สก๊อต คนรุ่นใหม่พื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เมืองชายแดนเกือบเหนือสุดของประเทศ ปัจจุบันก็ประกอบธุรกิจส่วนตัว ทำบริษัทท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เป็นกิจการเล็กๆ ทำร่วมกับครอบครัว และ มี Production House เล็กๆ เพื่อการทำสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สื่อภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว สก็อต ไม่ได้เรียนมาด้านนี้โดยตรง แต่มองเห็นโอกาสจากความชอบที่ได้ทำ ในระหว่างนั้นที่เริ่มจับกล้อง ก็เริ่มเรียนรู้การผลิตสื่อตั้งแต่ตอนนั้น

หลังกลับบ้านมาก็มองเห็นโอกาสที่อำเภอเชียงของ มองถึงการเดินต่อของธุรกิจครอบครัว แล้วก็อยากจะสร้างพื้นที่สื่อสารให้กับชุมชนด้วย เลยได้ริเริ่มสร้าง เชียงของTV ขึ้นมา ทำให้เริ่มมีอีกบทบาทการสื่อสารมวลชนในพื้นที่ ในภาคของงานสังคม และเป็นประธานสื่อสารมวลชนอำเภอเชียงของด้วย ก็จะมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนอยู่ในเวทีตรงนั้น หลังได้รับเลือกให้เป็นประธานสื่อสารมวลชน ก็ทำหน้าที่ในการกระจายสื่อสารข้อมูล

ความท้าทายในการทำ เชียงของ TV

ก่อนจะกลับบ้านมาก็ทำงานอยู่บริษัทเอกชน จับกล้องบ้าง ถ่ายโดรนบ้างด้วยความชอบของเรา เป็นงานอดิเรก เมื่อก่อนตอนอยู่ที่เชียงของเนี่ย ก็ให้สัมภาษณ์ทุกที่เลย เวลาที่เราอยู่ในพื้นที่มันเหมือนตากับขนตาเราจะมองไม่เห็น มันอยู่ใกล้กันเกิน เราจะไม่เห็นขนตาตัวเอง แต่พอออกไปเรียนที่ไกลๆ ไปทำงานในหลายพื้นที่ แล้วเราก็ชอบเดินทางท่องเที่ยวด้วย เราก็เปิดเพจท่องเที่ยวอะไรอย่างนี้ เราก็ได้ไปเห็นความงามของหลายที่ ทีนี้พอเรากลับมาอยู่บ้าน มุมมองเราก็เปลี่ยน เพราะว่าเราเกิดที่นี่ โตที่นี่ แต่เราไม่ได้เห็นมุมมองที่เราต้องถอยออกมาดู พอเรากลับมาอีกทีนึงด้วยประสบการณ์แล้วก็ด้วยมุมมองต่างๆ เราก็ได้ลองถ่ายเมืองดูแล้วมันได้รับกระแสตอบกลับที่ดี เพราะว่าคนในเมืองเองก็ไม่ได้มองเห็นศักยภาพหรือความงามของเมืองตัวเองจนเราได้มาถ่ายทอด พอเราตัดสินใจออกมา ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดพอดี แล้วก็ทุกอย่างมันชะงัก ช่องทางเดียวที่คนเจอกันได้คือผ่านจอมือถือ จอคอมพิวเตอร์ ช่องทางออนไลน์ เพราะว่าคนมันอยู่บ้านกันหมด เราก็มองเห็นโอกาสตรงนั้น เราก็เลยเปิดพื้นที่ เชียงของTV ขึ้นมา

ความท้าทายคือ เริ่มต้นใหม่แล้วเราก็ไม่ได้อยู่บ้านนานด้วย ข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่เราก็ต้องวิ่งหาเยอะ การเริ่มต้นด้วยตัวเองมันต้องใช้ความตั้งใจสูง มันต้องใช้ความตั้งใจเยอะ เพราะถ้าเกิดเริ่มเหนื่อย เริ่มท้อ ส่วนมากคนจะตกม้าตาย แต่ก็ทำไป ไม่ค่อยมีใครเห็น ไม่ถูกแชร์ ไม่ถูกกดไลค์ อันนี้ก็ถือเป็นความท้าทายแรกของการเริ่มทำการสื่อสารในช่องทางออนไลน์ แต่โชคดีที่เราก็เข้ามาในจังหวะที่ทุกอย่างมันชะงัก เราเปรียบตัวเองเป็นเสมือนหิ่งห้อยที่มาในช่วงเดือนมืด ทุกคนก็เห็นแสงมัน แต่ถ้าเรามาในช่วงที่สถานการณ์ปกติเนี่ย ทุกอย่างอาจจะเริ่มยาก แต่อันนี้ก็คือทุกคนอยู่นิ่งแล้วเราเป็นแสงเล็กๆ เลยทำให้ทุกคนมองเห็นได้เร็ว จุดเริ่มต้นก็คือการใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการเป็นช่องทางสื่อสาร แล้วเราก็ถือโอกาสนั้นในการแสดงศักยภาพในด้านการทำงานของเราผ่านช่องทางนั้นไปด้วยครับ ถามว่าท้าทายมั้ย ท้าทายเหมือนกับที่ว่านั่นแหละ แต่ถามว่าทุลักทุเลมั้ย ก็ไม่ถึงขนาดนั้น ด้วยโอกาสที่มันมาแล้วเราจับจังหวะมันได้ทันครับ

มาเป็นอาสาสมัครของโครงการอาสาคืนถิ่น

เคยได้ยินชื่อ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว เพราะว่าเป็นมูลนิธิที่ใหญ่แล้วก็เราเองก็เป็นเด็กกิจกรรมที่มีโอกาสได้เข้าร่วมค่ายต่างๆ ช่วงที่ได้รู้จักตัวโครงการเนี่ย เป็นช่วงที่ทำงานกับชุมชน มีบทบาทเยอะ ถ้าในพื้นที่ที่ทำอยู่ คนในวัยเดียวกันส่วนมากก็จะก่อร่างสร้างตัว แต่เราเองก่อร่างสร้างตัวไปพร้อมกับทำงานชุมชน เราก็เลยเป็นเหมือนความคาดหวังของชุมชนกับผู้ใหญ่  ก็มีผู้ใหญ่ในพื้นที่ส่งใบสมัครมาให้อ่านว่าสนใจไหม เป็นโครงการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับมาอยู่ที่บ้านแล้วก็ริเริ่มทำอะไรบางอย่างให้ตัวเองอยู่รอดในชุมชน

ตอนแรกที่เราอ่านก็รู้สึกว่า เราไม่เข้าเงื่อนไขเค้ารึเปล่า เพราะเราคิดว่ามันเป็นคนที่เค้าคิดอยากจะกลับบ้าน หรือคนที่พึ่งเริ่มกลับบ้านแล้วแต่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกเลยมาเข้าโครงการ แต่เราอยู่มา 3 ปีแล้ว แล้วเราก็พึ่งเริ่มเปิด Production House ด้วย แต่ลองเปิดอ่านดูแล้ว มันเป็นคำถามเหมือนการชวนคุยกัน เราก็เอนจอยกับการตอบคำถามเค้าด้วย เราคิดว่าเราไม่เข้าเกณฑ์หรอก แต่ก็ลองสมัครดู ผลสรุปชื่อเราติดคนแรกเลย (ฮา) พอตอนสัมภาษณ์ เราก็ได้ถามเชิงลึกว่าตัวกระบวนการเป็นยังไง แล้วเราจะได้อะไรกับสิ่งนี้บ้าง ก็มีคำพูดหนึ่งของพี่นายที่ว่า ‘เดี๋ยวจะเจอคนแบบเดียวกัน’ เราก็สนใจ แล้วก็ตกลงเข้าร่วมครับ

‘เดี๋ยวจะเจอคนแบบเดียวกัน’ พอได้เจอแล้วเป็นยังไง?

พอเข้าไปก็ว้าวเลยจริง ใน Module แรก คือแค่ครึ่งวันก็สามารถสนิทกันได้ คุยภาษาเดียวกัน ถึงแม้ว่าทุกคนกำลังทำในเรื่องที่ตัวเองสนใจแต่ว่ามันคลิ๊กกันด้วยความตั้งใจ ด้วยสถานการณ์ของแต่ละคนที่เจออยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ก็เลยทำให้สนิทกันเร็วมากจนน่าตกใจนะ พอยิ่งผ่านกระบวนการ ผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ก็ยิ่งเห็นว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้มีความตั้งใจที่ดีกับพื้นที่ของตัวเองเช่นเดียวกัน มาส่งเสริมกัน ทุกคนมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง มาแลกเปลี่ยนกันได้หมด แล้วทำให้รู้สึกว่า You’ll never walk alone อ่ะ (ฮา) ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเองแต่ก็รู้ว่ายังมีเพื่อนที่ทำอยู่เหมือนกัน มีเพื่อนที่ต่อสู้เพื่อผลักดันเพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นแล้วก็ให้ความตั้งใจดีของตัวเองที่มีต่อชุมชนดีขึ้นครับ

สิ่งที่สก๊อตเข้ามาแล้วอยากจะผลักดันในพื้นที่

อำเภอเชียงของมีทรัพยากรเยอะ เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับหลายพื้นที่ แต่ว่ามีความพร้อมที่จะเติบโตมากๆ รู้สึกว่าเรากลับมาอยู่แล้วเรารักที่นี่ เราอยากจะอยู่ที่นี่ แล้วก็ระหว่างที่เราเผยแพร่สื่อออกไป เราก็ได้รับรู้แล้วว่าคนที่เกิดที่นี่แต่ว่าไม่มีโอกาสที่จะอยู่ที่นี่เนี่ย ต้องออกไปทำมาหากิน ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น เขาอยากจะอยู่ เขาอยากจะกลับมา แต่ด้วยโอกาส แล้วก็ปัจจัยที่มันไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของเค้าเนี่ย ทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากจะให้เชียงของ เป็นเมืองในแบบที่เรายังรักอยู่ เมืองมันต้องเดินไปได้ด้วยผู้คน แต่ว่าเป็นคนที่มีความรัก ความหวงแหน ความอยากจะอยู่ที่นี่จริงๆ เป็นผู้ที่อยู่อาศัย พูดง่ายๆ ก็คือถ้าคนในพื้นที่มองไม่เห็นโอกาส มองไม่เห็นทรัพยากรแล้วก็ออกไป แต่ว่าคนข้างนอกมาเห็น แล้วเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้คิดที่จะรักษา คิดแต่จะเอาอย่างเดียว จะใช้ทรัพยากรอย่างเดียวแล้วก็ไป เหมือนที่เราเคยเห็น ที่เติบโตมาแล้วสุดท้ายทรัพยากรก็ถูกกลืนกินไป วิถีชีวิต ชุมชน คนในพื้นที่อยู่ไม่ได้

ความจริงมันก็ไม่ได้แย่หรอก การที่มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุน แต่ถ้าเข้ามาด้วยความเข้าใจแล้วผู้คนในพื้นที่เข้าใจทรัพยากรของตนเอง มันก็จะเป็นสังคมที่ยั่งยืน ทุกการกระทำมันใช้ทรัพยากรหมดแหละ แต่จะใช้ยังไงให้มีการชดเชย ใช้ยังไงให้มันเกิดการรู้จักรักษาด้วย เราเลยมองว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อที่จะให้เมืองมันเติบโตอย่างยั่งยืน โดยที่เราสามารถนำคนหรือรักษาคนในพื้นที่ให้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้ด้วยความเข้าใจในบริบทของเมืองแล้วก็รักษาเมืองไปด้วยครับ ซึ่งมันมีโมเดลอยู่ที่กลุ่มรักเชียงของเค้าเขียนเอาไว้ก็คือ One City, Two Models หนึ่งเมือง สองแบบ คือเมืองเชียงของมันเป็นเมืองโลจิสติค เพราะว่ามันมีสะพานแล้วมันอยู่ติดกับลาว แล้วก็เป็นเส้นทาง R3A ที่ทะลุไปจีน มันเป็นเส้นทางโลจิสติคสำคัญในการลำเลียงสินค้าแล้วก็ปล่อยสินค้าออกของประเทศเรา แต่อีกพาร์ทนึงเนี่ย เชียงของมันมีความเป็นเมืองเก่าที่มีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติเยอะ มีชนเผ่าเป็นสิบชนเผ่าเลย เป็นกลุ่มชาติพันธ์ุเยอะมากที่อยู่ที่นี่ แล้วก็มีทรัพยากรที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ทั้งภูเขา และที่สำคัญก็คือ น้ำโขง ที่เชียงของเราก็เรียกว่า น้ำของ เลย ก็คือเมืองแห่งแม่น้ำโขง แล้วก็ถึงแม้ว่าเราจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะแต่เราก็อยากจะให้คนในพื้นที่ของเราที่เป็นคนที่นี่จริงๆ หรือคนที่เค้าย้ายเข้ามาทำงานแล้วเค้ารักในการอยู่ที่นี่ ได้ช้ชีวิตอยู่ที่นี่จริงๆ ครับ ก็เลยเป็นความตั้งใจ จริงๆ เราก็ทำในพาร์ทของกิจกรรมเยอะนะ แต่ที่เราโดดเด่นจริงๆ คือช่องทางสื่อสารมวลชนพวกนี้ครับ นี่คือความตั้งใจที่อยากจะให้คนในพื้นที่รู้ รัก และสามารถดำรงชีวิตได้

มันมีคำนึงก็คือ ‘เชียงของ the best destination’ เมืองปลายทางแห่งความสุขที่หลากหลาย เมื่อก่อนเชียงของโด่งดังเรื่องปลาบึก แล้วก็การรอนั่งเรือข้ามฟากไปหลวงพระบางก่อนที่จะมีสะพานข้ามอย่างทุกวันนี้ พื้นที่ตรงบริเวณท่าเรือบั๊คก็จะเป็นพื้นที่ที่ชาวต่างชาติ มานอนหนึ่งคืนเพื่อรอทำใบผ่านแดน แล้วก็ข้ามไป เป็นช่วงที่นิยมจริงๆ จะเห็นโรงแรมริมน้ำ ร้านอาหารริมน้ำเยอะ แต่สุดท้ายพอนักท่องเที่ยวไม่เข้ามา มันก็กลายเป็นซบเซา กิจการเรือหรืออะไรก็หายกันไปหมด เราเป็นทางผ่าน มันไม่ได้ด้วยสเน่ห์ของพื้นที่เรา ในยุคนี้เราเลยพยายามที่จะให้คนตั้งใจมาเชียงของเพื่อมาเชียงของจริงๆ

Life Project ของสก๊อต

มองย้อนกลับมาถึงความตั้งใจอีกหนึ่งอย่างของเรา ที่ก่อนหน้านี้เราเคยพรีเซ้นท์ให้กับผู้หลักผู้ใหญ่เยอะมากว่า เมืองบางเมืองจากที่ไม่เป็นที่รู้จักหรือคนรู้จักน้อย แต่อยู่ๆ ก็ดัง มีนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาทันที อย่างปาย เชียงคาน เค้ามาจากไหนรู้มั้ย ผมก็บอกต่อไปว่า มันมีหนัง ปายอินเลิฟ (ปาย) ตุ๊กแกรักแป้งมาก (เชียงคาน) ก็คือเพราะมันมีหนัง เราก็พยายามหาโอกาสไปรู้จักกับกลุ่มคนที่อยู่ในสายภาพยนตร์ พยายามจะให้สื่อมืออาชีพมาทำให้ แต่ก็ยังไม่มีงบประมาณมาทำที่เชียงของ มันจะเป็นทางลัดที่เร็วมากจากสิ่งที่เราทำจากภายในเนี่ยมันสำคัญมาก มันเหมือนเป็นการตอกเสาเข็มให้ฐานแข็งแรง แต่ถ้ามันมาพร้อมกับการตกแต่งข้างบนด้วยมันก็จะเร็ว เราก็เลยทำงานสองทาง คือผลักดันจากภายในด้วยแล้วก็ถ้ามีโอกาสข้างนอก มันก็จะดี ทีนี้มันก็ผ่านมา 2-3 ปี มันก็ไม่ได้คืบหน้าในเรื่องนี้ ประจวบกับว่าตัวโปรเจคในพื้นที่เรามันก็ไม่ได้แมทช์กัน ก็เลยกลับมาคิดเรื่องนี้ว่า ก็ในเมื่อไม่มีใครทำ เราก็เริ่มทำ ได้หรือไม่ได้อย่างน้อยเราก็เริ่มดูก่อน เพราะ life project เป็นการทดลองอยู่แล้ว ก็เลยเลือกที่จะสร้างคอมมูนิตี้ภาพยนตร์ มีโมเดลให้เห็นแล้วก็คือ ทีมไทบ้านเดอะซีรี่ย์ ที่เริ่มต้นจากกลุ่มของพวกเขาแล้วก็แตกยอดไป ก็มองว่ามันน่าลองกับโปรเจคตรงนี้  “คนสร้างสื่อ สื่อสร้างชีวิต” ตามชื่อเลย คนสร้างสื่อก็คือให้คนมาสร้างสรรค์สื่อ แล้วสื่อก็สร้างสรรค์ชีวิต สร้างสรรค์สังคมต่อไป คิดว่าก็น่าจะดี ถ้าอย่างน้อยเราได้สร้างองค์ความรู้ให้กับเยาวชน ประชาชนในพื้นที่ แล้วก็ถ้ามันเกิดขึ้นมาเราก็จะมีทรัพยากรที่สามารถผลิตสื่อเพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเราคนเดียว ยิ่งคนในพื้นที่ช่วยกันเล่าเรื่องออกไป มันก็จะยิ่งขยายช่องทางไป ความคาดหวังถัดไปก็คือกลุ่มคนที่มีความสนใจด้วยกัน เหมือนเราจัดกิจกรรมที่ดึงคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันมาเจอกัน ได้คัดกรองผ่านตัวกระบวนการของเรา

3 ขั้นตอนเราตั้งใจไว้คือได้ให้คนที่เป็น ผู้กำกับหรือครูสอนการแสดง มาแนะนำให้กับเยาวชน ประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับองค์ความรู้ แล้วเราก็มีอีกส่วนนึงก็คือประกวดทำหนังสั้น เราอยากหาคนที่สนใจจะทำจริง ทำแล้วก็ส่งหนังมา ก็จะเห็นแล้วว่ามีกลุ่มคนพวกนี้ที่เราจะสร้าง Community กัน ซึ่งกระบวนการก็คือเมือเราจัดอบรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เวลาทำหนัง แต่ตอนนี้เราก็รู้แล้วว่าในกลุ่มนี้ไม่มีคนสนใจที่จะทำงานร่วมกับเราต่อในอนาคต เราคาดหวังนิดนึงแหละว่าถ้าเด็กในพื้นที่เค้าทำกันเนี่ย เราก็จะมีสื่อเล็กๆ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในชุมชน นอกจากเราที่ทำแล้วก็จะมีกลุ่มอื่นที่ทำ อาจจะสะท้อนให้ข้างบนเห็นโอกาสที่จะสนับสนุนต่อ แต่ว่าทีมที่ส่งหนังมาไม่ใช่เด็กในพื้นที่ แต่ก็เป็นกลุ่มที่มาร่วมอบรมแล้วรวมทีมกัน มาแยกกันแต่ก็มารวมกันทีหลัง หมายความว่าเราก็มีทีมที่ในอนาคตเราสามารถทำงานต่อได้ แต่ว่ากลุ่มที่เข้าร่วมก็ไม่ได้ทิ้งไปไหน เราก็สร้างเป็นกลุ่มแชทเอาไว้ เวลามีกิจกรรมหรือมีอะไรเราก็สามารถเชิญมาร่วมกิจกรรมได้ ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรเสียเปล่า สุดท้ายเราก็ได้เห็นว่ามันสมบูรณ์แค่ไหน และมีกลุ่มคนที่เป็นตัวจริงแค่ไหนครับ

อาสาคืนถิ่นสำหรับสก๊อต

มองว่าตอนนี้อาสาคืนถิ่นเป็นสังคมที่ใหญ่มาก เราเคยพูดไว้ตอนจบ Module 1 ว่า ทุกคนจุดเทียนอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ที่อาจจะมีลม มีพายุทำให้ดับบ้าง กำลังจะมอดบ้าง จุดใหม่บ้าง แต่ว่าจากที่เรารู้แค่ว่ามีเทียนของเราเพียงเล่มเดียว ตอนนี้เราเห็นเทียนที่สว่างอยู่ในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศแล้ว ใครจะดับก็สามารถต่อเทียนกันได้ สุดท้ายแล้วทุกคนก็ต่อสู้และทำกิจกรรมในพื้นที่ของตัวเอง ภาพของประเทศทั้งประเทศ สังคมใหญ่นี้มันก็จะสว่างขึ้นไปพร้อมๆ กัน เหมือนกับที่เราพูดไว้คือ แต่ละคนในเชียงของก็ประกอบอาชีพของตัวเอง แต่ว่าทุกอาชีพก็ส่งเสริมกันให้เมืองเติบโตอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ก็เหมือนกัน คือทำในพื้นที่ของตัวเองแต่ว่ามันก็สว่างขึ้นทั้งสังคมใหญ่ครับ ก็เป็นโครงการที่ดีมากๆ ไม่รู้สึกเสียใจหรือเสียดายเวลาเลยที่ได้เข้าไปร่วมโครงการนี้ ที่สำคัญคือเราได้เพื่อน อันนี้คือหัวใจเลย เราได้เพื่อนจริงๆ ครับ

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish