สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ เขาเกิดในครอบครัวเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ที่คอยผลักดันและสนับสนุนเขา อยากให้เรียนสูงๆ คือพ่อบังเกิดเกล้าของเขาเอง ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปเมื่อเขาอายุได้เพียง 11 ขวบ เขาบอกว่า “นับจากที่พ่อผมเสียชีวิตไป มันทำให้ผมได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตได้ง่ายขึ้น”


สงกรานต์เริ่มทำงานเพื่อสังคมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เขาใช้เวลาสำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายกิจกรรมมากกว่าเวลาเรียนของเขาด้วยซ้ำ กิจกรรมเหล่านี้เอง ทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านได้ไม่ยาก เช่นเดียวกับกรณีปัญหาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เขาและเพื่อนๆ ได้ร่วมกันทำงานรณรงค์เชิญชวนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อจัดเวทีพบปะกับนักศึกษา   กิจกรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ทำให้เขาตระหนักถึงเป้าหมายชีวิตของการทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

หลังจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เขาตัดสินใจหางานด้านสังคมหรืองานด้านสาธารณะ กระทั่งได้ทำงานที่ “มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม” (ENLAWTHAI Foundation) หรือ ENLAW ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม หลังจากที่สงกรานต์ทำงานที่นี่ได้ 6 เดือน ผู้อำนวยการสำนักงานได้ผลักดันให้เขาสมัครเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และเขาผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ

ตลอด 7 ปีที่สงกรานต์ทำงานที่  ENLAW มีโอกาสได้ไปร่วมประชุมระดับนานาชาติหลายครั้ง ทำให้เขาสนใจงานในระดับสากลมากขึ้น  จึงตัดสินใจสมัครงานที่ EarthRights International  ในตำแหน่งผู้ประสานงานในประเทศลุ่มน้ำโขง โดยทำในประเด็นเรื่องสิทธิสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน เขามุ่งเน้นการทำงานเพื่อปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ปกป้องผู้ประสบปัญหาจากโครงการขนาดใหญ่ และลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากมองในภาพรวมจะเห็นว่า ในอนาคตจะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหลายโครงการ แน่นอนว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบจะไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น แต่มันรวมถึงทุกประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งก็คือ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม คนจำนวนมากจะถูกอพยพจากพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยไปยังที่ใหม่ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเขาเหล่านี้จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยที่พวกเขาไม่สามารถกระทำการอะไรได้เลย

(ติดตามตอน 2 จันทร์หน้า)

—————————————————
Siza Nepal / สัมภาษณ์
อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai