บทเรียนของชีวิตอาสาสมัครหนึ่งปีที่เขาสรุปได้คือ ในมหาวิทยาลัยเขาได้รู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินเพียงว่า รัฐจะเป็นผู้จัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน ขณะในข้อเท็จจริงเขาพบว่า ชาวบ้านจำนวนมากไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวทั้งที่อยู่อาศัยและทำกินมาหลายชั่วอายุคนก่อนรัฐจะประกาศเขตอุทยานด้วยซ้ำ เขาบอกว่า “หากไม่ได้ลงพื้นที่จริง จะไม่มีทางได้รู้และจะไม่มีความมั่นใจในข้อมูลที่เราได้รับ” มหาวิทยาลัยไม่เคยสอนเราว่า นอกจากสิทธิด้านที่ดินแล้ว ชาวบ้านยังมีสิทธิด้านอื่นๆ ที่จะปกป้องสิทธิของพวกเขา ยังมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อต่อสู้คัดค้านกับความอยุติธรรม เขามองว่า “กฏหมายในทางปฏิบัตินั้นมีความแตกต่างจากกฎหมายในตำรา” นี่คือประสบการณ์หนึ่งที่เขาสรุปได้

ลึกๆ แล้วสิ่งที่เขารู้สึกได้ก็คือ การทำงานเป็นอาสาสมัครถือเป็นประสบการณ์ที่ดี และการได้เข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนของ มอส. ก็นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากในชีวิต ในจำนวนนักพัฒนาเอกชนที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นอดีตอาสาสมัครของ มอส. และ “มีนักกฎหมายมากกว่าหนึ่งร้อยชีวิต ที่ผ่านกระบวนการอาสาสมัครนักสิทธิ์แล้วยังคงทำงานอยู่ในสายนักพัฒนาจนถึงปัจจุบัน” โดยส่วนตัวเขาเชื่อว่า ทุกคนที่ได้ผ่านโครงการฯ ไม่ว่าเขาจะออกไปทำงานเป็นนักพัฒนาเอกชนหรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม เขาจะเข้าใจถึงสภาพปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านอย่างแท้จริง

ด้านข้อเสนอต่อโครงการอาสาสมัครนักสิทธิ์ เล่าฟั้งเสนอว่า มอส. ควรให้น้ำหนักกับเรื่องรายงานของอาสาสมัคร อาสาสมัครที่ทำงานในภาคสนามเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาจะหมดเวลาไปกับการทำกิจกรรม และเหลือเวลาสำหรับการทำรายงานน้อยมาก มอส.อาจต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ว่าจะทำอย่างไรให้อาสาสมัครเหล่านี้ได้มีเวลาทำรายงานที่มากกว่าเดิม เพราะโดยส่วนตัวเขาเชื่อว่า “การทำรายงานเป็นส่วนช่วยให้ความรู้เกิดขึ้น รายงานที่ดีไม่ใช่การเขียนทุกอย่าง แต่มันคือตัวชี้วัดหนึ่งของการเรียนรู้และวิเคราะห์ภาพรวมการทำงาน”

เมื่อถามถึงประเด็นที่ต้องการฝากไปถึงคนรุ่นใหม่ เล่าฟั้งบอกว่า “มีคนจำนวนมากที่ต้องการได้รับการปกป้องสิทธิ์ แต่กลับมีเพียงคนจำนวนไม่กี่คนเท่านั้นที่กระโดดเข้าไปทำมัน” เขาบอกต่อไปว่า “มีหลายวิธีถ้าจะทำและทุกคนสามารถทำได้โดยเริ่มจากตัวเอง เช่น ประเด็นเรื่องเขื่อน หลายคนต้องการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาแต่ไม่รู้ว่าจะช่วยแก้ได้อย่างไร หากคิดไม่ออก คุณแค่เริ่มจากตัวคุณก่อน เริ่มจากการประหยัดพลังงาน ใช้ไฟฟ้าให้น้อยลง และก็ค่อยๆ บอกต่อไปยังคนอื่นๆ ให้ช่วยกันประหยัดไฟฟ้า แค่นี้ก็ถือว่าช่วยแล้ว”

—————————————————
Siza Nepal / สัมภาษณ์

อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล

เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish