พลังของหนังสือและการอ่าน มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร หากเคยสัมผัสอาจเชื่อว่า ‘พลังของการอ่านสามารถเปลี่ยนแปลงทั้งโลกภายในและภายนอกของเราได้’ 

การอ่านอยู่กับเราเสมอ หากลองสังเกตดูในชีวิตประจำวัน เราอาจได้อ่านหนังสือพิมพ์ ป้ายจราจร ป้ายโฆษณา อีเมล เอกสารงาน ใบเสร็จ หรืออ่านข้อความบนหน้าจอโทรศัพท์ 

สำหรับบางคน การอ่านหนังสือสามารถช่วยลดความเครียดและพาให้หลีกหนีจากเรื่องราวรบกวนในชีวิตประจำวันได้ จากการศึกษาในปี 2009 ที่ University of Sussex ก็พบว่าการอ่านช่วยลดความเครียดได้ถึง 68% 

เพราะ หลังจากเปิดหนังสืออ่าน โลกอีกใบก็ถูกเปิดขึ้น …

เช่นเดียวกันกับ โลกการอ่านในช่วงเริ่มต้นเรียนรู้สำหรับเด็ก

ในช่วงแรกเด็กจะเรียนรู้จากเสียงและสำเนียงของภาษาก่อนที่จะสังเกตเห็นคำที่อยู่บนหน้ากระดาษ ดังนั้นการอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง จะช่วยกระตุ้นจินตนาการพร้อมกับช่วยให้พวกเขาพัฒนาภาษาและทักษะการฟัง เมื่อจังหวะและท่วงทำนองของภาษากลายเป็นส่วนหนึ่ง การเรียนรู้ภายใต้การอ่าน ก็จะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ 

Learning loss ภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย เป็นผลกระทบด้านการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และระบบการศึกษาทั่วโลกในยุค COVID-19 และอาจเป็นสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงสังคมของเราในอนาคต ในยุคของเด็กรุ่นนี้ที่กำลังจะเติบโตขึ้นไป

ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 ที่ผ่านมา มีข้อเรียกร้องจากเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย มีเนื้อหาให้หน่วยงานในกรุงเทพฯ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนในการพัฒนาการอ่าน ยกระดับสวัสดิการ ดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กปฐมวัย และสำหรับประชาชนทุกคนบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน 

ซึ่ง อีกด้านหนึ่งของพื้นที่การอ่านในบางชุมชน ยังคงประสบกับปัญหามากมายภายใต้สถานการณ์โควิด ผสมปนเปไปกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าวันนี้จะยังไม่เห็นปลายทางที่ชัดเจน แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่คอยขับเคลื่อนเรื่องพัฒนาการเรียนรู้และโลกการอ่านสำหรับเด็ก เพราะเด็กในวันนี้คืออนาคตของพวกเราในวันต่อไป

เมื่อได้ฟังเรื่องราวของแต่ละพื้นที่ก็พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีหลายระดับตั้งแต่ระดับระดับโครงสร้างไปจนถึงระดับบุคคล

ครูต๋อมเล่าว่า

อย่างชุมชนบ้านทุ่งดินดำ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โรงเรียนบ้านทุ่งดินดำเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ห่างจากตัวจังหวัด 60 กิโลเมตร ชาวบ้านมีอาชีพทำนา ปลูกมันและมีพื้นที่ป่าชุมชน 70 % ของเด็กที่ทุ่งดินดำ อยู่ในครอบครัวหย่าร้าง พ่อแม่ไม่มีเวลา และเด็กเองไม่ได้สนใจเรื่องการอ่าน เพราะเทคโนโลยีมันน่าสนใจกว่าอีกทั้งผู้ปกครองมีความรู้จำกัด กว่าจะเลิกงานก็ค่ำ เด็กก็ขาดความรู้ความเท่าทันเทคโนโลยี ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 การรวมตัวยิ่งยากมาก

แต่เรามีต้นทุนด้านสถานที่ที่เอื้อในการจัดกิจกรรม, มีสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย, มีเด็กและกลุ่มเป้าหมายในการจัดกิจกรรม และมีเครือข่าย มีเครือข่ายครูปฐมวัยกว่า 300 คน, เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์, ชมรมรักการอ่าน

การเปลี่ยนแปลงที่เราสังเกตเห็น คือ ผู้ปกครองมีความเข้าใจในโครงการอ่านมากขึ้น เด็กและเยาวชนสนใจในเรื่องการอ่านมากขึ้น เพราะเรามีโอกาสได้เข้าไปอบรมผู้ปกครองและเด็กให้เข้าใจและเห็นความสำคัญเรื่องการอ่าน ทั้งการไปคุยตามบ้าน การจัดกิจกรรมที่โรงเรียน

ปิ่น จากอมก๋อย จ.เชียงใหม่ 

ตอนเข้าโครงการปิ่นอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง พอลูกคลอดแม้เขายังพูดไม่ได้แต่เขาจำหนังสือได้หลายเล่ม ตัวปิ่นเองก็ชอบอ่านหนังสือ แต่ข้อจำกัดของชุมชน คือ ผู้ปกครองอ่านหนังสือไม่ออก ก็ได้แต่ดูรูปภาพ

ในชุมชนยังมีเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก แม้ว่าจะอายุ 11 ขวบแล้ว ปิ่นเลยชวนให้เขามาอยู่ที่บ้านและสอนหนังสือให้ ตอนนี้เขาอ่านได้ ลายมือสวย ตอนนี้เขาสามารถเรียนพร้อมกับเพื่อนได้ เวลาสอนก็สอนภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และจะให้เขาอ่านหนังสือวันละ 1 เล่ม เรื่องนี้ปิ่นเองก็ภูมิใจ

ชุมชนสุกาทอง เขตหนองจอก แชร์ให้ฟังว่า

เด็กติดโทรศัพท์มากกว่าหนังสือ อ่านหนังสือไม่ออกจึงยิ่งไม่สนใจอ่าน เด็กบางคนชอบให้มีคนอ่านให้ฟัง และไม่มีการส่งเสริมเรื่องการอ่านที่ชัดเจน

ชุมชนเรา เป็นชุมชนอิสลาม อยู่ชานเมือง เป็นชุมชนเอกชนและเช่าที่อยู่อาศัย ต้องหยุดเรียนเมื่อโควิดระบาด รวมถึงมีผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ เช่น รายได้ไม่เพียงพอ

แต่เรามีต้นทุน มีคณะกรรมการชุมชน มีภาคีเครือข่าย เช่น กศน., อสส., อพปร. กลุ่มองค์กรชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ, และมีพื้นที่ทำเกษตร เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และมีเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า “ตาสับปะรด” ที่เข้ามาช่วย

ข้อจำกัด อุปกรณ์ต่างๆ ไม่พอให้เด็กเรียนหรือค้นคว้า รวมถึงครอบครัวเองไม่มีเวลาให้เด็กๆ ไม่มีพื้นที่ในการจัดกิจกรรมและไม่มีงบประมาณในการจัดทำสื่อการเรียนการสอนรวมถึงถ้ามีโอาสเราก็จะไปสร้างความร่วมมือและความสนับสนุนจากภาครัฐ

ชุมชนพูนทรัพย์ เขตสายไหม

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้ปกครอง เขาให้ความสนใจกับการอ่านมากขึ้น, อ่านให้ลูกฟัง และการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่เห็นได้ชัดว่าเขาลดการเล่นโทรศัพท์ลงมีเวลากับหนังสือมากขึ้น แต่ชุมชนของเรามีสถานที่ มีศูนย์เด็กเล็ก มีบ้านหนังสือ และโครงการปลูกผักไร้สาร และมีเครือข่าย สสส., มอส., กศน., กทม.

เรามีบ้านหนังสือเปิดอยู่ก็จริง แต่ก็ยังไม่ค่อยสนับสนุนให้เด็กเข้าไปใช้บริการ เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่อนุญาติให้ยืมหนังสือไปอ่าน แต่ปัญหาอีกอย่างก็คือผู้ปกครอง เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย อ่านหนังสือไม่ออก

เราสร้างความสัมพันธ์และเสริมความอบอุ่นในครอบครัว พ่อแม่มีเวลาให้ลูกมากขึ้น เพิ่มกิจกรรมในครอบครัว โดยให้ยืมหนังสือจากบ้านหนังสือมาอ่านให้เด็กฟังในสถานที่อื่นๆ เช่น อ่านที่ศูนย์สุขภาพ รวมถึงการเพิ่มหนังสือให้หลากหลาย

การเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้นที่เห็น คือ มีผู้ปกครองเอาใจใส่มาสอบถามเรื่องหนังสือ, พอเข้าร่วมโครงการหนังสือมีจำนวนเพิ่มขึ้น, มีเทคนิคในการเล่าเรื่องและการอ่านให้น่าติดตามมากกว่าเมื่อก่อน รวมถึงตัวบุคลาการมีความรู้มากขึ้น สร้างความรู้ให้กับบุคลากรและผู้ปกครองในการใช้กระบวนการอ่าน

แต่ก็อยากให้สำนักงานเขตเห็นความสำคัญของโครงการฯ และส่งเสริมบุคลากรเข้าร่วมโครงการฯ

ชุมชนเคหะคลองเก้า แขวงคลองสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา 

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กมีส่วนร่วมในชุมชนและใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ เด็กที่สนใจจะเป็นเด็กเล็กมากกว่าเด็กมัธยมปลาย เด็กสามารถนำความรู้ที่ได้ไปลงมือปฏิบัติให้เกิดผล

แต่เราก็มีข้อจำกัด คือ 1. คนในครอบครัวเช่น ตายายอ่านหนังสือไม่ได้ ถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลาว่างจึงไม่สามารถฝึกการอ่านหรืออ่านให้ลูกฟังได้ เนื่องจากผู้ปกครองต้องทำงานหารายได้ 2. หนังสือเดิมๆ ที่เด็กๆ อ่านบ่อยจึงทำให้เบื่อ 3. เด็กเองไม่สนใจและผู้ปกครองก็ไม่ได้ชักชวน

ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงว่า เด็กมีความสนใจและตั้งใจอ่าน เด็กเล่นโทรศัพท์น้อยลง และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

เรายากให้มีจิตอาสามาช่วยอ่านหนังสือให้เด็กฟัง  อยากให้ผู้ปกครองแบ่งเวลาให้เด็กๆ อยากให้มีองค์กรเครือข่ายสนับสนุน และอยากให้หนังสือมีความหลากหลาย รวมถึงต้องมีคนทำเป็นตัวอย่างและแสดงผลลัพธ์ในสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อจูงใจผู้ปกครอง

รวมถึงอยากให้มีศูนย์เด็กเล็กที่ถาวร มีพื้นที่บ้านหนังสือหรือมุมอ่านหนังสือของชุมชน เราต้องการให้รัฐ โดยเฉพาะการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ เข้ามาดูแลช่วยเหลือ ให้คำแนะนำในเรื่องของงบประมาณ บุคลากร พัฒนาศักยภาพในชุมชน

แต่ทิศทางและจังหวะก้าวของการส่งเสริมการอ่าน ฯ ยังต้องไปต่อ

เด็กที่เคยสมาธิสั้นแต่เมื่อเข้ามาร่วมโครงการฯ ความสนใจกับสิ่งตรงหน้าดีขึ้นมาก เด็กและผู้ปกครองก็เริ่มสนใจเรื่องการอ่านมากขึ้น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดผู้ปกครอง ครู และผู้นำชุมชน มีส่วนสำคัญมาก สิ่งเหล่านี้คือความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการฯ 

ตลอดโครงการฯ มีกระบวนการติดตามแต่ละชุมชนว่าผลตอบรับจากเด็ก ผู้ปกครอง หรือผู้นำชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง เช่น เด็กยังสนใจโทรทัศน์ หรือโทรศัพท์น้อยลงหรือไม่ ทุกครั้งที่ลงติดตามในพื้นที่ ทางโครงการฯ จะเอาเมล็ดพันธุ์ผักและยาสำหรับเด็กไปให้ด้วย แต่ก็มีคำถามที่ท้าทายว่าหนังสือ 3 เล่มเด็กจะชอบไหม และชอบเพราะอะไร?

ความแตกต่างของเรื่องราวในแต่ละพื้นที่ ทำให้เห็นว่าต่างคนต่างมีจุดร่วมที่ต้องการจะพัฒนาเรื่องนี้ให้ดียิ่งขึ้น และสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

.

ขณะนี้เรากำลังเปิดรับบริจาคหนังสือ

แล้วนำไปกระจายให้กับเด็กๆในชุมชน เพื่อให้เด็ก ได้ใช้เวลาว่างไปกับหนังสือและการอ่าน

.

ส่งหนังสือนิทานสภาพดีที่ท่านไม่ใช้แล้วมาให้เรา ที่

” พลเมืองอาสา ” 

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

409 ซ.โลหิตสุข ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ 

แขวง ห้วยขวาง เขต ห้วยขวาง

กทม. 10310

“ ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งที่ผู้ใหญ่สามารถมอบให้กับลูกหลานและสังคมคือการอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟัง ”

– คาร์ล ซากัน

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : https://www.takingcharge.csh.umn.edu/reading-stress-relief, https://www.readingrockets.org/article/reading-your-child

#มอส #โครงการพลเมืองอาสา #พลังพลเมืองร่วมสร้างสังคม #ฟื้นฟูจิตใจผ่านหนังสือนิทาน #หนังสือนิทานสร้างการเรียนรู้ #อ่านยกกำลังสุข

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish