โยนประมวลกฎหมายทิ้งไว้..แล้วใช้หัวใจทำงาน
เขียนโดย สุพจน์ สร้อยพูล
วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2013 เวลา 06:46 น.

โยนประมวลกฎหมายทิ้งไว้..แล้วใช้หัวใจทำงาน1

“..เรื่องกฎหมายบางครั้งก็ยากที่จะรู้ บางครั้งรู้แล้วก็ใช้อะไรไม่ได้ จึงต้องโยนประมวลกฎหมายทิ้งไว้แล้วใช้ใจทำงาน…”

สรุปบทเรียนการทำงาน 4 เดือน โดย สุพจน์ สร้อยพูล อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 5 [กรกฎาคม2553-มิถุนายน 2554] โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จังหวัดพังงา

การทำงานของผมในช่วงสี่เดือน นับเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปเร็วพอสมควร เป็นช่วงเวลาที่ผมได้แนะนำตัวกับชุมชน ได้ทำงานร่วมกับเครือข่าย ได้ทำงานกับองค์กร ได้เรียนรู้กฎหมายบางเรื่อง วิถีชีวิตชุมชน การอยู่ร่วมกัน เทคนิควิธีการต่างๆ ที่นำมาใช้ วิธีคิด การแก้ไขปัญหา รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ

ที่นี่ผมได้ค้นพบสิ่งที่เป็นคำตอบในหลายๆ เรื่องที่หาคำตอบอยู่ และได้เรียนรู้จากบุคคลที่หลากหลายจริงๆ ถือเป็นการพักผ่อนของชีวิตได้ดีช่วงหนึ่ง เพราะที่ไหนก็มีปัญหากันทั้งนั้น ทุกสังคมก็มีปัญหากันอยู่เนืองๆ ผมได้มีโอกาส เข้าไปสอบเคสบ้าง รับฟังปัญหาผ่านการฝึกอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น เพื่อใหเกิดกระบวนการพิสูจน์สัญชาติบ้าง ร่วมจัดงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านสิทธิมนุษยชนบ้าง หรืองานที่จัดเพื่อแก้ปัญหาเชิงนโยบายบ้าง สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง

ปัญหาการละเมิดสิทธิ ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ

ที่ได้สำผัสจริงๆ มีอยู่ 3 ส่วนในด้านแรงงาน ส่วนแรก ที่เจอจริงๆ คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะมาครั้งแรกๆ ตำรวจก็จับแรงงานที่ขี่รถกลางคืน ซึ่งคนที่ผมไปส่งถูกบิดที่เอว เพราะต้องสงสัยว่ากำลังหนี เจ้าหน้าที่ได้เปรียบ เพราะเป็นตำรวจ แถมยังเมาและมากันหลายคน แต่ก็ยังดีที่มีตำรวจบางคนห้ามไว้

บางกรณีก็ละเมิดสิทธิในด้านแรงงาน เพราะมีบัตรแรงงาน แต่ก็เจอยึดบัตรและแจ้งข้อหาหลบหนีเข้าเมือง โดยไม่แจ้งตามข้อหาเดิมที่ต้องการแจ้งเรื่องลักทรัพย์ เนื่องจากทำให้ง่ายต่อการผลักดันกลับตามนโยบาย จับกุมของรัฐบาลที่เร่งปราบปรามเด็ดขาด

บางครั้งลงพื้นที่ดูงานก็เห็นแรงงานถูกจับและยึดทรัพย์สินไปต่อหน้าต่อตาเลยก็มี หรือในสำนวนเขียนว่าต้องแจ้งสิทธิอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในทางปฎิบัติก็ละเลยไม่มีแม้กระทั่งล่ามที่จะแปลภาษา ในส่วนนี้ตำรวจในพื้นที่ได้เปรียบเนื่องจากแรงงานมีเหตุให้กลัวเป็นเบื้องต้นอยู่ก่อนแล้ว

ส่วนที่ 2 เป็นนายจ้างที่ให้ค่าแรงตามอัตราที่ถูก และเมื่อมีปัญหาก็จัดการกับทรัพย์สินของลูกจ้างรวมทั้งไม่จ่ายค่าแรง ตามดูและข่มขู่เนื่องจากมีอิทธิพลมาก นอกจากนั้นยังมีอิทธิพลกับหน่วยงานภาครัฐอยู่พอสมควร นายจ้างได้เปรียบอยู่มาก

ส่วนที่ 3 เป็นส่วนของโรงพยาบาลที่ยังมีปัญหาเรื่องเก็บตังค์แรงงานที่มาใช้บริการทั้งที่มีบัตร ซึ่งบางครั้งก็ละเลยและเอาเปรียบให้ต้องจ่ายเงิน จะด้วยความบกพร่องไม่พกบัตรของแรงงานเอง หรือสื่อสารไม่เข้าใจก็ดี โรงพยาบาลได้เปรียบเพราะมีเอกสารหลักฐานยืนยัน แต่แรงงานเสียเปรียบเพราะกว่าจะหาคนที่ช่วยเขาได้ก็สายไปเสียแล้ว

ส่วนสิทธิของชุมชนอื่นๆ ที่ประสบภัยอย่างชาวมอแกน ก็ยังถูกละเมิดจากนายทุนที่เข้ามาภายหลังแล้วจัดการไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ทรัพยากรที่เคยใช้มา รวมถึงสิทธิที่จะได้บัตรเป็นคนไทยก็ยังไม่ได้ ที่ดินฝังศพก็ถูกทั้งวัดทั้งเอกชนรุกล้ำ ส่วนที่ดินของชาวบ้านชาวไทยก็ถูกนายทุนนำแรงงานเข้ามาจัดการ เพื่อทำสวนยางพารา

โยนประมวลกฎหมายทิ้งไว้..แล้วใช้หัวใจทำงาน2

ความคิด ความรู้สึกของผู้ถูกละเมิดเป็นอย่างไร

คนที่ถูกจับเพราะเรื่องการขับรถก็เซ็ง คนที่ขี่จักรยานโดนรถมอไซด์ชนก็พอใจที่รู้ว่าไม่ผิด คนที่ถูกยึดบัตรก็อยากได้ของคืนรวมทั้งค่าแรง อยากเปลี่ยนงานใหม่ อยากได้เสรีภาพ บางคนก็แค่อยากรู้ว่าทำไม หรืออยากรู้ว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว บางคนก็อยากจะต่อสู้ทั้งที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ ชุมชนมอแกนก็รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เบื่อทั้ง NGOs และหน่วยงานรัฐที่พูด แต่เรื่องงบประมาณไม่มีและไม่ลงมาดำเนินการ

สาเหตุของปัญหาเป็นอะไร

ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายปราบปรามจับกุมอย่างจริงจัง แล้วเจ้าหน้าที่ใช้ช่องทางทางกฎหมายที่ง่ายในการปราบปราม การแก้ไขปัญหาอย่างไม่จริงจัง และเปิดช่องว่างให้คนในหน่วยงานรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมหาประโยชน์จากนายหน้าหรือกลุ่มแรงงานเอง วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ได้ผลในการส่งตัวกลับ ความไม่เอาจริงเอาจังไม่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา ส่วนของชุมชนมอแกนก็เพราะ ยังรวมกลุ่มกันไม่ได้จึงไม่มีนโยบายมาถึง การต้องหาเลี้ยงชีพเป็นเหตุให้รวมกลุ่มค่อนข้างยาก

บทบาทขององค์กรที่ตนไปทำงานคืออะไร แก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน

โครงการที่ทำอยู่เป็นโครงการประสานชาติพันธุ์อันดามันให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ งานที่ทำอยู่คือส่วนของ สิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่เน้นเรื่องการสิทธิมนุษยชนมากนัก แต่เน้นเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ และการให้ความรู้  รวมทั้งรับเคสในพื้นที่ การทำงานที่นี่ทำเป็นเครือข่าย สามส่วนสิทธิที่ทำงานร่วมกันคือ สิทธิด้านแรงงาน การศึกษา และสุขภาพการประชุมในเชิงนโยบายมีส่วนผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ส่วนเคสในพื้นที่ช่วยได้ในลักษณะไม่ชน เนื่องจากยังต้องการพื้นที่การทำงาน และลักษณะประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐเอกชนและคนในพื้นที่ บางกรณีก็แก้ไขปัญหาไม่ได้เลย เพราะอิทธิพลสูงเกินไป การฝึกอบรมก็ได้นำปัญหาเข้ามาพูดในเชิงนโยบายเป็นส่วนใหญ่ เพราะยังไงก็ยังเข้าสู่วงจรอุบาทว์เดิม

มุมมองของตนเองในการแก้ปัญหา

ภาครัฐควรจัดการปรับปรุงการทำงานของตนเองในการลดการทุจริต การทำงานของตำรวจต้องทำด้วยความซื่อตรง นโยบายควรเอื้อต่อการเปิดเผยตัวตนของคนในพื้นที่ และแก้ปัญหาให้สิทธิแก่ชุมชนไทยดั้งเดิมก่อนที่เวลาจะผ่านไปและปัญหาอื่นจะตามมา นโยบายปราบปรามจับกุม ควรเอื้อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นธรรมกับลูกจ้าง

โยนประมวลกฎหมายทิ้งไว้..แล้วใช้หัวใจทำงาน3

ศักยภาพ/ข้อจำกัดของตนเองในการทำงาน

ด้วยความที่สามารถทำได้หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน และพร้อมที่จะเรียนรู้กับชุมชน ทำให้ทำได้หลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องการทำงานอยู่พอสมควร เพราะเรื่องกฎหมายบางครั้งก็ยากที่จะรู้ บางครั้งรู้แล้วก็ใช้อะไรไม่ได้ จึงต้องโยนประมวลกฎหมายทิ้งไว้แล้วใช้ใจทำงาน 

มีข้อจำกัดเรื่องภาษาพอสมควร เพราะที่นี่คนหลากหลายทั้งใต้ อันนี้ฟังรู้เรื่องตั้งนานละ ทั้งพม่า อังกฤษ มอแกน บางเรื่องกฎหมายก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม หรืองานบางทีก็เป็นงานร้อนไม่สามารถเตรียมตัวได้ทันท่วงที ต้องปรับตัวในการทำงาน

สิ่งที่ต้องปรับปรุงและต้องเพิ่มเติมสำหรับตนเอง

ควรควบคุมจิตใจ อารมณ์ การอ่านให้มากขึ้นกว่าเก่า และดูแลสูขภาพให้มากขึ้น

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai