ต้นเรื่อง: เบญจพร อินทร์งาม, สัมภาษณ์-เรียบเรียง: กฤษณา พาลีรักษ์

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2013

เบญจพร อินทร์งาม หรือ เบญ เป็นสาวใต้ตาคม ที่เติบโตมากับครอบครัวผู้นำชุมชนซึ่งปลูกฝังให้เขามีจิตใจอาสามาตั้งแต่เด็ก บวกความชอบและมีพรสวรรค์เรื่องการเรียนรู้ภาษาอื่น เป็นส่วนผสมให้เธอเลือกเดินบนเส้นทางสายนี้ โดยมีโอกาสทำงานกับกลุ่มชนชายขอบในสังคมหลายกลุ่ม จนขยับมาทำงานสานสันติภาพกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศลุ่มน้ำโขงในปัจจุบัน จนเธอเองได้รับฉายาจากเพื่อนในเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันว่า “นางงามมิตรภาพ” 5 ปีในงานสายอาสา หากถาม “นางงามมิตรภาพ” ว่ามีความรักอะไรในตัวงาน มีทุกข์ มีสุข หรือจุดหักเหในชีวิตอันใดให้ “เบญจพร” กลายเป็น “นางงามมิตรภาพ” ในปัจจุบัน…โปรดอ่าน…

ความสุขพึงมี ความดีพึงให้ ของ นางงามมิตรภาพ1

Q: เล่าภูมิหลังความเป็นมาในชีวิตให้เราฟังหน่อย?

เบญจบปริญญาตรี เอกภาษาอังกฤษ ที่ม.ราชภัฎภูเก็ต ตอนเรียนไม่ได้ทำกิจกรรมมาก เพราะคณะที่เรียนไม่ค่อยสนับสนุนให้เด็กทำกิจกรรม อยากให้เรียนอย่างเดียว เราก็แอบไปช่วยคณะอื่นทำบ้าง ด้วยความที่เป็นเด็กทุน การได้ทุนเรียนต้องช่วยงานสังคม เราไปช่วยทำงานทำเอกสารตามตึกตามคณะต่างๆ ทำให้รู้จักเพื่อนมากขึ้น

วัยเด็กพ่อเป็นผู้ใหญ่บ้านทำงานชุมชน ทุกเย็นเราจะตามพ่อไปช่วยงาน ไปเยี่ยมชาวบ้าน ไปช่วยทำกิจกรรม เราก็ทำมาตั้งแต่เด็ก พอจะเรียนจบช่วงนั้นปี 4 แฟนเสียชีวิต ก่อนนั้นก็วางแผนเรื่องแต่งงานไว้แล้ว หลังจากนั้นก็เลยวางแผนใหม่ว่าตัวเองชอบอะไร รักอะไร บังเอิญฝึกงาน เห็นป้ายรับสมัครของสำนักบัณฑิตอาสา ของมหาลัยธรรมศาสตร์ ก็เลยสมัครและสอบติด เลยไปฝึกงานกับชุมชนปกาเกอะญอชื่อ โครงการศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทภูเขาแม่ฟ้าหลวง ไปเป็นครูอยู่ 7 เดือนที่แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ก็ชอบ หลังจากนั้นก็รู้จักกับเพื่อนชื่อ “เมื่อย” เขาทำงานอยู่ที่เครือข่ายสืบสานภูมิปัญญา เขาก็ชวนเราไปทำงานด้วย ก่อนนั้นเรามีงานทำแล้ว มีเงินเดือนด้วย แต่เราอยากทำงานแนวสังคมแบบนี้ ซึ่งมีเงินเดือน 3,500 บาท รับผิดชอบ 2 พื้นที่ได้7,000 บาท ตอนนั้นเรียนโท (ชนบทศึกษากับงานพัฒนา ม.ธรรมศาสตร์) แล้ว ก็ย้ายไปอยู่ลพบุรี เพื่อนก็จ่ายค่าเช่าบ้านให้ เนื่องจากเราชอบกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะเราเคยทำงานกับปกาเกอะญอ รอบนี้ก็มาทำกับกลุ่มมอญ กลุ่มเยาวชนไทย-รามัญที่ลพบุรี และก็มีไทเบิ้งที่โคกสลุง ก็ได้ความรู้เรื่องนั้นพอสมควร

เครือข่ายสืบสานภูมิปัญญาทำงานสัมพันธ์กับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) ช่วงนั้นมีสถานการณ์ความรุนแรงกับระหว่างไทย-กัมพูชา(2010) ทางมอส.ขอคนที่จะมาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับเยาวชนไทยและกัมพูชา เขาเห็นว่าเราได้ภาษาอังกฤษ ก็เลยได้เข้าร่วมเข้าร่วมหลักสูตรอบรมสันติภาพเพื่อคนรุ่นใหม่ในประเทศลุ่มน้ำโขง [Mekong Peace Journeys] หรือ MPJ จากนั้นเราก็สนใจขอไปฝึกงานที่ประเทศกัมพูชา 3 เดือน กลับมา มอส.ก็ชวนมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการ MPJ ต่อเนื่อง เนื้องานที่ทำหลักๆ ก็คือประสานงานและดูแลการจัดการตลอดการอบรม

ความสุขพึงมี ความดีพึงให้ ของ นางงามมิตรภาพ2
Q: ทักษะภาษามีความสำคัญอย่างไรกับงานที่ทำอยู่?

ตอนที่เลือกเรียนภาษาก็เพราะชอบ เหตุผลที่ชอบ เพราะอยากเรียนรู้ภาษาคนอื่นๆ อยากช่วยเหลือคนอื่น แต่ไม่ได้เลือกเรียนเพราะจะเอาไปใช้ในงานโรงแรม หรือธุรกิจ ภาษาในโลกมีเยอะแยะ ตอนมัธยมตัวเองเรียนฝรั่งเศส 3 ปี จากนั้นก็เรียนเกาหลีอีก 2 ปี ในช่วงที่เรียนเอกภาษาอังกฤษ ภาษาปกาเกอะญอก็พูดได้ กัมพูชาก็พูดได้ เราก็ได้ใช้ประโยชน์ เพราะการรู้ภาษาคนอื่นมันแฝงไปด้วยมุมทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดความเข้าใจกัน เป็นเพื่อนกันได้ง่าย ท่ามกลางความหลากหลายของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง แม้จะอยู่ใกล้ชิดติดกัน มันมีความแตกต่างในความเหมือนพอๆ กัน เราต้องเข้าใจบริบทของเพื่อน แล้วมันก็ช่วยเปลี่ยนภูมิหลังที่ตัวเองเคยเรียนมาผิดๆ ตรงนี้เป็นพื้นที่จริงให้เราได้เรียนรู้ ถ้าเรารู้หลายภาษาเราก็ได้ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับเขา อย่างเผยแพร่องค์ความรู้ของเขาได้ เพราะการฟังภาษาต้นฉบับที่ไม่ต้องแปลมันลึกซึ้งและมีความหมายที่สื่อถึงกันกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง การแปลเป็นภาษาอังกฤษ ความหมายดีๆ จะถูกตัดขาดออกไป

Q: อะไรเป็นหัวใจหรือคุณค่าหลักที่ทำให้เราติดหนึบอยู่กับงานอาสามาตลอด ทั้งที่มันมีเงินเดือนไม่มาก หรือมีปัญหาในรายละเอียดของงานไม่ต่างจากสายงานอื่น?

จริงๆ คิดว่างานอาสาสมัคร คนทุกคนสามารถมาทำ มาเป็น และสามารถทำได้ทุกที่ แต่ว่าที่เราเลือกเป็นเจ้าหน้าที่และทำงานกับอาสาสมัครเป็นหลัก เราคิดถึงผลที่มันออกไป อย่างที่สืบสานฯเราทำงานกับกลุ่มชนเผ่าที่คนอื่นมองเขาแบบดูถูก หรือมองแบบแตกต่างไปจากเรา งานสื่อสารให้เห็นภูมิปัญญาที่เขามี มีความสำคัญมาก และสามารถเปลี่ยนทัศนคติการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ หรือแม้แต่การทำงานในมอส.เราเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แล้วมันขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ จากลุ่มแม่น้ำโขงสู่อาเซียนด้วย

พูดถึงอาเซียนหากเปิดขึ้นแล้วเรายังอยู่กับที่ เป็นคนในจุดเล็กๆ ที่ไม่ยอมเรียนรู้วัฒนธรรมคนอื่น เรียนรู้ความต่าง และไม่เอาเวลาของตัวเองมาเรียนรู้สังคม แล้วช่วยกระจาย มันก็ลำบาก การทำงานเพื่อสังคมแบบนี้ หนึ่ง.คือเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน และช่วยเปลี่ยนคนอื่น ทำความเข้าใจคนอื่น สนับสนุนให้คนอื่นได้เรียนรู้พัฒนา ช่วยให้เขารู้สิทธิ์ของเขา ช่วยให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Q: ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกระแสที่จะรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คนที่มีทักษะด้านภาษาจะมีโอกาสทางสังคมที่ดีกว่า มีโอกาสทำเงินสูงมาก ทำไมเราไม่ใช้โอกาสนั้นในการสร้างความมั่นคง?

ทุกครั้งที่ถูกครอบครัวตั้งคำถามเรื่องความมั่นคง และเงินเดือนที่ได้ จะย้อนกลับไปที่จุดหักเหที่แฟนเสียชีวิต ตอนนั้นเขาก็สร้างเรือนหอเกือบเสร็จแล้ว แต่เสียชีวิตเสียก่อนจะได้อยู่ ทุกครั้งที่เราคิดเรื่องนี้ ก็เห็นว่าชีวิตมันไม่แน่นอน คนหลายคนทำงานเพื่อหาเงินอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายอาจจะไม่ได้เสียชีวิตก็ได้ แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้เงินนั้น หรือกว่าจะได้ใช้มันก็สายไปแล้ว หรือคนทำงานซื้อรถซื้อบ้าน แต่เขาก็ไม่มีเวลาได้อยู่บ้านได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ประสบการณ์ช่วงมาไปฝึกงานที่กัมพูชาก็ให้บทเรียนเราเหมือนกัน คือ กระเป๋าเสื้อผ้าหายหมดทั้งกระเป๋า เราไม่เหลืออะไรเลย บ้านที่กรุงเทพฯที่เราเก็บของฝากไว้ก่อนไปฝึกงานก็น้ำท่วม ทุกอย่างถูกน้ำท่วมหมดเลย ทั้งหนังสือที่เรารัก เสื้อผ้า เอกสารทุกอย่าง เราก็เลยเห็นแล้วว่าเราไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรมากเกินกว่าที่ตัวเองจำเป็นต้องใช้ เลยกลายเป็นคนไม่ค่อยสร้างไม่ค่อยซื้ออะไรเยอะไปโดยปริยาย

ความสุขพึงมี ความดีพึงให้ ของ นางงามมิตรภาพ3
Q: เป้าหมายที่อยากจะเห็นของงานสร้างเครือข่ายคนหนุ่มสาวในลุ่มน้ำโขงคืออะไร?

ไม่ได้หวังเรื่องการเปลี่ยนอะไรมากมาย เพราะเราไม่รู้เงื่อนไขการพัฒนามันจะเป็นไปในทางไหน หรือว่าสิ่งที่เราคิดอยู่มันจะถูกที่สุดโดยการเปลี่ยนคนอื่น ก็ไม่มั่นใจ ก็หวังว่าทุกประเทศจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีความรักความเข้าใจกัน และคนเล็กคนน้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่โดนกดขี่ข่มเหงจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่า

Q: มีข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากเข้ามาทำงานอาสาสมัครอย่างไร หรือต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร?

อยากให้มองจากจุดเล็กๆ ว่าตัวเรา สังคมและโลก มันมีความสัมพันธ์โดยที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ที่นี้ถ้าเรารักตัวเอง เราต้องรักโลก รักสังคมด้วย เรารักตัวเองอย่างไร เราน่าจะรักโลกและสังคมอย่างนั้น จริงๆ งานอาสาทำได้ง่ายๆ มีหลายแบบ ช่องทางที่จะเข้ามาทำ อย่างของธนาคารจิตอาสา เขารับฝากเวลา ใครสนใจด้านไหนก็เข้ามา กลุ่มเบญหลังจากจบบัณฑิตอาสาเราตั้งกลุ่มชื่อ “กลุ่มผีเสื้ออาสา” เราไปจัดงานวันเด็กปีละครั้ง เราเลือกกลุ่มเด็กไทยที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงวันเด็กของราชการ เราก็จะไปจัดให้เขา

จริงๆ งานอาสาหากทำแล้วไม่มีความสุขคงไม่ทำมานานขนาดนี้ เพราะงานอาสาแบบนี้ทุกคนเป็นมิตรเป็นพี่เป็นน้องกันดี มีอะไรก็ให้กัน คือ เราพร้อมจะรับและให้สิ่งดีๆ หรือมีความสุขที่จะให้และมีความสุขที่จะรับจากคนอื่น เราเคยพาแม่มาลงพื้นที่ที่ทำงานด้วย พาแม่ไปอยู่บนดอย บางครั้งแม่รู้ว่าเวลาเราทำงานเราต้องนอนวัด แม่ถามว่า ยังลำบากมาไม่พอหรือชีวิตนี้? แต่กำลังใจที่เราได้มาจากทำกิจกรรมที่เกิดประโยชน์กับคนอื่นๆ และงานที่เราทำกับคนหนุ่มสาวเหมือนเราวางเมล็ดพันธุ์ไว้ เราก็หวังว่าวันหนึ่งเขาจะเติบโต เบิกบานเป็นหนุ่มสาวที่ดีของสังคม และช่วยทำให้สังคมนี้น่าอยู่ขึ้น

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish