โดย สุภารัตน์ พระโนเรศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาสาสมัคร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่าเป็นคนที่ไม่กล้าฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเพราะกลัวผี แต่ก็ถือว่าเป็นพุทธศาสนิกที่ใช้ได้คนหนึ่ง เนื่องจากครอบครัวอยู่ใกล้ชิดพระศาสนาตั้งแต่เด็ก และใฝ่หาหนังสือของพระมาอ่านเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง ถึงแม้ว่าจะมีการให้ทานเป็นนิจ แต่ก็เป็นคนที่อารมณ์ร้อน ขี้โมโห เป็นที่รู้กันทั่วไป อยากปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เมื่อได้ยินกัลยาณมิตรซึ่งเป็นรุ่นพี่ในสำนักงานคนหนึ่ง ได้ชักชวนมาเข้าคอร์สวิปัสสนากับอาจารย์กาญจณา ปุณเญสิ จึงไม่ลังเลใจที่จะตอบตกลงเลย
ครั้งแรกที่ได้พบอาจารย์ที่บ้านสวนของพี่สมคิด มหิศยา พี่ในสำนักงาน (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) ซึ่งเอื้ออำนวยสถานที่ในการจัดคอร์สครั้งนั้น และเข้าร่วมปฏิบัติธรรมด้วย (โอกาสนี้ของสาธุบุญกับพี่สมคิดด้วย) คำถามแรกที่อาจารย์ถามคือ เคยไปปฏิบัติสายไหนมาบ้างรึยัง ก็ตอบว่าไม่เคย ตอนแรกรู้สึกเกร็งที่จะพูดคุยเพราะคุ้นชินกับการคุยกับพระและแม่ชีแบบสำรวม แต่อาจารย์ก็พูดคุยอย่างเป็นกันเอง และบอกเหตุผลที่ไม่อยากปฏิบัติธรรมเพราะกลัวผี อาจารย์บอกว่าไม่ควรกลัว แต่ควรสงสารเขาเพราะเขาไม่มีขันธ์ 5 เหมือนมนุษย์ จึงไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เราควรแผ่เมตตาให้เขา อย่าไปกลัวเขา
นั่นเป็นสิ่งแรกที่ได้จากอาจารย์ และเป็นการตอกย้ำว่า “ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” การเข้าคอร์สครั้งแรก อาจารย์ให้วิปัสสนาเป็นหลัก คือนั่งสมาธิและเดินจงกลมอย่างละ 1 ชั่วโมง และตอนเย็นในวันแรกๆ มีการปรับอินทรีย์ คือ การเพิ่มอินทรีย์ให้ลูกศิษย์ปฏิบัติธรรมได้ดีขึ้น
วันแรกที่มาถึงค่อนข้างเย็น พี่กันย์ หรือกันยา ธรรมปาลี ซึ่งเป็นลูกศิษย์อาจารย์และถือได้ว่าเป็นอาจารย์ของเราอีกคนหนึ่ง ก็มาสอนให้วิปัสสนาทั้งการเดินจงกลมและการนั่งสมาธิ การฝึกวิปัสสนาเป็นการฝึกจิตและดูจิตของตนเพื่อให้เห็นกฎไตรลักษณ์ที่ว่าด้วยการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ดูอารมณ์ของตนเองเป็นหลัก
วันแรกก็ทำผิด คือ ควบคุมจิตหรือพยายามบังคับจิต ซึ่งที่ถูกคือรู้เท่าทันว่าจิตคิดอะไร ได้ยินอะไร เห็นอะไร เมื่อนั่งสมาธิก็มีกิเลสมาหลอกล่อ ทำให้เกิดความท้ออยู่หลายครั้ง ทั้งเหนื่อยล้าเป็นอย่างมาก แต่ก็คิดว่าคนอื่นทำได้เราก็ต้องทำได้ พี่กันย์บอกว่ามีคน 2 ประเภทที่ทำไม่ได้ คือ คนที่ตายแล้วและคนที่ไม่ยอมทำ จึงทำให้มีกำลังใจมากขึ้น อีกทั้งมีเพื่อนๆ ผู้เป็นกัลยาณมิตรที่น่ารักคอยสนับสนุน
ตลอดเวลาการฝึกการวิปัสสนานี้ อาจารย์จะไม่ให้คุยกันสักเท่าไหร่ ไม่ให้สอบถามมากนัก แต่อาจารย์ก็มีการบรรยายธรรมะ 30 นาที ว่าด้วยการฝึกสมาธิ เป็นกระบวนการทำให้จิตเห็นการเกิดและดับ จากการรู้สึกเหมือนผงกแต่ไม่ผงก ความจำได้หมายรู้ก็อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ สัญญาหรือความจำได้หมายรู้ไม่ทำงานทำให้เห็นว่าสังขารนั้นไม่เที่ยง แม้แต่ความรู้หรือความทรงจำของเราเองก็ไม่เที่ยง ทำให้จิตเห็นไตรลักษณ์ชัดเจนขึ้น จะเห็นว่าขันธ์ 5 นั้นไม่เที่ยง สอนจิตให้เห็นความไม่เที่ยง ให้รับรู้ และไม่เชื่อกิเลสที่เข้ามาหลอกหรือปรุงแต่งให้เรา ต้องการ หรือหลอกว่าเราเป็นเป็นนี่ ซึ่งจะเข้าเข้าใจเรื่องนี้ได้ต้องผ่านการฝึกปฏิบัติเท่านั้น
อาจารย์ยังบอกย้ำสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกว่า การเกิดแม้นาทีเดียวก็เป็นทุกข์ และจิตจะเก็บความทรงจำทุกอย่าง, จิตดับคือจิตพัก, การไม่อยู่ในอารมณ์ใดนานจะอยู่กับปัจจุบันมากกว่าเดิม 50%, ความคิดแก่มาก็ลืม, สอนจิตไม่ได้สอนสมอง, หรือบุญก็เป็นสภาวะการได้มา, ความสุขเกิดได้เมื่อเอากิเลสออก ไม่จำเป็นต้องได้มา, จิตจะเลือกเองได้ด้วย การปฏิบัติธรรมทำให้ความทะเยอทะยานอยากได้ลดลง เพราะจิตเขาเลือกเองแม้แต่การให้ทาน เราช่วยด้วยใจจริงๆ ไม่มีเงื่อนไข คือ ทานบดี และสุดท้ายอาจารย์บอกว่า อย่ายึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ หัดรักษาศีล 5 ให้ดีๆ เพราะไม่มีใครตกต่ำเพราะรักษาศีล 5
ตลอดระยะเวลา 5 วัน สำหรับการเริ่มฝึกปฏิบัติธรรมนั้นมันยิ่งใหญ่มาก ทำให้เกิดปีติ และขอบคุณเพื่อนสหายธรรมทั้งหลาย ขอบคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูจนทำให้มีโอกาสเข้าถึงพระศาสนาที่แท้ นั่นคือการปฏิบัติธรรม มันทำให้ข้าพเจ้าเห็นตัวเองมากขึ้น รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ถึงแม้ว่าไม่อาจจะควบคุมได้ตลอดเวลา แต่ก็ทำให้ทุกข์น้อยลง และรู้จักแบ่งปันให้คนอื่นมากขึ้น ทั้งในความคิดและการปฏิบัติ ทั้งสิ่งที่เห็นได้และเห็นไม่ได้ เป็นการสร้างพลังในการทำงานในทางที่ถูกที่ควร และไม่ประมาทในการใช้ชีวิต
ส่วนคอร์สที่ 2 ที่มีโอกาสได้เข้าคือ คอร์สเมตตาภาวนา ทำให้รู้ว่าการมีเมตตาและการแผ่เมตตานั้น ช่างเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่จิตอันซับซ้อนทำหน้าที่ได้อย่างประหลาด มันทำให้เราอิ่มเอิบแผ่ซ่านไปสู่สรรพสัตว์ที่เราแผ่เมตตาให้ มันทำให้จิตใจเราเบิกบานและเกิดความปรารถนาดีต่อเขาหรือต่อผู้อื่น รวมทั้งทำให้เราได้พบกัลยาณมิตรที่ดีจากการมาเข้าคอร์ส และยังทำให้เราเกิดความปรารถนาที่จะสืบทอดงานพระพุทธศาสนาในทุกทางที่ทำได้