การลงพื้นที่และร่วมทำงานในประเด็นต่างๆ ตลอดระยะเวลา 1 ปี ภายใต้บทบาทของอาสาสมัคร โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) อาสาสมัครได้ร่วมทำงานเพื่อสังคมและได้ประสบการณ์มากมายในประเด็นงานพัฒนาที่ตนเองได้เข้าไปร่วม หลายคนได้แสดงความเข้าใจต่อประเด็นงานผ่านการทำงานโดยตรง แสดงความเห็นในเวทีต่างๆ และอาสาสมัครบางท่านได้ทำการบันทึกประสบการณ์ เรียบเรียง ประเด็นต่างๆ ที่ได้จากการทำงานผ่านงานเขียน เช่นเดียวกับอาสาสมัครนักสิทธิฯท่านหนึ่ง ที่ได้เขียนรายงาน ในหัวข้อ “อำนาจหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยกรณีเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานหรือรู้เห็นการซ้อมทรมาน” งานชิ้นนี้เป็นงานที่น่าสนใจ เพราะผู้เขียนได้ทำการศึกษาผ่านกรณีศึกษาที่ได้โดนกระทำทรมานและมีการค้นข้อมูลเชิงเอกสารเพิ่มเติม พร้อมทั้งทำการวิเคราะห์ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะจากการใคร่ครวญสิ่งที่ศึกษา

รายงานชิ้นนี้เขียนในเชิงบทวิเคราะห์ ซึ่งแบ่งการนำเสนออกเป็น 3 บท กล่าวคือ บทที่ 1 ประกอบด้วย บทนำ  คำนิยาม  และเรื่องเล่าจากผู้เสียหายจากการทรมาน  บทที่ 2 ประกอบด้วย การทำความรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  ภารกิจและรายละเอียดต่างๆ  ตลอดจน บทที่ 3 บทสุดท้าย เป็นการสรุป และให้ข้อเสนอแนะ

จากบทนิยาม ผู้เขียนมุ่งนิยามคำว่า “ทรมาน” โดยอาศัยความหมายจากแหล่งอ้างอิงสำคัญต่างๆ อาทิ  อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT)    อีกแหล่งคือพจนานุกรมไทย  ที่นิยามอย่างสั้นๆ ว่า ทรมาน หมายถึง การกระทำให้ลำบาก การถูกกระทำอย่างทารุณ ส่วนทางประมวลกฎหมายอาญาของไทยที่ใช้บังคับใช้ในปัจจุบันไม่พบคำนิยาม

เนื่องจากตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ได้มีการกล่าวถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ความว่า “เมื่อความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานนั้นกระทำโดยหรือด้วยการยุยง หรือโดยความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าพนักงานของรัฐหรือของบุคคลอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทางการ”  ดังนั้น ในรายงานชิ้นนี้จึงตามมาด้วยการนิยามเพื่อทำความชัดคำว่า “เจ้าพนักงานของรัฐ” หมายถึงใครและสถานะอย่างไร เพราะเป็นหนึ่งในตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวพันกับเหตุการณ์  และจากนั้นจึงเกี่ยวพันถึงผู้ได้รับผลการกระทำนั้น ซึ่งได้แก่ “ผู้เสียหาย”  ผู้เขียนได้บรรยายไว้อย่างชัดเจนโดยอ้างอิงนิยามทางกฎหมาย

เพื่อให้รายงานมีความชัดเจนและจับต้องได้ ผู้เขียนได้นำเสนอกรณีศึกษาของผู้ถูกกระทำทรมาน 2 กรณี ได้แก่ กรณีพลทหารวิเชียร ผ่านการเล่าของ “นริสราวัลณ์ แก้วนพรัตน์” นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเล่าถึง “การเรียกร้องความเป็นธรรมของพลทหารวิเชียร เผือกสม”   ซึ่งเป็นน้าชาย  ไปเป็นทหารเกณฑ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และถูกครูฝึกรุมทำร้ายจนเสียชีวิต และอีกกรณี คือ “การเสียชีวิตของนายยะผา กาเซ็ง” นายยะผาถูกจับกุมหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารได้นำกำลังไปปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านกอตอ ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายยะผา ไปซักถามหลายครั้ง ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม 2551 เวลาประมาณ 06.30 น. นายยะผาถึงแก่ความตายในห้องควบคุม กรณีของนายยะผาเป็นการเสียชีวิตระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าพนักงาน จากนั้นพนักงานสอบสอนได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตมีมูลความผิดทางวินัยและมูลความผิดทางอาญาหรือไม่

ติดตามอ่านตอนจบ จันทร์ที่  20 กุมภา”60

—————————————————
เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน/ เขียน
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ/ เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish