การออกไปจากบ้านของแรงงานหนุ่มสาวในชนบทส่วนใหญ่เป็นเพราะต้องการแสวงหางานที่มั่นคงและมีรายได้สูงเพื่อส่งกลับมายังครอบครัวซึ่งเงินส่วนใหญ่จะถูกใช้เพื่อการจัดการหนี้สิน การลงทุนทางการเกษตรและการบำรุงชีวิตให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นนับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา เราจึงเห็นแรงงานหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งจึงออกไปแสวงหางานทำในเมือง อย่างไรก็ตามภูมิทัศน์การเคลื่อนย้ายของแรงงานเหล่ากำลังเปลี่ยนแปลงไปในบางพื้นที่ซึ่งกำลังเผชิญกับกระแส “คนกลับบ้าน” แม้เหตุผลของการกลับบ้านของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เช่น ต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า หรือญาติพี่น้องที่เจ็บป่วย หรือกลับมาดูแลลูกที่กำลังเติบโต แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือ ทุกคนล้วนมีการเตรียมใจว่าตนเองจะต้องละทิ้งชีวิตในเมือง และคืนถิ่นเพื่อมาสู้ใหม่ “ที่บ้าน” ของตนเอง ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า คนกลับบ้านเหล่านี้ กลับมาบ้านพร้อมกับพลังในการทำความหวังและความฝันของพวกเขาให้เป็นจริงโดยพกพาเอาประสบการณ์ชีวิต ทักษะจากการทำงาน และทัศนคติจากภายนอกเข้ามาใหม่ในบ้านเกิดของตนเองอีกด้วย ดังนั้น การกลับบ้านของพวกเขาย่อมก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ผมกลับบ้าน เพราะกลับมาดูแลพ่อแม่…พ่อกับแม่ไม่ไหวแล้ว” สมชายในวัย 36 พูดขึ้นในวงสนทนาในโครงการ“การเสริมสร้างพลังและความเข้มแข็งให้แรงงานนอกระบบโดยการมีส่วนร่วมโดยคนรุ่นใหม่” สมชายเล่าว่า เขาไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าว่าต้องการจะกลับบ้าน “…ผมคิดแค่อาทิตย์เดียวแล้วก็กลับมาเลย” และเมื่อกลับคืนมายังบ้านแล้ว สมชายก็พบว่า ตัวเองต้อง “ปรับตัว” ให้เข้ากับวิถีชีวิตของบ้านเกิด และต้องคิดหาลู่ทางทำมาหากิน เพื่อที่จะอยู่ให้รอดและอยู่ให้ได้ในชุมชน

“การกลับบ้าน” ของสมชาย เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติในความคิดของสมรในวัย 50 ปี เพราะโดยปกติแล้ว แรงงานที่ออกไปจากบ้านจะกลับบ้านเมื่อไม่มีภาระทางเศรษฐกิจแล้ว เช่น การส่งเสียบุตรหลาน “ไม่มีใครต้องการไปอยู่ถาวรที่นู้น ส่วนใหญ่ส่งลูกเรียนจบแล้วก็จะกลับมาอยู่บ้าน”

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์จริงของพื้นที่ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งสมชายและสมรอาศัยอยู่นั้น พบว่า มีคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจ “กลับบ้าน” ด้วยเหตุผลทางครอบครัวตั้งแต่การต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วย กลับมาดูแลที่ดินมรดก หรือกลับมาดูแลลูกที่ประสบปัญหาจากการเรียนออนไลน์ ดังเช่นกรณีของพัชราภรณ์ เธอไม่ได้ตั้งใจกลับบ้านแต่ว่ากลายมาเป็นกำลังหลักในการดูแลครอบครัวอันประกอบไปด้วย พ่อซึ่งป่วยเป็นโรคหนังแข็ง ลูกๆของพี่สาวพี่ชาย “ตอนนี้หนูคนเดียว ดูแลคนอยู่ทั้งหมด 8 คน ดูแลวัว และไร่นาทั้งหมด” หรือกรณีของสุภาพที่ต้องตัดสินใจกลับบ้านมาพร้อมกับสามี เพราะว่าต้องการกลับมาดูแลลูกชาย เนื่องจาก “ติดโทรศัพท์จนไม่สามารถไปโรงเรียนในตอนเช้าได้ เกิดการต่อต้าน ไม่ไปโรงเรียน จึงตัดสินใจกลับมาดูแลลูก” แม้ว่าสุภาพไม่เคยทำนาเพราะเธอออกจากบ้านไปเป็นสาวโรงงานตั้งแต่รุ่นสาว และเธอไม่ได้วางแผนที่จะกลับบ้านมาก่อนจึงไม่ได้เตรียมความพร้อมแต่อย่างใด สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอกล้าที่จะกลับมาเพราะเธอคิดว่า เมื่อพ่อแม่ทำได้ เธอก็ต้องทำได้ “คิดแต่ว่าเราเห็นพ่อเห็นแม่ทำนามาตั้งแต่ยังน้อย ยังไงเราก็น่าจะทำได้”

แต่ก็มีบางคน เช่น จีรานันท์ หรือ “นันท์” ที่ตั้งใจกลับบ้าน หลังจากจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยพื้นฐานความเป็นนักกิจกรรมในช่วงเรียนทำให้นันท์มีความมุ่งหวังที่จะกลับมาสร้างบางอย่างในบ้านของตัวเอง

ดังนั้น นันท์จึงต่างกับสมชายตรงที่นันท์ “ตั้งใจ” กลับมาอยู่บ้าน ทำให้นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เธอกลับมาอยู่บ้าน นันท์เริ่มต้นการดำเนินชีวิตในชุมชน ด้วยทักษะเดิมคือการปักผ้า เธอรับคำสั่งซื้องานปักผ้า ไม่ว่าจะเป็นหมวก กระเป๋า ผ้าเช็ดหน้า รวมถึงการจัดคอร์สอบรมการปักผ้า ภายใต้แบรนด์ Craft House Studio นอกจากนั้น เธอยังใช้พื้นที่ของครอบครัว 1 ไร่ ในการทำเกษตรผสมผสาน เช่น การปลูกผักสลัด มะเขือเทศและเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายภายในชุมชนและการขายแบบออนไลน์ โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า พันธุ์เจียออร์แกนิค

ในส่วนการสร้างชุมชนใหม่นันท์เริ่มต้นสร้างกิจกรรมเล็กๆ เพื่อให้ตัวเองมีกิจกรรมอยู่ร่วมกับชุมชน รวมถึงการแสวงหาแหล่งทุน โครงการที่สนับสนุนให้เกิดการทำกิจกรรมการพัฒนาอาชีพของชุมชนที่หลากหลาย นันท์จึงกลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็น “หัวหอก” ในการนำพาชาวบ้าน ให้ริเริ่มการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี การแปรรูปปลา การทำปุ๋ยชีวภาพจากวัสดุที่มีในชุมชน จัดกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนเพื่อเปิดพื้นที่การเรียนในชุมชน   ซึ่งการทำกิจกรรมดังกล่าวทำให้นันท์เรียนรู้ว่า “คนที่ทำงานชุมชนต้องทำด้วยใจ เพราะอาจจะไม่มีรายได้มากนัก” ทั้งนี้จากการทำกิจกรรมที่หลากหลายทำให้นันท์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และได้รับเชิญไปบรรยายในที่ต่างๆ ทำให้ “ตอนนี้หนูสามารถอยู่รอดได้ แต่อยู่แบบอยู่รอดคนเดียว”  แน่นอนการอยู่รอดเพียงคนเดียวไม่ใช่เป้าหมายของนันท์ นันท์มุ่งหวังว่าการกลับมาของเธอจะมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ

ประสบการณ์ข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนน้อยของคนกลับบ้าน ซึ่งหากเรามองอย่างพิเคราะห์แล้วก็จะพบว่า ไม่ว่าพวกเขาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจะกลับบ้านก็ตาม ณ ตอนนี้ พวกเขาก็ตัดสินใจจะกลับมา “อยู่บ้าน” แล้ว ทำให้บางคนกำลังปรับตัวให้ตัวเองอยู่ร่วมกับชุมชนได้ และมุ่งมาดปรารถนาที่จะสร้างชุมชนที่จะทำให้เขาอยู่รอดได้

“ผมคิดว่า ตลาดในชุมชนเล็กไปหน่อย และเศรษฐกิจของจังหวัดก็ไม่ได้เฟื่องฟูเท่ากับกรุงเทพ” สมชายใช้ความรู้จากการที่เขาเทรดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ วิเคราะห์ว่าการทำสินค้าขายนั้นมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง ดังนั้น สมชาย รวมไปถึงคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน เช่น พัชราภรณ์ จึงคิดเห็นตรงกันว่า ต้องผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อตลาดภายนอก เช่น พัชราภรณ์บอกว่า เธอ“อยากเลี้ยงวัวแม่พันธุ์เพิ่มอีก 10 ตัว และต้องการพัฒนาสายพันธุ์” เนื่องจากเธอวิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตลาดวัวยังเปิดกว้างอยู่ นอกจากนั้นอาหารวัวและหญ้าที่ใช้ในการเลี้ยงวัวก็เป็นธุรกิจที่ขนิษฐาสนใจจะลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของการเลี้ยงวัวดังกล่าว

“เราทำการวิจัยก่อนแล้วว่าดีมานด์ผักของเรามีสูง” เป็นคำพูดของนันท์ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีคิดเกี่ยวกับการผลิตสินค้าการเกษตรเพื่อรองรับความต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นตัวการันตีว่ากลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษของเธอจะสามารถขายสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง

ความคิดเรื่องตลาดของสมชายและนันท์ รวมไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่กำลังก่อกำเนิดเกิดขึ้นภายในพื้นชนบท ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ในปัจจุบัน พื้นที่ชนบทกำลังกลายเป็นสนามทดลองปฏิบัติทางเศรษฐกิจซึ่งมาจากภาพจินตภาพชุมชนแบบใหม่ของคนรุ่นใหม่เหล่านี้  อย่างไรก็ตาม ภายใต้กระบวนการนี้ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน ในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่ในสถานะแรงงานนอกระบบที่ไม่มีโครงข่ายทางสวัสดิการรองรับในกรณีที่พวกเขาอาจจะตัดสินใจผิดพลาดหรือหากพวกเขาต้องเพลี้ยงพล้ำเพราะสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้

ดังนั้นเพื่อให้ทรัพยากรบุคคลที่กลับมาชุมชนเหล่านี้สามารถอยู่รอดทางเศรษฐกิจ และอยู่ร่วมได้ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบทที่เกษตรกรที่สูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้น จึงถึงเวลาแล้วที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐและสังคมควรจะกำหนดนโยบายที่เกื้อกูลปฏิบัติการสร้างชุมชนของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมที่คนทุกกลุ่มสามารถอยู่รอดและอยู่ร่วมกันได้

โครงการ “การเสริมสร้างพลังและความเข้มแข็งให้แรงงานนอกระบบโดยการมีส่วนร่วมโดยคนรุ่นใหม่”

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

มาลี สุปันตี สถาบันการจัดการความรู้เกษตรกรรมยั่งยืน

จิตราภรณ์ สมยานนทนากุล วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish