คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อ 28 มิถุนายน 2565 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เตรียมดำเนินการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชใต้ดินที่จังหวัดอุดรธานี  แหล่งอุดรใต้  บนพื้นที่ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา  ตามคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินที่ 1-4/2557 จำนวนสี่แปลง  โดยอารัมภบทว่าเป็นโครงการที่ อก. โดยความเห็นชอบของ ครม. ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อ 11 มิถุนายน 2523  เชิญชวนบริษัทต่าง ๆ ยื่นขอสิทธิ ‘สำรวจ’ และ ‘ผลิต’ แร่โปแตชในภาคอีสาน  ซึ่งบริษัท ไทยอะกริโกโปแตช จำกัด ที่มีบริษัทสัญชาติแคนาดาเป็นเจ้าของได้ยื่นขอรับสิทธิดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี  ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2527 อนุมัติร่างสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองโปแตชในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี  อก. จึงได้ลงนามในสัญญาดังกล่าวกับบริษัทไทยอะกริโกฯเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2527  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด  โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประธานบริษัทเป็นผู้ฆ่าเสือดำในป่าทุ่งใหญ่ฯเข้ามาเป็นเจ้าของถือหุ้นเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แทน

‘สัญญาให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี’  คือชื่ออย่างเป็นทางการของสัญญาดังกล่าว  เป็นสัญญาที่ให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่มากถึง 2,333 ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ 1.5 ล้านไร่  เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทฯดำเนินการ ‘สำรวจ’ และ ‘ผลิต’ แร่โปแตช  หรือแร่ชนิดอื่น ๆ อีกหากสำรวจพบ  บนพื้นที่ขนาดใหญ่มาก ๆ  ซึ่งเป็นการทำสัญญาจับจองพื้นที่แหล่งแร่เพื่อการ ‘สำรวจ’ และ ‘ผลิต’ (หรือทำเหมืองแร่) ล่วงหน้าไว้ก่อน  ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับอาชญาบัตรให้สำรวจแร่และประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่แต่อย่างใด

จึงมีคำถามที่สำคัญตามมาว่าการทำสัญญาบนพื้นที่ขนาดใหญ่ลักษณะนี้กระทำภายใต้บทบัญญัติใดของกฎหมายแร่ฉบับเก่า (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510)  รวมถึงกฎหมายแร่ฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560) ด้วย  อันเป็นกฎหมายหลักในการกำหนดหลักเกณฑ์  วิธีการ  เงื่อนไขและคุณสมบัติการให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทุกชนิด  ขนาดและประเภท ?

เพราะเมื่อดูลงไปในรายละเอียดรายมาตราของกฎหมายแร่ฉบับเก่า (รวมถึงกฎหมายแร่ฉบับใหม่ด้วย) จะพบเพียงว่ากฎหมายได้เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนในกิจการเหมืองแร่ต้องดำเนินการขอสัมปทานเพื่อสำรวจและผลิต/ทำเหมืองแร่เป็นขั้นเป็นตอน  กล่าวคือ  ผู้ลงทุนในกิจการเหมืองแร่ต้องเริ่มขอ ‘สัมปทานสำรวจแร่’  หรือที่เรียกว่าขออาชญาบัตรเสียก่อน  และเมื่อได้รับอนุญาตอาชญาบัตรแล้วได้ทำการสำรวจพบว่ามีแร่ที่ประสงค์ในเชิงพาณิชย์  คุ้มค่าในการลงทุน  ก็จะต้องดำเนินการขอ ‘สัมปทานทำเหมืองแร่’  หรือที่เรียกว่าขอประทานบัตรเพื่อให้ได้รับอนุญาตประทานบัตรในลำดับขั้นต่อไป  ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญของกฎหมายแร่ทั้งฉบับเก่าและใหม่ที่วางระบบสัมปทานปกติเอาไว้

จึงไม่มีบทบัญญัติมาตราใดเลยทั้งกฎหมายแร่ฉบับเก่าและใหม่ที่อนุญาตให้ทำสัญญาลักษณะนี้  ซึ่งอาจจะเรียกว่าระบบสัญญาผูกขาด  ครอบลงไปในระบบสัมปทานปกติอีกชั้นหนึ่ง

ดังนั้น  จึงมีปัญหาตามมาว่าคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินที่ 1-4/2557  ทั้งสี่แปลงของบริษัทฯที่ ครม. มีมติไปเมื่อ 28 มิถุนายนที่ผ่านมาให้ อก. เตรียมดำเนินการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชใต้ดินที่จังหวัดอุดรธานี  แหล่งอุดรใต้  บนพื้นที่ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา  เป็นคำขอที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

เมื่ออ่านสัญญาฉบับนี้ทั้งฉบับ  มองลึกเข้าไปข้างใน  จะพบว่าสิ่งที่บริษัทฯจะได้ไม่ใช่เพียงแค่การทำเหมืองแร่โปแตชตามคำขอประทานบัตรทั้งสี่แปลงดังกล่าว (หาก อก. จะดำเนินการอนุญาตประทานบัตรตามมติ ครม. เมื่อ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา)  แต่ยังมี ‘แหล่งอุดรเหนือ’ อีกที่คาดว่าพบแร่โปแตชในเชิงพาณิชย์แล้วในปริมาณใกล้เคียงกับแหล่งอุดรใต้  และยังสามารถครอบครองพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ ไว้ได้ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวเพื่อหาประโยชน์ในการขอสัมปทานสำรวจและผลิตแร่โปแตชและแร่ชนิดอื่น ๆ ในบริเวณอื่น ๆ ของพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ ได้อีกยาวนานด้วย  เพราะเป็นสัญญาที่ไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญา (สัญญาเป็นนิรันดร์กาล)

ดังนั้น  สัญญาดังกล่าวจึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้  นอกเสียจากว่าเป็นสัญญาที่ขยายอำนาจในการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจแร่และสัมปทานทำเหมืองแร่ของเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไปกว่าขอบเขตที่กฎหมายแร่ทั้งฉบับเก่าและใหม่ได้บัญญัติไว้  โดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารผ่านมติ ครม. เพื่อเอารัฐและราชการ (ซึ่งมีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ) ไปรับประกันความเสียหายไม่ว่ากรณีใด ๆ ว่ารัฐและราชการจะเอื้อประโยชน์ให้ถึงที่สุดให้บริษัทฯได้รับสัมปทานที่เป็นอาชญาบัตรเพื่อการสำรวจแร่และประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่อย่างแน่นอน  หากแม้ยังไม่ได้รับสัมปทานที่เป็นอาชญาบัตรเพื่อการสำรวจแร่หรือประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่  ไม่ว่าด้วยเหตุผลหรือกรณีใด ๆ ก็ตาม  สัญญาดังกล่าวจะทำการคุ้มครองพื้นที่ให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตช 1.5 ล้านไร่ ไว้ให้กับบริษัทฯแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญา

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

7 กรกฎาคม 2565

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish