤต และอ่อนแอ ตั้งแต่สถาบันครอบครัว จนถึงสถาบันสูงสุด

3 ข้อเรียกร้อง การแสดงออกทางการเมืองของราษฎร 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ยุบสภา แค่ข้อ 1 ผมไม่เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำได้สักที การคุกคามไม่ว่าจะด้วยวิธีรูปแบบไหน มันสะท้อนการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ คือผลผลิตอำนาจนิยม

Admin : โอเค….ร้อนแรงไปเยอะ ขอกลับมาแบบเบาๆ หน่อย(เหมือนพักเบรค) ทำไมเอ็มสนใจงานด้านสิทธิมนุษยชน
เอ็ม : เรารู้สึกว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสิ่งสำคัญมากๆ เป็นหัวใจหลักในการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออยู่ร่วมกันของสังคม เพราะทุกวันนี้เวลาใช้ชีวิตนะครับก็จะนึกถึงตัวเองก่อนเป็นหลัก แต่พอมีหลักสิทธิมนุษยชนเข้ามามันเหมือนกับว่าเป็นสิ่งพื้นฐานในการที่เราจะรู้จักเคารพคนซึ่งกันและกัน

ผมเชื่อในคำหนึ่งว่า “มนุษย์ย่อมควรเคารพมนุษย์ด้วยกัน” ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ตำแหน่งหน้าที่การงาน ยศฐาบรรดาศักดิ์อะไร ผมคิดว่าล้วนแล้วเราทุกคนก็คือคน นี้คือหัวใจหลักของสันติภาพครับ

ผมมีความสนใจอยากจะเรียนรู้ เรื่องการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพราะคิดว่าเป็นงานที่เราอยากทำ เราเห็นการโดนละเมิดสิทธิมาเยอะมาก เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ผมเรียนโด่งดังเรื่อง SOTUS ประเพณีรับน้อง เราเห็นการละเมิดสิทธิ เป็นเรื่องปกติในมหาวิทยาลัย

การรับน้องมีหลายแบบมากตั้งแต่ ปฐมนิเทศ รับน้องสายรหัส รับน้องสาขา กฎระเบียบที่ตั้งขึ้นมาเองโดยตัวแทนกลุ่มนักศึกษาที่ทำหน้าประเพณี เรื่องวิปริตที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย คือรุ่นพี่ใช้กล้วยทั้งต้นฟาดใส่รุ่นน้องที่กำลังทำท่าวิดพื้น ในการทำกิจกรรมเพื่อแลกของสืบทอดต่อกันมา

แต่คนในมหาวิทยาลัยกลับกลายมองเป็นว่าเคารพอาวุโส ให้เกียรติรุ่นพี่ และรุ่นน้องต้องถูกบังคับให้อยู่กฏดังกล่าวตลอด 1 ปี ผมรู้สึกว่าสังคมไทยจำเป็นต้องมีสิ่งนี้อยู่จริงๆหรอ ผมรับไม่ได้เท่าไรครับ การเข้ามาในโครงการอาสานักสิทธิมนุษยชนฯ ผมเห็นถึงความตระหนักรับรู้ ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนยังมีน้อยอยู่

ต้องการเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ผลักดันให้เห็นถึงระบบรากฐานของสังคมหล่อหลอมให้คนเรามองข้ามสิทธิมนุษยชนไป ค่านิยมไทยที่เต็มด้วยภายใต้อำนาจนิยม ที่หลายคนปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กนี้ครับ ทำให้ปิดกั้นความเห็นต่าง ผมอยากให้สิ่งเหล่านี้ครับมีน้อยที่สุดในสังคมให้ได้ครับ

Admin : พูดถึงเพื่อนนักสิทธิฯ รุ่น 16 ที่เข้าใหม่ เพิ่งทำงานเดือนแรกหน่อยครับ …..เดือนแรกก็ WFH แล้ว
เอ็ม : รุ่น 16 ค่อนข้างมีความคิดความอ่าน หรือมีจิตวิญญาณความต้องการที่คล้ายกัน คือเราต้องการทำเพื่อสังคมที่กว่า ให้มันน่าอยู่มากขึ้น พอเรามีโอกาสได้มาเจอกัน ตามโอกาสในปฐมนิเทศหรือว่าวาระต่างๆของมอส.

เพื่อนร่วมอุดมการณ์ เหมือนเรารู้กันต้องการอะไร อยากจะทำอะไร คนแนวคิดเดียวกัน ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นเซฟโซน หลายคนที่ทำงานองค์กรที่กระจายทั่วประเทศ รู้สึกว่าเพื่อนเราแต่ละคนค่อนข้างมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเองค่อนข้างมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป แล้วก็เป็นคนที่มีความมุ่งมั่น ไฟแรง พร้อมที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ พร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ พร้อมที่จะจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือความท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้นในกับสังคมไทย

ผมรู้สึกว่าโชคดีมากที่ได้รู้จักเพื่อนๆนะครับ แล้วก็รู้สึกว่าสิ่งที่ผมได้รับนี้คงหาอะไรมาเปรียบเทียบ กับสิ่งที่ผมมีเพื่อนรุ่นสิบห้า ผมคิดว่าคงจะไม่มีอะไรหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ ประมาณนี้ครับ

Admin :มองยังไงเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 / รวมถึงประเด็นวัคซีน
เอ็ม : สถานการณ์โควิด 19 ตอนนี้ค่อนข้างที่จะอยู่ในช่วงวิกฤติ เนื่องจากตัวเลขของผู้ติดเชื้อนี้ ยอดรวมทั้งหมดสามแสนราย เป็นอันดับที่หกสิบสองของประเทศ มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันต่อวัน การที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์โควิด 19 บรรเทาความวิกฤตให้มันทุเลาลง

หนึ่ง มันต้องมาจากการบริหารการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้าน​การแพทย์และสาธารณสุข ชุดนี้ ที่จะมาช่วยกันปลดล็อคอะไรบางอย่างให้กับประเทศในเรื่องสถานการณ์ปัญหาของการติดเชื้อโควิด 19

ซึ่งเราก็เห็นการชัดมากเลยประเทศไทยยังจัดการได้ดีกว่านี้อีก จากเหตุการณ์ “หมอไม่ทน” แคมเปญ ไล่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.สธ. ให้ออกจากตำแหน่ง สะท้อนว่าประชาชนไม่พอใจวิธีการบริหารภาครัฐ และรวมไปถึง กฎหมายพรก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอก 3 ที่ระบุว่า การระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นช่วงเทศกาล ประกอบกับประชาชนขาดการระมัดระวังตัว ผ่อนคลายไปกับสถานการณ์การควบคุมโรคที่ดีขึ้น จนเป็นผลให้การระบาดแพร่หนัก

เป็นสาเหตุที่ทำให้มวลชนรู้สึกไม่พอใจ วิธีการสื่อสารของภาครัฐ มันสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการทำงานที่ไม่นึกถึงประชาชน การบริหารของภาครัฐซึ่งผมมองว่ารัฐต้องเริ่มจากการสื่อสารให้ถูกต้องก่อน ไม่ใช่วันหนึ่งบอกว่าไม่ล็อกดาวน์ แค่จำกัดในบางพื้นที่ในพื้นที่เสี่ยงของโควิด – 19 แต่พอมาอีกไม่กี่วันกลับกลายเป็นว่าประกาศล็อกดาวน์ขึ้นมาอย่างกระทันหัน 1 เดือนกรกฎาคม

ประชาชนรู้สึกว่าไม่พอใจเป็นอย่างมาก กับการประกาศล็อกดาวน์  เรารู้สึกว่าการสื่อสารอย่างไม่ตรงไปตรงมา ไม่จริงใจกับประชาชนนี่แหละคือหนึ่งในสาเหตุที่สะท้อนถึงความล้มเหลว เพราะการสื่อสารสำคัญมากของการเป็นผู้นำประเทศนี้

รวมไปถึงเรื่องของวัคซีน เห็นได้ชัดเจนเลยครับว่าประเทศไทยเรา มีโอกาสที่จะเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา เป็นต้น แต่ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เข้าร่วมรับวัคซีนโครงการ Covax องค์การอนามัยโลก (WHO) แน่นอนว่าเราไม่ได้วัคซีน 1 ช่องทางแล้ว ถึงแม้รัฐจากอ้างว่าการเข้าร่วมอาจได้รับวัคซีนช้า ไม่ตรงตามกำหนดก็ตาม อีกทั้งก่อนหน้าช่วงเดือนพฤษภาคม บริษัทไฟเซอร์ ยังอยู่ในช่วงการเจรจา ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว สามารถฉีดวัคซีนไฟเซอร์ได้แล้ว

ทั้งหมดคือกระบวนการจัดการวัคซีนที่ช้า และการตัดสินใจที่ผิดพลาดไม่กระจายความเสี่ยง ไม่เพิ่มช่องทางรับวัคซีนให้มากที่สุด การบริหารของประเทศไทยเป็นสถานการณ์วิกฤตอยู่แล้ว แค่โควิด 19 เป็นวิกฤตที่ซ้อนทับกับวิกฤต

เรื่องวัคซีนซิโนแวค ต้องพูดตามผลการวิจัยว่าเป็นวัคซีนไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด ประยุทธ์ได้ให้เหตุผลว่าวัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มี ฉีดไปเหอะซิโนแวค อย่าไปเอาวัคซีนแพงจากต่างประเทศเลยประเทศเรามันจน มันเหมือนกับรัฐบาลนี้กำลังหนุนกลุ่มทุนไทยเครือหนึ่ง ที่ลงทุนวัคซีนซิโนแวคที่ประเทศไทย

ผมรู้สึกว่านี้หรอ ความเป็นผู้นำของประเทศนี้ ให้เหตุผลกับประชาชนที่เขาต้องการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพกลับกลายสะท้อนมุมมองนี้ออกมา ผมจะต้องเห็นความเลวของรัฐบาล กับการแก้ไขปัญหาวัคซีนซ้ำไปซ้ำมา

เพื่อนต่างประเทศ ที่มาทำงานที่ไทยโพสต์รูปภาพมีมตลกๆ วัฒนธรรมของประเทศไทยคือด่านายก รวมถึงแวดวงองค์กรพัฒนาเอกชน NGO ร่วมกันไล่ประยุทธ์ด้วยแคมเปญต่าง เป็นเรื่องจำเป็นของชีวิตเขา เพราะเขารู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้มีวิธีการจัดการไม่ได้คิดอย่างครบถ้วน แล้วก็ไม่แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ที่ต้นเหตุ ซึ่งนี่คือหนึ่งในความสำเร็จนะครับ แต่รัฐเราอย่าหวังดีกว่าครับ

Admin : ทำไม GreenNews คือองค์กรที่เราเลือกเข้ามาเป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 15
เอ็ม : ผมทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เป็นวิจัยเกี่ยวกับการจัดการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิจัยเรียนจบ แล้วหาข้อมูลเพิ่มเติม ผมรู้สึกว่า ผมทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายที่ดินต่างๆ รวมไปถึงความเข้าใจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการทำความเข้าใจนะครับ

แต่พอเราไปเจอบทความชิ้นหนึ่งที่กรีนนิวส์เขียนเกี่ยวกับการจัดการที่ดินบันไดเก้าขั้น ผมได้อ่านข่าวชิ้นนั้น ในตัวเนื้อหาเราก็เลยรู้สึกว่ามันสรุปสั้นย่อยง่ายได้ใจความมันจะช่วยให้เราประมวลผลได้เร็วขึ้นในการที่จะคิดอะไรสักอย่าง แต่ว่ามันก็ไม่ดีกับการเก็บรายละเอียดเพื่อที่จะเอามาทำโปรเจค

แต่สิ่งนั้นมันทำให้ผมได้เห็นว่า หน้าที่บทบาทสื่อสารสำคัญรวมไปถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ค่อนข้างยากมีหลายเรื่องมันพัวพันหลายสิ่งมากจริงๆ พอมันแตะทุกเรื่อง ในหลายระดับของสังคม

อย่างเช่น คุณทำประเด็นเหมืองแร่ จังหวัดหนองบัวลำภู มันไม่ใช่แค่ว่านายทุนมาตกลงสัมปทานเพื่อที่จะระเบิดหิน เพื่อไปใช้ผลประโยชน์ทางธุรกิจแค่นั้น แต่มันเกี่ยวข้องเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ และผลกระทบระยะยาวภาพรวมของประเทศไทย ว่าคุณกำลังสูญเสียผาหินที่เป็นธรรมชาติสวยงาม แหล่งท่องเที่ยว หนึ่งแห่งไป แล้วเมื่อมันถูกระเบิดไปมันไม่ได้ฟื้นฟูกลับมาได้ง่ายๆในเวลาเวลาระยะสั้นครับ อันนี้คือสิ่งที่ผมเห็นแล้วรู้สึกว่ามันมีหลายเรื่องมากบนโลกใบนี้ที่ไม่ได้ถูกเล่า

กรีนนิวส์เป็นพื้นที่สามารถเล่าเรื่องราวเหล่านี้ ผมสนใจว่าการสื่อสารเนี่ยมีพลังมีบทบาทสำคัญและเป็นสิ่งที่ช่วยชุมชน ที่ประสบปัญหาและกำลังเดือดร้อน บทบาทสื่อสารมันมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไม่น่าเชื่อเหมือนเป็นตัวเร่ง ผลักดันการพัฒนา ผลักดันความเข้าใจของทุกคน

แต่บทบาทสื่อสารมันต้องมาด้วยกันกับการทำกิจกรรมอันนี้ก็คือเป็นหัวใจหลักที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากจะเข้าสู่วงการสื่อสาร อีกหนึ่งที่เป็นความปรารถนาของผม คือเรื่องสิ่งแวดล้อม สังเกตเห็นปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลก รวมไปถึงเรื่องฝุ่น PM 2.5 และไฟป่า เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องอยู่ปลายจมูกเรา รอนับวันระเบิดมันไม่เห็นผลทันทีแต่ว่ามันสะสม สักวันหนึ่งมันจะเกิดผลกับเราเริ่มตรงนี้ครับ

นโยบายประเทศไทยแน่นอนว่าไม่คืบเท่าไหร่เท่าที่ควรรวมถึงกลไกต่างๆที่มีอยู่นั้นก็ใช้จริงไม่ค่อยได้ ที่นี้ผมคิดว่ามันก็คงจะไม่มีอะไรทีมีผลไปมากกว่า การที่มีประชาชนนะเข้าใจบทบาทของตัวเอง เข้าใจว่านี่คือสิ่งที่อันตรายและนี่คือสิ่งสำคัญนะที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม คิดว่านี่มันโคตรจะสำคัญสำหรับทุกคนจริงๆ

ผมคิดว่าจะตั้งใจใช้ทั้งชีวิตของตัวเองอุทิศทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมครับ

Admin : GreenNews คือใครครับ
เอ็ม : GreenNews ก็คือกองบรรณาธิการสิ่งแวดล้อมที่มีคุณ กมล สุกิน เป็นบรรณาธิการกรีนนิวส์ ประกอบไปด้วยผู้ร่วมทำงานทีมเล็กๆประมาณสามสี่คนนะครับ เห็นเป้าหมายตรงกันว่าเราจะสื่อสารสาธารณะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะนำเสนอทุกแง่มุมของสังคมในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมครับ

โดยกรีนนิวส์เป็นผลงานของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมครับ ที่มีคุณ ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล นักเขียนนิตยสาร สารคดี เป็นประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมัยที่ 2 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมปี 2564 ประกอบด้วยคณะกรรมการชมรมฯทั้งหมด 13 คน ที่ทำงานสื่อสารประจำที่ VoiceTV Waymagazine ThaiNewsPix เพรชภูมิฮอตนิวส์ รอยเตอร์ นักข่าวพลเมือง สำนักข่าวชายขอบ IMN เครือข่ายสื่อเผ่าพื้นเมือง ฯลฯ

Admin : มองตัวเองยังไง เมื่อย้อนกลับไปช่วงก่อนกับหลังเข้ามาเป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 15 จนตอนนี้(อีก 10 วันจะครบ) จะครบวาระ 1 ปีแล้ว
เอ็ม : ผมค่อนข้างกระหายที่อยากจะเรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับสังคมในประเทศไทย แล้วด้วยความที่ผมเรียนจบจากม.แม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นวิทยาเขตย่อยจากแม่โจ้เชียงใหม่

ซึ่งแน่นอนว่าผมไปอยู่พื้นที่ชนบทอยู่ภาคเหนือ เป็นพื้นที่ที่อากาศดีบริสุทธิ์ ผู้คนใจดีไปอยู่ที่นั่น 4 ปี ได้แต่เห็นคนดี ได้อยู่กับสภาพบริบทดี แต่ความแอคทีฟ ความเดือดในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพหรือสังคมที่เชียงใหม่

เราก็รู้สึกว่าเราห่างหายจากตรงนั้นไป รู้สึกว่าผมใสมากผมยังต้องการรู้อะไรได้มากกว่านี้อีก แล้วเราก็มองว่าตัวเองยังรู้สึกเก่งได้มากกว่านี้ ยังมีอะไรที่เราอยากทำมากกว่านี้ เราเชื่อในสิ่งนึงครับว่าเรารุ่นของเราครับมันสามารถที่จะแก้ไขรุ่นพ่อแม่เราเรื่องของปูย่าเรา ที่เขาสร้างปัญหาทิ้งไว้ให้

คือผมมองว่าผมเกิดมาในยุคที่แบบรับปัญหาภาระต่างๆครับที่คนรุ่นหลังทิ้งเอาไว้ให้กับเรา ตั้งแต่ปี 2539 ปีผมเกิดมาท่ามกลางวิกฤติต้มยำกุ้ง ตลอดการใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นได้ยินอ่านข่าว รับรู้รื่องปัญหาภาวะโลกร้อน ความเสื่อมโทรมทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน และช่วงจบปริญญาตรี ก็เป็นช่วงโควิดอีก

รู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นอย่างเรา เราเจอปัญหาตลอดเวลา การบริหารของในประเทศก็รู้สึกมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเป็นพื้นที่ผลประโยชน์ไป เรื่องใกล้ตัวก็คือหน่วยงานท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาบนระบบราชการ ยังไงก็ห่วยแตกตราบใดที่คุณไม่มีเงิน ก็ไม่ทางจะชนะเกมการเมืองในไทยได้

ช่วงที่เรากำลังเติบโต ปัญหาของประเทศเยอะเกินเราเจออะไรพวกนี้เยอะเกินเรามองในช่วงนั้นเรารู้สึกว่าเรากำลังต้องมาแบกรับภาระของเรื่องเก่าๆที่เขาสร้างทิ้งไว้ อันนั้นคือช่วงวัยความรู้สึกของผมในช่วงก่อนที่จะมาเขาเป็นนักสิทธิ์

Admin : 1 ปีที่ Green News ให้อะไรกับเรา
เอ็ม : จริงๆยังไม่ครบหนึ่งปีนะครับ เหลืออีกประมาณสองสามสัปดาห์ เราจะครบหนึ่งปี กรีนนิวส์ค่อนข้างให้อะไรผมเยอะมากครับ กรีนนิวส์เป็นสำนักข่าวเล็กๆ มีสมาชิก 4 คน รวมอาสานักสิทธิฯรุ่นที่ 16 ด้วย อยู่ภายใต้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม มีสมาชิกทั้งหมด 13 คน

เราได้โอกาส พื้นที่ในการเรียนรู้ประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่เลย เต็มเหนี่ยว เพราะว่าการทำข่าวมันไม่ต้องเลือกประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่เราต้องทำอะไรให้มันครอบคลุมเข้าไว้ เพื่อที่ผลิตข่าวชิ้นหนึ่งที่มีครบมุมมอง คนหลายๆฝ่ายหลายๆคนมาอ่านแล้วรู้สึกว่าเออข่าวชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์กับคนรอบตัวรอบข้างเรา

ผมคิดว่าสิ่งนึงที่สำคัญ ในยุคสมัยใหม่ ในยุคนี้ก็คงจะเป็นเรื่องของการรับข่าวสารที่รอบด้าน การมีมุมมองที่ครบมุมมอง เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่จะสร้างวัฒนธรรมในการรับรู้ข่าวสารที่ดี ให้กับสังคม

ผมเปิดโลกตัวเองไปเยอะมาก เจอคนหลายกลุ่มมากขึ้น ปกติเราจะอยู่ภาคเหนือทำกิจกรรม เคยฝึกงานอยู่กับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เราเห็นความลำบากพี่น้อง ชาวบ้าน ค่อนข้างเยอะมาก ผลกระทบวิกฤติต่างๆที่ชาวบ้านกำลังเผชิญ ต้นตอรากเหง้าโครงการพัฒนาต่างๆ กับอีกปัญหาเรื่องของคุณภาพชีวิตศักยภาพชีวิต ปัญหาเป็นอีกแบบหนึ่งที่ไม่ร้อน ผมก็ต้องเชื่อเลยว่ามันไม่เหมือนกันแต่ในแต่ละพื้นที่

แต่กรีนนิวส์ เปิดโลกตรงนี้ผมเห็นมากขึ้นกว้างขึ้นว่าในพื้นที่ประเทศไทย มีปัญหาเยอะจริงๆ ที่มันซ่อนอยู่เรื่องสิ่งแวดล้อม ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ และพูดคุยกับคนหลายคน ที่ทำงานวงการสิ่งแวดล้อม และยังมีเวทีของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมร่วมจัด เช่นงานแมว เวทีเสวนาเรื่องสิ่งแวดล้อม ในภูมิภาคอาเซียน

เรียนรู้เรื่องเล่าคนอื่น รู้จักผ่านบทความต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เป็นคนรีพอร์ทมันขึ้นมา นี่คือพื้นที่ที่เราต้องรับข้อมูลข่าวสาร แล้วก็ชีวิตเปลี่ยนจากนักกิจกรรม ต้องกลายเป็นมาทำงานด้านสื่อสาร รับข้อมูลข่าวสาร เผยแพร่ รายงานชิ้นข่าวออกไป ต้องมาเปลี่ยนมาเป็นฟังหลายฝ่าย แล้วก็หามุมมองทีสำคัญเป็นประโยชน์ให้กับหลายฝ่าย เหมือนเป็นพื้นที่ตรงกลางหาความรวมจุดร่วมกันในแต่ละภาคส่วน

เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะอยู่ภาคส่วนไหนอ่ะครับมันมันมีทั้งดีและไม่ดีครับเราจะไม่มองซ้ายสุดขวาสุดอีกแล้ว ต้องเห็นอะไรที่มันครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพราะว่านั่นคือประโยชน์สูงสุดแล้วในการใช้ชีวิตของเรา ถ้าเราไปตัดสินก่อนมันจะทำให้เราพลาดโอกาสอะไรบางอย่าง เพราะความอคติของเรา

มุมมองสิ่งแวดล้อมเนี่ยมันเชื่อมโยงไปหมดเลยไม่ได้แยกส่วนกัน ถ้าคุยเรื่องขยะนอกโลก มันต้องคุยหลายเรื่องมากเลยนะ ขยะนอกโลกนี้ต้องไปคุยเรื่องชั้นบรรยากาศ คุยเรื่องมลภาวะต่างๆ ของประเทศ คือมันหลายส่วนมาก เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่แบบอยู่รอบตัวเราและใหญ่มากจริง

แต่คนบางส่วนไม่ได้เห็นตรงนั้น มองว่าสิ่งแวดล้อมคือป่าเขียวขจี รักษ์โลกปลูกต้น เรารู้สึกว่านี่คือหนึ่งในความเข้าใจที่ไปไม่สุดในสังคม มันอาจมาจากโครงการ CSR โครงการที่พัฒนาขาดการพัฒนาจากรากฐานของสังคมของมนุษย์ ของชุมชน ตรงนี้มันมีผลเสีย มันไม่ได้เป็นผลดี

การทำกรีนนิวส์ผมเห็นเห็นตรงนี้มากขึ้นชัดขึ้นเห็นภาพรวมของประเทศมากขึ้นครับผมก็รู้สึกว่า ต้องมีหลายสิ่งๆ จริงนะครับที่คนรุ่นใหม่อย่างเราจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา ขอบคุณครับ

ยาวและมัน  ได้น้ำได้เนื้อจริงๆ ถือว่าการคุยกับเอ็มรอบนี้คุ้มค่าคุ้มเวลาด้วย โอกาสหน้า Admin จะชวนใครมาคุยด้วย รอติดตามเรื่องราวของพวกเขาได้ครับทุกช่องทางทั้งเว็บไซต์ เฟสบุ๊คเพจ ทวิตเตอร์ และยูทูป ของมูลนิธิฯ แล้วเจอกันครับ

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai