“อรรถพล สิงพิลา” อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดมหาสารคาม

ปัจจุบันเขากลับมาเป็น ส.อบต. (สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล) ที่บ้าน เพื่อพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชน และยังเป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงวัว ที่ต้องการให้กลุ่มคนเลี้ยงวัวเข้มแข็งและผลักดันให้ธุรกิจเนื้อวัวของตำบลเขวาไร่เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง

ก่อนกลับมาอยู่ที่บ้านเขาเคยทำกิจกรรมอยู่ที่มหาวิทยาลัย ก่อนจะย้ายไปร่วมทำกิจกรรมกับรุ่นพี่ในกลุ่ม แลนเด้อ ที่ทำหลักสูตรเกี่ยวกับการอบรม ทำความเข้าใจเรื่องที่ดินว่ามีความสำคัญอย่างไร ด้วยเหตุนี้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชุมชนจึงอยู่ในเนื้อตัวของเขามาตลอด จนนำไปสู่การลงสมัครเป็น ส.อบต. และได้รับเลือกเป็นตัวแทนหมู่บ้านไปพูดในสภาอบต. ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชน

“ในแต่ละชุมชนมันมีความพิเศษอยู่แล้ว พอกลับมาอยู่บ้าน ผมเห็นความมหัศจรรย์ในชุมชนตัวเอง อย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการสานกล่องข้าว หมอลำกลอนในชุมชน กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มผู้เลี้ยงวัว ต่าง ๆ  แต่ว่ามันขาดพื้นที่ให้คนเหล่านี้มาแสดงออก ไม่มีใครมาสนับสนุน ไม่มีใครมาเสริมพลังให้เขาได้มีตัวตนเพิ่มขึ้น”

หมอลำกลอน อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ในชุมชน

ทำไมถึงอยากมีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่น

ต้อม : ตอนกลับมาอยู่บ้านได้ 2-3 เดือน ตอนนั้นมีผู้สมัครตำแหน่งแค่คนเดียว เรารู้สึกว่ามันไม่สนุก ก็เลยอาสาลงเลือกตั้งด้วย แล้วก็ได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่พี่น้อง ผมคิดว่าเราต้องทำสิ่งใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่การสานต่อสิ่งที่อดีต ส.อบต. ทำอย่างการทำถนนหนทางเพียงอย่างเดียว เมื่อเราได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย และบทบาทตรงไหนที่เราไม่เข้าใจ หรืองบประมาณตรงไหนที่มันติดขัด พอเราเข้าไปจริง ๆ ถึงได้ทราบว่ามันมี bug เยอะ

อย่างงบที่จะมาสนับสนุน อบต. มันน้อย ไม่ได้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง มันถูกเอาไปบริหารแค่การทำถนนหนทางเฉย ๆ แต่ว่าคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มภาคการเกษตร ก็เป็นพื้นที่ของอบต.ในการรับผิดชอบ มันยังขาดงบประมาณที่จะสนันสนุนพื้นที่ตรงนี้ ส่วนทางฝ่ายบริหารก็ต้องวิ่งเต้นหางบประมาณในการสนับสนุนด้วย บางครั้งเจอมรสุมพายุหนักก็ไม่สามารถที่จะซ่อมแซมถนนหรือทำทางได้ ก็ต้องไปหาหน่วยงานที่จะมาหนุนเสริมอบต.ที่จะสร้างถนนให้

ส่วนด้านเกษตรกรรมเราก็เห็นปัญหาเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้สิน การทำการเกษตรโดยไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ทำเกษตรมานานแต่ก็ไม่รวย ไม่พอกิน หลายคนมีภาระหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น เราเลยต้องหาโครงการหรือว่าเครือข่ายมาให้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตร ทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ เพราะเกษตรกรในพื้นที่ขาดความรู้เรื่องเทคโนโลยี อุปกรณ์ใหม่ ๆ

ทราบมาว่าพื้นที่เกษตรกรรมตรงนี้ผูกอยู่กับ เกษตรพันธสัญญา เป็นส่วนใหญ่ ช่วยอธิบายคำนี้ให้เข้าใจหน่อยได้มั้ย

ต้อม : ระบบการผลิตทางการเกษตรที่มีการจัดการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร) กับผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกร

อย่างฟาร์มไก่ที่ผมเลี้ยงอยู่ ก็เป็นเกษตรพันธสัญญาฟาร์มไก่ คือเรามีโรงเรือน, ที่ดินและแรงงาน ส่วนบริษัทที่สนับสนุนก็จะเป็น ลูกไก่ และอาหาร มาให้เราเลี้ยงตั้งแต่เล็ก ๆ พอถึงเวลาชั่งน้ำหนักที่เขากำหนดมา มันก็ต้องได้ตามเป้าเป๊ะ ๆ ถ้าไม่ได้ตามเป้า เราก็ไม่ได้เงินต้องติดหนี้ติดสิน เขาให้อาหารเรามากระสอบละ 3-4 ร้อย ก็กินไปตามที่เขากำหนด

ซึ่งสัญญาตรงนี้มันก็มีข้อเสียเยอะ ต้องไปดูที่สัญญาว่ามันเป็นยังไง เพราะบางสัญญาอาจจะมีบอกว่า ห้ามเอาอาหารจากที่อื่นมากิน หรือนำวัคซีนที่อื่นมาใช้กับฟาร์มนี้ บางครั้งเราไม่รู้หรอกว่าอาหารที่เขาเอามาให้มันมีสารปนเปื้อนอะไรมั้ย ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัคซีนก็ไม่มี ไม่รู้ว่าเขาจัดวัคซีนอะไรมาให้ ถ้าไก่ป่วยหรือตายตัวเดียวมันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าป่วยตายทั้งฟาร์มเลย มันจะกลายเป็นภาวะที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ในสัญญาไม่มีบอกว่าถ้าไก่ตายแล้วทางบริษัทจะรับผิดชอบ เขาทิ้งให้เกษตรกรรับผิดชอบ เพราะว่าเกษตรกรเป็นคนดูแลฟาร์มให้เขา

สำหรับฟาร์มวัวก็เหมือนกัน อย่างเช่นผู้ประกอบการเอาวัวมาให้ เอาอาหารมาให้ เราก็ต้องเลี้ยงให้ได้ตามน้ำหนักที่เขาต้องการ ถ้าทำไม่ได้เราก็เป็นหนี้ไม่ต่างกัน ชาวบ้านเค้าก็เลยเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติไป อย่างฟาร์มผมก็ปล่อยกินหญ้าไป เมื่อก่อนเคยเลี้ยงแบบขุน ขังคอกตลอด แต่เดี๋ยวนี้เกษตรกรก็ปรับตัวเลี้ยงแต่แม่วัว แม่พันธุ์ จะได้ผลิตลูกได้ หรือหาหญ้าตามท้องถิ่น ช่วงไหนที่เป็นฤดูเกี่ยวข้าวก็จะมีฟางมาให้วัวกิน เลยไม่ได้มีปัญหาเรื่องการปลูกหญ้าเท่าไหร่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงวัว มาอัพเดทสถานการณ์ให้ฟัง

แล้วเกษตรพันธสัญญาส่งผลอย่างไรต่อการกลับบ้าน

ต้อม : สาเหตุที่กลับบ้านมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรพันธสัญญาอยู่ คือ พ่อแม่อายุเยอะ แล้วมันต้องใช้แรงงานหนัก ต้องตื่นเช้า ต้องเคลียร์ไก่วันต่อวันประมาณ 50 สอบ ต้องขนอาหารเข้าไปเคลียร์ ส่วนการเก็บขี้ไก่ 3 ถึง 4 วันก็ต้องเก็บ ใช้แรงงานหนักพอสมควร บางคนร่างกายผอม จนถึงขั้นทรุด แล้วถ้าเลี้ยงแต่ไม่เกิดรายได้ก็ส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตด้วย ว่าจะเอาเงินไปใช้หนี้อย่างไร ก็เครียด ปวดหัวเหมือนกัน

เราเคยออกแบบไว้ว่า เราต้องมีลูกไก่เอง อาหารเอง ตลาดเอง แต่ความเป็นจริงมันต้องใช้ทุนเยอะพอสมควร มันไปต่อไม่ได้ ต้องมีการรวมกลุ่ม มีการผลิตอาหารเอง ซึ่งมันใช้เงินเยอะ ต้องใช้เทคโนโลยีเยอะ พอมาคิดทบทวนมันต้องมีการแก้กฎหมาย หรือรัฐบาลจำเป็นจะต้องออกนโยบายหรือแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับเกษตรพันธสัญญา ให้สนับสนุนเกษตรกรจริง ๆ ไม่ใช่สนับสนุนผู้ประกอบการ

ในอนาคตสามหรือห้าปี อยากให้ชุมชนเติบโตเป็นไปแบบไหนบ้าง

ต้อม : ถ้าในสองสามปีข้างหน้า เราอยากทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงวัวมันชัด จะทำอย่างไรให้เป็นเศรษฐกิจอย่างครบวงจร ต้องไปผลักดันกลุ่มผู้ผลิตอาหารไหม ต่อไปเป็นกลุ่มทำการตลาดแปรรูปรึเปล่า เป็นกลุ่มเช็คมาตรฐานการเลี้ยงไหม หรือถ้าเกิดคนที่เรียนจบแล้วทำงานในพื้นที่ เช่นหลาย ๆ คนเรียนเกี่ยวกับปศุสัตว์ ก็เป็นพวกสัตวแพทย์ สัตว์บาล เป็นคนในพื้นที่ เรียนจบไม่รู้ว่าต้องออกไปทำงานที่อื่นไหม ถ้ามันเกิดกลุ่มที่ชัดเจนก็จะเกิดหลายอาชีพในพื้นที่ ส่วนวิสาหกิจ ตอนนี้เรากำลังทำเรื่องปลายน้ำ เกี่ยวกับการตลาด ถ้ามีงบการสนับสนุนหรือหน่วยงานที่มาซัพพอร์ท มันอาจจะช่วย shape กลุ่มในท้องถิ่นให้ชัดได้ในอนาคต

เหล่าผู้เข้าร่วม Return Hopeland Trip ในครั้งนี้

การคุยกับต้อมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Return Hopeland Trip กิจกรรมดี ๆ จาก โครงการอาสาคืนถิ่น ชวนเพื่อนมาเที่ยวบ้านอาสา พร้อมเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจในบ้านเพื่อนของเรา ในครั้งหน้า เราจะไปเที่ยวบ้านเพื่อนคนไหน อย่าลืมติดตามพวกเรากันด้วยนะ

#TVS #ReturnHomeland | #มอส #อาสาคืนถิ่น

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish