ในปี พ.ศ. 2563 มีประชากรในประเทศจำนวน 66,186,727 คน โดยมีประชากรที่เป็นเด็ก (0-17 ปี) จำนวน 13,123,963 คน คิดเป็นร้อยละ 19.83 และเยาวชน (18-25 ปี) จำนวน 7,055,245 คน คิดเป็นร้อยละ 10.66 รวมเด็กและเยาวชนจำนวน 20,179,208 คน คิดเป็นร้อยละ 30.49 ของประชากรทั้งประเทศ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2563) นับว่าเป็นกลุ่มช่วงวัยที่มีเกือบ 1 ใน 3 ของช่วงวัยต่างๆ ของประเทศที่กำลังเติบโตเป็นพลังสำคัญในการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนประเทศ
อย่างไรก็ดี จากรายงานสถานการณ์และแนวโน้มปัญหาของเด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 21 (กังสดาล เชาว์วัฒนกุล และคณะ, 2562) ระบุว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2562 มีเด็กและเยาวชนถึงร้อยละ 44.9 ของจำนวนประชากรเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมทั้งกับพ่อและแม่ (ครอบครัว) สะท้อนให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่ต้องการได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องของพร้อมของผู้ที่จะเข้ามาดูแลเด็ก การมีที่พึ่งพิงด้านมั่นคงทางจิตใจ และด้านเศรษฐกิจในครัวเรือนที่จะสนับสนุนการดำรงชีวิตของเด็ก โดยปัญหาของเด็กและเยาวชนในทุกช่วงวัย แบ่งได้ 2 กลุ่มปัญหา คือ (1) ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยและพัฒนาการที่เกิดจากความไม่พร้อมของพ่อแม่ สภาพครอบครัว และรูปแบบการเลี้ยงดูของครอบครัว และ (2) ปัญหาด้านพฤติกรรมจากสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้เด็กและเยาวชนไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงในยุคปัจจุบัน
มากไปกว่านั้น ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อเด็กและเยาวชนทั้งทางตรง คือ การเจ็บป่วยของเด็กที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด โดยมีอัตราการตายคิดเป็น 3 ต่อ 10,000 คน ส่วนผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับเด็ก เช่น ครอบครัวของเด็กยากจนลง พ่อแม่มีการหย่าร้าง การปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังหรือภายใต้การดูแลของผู้สูงอายุ (วัยชรา) และการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น (อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์, 2564) สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กปฐมวัย (0-6 ขวบ) ที่ยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็ต้องเผชิญกับการขาดผู้ดูแล
เด็กบางส่วนสูญเสียโอกาสในการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ที่ไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ (กรณีที่พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างพื้นที่) นอกจากนั้น ได้เกิดภาวะเด็กกำพร้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับความทรงจำวัยเยาว์อันเจ็บปวด และอาจเป็นเรื่องท้าทายที่เด็กจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพราะขาดคนประคับประคองดูแล ในขณะที่หญิงตั้งครรภ์จะเกิดภาวะด้านจิตใจ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการเผยแพร่เชื้อโควิดสู่ทารกแรกเกิดจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงที่ต้องให้นมบุตรที่ต้องหยุดชะงักไป ซึ่งส่งผลให้ทารกไม่ได้กินนมแม่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน (ธาม เชื้อสถาปนศิริ, 2564)
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่คนในสังคมกล่าวถึงและให้ความสำคัญ คือ เด็กและเยาวชนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้านหรือมุมส่วนตัวของตนเอง เพื่อเล่นโทรศัพท์มือถือแทนการออกมาวิ่งเล่น เรียนรู้หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีผลเชิงลบต่อพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเยาวชน ทั้งด้านร่างกาย สภาพจิตใจ อารมณ์ ทักษะทางการสื่อสารและการเข้าสังคม (ธนวัฒน์ ธรรมโชติ, 2564) จากการสำรวจพบว่าเด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาไปกับการเล่นอินเทอร์เน็ต เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมงขึ้นไป หรือคิดเป็นร้อยละ 47.6 ผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือของตนเอง (กรมกิจการเด็กและเยาวชน, 2563) จากข้อมูลดังกล่าวมีแนวโน้มว่าเด็กและเยาวชนจะมีพฤติกรรมในลักษณะของการแยกตัวและมีความสัมพันธ์ห่างเหินกับคนในครอบครัวและคนรอบตัวเพิ่มขึ้น โดยผลกระทบตามมาทำให้เด็กและเยาวชนขาดความรับผิดชอบด้านการเรียน เกิดการใช้จ่ายเงินเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ
จากสถานการณ์และแนวโน้มของปัญหาเด็กและเยาวชนที่กล่าวข้างต้น ทำให้สังคมเกิดการตื่นตัว และร่วมกันหาแนวทางและวิธีการในการแก้ปัญหาในรูปแบบที่ต่างกันตามบทบาทและภารกิจของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มอิสระที่ขับเคลื่อนสังคม หนึ่งในนั้นที่เห็นได้ชัดและมีการดำเนินงานมาตลอด คือการศึกษาสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นพร้อมกับจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย ทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูล การสนับสนุนเพื่อลดภาระของผู้ปกครอง การพัฒนาหรือยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัยของเด็กและเยาวชนให้เกิดสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะประเด็นด้านการศึกษาหรือการจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาตามช่วงวัย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการ “สร้างคนอย่างยั่งยืน” จึงขอยกตัวอย่างในเชิงนโยบายจากภาครัฐ เช่น การออกพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 การร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563-2570 เพื่อเป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนและบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกด้าน และการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา แม้แต่การจัดบริการปฐมวัยก็ยังพบว่าสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยบางแห่งไม่ได้มาตรฐานและไม่มีคุณภาพ และบุคลากรไม่มีศักยภาพเพียงพอจึงส่งผลกระทบต่อพัฒนาการตามวัยของเด็ก (แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 11, 2562)
แม้แต่หน่วยงานระดับประเทศที่ดำเนินงานในการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน ที่ครอบคลุมทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ รวมจำนวน 8,780 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งสร้างเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชนทั่วประเทศไทย ผ่านการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลายและขับเคลื่อนงานเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการสะท้อนคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 20,201 กิจกรรม อย่างไรก็ดี พบว่า สภาเด็กไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาดังกล่าวได้ทั้งหมด และยังพบว่าเจ้าหน้าที่ในทุกระดับยังปิดกั้น การแสดงความสามารถของเด็กและเยาวชน (กังสดาล เชาว์วัฒนกุล และคณะ, 2562) ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายสั่งตรงจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาแบบเหมารวมทั้งประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมทางการศึกษา สังคม เศรษฐกิจและการเข้าถึงทรัพยากร ประกอบกับบริบทพื้นที่แต่ละแห่งมีความหลากหลาย ความซับซ้อนเชิงโครงสร้างและความพิเศษเฉพาะถิ่น
ด้วยเหตุนี้ องค์กรพัฒนาเอกชนจึงมีบทบาทสำคัญที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบรรเทาและแก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องด้วยรูปแบบและวิธีการทำงานที่ “เข้าถึงและเข้าใจบริบทของพื้นที่” อย่างเช่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2523 มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาศักยภาพเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ให้มีสำนึก ความรู้ และทักษะในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาชุมชนและสังคม พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Change agent) ทั้งระดับตนเอง ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อยหนึ่งปี ด้วยกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับ (1) การเรียนรู้ท่ามกลางปฏิบัติ (Learning by doing) โดยอาสาสมัครจะถูกส่งไปทำงานในประเด็นที่ตนเองสนใจในพื้นที่ ทั้งชุมชนและภาคีเครือข่ายที่กระจายทั่วประเทศ (2) การเรียนรู้จากการอบรมสัมมนา และประชุมเชิงปฏิบัติการที่ มอส. จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเด่นของกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อเติบโตทั้ง ชีวิต ความคิดและจิตใจ ที่นำไปสู่การติดตั้งอุดมการณ์ทางสังคม มีความรู้และทักษะเพื่อขับเคลื่อนงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลง และ (3) กระบวนการติดตามระหว่างการปฏิบัติงาน โดยทีมพี่เลี้ยงจาก มอส. และพี่เลี้ยงประจำภาคเพื่อสนับสนุนและหนุนเสริมอาสาสมัครที่อยู่ในช่วงการปฏิบัติงาน โดยจะมีการถอดองค์ความรู้เพื่อนำมาพัฒนาและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ตรงกับความต้องการของอาสาสมัครให้เท่าทันสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนไป
จุดแข็งของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครมาเป็นระยะเวลามากกว่า 40 ปี ทำให้ทางมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มีคนรุ่นใหม่ (Change agent) ที่แข็งแกร่งทั้งด้านอุดมการณ์ทางสังคมและต้นทุนจากประสบการณ์ที่สะสมมา กระจายถิ่นฐานและขับเคลื่อนงานในชุมชนของตนเองอยู่ทั่วประเทศ จากสถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนที่กล่าวมา จึงนำมาสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจและทำงานในประเด็นเด็กและเยาวชน จนเกิดเป็นมองเห็นเป้าหมายร่วมกันที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิต และเติบโตขึ้นด้วยการมีสุขภาวะที่ครอบคลุมทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคมอย่างมีคุณภาพ การระดมความคิดเห็นเบื้องต้นระหว่างคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ 5 แห่ง จึงเกิดขึ้น ผ่านการอธิบายเกี่ยวกับศักยภาพทั้งด้านทรัพยากรบุคคลและทุนบนฐานนิเวศของชุมชนที่แสดงถึงความพร้อมในการเป็นต้นแบบหรือพื้นที่สาธิตของการมีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน
กรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์
จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางของสังคมไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ตลอดจนการขาดแคลนพื้นที่เรียนรู้ที่เอื้อต่อการเสริมสร้างพัฒนาการตามช่วงวัยนั้น ทางมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าวจึงนำมาสู่การศึกษาเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่และภาคีเครือข่ายที่กระจายทั่วประเทศมายาวนานมากกว่า 40 ปี ก่อเกิดเป็นผลงานเชิงประจักษ์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทาง มอส. จึงมีฐานคิด (Assumption) ในการดำเนินงานโครงการครั้งนี้อยู่ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
- คนรุ่นใหม่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคม
- กระบวนการเรียนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาบุคคลและชุมชนอย่างยั่งยืน
- พื้นที่เรียนรู้ช่วยเสริมพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเยาวชน
- การสื่อสารสาธารณะเป็นเครื่องมือให้เกิดกระแสสังคม และการผลักดันประเด็นในระดับนโยบาย
โดยมีปัจจัยนำเข้า หรือต้นทุน (Input) ที่เกี่ยวข้องในโครงการครั้งนี้ ประกอบไปด้วย 4 หัวข้อหลัก ได้แก่
- กลุ่มเป้าหมายหลักที่มีส่วนในการออกแบบและสร้างพื้นที่เรียนรู้ คือ คนรุ่นใหม่ (Key actor) และสมาชิกในชุมชน และกลุ่มเป้าหมายรองที่จะเป็นผู้รับประโยชน์ คือ เด็กและเยาวชนในชุมชนของพื้นที่โครงการย่อย 4 แห่ง
- พื้นที่เรียนรู้ ที่มีลักษณะครอบคลุมทั้ง พื้นที่เชิงกายภาพที่ให้เด็กและเยาวชนได้ “วิ่งเล่น” หรือเรียนรู้ตามความสนใจ พื้นที่สร้างประสบการณ์ที่เน้นการจัดกิจกรรมเพื่อเปิดและมอบประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับเด็กและเยาวชนได้ “เรียนรู้ผ่านการทดลอง” ในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดและการกระทำอย่างสร้างสรรค์
- กระบวนการเรียนรู้ ที่ออกแบบตามความสนใจของกลุ่มเป้าหมายทั้งในเชิงแนวคิดและเนื้อหาสาระ การติดตั้งเครื่องมือ และการปฏิบัติที่นำไปสู่การออกแบบและสร้างพื้นที่เรียนรู้
- การสื่อสารสาธารณะ ทั้งในระดับพื้นที่/ชุมชน และสู่สังคมวงกว้างในการรับรู้ผลการดำเนินงานและบทเรียนของโครงการ
สำหรับกระบวนการ/ขั้นตอนในการเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ (Key actor) และสมาชิกในชุมชนจะออกมาในรูปแบบของกิจกรรม (การเรียนรู้) ที่แบ่งออกเป็น 4 กิจกรรมหลักที่ดำเนินไปตลอดทั้งโครงการ ได้แก่
- การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อเสริมทั้งด้านความคิด ความรู้ ทักษะ และเสริมพลังใจในการดำเนินโครงการ
- การปฏิบัติการเพื่อออกแบบและสร้างพื้นที่เรียนรู้ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่โครงการย่อยทั้ง 5 แห่งตามบริบทของพื้นที่
- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ แบ่งปันประสบการณ์ทำงานหรือบทเรียน และร่วมมือในการจัดกิจกรรมหรือเทศกาลแสดงผลงานที่เกิดจากการสร้างพื้นที่เรียนรู้
- การถอดองค์ความรู้ของการออกแบบพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน ที่ได้จากการถอดบทเรียนของโครงการย่อยทั้ง 5 พื้นที่
ทั้งนี้กิจกรรมที่กล่าวข้างต้นจะสำเร็จได้ต้องอาศัยกลไกการทำงานที่เกิดจากความร่วมมือในการติดตาม หนุนเสริมและประเมินผลโดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) พี่เลี้ยงประจำภาคที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะและพร้อมในการเป็นที่ปรึกษาโครงการย่อยทั้ง 5 พื้นที่ และภาคีเครือข่ายที่จะเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้
จากกรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์ในการทำงานที่กล่าวข้างต้น ซึ่งใช้หลักคิดของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of change) นำมาสู่ผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) (ดังที่ระบุไว้ในหัวข้อ ผลที่คาดว่าจะได้รับ) โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มุ่งหวังว่าการดำเนินงานโครงการครั้งนี้ จะนำไปสู่เป้าหมายร่วมที่เชื่อว่า คนรุ่นใหม่ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของโครงการสามารถออกแบบและสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกในการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
เกณฑ์ในการรับสมัคร
เกณฑ์ในการรับสมัครพื้นที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ โดยการคัดเลือกจาก
- พื้นที่ที่มีอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจากการเข้าร่วมกิจกรรมของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
- ตั้งถิ่นฐานในชุมชน ทำงานขับเคลื่อนด้านการพัฒนาชุมชน และมีความสนใจประเด็นด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน
- มีต้นทุนในการดำเนินงานเพื่อออกแบบและสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในชุมชน
พื้นที่ดำเนินการ
พื้นที่ดำเนินการแบ่งออกเป็น 5 จังหวัด ได้แก่
- บ้านหนองเลาและบ้านธาตุภูซาง ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพระเยา
- ชุมชนรอบศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา บ้านแพะริมน้ำ (ดอยบวบ) ตำบลทาขุมเงิน ตำบลทากาศ และตำบลทาทุ่งหลวง อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
- บ้านห้วยขมิ้น อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
- บ้านตามุยและบ้านบะไหอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
- อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
- กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่เรียนรู้ ได้แก่ คนรุ่นใหม่ (Key actor) พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก เด็กและเยาวชนต้นแบบ และคนทำงานด้านเด็ก จำนวน 50 คน
- เด็กและเยาวชนจะได้รับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่ เด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 0-19 ปี จำนวน 100 คน
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เสริมสร้างศักยภาพคนรุ่นใหม่ในการออกแบบพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนอย่างมีส่วนร่วม
- พัฒนาแนวทางในการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนโดยเน้นบทบาทครอบครัวและชุมชน
- สังเคราะห์องค์ความรู้ของการออกแบบพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน
วิธีการดำเนินโครงการ
วิธีการดำเนินโครงการ แบ่งออกเป็น 3 ระยะที่อิงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ได้แก่
- ระยะที่ 1 การเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ในการออกแบบพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นการออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ (Key actor) และสมาชิกในชุมชน ให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการออกแบบและสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
- ระยะที่ 2 การพัฒนาแนวทางในการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นให้คนรุ่นใหม่ (Key actor) และสมาชิกในชุมชนได้ดำเนินการออกแบบและสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ของตนเอง นอกจากนั้นจะมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่โครงการในรูปแบบของ Transversal project และการถอดและสรุปบทเรียนการดำเนินงานโครงการ
- ระยะที่ 3 สังเคราะห์องค์ความรู้ของการออกแบบพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่โครงการ มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นไปที่การถอดองค์ความรู้จากโครงการย่อยทั้ง 5 พื้นที่ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การติดตามและประเมินผลการเปลี่ยนแปลง และการประเมินผลภายในโครงการ พร้อมจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์หรือผลิตเป็นสื่อระดับชุมชนเพื่อรวบรวมผลงานการออกแบบพื้นที่เรียนรู้ของพื้นที่
เป้าประสงค์ของโครงการ
คนรุ่นใหม่ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของโครงการ สามารถออกแบบและสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่หลากหลายบนฐานของความรู้ด้านการพัฒนาทักษะสมอง พัฒนาการมนุษย์ จิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ทักษะและความรอบรู้ทางสุขภาพ ควบคู่กับการเสริมพลังครอบครัว เพื่อเป็นทางเลือกในการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
การกำกับติดตาม และการประเมินติดตามภายใน
- วิธีการติดตามและหนุนเสริมคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในพื้นที่ แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่
- การใช้พี่เลี้ยงประจำภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้เป็นผู้ลงพื้นที่ในบทบาทที่ปรึกษาของคนรุ่นใหม่ตลอดทั้งโครงการอย่างน้อย 2 ครั้ง/เดือน
- การใช้เจ้าหน้าที่โครงการ (มอส.) ลงพื้นที่ในบทบาทการหนุนเสริมและติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และภาพรวมของโครงการย่อยในแต่ละพื้นที่ อย่างน้อย 3 เดือน/ครั้ง (ในระบบออนไลน์หรือลงพื้นที่)
- การติดตามและประเมินผลการดำเนินกิจกรรมจะเกิดขึ้นเป็นระยะตลอดโครงการ โดยใช้วิธีการจัดประชุมถอดบทเรียนและเขียนสรุปรายงานการถอดบทเรียนทุกครั้ง
- การประเมินติดตามภายในโดยใช้คณะทำงานจากภายนอกเป็นผู้ติดตามและประเมินโครงการทั้งหมด พร้อมทั้งจัดทำรูปเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์