ด้วยใจรักจะทำ
เขียนโดย นายบุญเสริม สืบกำปัง อาสาเยาวชน [สิงหาคม 53- กันยายน 54] กลุ่มบ้านชะอาน จ.เพชรบุรี
วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2013
“เมื่อก่อนทำงานก่อสร้างควบคุมลูกน้องด้วยหน้าที่ มีความต้องการค่าตอบแทนแลกเปลี่ยน ซึ่งได้มาด้วยเงินตรา แต่ทำงานกับเด็กและเยาวชนมันตรงกันข้าม คือ มันทำด้วยใจที่รักจะทำ แลกเปลี่ยนมาด้วยรอยยิ้ม มีความเครียดเล็กๆ น้อยๆ สลับกันไป แต่ก็สนุกดี”
ด้วยความขอบคุณทุกโอกาสที่เปิดให้เขาได้รู้จักแนวทางการดำเนินชีวิต และทักษะการค้นหาศักยภาพ จนพบความสุขจากภายใน ด้วยใจรักที่จะทำ บทเรียนจากนายบุญเสริม สืบกำปัง อาสาเยาวชน [สิงหาคม 53- กันยายน 54] กลุ่มบ้านชะอาน จ. เพชรบุรี
กระผมนายบุญเสริม สืบกำปัง อยู่บ้านเลขที่ 664/33 ถ.เพชรบุรี อ. ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่ออดีตก่อนผมเป็นคนโคราช ตอนนั้นอายุ 27 ปี ได้ทำงานก่อสร้าง เป็นหัวหน้าควบคุมคนงาน อยู่ในบริษัทคริสเตียนี ที่จ.ภูเก็ต ชีวิตในช่วงนั้นก็ดำเนินไปด้วยดี ทำงานแบบไปเช้าเย็นกลับ เป็นแบบนี้เป็นประจำตลอด 4 ปี
จนกระทั่งได้ย้ายมาทำการก่อสร้างห้างแม็คโครที่จ.ลพบุรี ตรงนี้แหละครับที่ทำให้ชีวิตของผมเกิดปัญหาขึ้น โดยผมกับแฟนเกิดความไม่เข้าใจกันจนต้องแยกทาง โดยผมนั้นต้องกลับมาเริ่มต้นแบบนับหนึ่งใหม่ แต่ไม่รู้จะไปไหนดีและไม่รู้จะเริ่มอะไรก่อนหลัง มันมืดไปหมดทุกด้าน พอดีพี่สาวผมโทรศัพท์มาหา พี่เขาเปิดร้านขายข้าวแกงและอาหารตามสั่งอยู่ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ผมก็เลยถือโอกาสไปหาโดยในความคิดแรกนั้น แค่มาขอพักอยู่สักระยะให้รู้สึกดีแล้วก็จะไป (แต่ในความจริงแล้ว ก็ยังไม่รู้จะไปไหนต่อดี)
หลังจากนั้นก็มาถึงจุดที่เปลี่ยนชีวิติของผมคือ ผมได้รู้จักกับครูเอื้อมพร ไตรภานุรักษ์กุล เป็นอาจารย์สอนนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนคุณหญิงเนื่องบุรี เมื่อผมได้พูดคุยและได้เล่าเรื่องพร้อมปรึกษากับครูเอื้อม ท่านได้แนะนำให้รู้จักโครงการเสริมสร้างอาสาสมัครเพื่องานเยาวชน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) พร้อมทั้งบอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมันอาจช่วยให้เรารู้เส้นทางที่เราจะก้าวเดินต่อไปได้ และค้นหาศักยภาพของตนเองเจอ อีกอย่างที่ครูเอื้อมได้อธิบายให้ผมฟังในตอนนั้น ผมก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจอะไรมากนักหรอก แต่มาสะกิดใจตรงที่ว่า อาจช่วยค้นหาศักยภาพของตัวเองและพัฒนาตัวตนของเราได้ ผมจึงตัดสินใจเข้า มอส.โดยไม่ลังเล ถึงแม้ว่าไม่รู้ว่ามันจะช่วยอะไรเราได้จริงหรือเปล่า
ชุมชนที่ผมเข้ามาทำงานอยู่คือ กลุ่มบ้านชะอาน ชื่อกลุ่มที่ผมอ่านแล้วรู้สึกสงสัยขึ้นมาทันทีเลยครับก็เลยถามครูเอื้อมถึงที่มาของชื่อนี้ ครูเอื้อมได้อธิบายให้ฟังว่า สมัยครั้งเก่าก่อนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ยกทัพไปตีเมืองตะนาวศรีและขากลับจากการรบได้แวะพักริมน้ำ ชำระล้างอานม้าตรงหนองน้ำจืดขนาดใหญ่ ชาวบ้านบริเวณนั้นจึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า หนองชะล้างอานม้า และมันก็แผลงมาเป็น “ชะอาน” และนานวันเข้าก็กลายมาเป็นชะอำ นั่นเอง
ผมได้เข้ามาทำงาน มอส.ได้ประมาณ 3 เดือนแรก ก็มีความรู้สึกเข้าใจแนวทางของการทำงานของ มอส.เพิ่มมากขึ้น บวกกับได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ความคิดที่ฟุ้งซ่านต่างๆ ของผมก็สงบลงมาบ้าง โดยการที่ผมทำกิจกรรมอยู่นั้น ได้รับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆ ซึ่งมันแสดงออกมาโดยความบริสุทธิ์ เช่น เวลาดีใจ ความสนใจ ความอยากที่จะทำหรือไม่อยากทำ มันแสดงออกมาทั้งกิริยาท่าทางที่ไม่แสแสร้ง กิจกรรมของผมได้ทำมาเรื่อยๆ โดยเน้นในเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรม สืบสานงานปฏิบัติโคมไฟจากเศษแก้วพลาสติก และพวงมะโหตร ผ้ามัดย้อม และอีกเยอะแยะมากมาย ไม่นับรวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนา
ต่อมาผมได้จัดทำ “โครงการปั้นม้า” ขึ้นมา โดยมีความคาดหมายถึงการเล่าเรื่องแผนการปั้นม้า เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติเก่าแก่ของพื้นที่ และเป็นการปลูกฝังความรู้ให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ อันเนื่องด้วยในอนาคตของกลุ่มบ้านชะอาน จะจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น สิ่งที่อยากเห็นเด็กๆ ในอนาคตของกลุ่มเรา คือ สามารถเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของภูมิลำเนาที่ตนเองอยู่ให้กับชาวต่างชาติ หรือกลุ่มคนที่สนใจได้เข้าใจเป็นอย่างดี
ผลการทำงานของโครงการปั้นม้าในส่วนที่พอใจ คือ เด็ก และเยาวชนได้รับรู้ถึงประวัติความเป็นมาของพื้นที่โดยผ่านการปั้นม้าเป็นตัวกลาง ดังนั้นสิ่งที่ได้ อาจจะไม่ใช่แค่ตัวม้า แต่มันได้ปลูกฝังความรู้ให้แก่เด็ก ๆ และยังได้ฝึกทักษะการปั้นม้าให้แก่เด็ก การผสมปูน การขึ้นรูปทรงตัวม้า สิ่งนี้จะเป็นแรงกระตุ้นจุดประกายให้เด็กๆ หลายคนที่ชอบในด้านนี้ มีแนวทางที่จะเกิดหรือสานต่องานด้านนี้ให้ได้ นอกจากนั้นยังส่งผลไปถึงกับชุมชน ครอบครัวของเด็กๆ ที่มองกลับมายังโครงการของเรา เขาก็ยอมรับ และเข้าใจถึงสิ่งที่เด็กๆ กำลังทำอยู่
ส่วนผลการทำงานของโครงการปั้นม้าในด้านลบ คือ ขั้นตอนการปั้น รายละเอียดตอนจบการปั้นกล้ามเนื้อม้าค่อนข้างยากสำหรับเด็กเล็ก และอีกอย่างหนึ่งคือการประสานงานกับวิทยากร ที่มาให้ความรู้ “หลักของการปั้น” ไม่ค่อยชัดเจนเท่าที่ควร เพราะอาจจะมือใหม่หัดประสานอยู่
ตลอดเวลาที่ได้ทำงานร่วมกับเด็กๆ และเยาวชนในชุมชน กระผมมีความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก อาจจะว่าจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็ว่าได้ คือ เมื่อก่อนทำงานก่อสร้างควบคุมลูกน้อง ด้วยหน้าที่มีความต้องการค่าตอบแทนแลกเปลี่ยน ซึ่งได้มาด้วยเงินตรา แต่ทำงานกับเด็กและเยาวชนมันตรงกันข้าม คือ มันทำด้วยใจที่รักจะทำ แลกเปลี่ยนมาด้วยรอยยิ้ม มีความเครียดเล็กๆ น้อยๆสลับกันไป แต่ก็สนุกดี
มุมมองที่ผมมองต่อไปในชีวิต คือ การใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มและคอยพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ของเด็กๆ ในชุมชน อยากทำกิจกรรมกับเด็กและสรรหากิจกรรมใหม่ๆ เข้ามาให้เด็กๆ ในกลุ่มได้เล่น ได้พัฒนาต่อไป
ด้านจิตใจในตอนนี้ได้เติบโตขึ้นจากเมื่อก่อน ได้มองเห็นทั้งคนอื่นและตัวเราในเรื่องจิตอาสา การทำงานเพื่อเยาวชน ชุมชน และสังคม ส่วนด้านอารมณ์ที่เร่งรีบกระวนกระวายใจและต้องการจะไขว้คว้าของผมก็สงบลง และสอดแทรกมาด้วยความเพียงพอของชีวิต
ส่วนด้านทักษะการทำงาน ผมรู้สึกชอบในด้านงานประดิษฐ์ งานลงมือปฏิบัติ มากกว่าการชี้นิ้วสั่งงาน เพราะว่าเวลาที่เราได้ทำอะไรแล้ว จิตใจมันจะไม่ฟุ้งซ่าน มันจะจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น
ส่วนจุดยืนของชีวิตในตอนนี้ อยากทำสิ่งดีๆ เพื่อเยาวชน ชุมชน และสังคม และก็ขอขอบสำหรับโอกาสที่มอบให้ กับการค้นหาศักยภาพในทางการใช้ชีวิตของตัวผมเอง เนื่องมาจากครูเอื้อมซึ่งเป็นบุคคลที่คอยแนะนำและชี้ทางให้ และที่ขาดไม่ได้เลยคือ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ที่คอยสนับสนุนผมมาโดยตลอด ขอบคุณครับ