ก่อนหน้านี้ฉันพอรู้จักและเข้าใจคำว่า ‘ความหลากหลาย’ อยู่บ้าง แต่ไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริง จนกระทั่งกิจกรรมสัตว์ 4 ทิศ ในโมดูล 1

หนู ตัวแทนของความเอาใจใส่เป็นห่วงเป็นใย หมี ตัวแทนความรอบรู้ ละเอียดถี่ถ้วน เหยี่ยว ตัวแทนของสายตาที่ยาวไกล ความคิดสร้างสรรค์ และกระทิง ตัวแทนแห่งความกล้าหาญ ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างความบ้าบิ่นและขี้ขลาด ฉันให้ตัวเองเป็นเหยี่ยวผู้ช่างคิด ช่างฝัน และเกียจคร้านที่จะลงมือทำ ขณะที่เพื่อนๆ หลายคนเลือกหมี และกระทิงเป็นส่วนใหญ่ หนูจึงมีคนเลือกไม่เยอะเท่าหมีกับกระทิง แต่มากกว่าเหยี่ยวเล็กน้อย

กิจกรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงนิสัยใจคอของแต่ละคน รวมถึงวิธีการทำงานที่หลากหลาย การทำงานร่วมกันไม่ว่าจะอะไรก็ตาม จำเป็นต้องมีคน 4 ลักษณะประกอบกัน กล่าวคือ มีผู้ปฏิบัติการ มีฝ่ายวิชาการ มีทีมกุนซือที่ปรึกษา และมีผู้ประสานสิบทิศ ซึ่งในความเป็นจริงที่ไม่อิงกับกิจกรรม คนหนึ่งคนอาจมีลักษณะของสัตว์ทั้ง 4 ตัวก็ได้

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ฉันไม่อาจลืม คือ การยกเหตุการณ์ขนแร่เถื่อนที่เพิ่งเกิดขึ้นคืนก่อนที่จะเดินทาง เมื่อต้องเลือกว่าเราสามารถทำอะไรได้ขณะนั้น จิตใจฉันพุ่งออกไปราวกับศร มุ่งสู่บ้านนาหนองบง ขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ก็เลือกช่วยเหลือในงานที่แตกต่างออกไป เช่น บางคนจะเขียนเผยแพร่เรื่องราวออกไป บางคนต้องการทำวิจัยเป็นงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้าน บางคนอยากเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐที่ไม่กดขี่คน ฉันย้อนแย้งกับตัวเองเหลือเกิน (กระทิง/ เหยี่ยว) ฉันจำได้ว่าเพื่อนที่มีจิตใจเช่นคันศรนั้นมีเยอะมากกว่ากลุ่มพวกเรา เราแลกเปลี่ยนกันอย่างออกรส เคร่งเครียดและเอาจริงเอาจัง ฉันจำไม่ได้ในถ้อยคำ ประโยคที่เพื่อนแต่ละคนโถมซัดเข้าใส่กัน แต่ฉันจำได้ว่าฉันได้พูดคำหนึ่งออกมา “ด้วยความเคารพต่อชีวิต ธรรมชาติ และความเท่าเทียม ผมขอตายเคียงข้างชาวบ้านดีกว่าตายบนกองหนังสือ”

หลังจากคำพูดนี้พ้นจากปากฉัน ฉันไม่ใช่เจ้านายเหนือหัวมัน ยิ่งกว่านั้น ฉันตกเป็นทาสรับใช้ที่แสนดีของมัน มันบอกฉันว่า “มึงพูดอย่างนั้นออกมาได้ยังไง” สิ่งที่อยู่รอบตัวฉันเริ่มเลือนลางหายไปจนไม่เหลือสิ่งใด มีเพียงตัวฉันนั่งอยู่ตรงนั้น คำพูดนั้นมันตอกย้ำชัดว่า “มึงมันไม่เข้าใจความสวยงามของดอกไม้หลากหลายสี”

ตั้งแต่วันนั้น ฉันอยากจะอ้อนวอนการอภัยจากเพื่อน แต่เปล่าประโยขน์ คำขอโทษไม่มีค่าอะไร ฉันได้แต่บอกกับตัวเองว่าจะไม่พูดแบบนั้นอีก ฉันฆ่าคำพูดเยาะเย้ย ถากถาง ให้สิ้นไป และฉันให้อภัยฉันเอง

———————————————
โต้ง-วสันต์ เสตสิทธิ์/คนรุ่นใหม่ จ.ขอนแก่น : เขียน
โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish