ไม่มีบัตร ก็มีหัวใจ…มีไข้ก็ต้องการยา
วันอังคารที่ 02 เมษายน 2013

“ณ ตอนนี้ผมเอื้อมมือไปในพม่า ได้มองข้ามในเรื่องของการมีบัตรประชาชนหรือไม่อย่างไรออกไปแล้ว แต่ผมมองว่าพวกเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน เอื้อมมือไปได้ถึงไหนได้ก็ไปและช่วยเหลือทั้งหมด ถือว่าเป็นประชากรในความดูแลของโรงพยาบาล เพราะผมเป็นหมอ…..สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ เรื่องมนุษยธรรมมากกว่าอย่างอื่น เป็นจรรยาบรรณและวิชาชีพการแพทย์สาธารณสุข ที่เราต้องช่วยเหลือไม่ว่าเขาเป็นเชื้อชาติไหน หรือแม้แต่เป็นศัตรูของเราเอง…”

ทัศนะนายแพทย์ วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ศิษย์เก่า มศว.ดีเด่น ประจำปี 2551 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง อ. อุ้มผาง จ. ตาก กล่าวไว้ในงานสรุปบทเรียนการทำงานวาระ 8 เดือนอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 7 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2556 ณ โรงพยาบาลอุ้มผาง อ. อุ้มผาง จ. ตาก

ผู้ถอดเทปบันทึกการแลกเปลี่ยน : นางสาว นภาพร เที่ยงตรง
นักศึกษาปีที่ 3 สาขาการจัดการชุมชน คณะวิทยาการจัดการ ม. ศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศ จ. เพชรบุรี

ไม่มีบัตร ก็มีหัวใจ...มีไข้ก็ต้องการยา1ที่มาภาพ http://www.osotspalifeisbetter.com/team/worawit.php

โรงพยาบาลมีหน้าที่ให้การรักษาประชาชน โดยไม่ได้มีการแบ่งแยกว่าเป็นใคร มีบัตรอะไร? มีสิทธิหรือไม่?

ปี 2544 รัฐบาลเริ่มให้สิทธิกับผู้มีบัตรประชาชนให้ได้รับสวัสดิการ แต่ชาวบ้านในพื้นที่แถบ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ที่มีอยู่ประมาณ 85,000 คน แต่มีบัตรประชาชน 30,000 คน ส่วนที่เหลือประมาณ 50,000 คน ไม่มีบัตร นั่นหมายความว่าเขาก็ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการ

คนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ “คนจน” คนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ไม่มีเงินเข้ารับการรักษาเพราะค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างสูง รัฐบาลก็ไม่รับผิดชอบ

ส่วนมากรัฐบาลจะให้เงินงบประมาณไปทางภาคอีสาน แต่เงินก็ไปกองอยู่เฉยๆ เพราะคนอีสานส่วนใหญ่ก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ มีแต่ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่ได้มาใช้บริการจริง ซึ่งตรงกันข้ามกับทางชายแดนภาคตะวันตก โดยเฉพาะ 5 อำเภอจังหวัดตากก็จะมีปัญหาว่าคนที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเลขที่บัตรและเป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 270,000 กว่าคน อย่างในแม่สอดนั้นมีโรงงาน 350 โรง มีคนขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 30,000 กว่าคนเองหรือประมาณ 30% ของแรงงานทั้งหมด คนในศูนย์อพยพอีก 90,000 กว่าคน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

สิ่งที่เราต้องยึดคือ คนเราต้องนับถือความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เพราะเขาเป็นมนุษย์ มีความรู้สึกแบบเดียวกับเรา ยิ่งคนจนก็จะมีปัญหามากกว่า เนื่องจากปัญหาความด้อยโอกาสหลายอย่างของเขา ด้วยความที่เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข พวกเราจึงต้องเอื้อมมือให้ถึงพวกเขา

ณ ตอนนี้ผมเอื้อมมือไปในพม่า ได้มองข้ามในเรื่องของการมีบัตรประชาชนหรือไม่อย่างไรออกไปแล้ว แต่ผมมองว่าพวกเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน เอื้อมมือไปได้ถึงไหนได้ก็ไปและช่วยเหลือทั้งหมด ถือว่าเป็นประชากรในความดูแลของโรงพยาบาลเพราะผมเป็นหมอ!

เคยมีน้องนักศึกษาแพทย์ ปี 3 ถามผมว่า “พี่รักษาแบบนี้เขาไม่มากันหมดพม่าเลยหรอ” ผมตอบกลับว่า “ถ้าเขามาได้กันทั้งหมด ผมก็ต้องรักษาให้หมดไม่ว่าจะเป็นใคร” อย่าว่าแต่รักษาและช่วยเหลือคนอย่างเดียวเลยแม้แต่สัตว์ก็ต้องทำ เช่น การทำคลอดหมา ทำคลอดวัว ลูกช้างบางทีไม่มีนมกินก็ต้องมาขอที่โรงพยาบาล เพราะฉะนั้นผมว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องมนุษยธรรมมากกว่าอย่างอื่น เป็นจรรยาบรรณและวิชาชีพการแพทย์สาธารณสุข ที่เราต้องช่วยเหลือไม่ว่าเขาเป็นเชื้อชาติไหน หรือแม้แต่เป็นศัตรูของเราเอง

อันนี้เป็นข้อแรก.ที่ผมตอบน้องนักศึกษาเรื่องของจรรยาบรรณ ข้อสอง.ลองคิดดูในพื้นที่กันดาร ชาวบ้านเป็นมาลาเรียกันมาก หรือในปี 2539 ในศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีผู้ลี้ภัยเป็นโรคอหิวาตกโรค ถ้าเราไม่รักษาโรคก็จะแพร่กระจายได้ง่าย และโรคที่อันตรายที่เพิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคือ โรคคอตีบ ซึ่งก็ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน มีคนที่ไม่มีสถานะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่เข้าไม่ถึงสาธารณสุข บางคนอาจสร้างบ้านอยู่ข้างโรงพยาบาลแต่ก็ไม่กล้าเข้ามารับการรักษา กลัวเสียเงิน กลัวตำรวจ ซึ่งถ้าพวกเขาเข้าถึงบริการก็แค่ฉีดวัคซีน 15 บาทเอง และถ้าเราไม่ทำตั้งแต่ตอนต้นโรคอาจแพร่กระจายและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม

ไม่มีบัตร ก็มีหัวใจ...มีไข้ก็ต้องการยา2

อีกอย่างผมว่าประเทศไทยเอาเปรียบประเทศเพื่อนบ้านเยอะ ยกตัวอย่าง “เรามีเพื่อนคนหนึ่ง แล้วเพื่อนคนนั้นเอาแต่ผลประโยชน์จากเรา ทั้งเงิน แรงงาน ทรัพยากร แต่ไม่เคยให้อะไรกับคืนเรากลับมาเลย” ถามว่า “เพื่อนจะคบเราได้นานไหม?” ประเทศลาว พม่า กัมพูชา เขาก็คิดแบบนี้เหมือนกัน กับประเทศไทยเอาผลประโยชน์อย่างเดียว ก๊าซก็ซื้อราคาถูก แรงงานก็ราคาต่ำ ถามว่าถ้าตอนนี้เราไม่มีแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เลยจะทำยังไงกัน ใครจะทำงานก่อสร้าง งานประมงที่เลอะเทอะสกปรกทั้งหลายได้ ไม่มีแล้ว

ขนาดที่โรงพยาบาลนี้ยังต้องจ้างต่างด้าว 2-3 คนมาเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำความสะอาดโรงพยาบาล เพราะไม่มีคนไทยทำแล้ว คนงานก่อสร้างก็เป็นคนกะเหรี่ยง พม่าหมดเลย มีบัตรบ้างไม่มีบ้าง ผมไม่เอาเปรียบใครนะ โรงพยาบาลจ่ายค่าจ้างตามอัตราแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 ตามที่ควรจะได้ ถ้าเขามีฝีมือก็ให้มากกว่า 300 ด้วยซ้ำ เพราะไม่อยากเอาเปรียบใคร ไม่อยากเบียดเบียนใครในสังคมนี้ นี่แหละคือหลักที่ผมใช้บริหารองค์กร ผมคิดแบบนี้ เราเอาผลประโยชน์จากเขาแต่ไม่มีน้ำใจอะไรตอบแทนคืนให้ทั้งทางการศึกษา สาธารณสุข มันเป็นสิ่งที่ดีนะ เราควรจะมีน้ำใจในการให้

เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาผมได้รู้จัก อ.แหว๋ว (อ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร) ท่านมีวิสัยทัศน์และอยากจะขยายงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการของคนในพื้นที่ มีระบบวิทยุและโทรศัพท์ดาวเทียมสื่อสาร และได้ให้รถอิต๊อกไว้ใช้ในพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ทำเองใช้เพื่อลดต้นทุน แทนที่จะซื้อน้ำมันลิตรละ 50-60 บาท ใช้กับเครื่องปั่นไฟเวลาไปออกหน่วยเคลื่อนที่ ลดต้นทุนเหลือประมาณ 10 กว่าบาท มันสามารถแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการ ปัญหาสาธารณสุข

เราก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ อ.แหว๋ว ทำให้ได้รู้ทักษะทางกฎหมาย เลยคิดว่าโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยราชการหน่วยงานหนึ่งของอำเภอน่าจะต้องเป็นหลัก ซึ่งชาวบ้านเขาไม่ได้ด้อยโอกาสทางสาธารณสุขอย่างเดียว เขาด้อยโอกาสด้านเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายตามที่เขาพึงมีพึงได้ และหลายอย่างที่เขาเข้าไม่ถึงเพราะเขาอยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง พอผมได้เข้าร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ผมรู้สึกดีใจมากเพราะมันสามารถแก้ไขปัญหาจุดนี้ได้หลายๆ เรื่อง

คนที่ทำอะไรดีๆ ในสังคมสักวันจะได้มาเจอกัน ลองเดินทางเข้าไปที่พื้นที่แนวตะเข็บชายแดนดูจะรู้ว่ามันยากลำบากอย่างไร พวกเราพอที่จะช่วยเขาให้อยู่รอดได้เราก็ต้องช่วย.

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish