ประสบการณ์ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเราถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ในด้านบวกหรือด้านลบก็ล้วนแต่มีคุณค่าด้วยกันทั้งนั้น ถ้ารู้จักหยิบจับเรื่องราวเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตของเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต รอบนี้ได้มีโอกาสขอสัมภาษณ์เรื่องราวประสบการณ์ของคนคนหนึ่งระหว่างที่เขาใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในต่างแดน แม้จะเป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่ประสบการณ์ที่อยากนำมาแชร์ต่อนั้น เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจทีเดียว เนื่องจากเป็นบทสัมภาษณ์ขนาดยาว จึงจะนำเสนอเป็นตอนๆไป ทั้งหมด 6 ตอน ซึ่งสามารถติดตามได้ทุกวันจันทร์ หน้าเพจเฟสบุ๊คและเว็บไซต์ มอส  www.facebook.com/มอส-Thai-volunteer-service  และ www.thaivolunteer.org  ไปเริ่มเรื่องราวของเขากันเลย

ช่วงฤดูใบไม้ผลิของประเทศจีน “พงศกร  กาวิชัย”  หรือ “ฝุ่น” หนุ่มวัย 25 คือหนึ่งใน 5 คนรุ่นใหม่จากไทยที่เข้าร่วมเวิร์คช็อป Holistic Sustainability : The Southeast Asian and Chinese Youth International Experience Exchange Workshop  (การพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม : การประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เชิงปฏิบัติการ ระหว่างคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับคนรุ่นใหม่ในประเทศจีน) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-7 เมษายน 2559 ที่จังหวัดฉงฉิ่ง ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน จัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชนในจีนชื่อ Liang Shuming Rural Reconstruction Center (LRRC) ลักษณะการจัดงานนั้น เป็นเวทีประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และศึกษาดูงานร่วมกันของกลุ่มคนรุ่นใหม่จาก 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และจีน รวม 20 คน

แววตาแห่งความมุ่งมั่นของเขา ประสบการณ์และเรื่องราวที่เขาแชร์กับเพื่อนๆ ในวงเวิร์คช็อป และภารกิจฝันอันยิ่งใหญ่กับเพื่อนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ภาคเหนือของไทย ภายใต้  “โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมสู่ชุมชนบ้านเกิด”  ทำให้เราอดที่จะพูดคุยกับเขาไม่ได้  อยากให้ถ้อยคำธรรมดาๆของเขา ทิ้งอะไรบางอย่างไว้ในใจคนอ่านทุกๆคนที่มีฝันคล้ายๆ กัน

ณ ฉงฉิ่ง ดินแดนทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน

คำถามแรก ที่อยากให้ฝุ่นช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า : ทำไมถึงตัดสินใจเข้าร่วมเวิร์คช็อปนี้ Holistic Sustainability : The Southeast Asian and Chinese Youth International  Experience Exchange Workshop ?

ฝุ่นเล่าให้ฟังว่า : การตัดสินใจเข้าร่วม workshop ครั้งนี้เป็นความสนใจส่วนตัวของผมเอง การได้เห็นหัวข้อของการเวิร์คช๊อปเรื่อง Holistic Sustainability (การพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม) ที่มีประเทศจีนเป็นกรณีศึกษาหลักต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งคำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม (Holistic Sustainability)” ยิ่งกระตุ้นความสนใจของผมในตอนนั้น อีกทั้งยังมีความสงสัย ความอยากรู้ และความคิดต่างๆ เข้ามามากมาย การเข้าร่วมเวทีครั้งนี้เหมือนการเข้าไปหาคำตอบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม  เนื่องจากการพัฒนาที่ยั่งยืนในนิยามที่คนไทยเข้าใจ เป็นนิยามที่ได้ยินมานานและบ่อยมากที่พูดถึงเรื่องการพัฒนาทั้งด้านการเกษตร ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แต่การจัดการความยั่งยืนแบบองค์รวมนี้ถือเป็นความท้าท้ายอย่างยิ่งของการเรียนรู้ของตัวผมเอง คำถามในใจผมก็คือ ผู้จัดงานจะมีรูปแบบในการนำเสนอออกมาในรูปแบบใด แล้วในฐานะผู้เข้าร่วมอย่างผม จะรับองค์ความรู้หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มเพื่อนๆ ต่างชาติได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคิดว่าถ้าได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปครั้งนี้ จะทำให้ผมได้เห็นภาพการพัฒนาของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมเวทีนี้ด้วยกัน รวมถึงการได้รู้จักกับเครือข่ายเพื่อนต่างประเทศ และการได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเพื่อการฝึกฝนตนเองด้วย

คำถามที่ 2 ที่อยากให้ฝุ่นช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า : ได้เรียนรู้อะไรจากเวิร์คช็อปครั้งนี้ และเกิดแรงบันดาลใจหรือแนวคิดใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ อะไรบ้าง ?

สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้  คือเรื่องของกระบวนทัศน์และวิธีคิดใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบองค์รวม การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ผมเคยได้รับรู้รับฟังมา เป็นการพัฒนาที่เน้นเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า หรือด้านการเกษตรกรรม แต่การพัฒนาในทุกๆ ด้านที่ผมได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมเวที เป็นองค์ความรู้ที่สามารถทำให้คงอยู่หรือความยั่งยืนได้ยาวนานที่สุด การพัฒนาต้องดำเนินการไปพร้อมกันทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ ชุมชน/สังคม วัฒนธรรม รวมถึงด้านทรัพยากรและด้านการเกษตร ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น กรณีของประเทศไทยที่มีความพยายามส่งเสริมการผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ แต่เรากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิถี/วัฒนธรรมการบริโภคของคนไทยที่เปลี่ยนไปในความเร่งรีบ ไม่สอดคล้องกับการบริโภคอาหารอินทรีย์ที่มีความละเอียดอ่อนและเป็นขั้นเป็นตอน หรือการสนับสนุนจากรัฐที่ไม่มีความชัดเจนด้านนโยบายการส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ทำให้การพัฒนาด้านการเกษตรอินทรีย์ของไทยไม่เกิดความต่อเนื่องเท่าที่ควร เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำคัญที่สุดและทุกประเทศให้ความสำคัญมากกว่าการพัฒนาทุกๆด้าน คือ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” หรือการพัฒนาคนนั่นเอง ซึ่งการพัฒนาคนในที่นี้ไม่ใช่การทำให้คนในประเทศแข่งขันกันเองแบบเอาเป็นเอาตาย (ลักษณะคล้ายๆการแข่งขันกันเรียน หรือการสอบเข้าทำงานในประเทศไทย) แต่การพัฒนาคนในที่นี้ คือ การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนในทุกๆอาชีพ ทำให้อาชีพทุกอาชีพมีคุณค่าและเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ต้องมองว่าอาชีพเกษตรกรมีความสำคัญเท่าเทียมกับอาชีพหมอ เพราะทุกคน ทุกอาชีพมีหน้าที่ต่างกันในการพัฒนาภารกิจแต่ละด้านของตนเอง เป็นต้น มุมมองความคิดเหล่านี้ต้องทำให้เกิดขึ้นให้มาก ต้องสร้างระบบการพัฒนาหนุนเสริมการพัฒนาคนให้กระจายมากกว่าการยึดติดกับระบบการศึกษาในระบบ ถ้าการพัฒนาคนสามารถกระจายการพัฒนาให้ทุกอาชีพมีความสำคัญได้ การพัฒนาด้านต่างๆก็ย่อมจะมีโอกาสเดินหน้าไปได้พร้อมๆกัน “มนุษย์เป็นผู้กำหนด เป็นผู้ปฏิบัติ และเป็นผู้รับการกระทำต่างๆเหล่านั้นทั้งสิ้น” มนุษย์ลืมไปว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรในสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ต้องอยู่อย่างเกื้อหนุนกัน แต่ทุกวันนี้มนุษย์มองทรัพยากรอื่นเป็นแค่เครื่องมือที่มนุษย์เป็นผู้จัดการและนำมาใช้เท่านั้นเอง แม้แต่ทรัพยากรมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด

นี่คือมุมมองของเขาจาก 2 ประเด็นคำถาม ยังมีมุมมุองต่อประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ติดตามอ่าน ตอน 2 ได้จันทร์หน้า

———————————————
จารุวรรณ สุพลไร่ / เรื่อง
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish