Announcing

เปิดรับอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 18 (วันนี้ - 29 ก.พ. 67)

ลงชื่อเข้าร่วมในแถลงการณ์จากกลุ่มภาคีนิติธรรมพลเมือง "สารถึงคนหนุ่มสาวผู้กล้าหาญ และคำเรียกร้องต่อศาลเพื่อทรงสถิตยุติธรรม"

กลุ่ม @BeachForLifeTH เเละขบวนประชาชนทวงคืนชายหาด 91 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อทวงคืนชายหาดจากการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

#ดงมะไฟ ไม่ใช่เหมืองธรรมดา แต่เป็นเหมืองที่ยึดคืนจากรัฐและนายทุน❗️การต่อสู้ของเครือข่ายชาวบ้านกินเวลานานกว่า 27 ปี

สื่อ The Reporters รายงานมีผู้ลี้ภัยจีนถูกจับหน้าสถานทูตจีน ระหว่างชูป้ายประท้วงประธานาธิบดีจีน ระหว่างประชุมเอเปค ฐานเข้ามาในไทย

ด่วน 10.06 น. ✍️ ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว แซม พรชัย, แม็ก สินบุรี และมิกกี้บัง สามสมาชิก #ทะลุฟ้า โดยให้วางหลักประกันคนละ 100,000 บาท

สมบัติ ทองย้อย ? ถูกคุมขังย่างเข้า 200 วัน หรือนานกว่าครึ่งปีแล้ว! ในคดี ม.112 กรณีโพสต์ #เก่งมากกล้ามากขอบใจ และอีก 2 ข้อความ

เรื่องราวและเรื่องเล่าสะท้อนการ “กลับบ้าน” ของคนรุ่นใหม่อีสานกับการแบกรับภาระ ความหวัง ความสุข ความฝัน และความท้าทายของการประกอบสร้างตัวตนในยามที่ต้องการหวนคืนถิ่น การเดินทางจากชนบทสู่เมืองใหญ่ที่ “ต่อสู้” และ “ดิ้นรน” โดยใช้แรงและหยาดเหงื่อต่างหน้าแลกค่าตอบแทน ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขของการบริหารจัดการชีวิตประจำวันที่ “วนลูป” กลายเป็น “คำถาม” เกิดขึ้นกับตัวเองท่ามกลาง “เสียง” และข้อข้องใจของจากคนในครอบครัวและคนรอบข้างที่เฝ้ามองด้วยความสงสัย การกลับบ้านที่ท้าทายข้อจำกัดเพื่อ “สร้างงาน” ในชนบทให้เป็นทางเลือกและ “ทางรอด” รองรับการกลับบ้านของตนเองและคนรุ่นใหม่ในชนบทอีกหลายคน หลังจากเผชิญชะตากรรมการทำงานเป็นแรงงานในโรงงาน

จากชนบทสู่โรงงาน : ในชนบทอีสานคนรุ่นใหม่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายส่วนใหญ่เข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามเงื่อนไขและสถานะของครอบครัว (ทั้ง กศน. มัธยมศึกษา ถึงระดับอุดมศึกษา) อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่อีสาน คือ เส้นทางชีวิตและหน้าที่การงานที่มั่นคง การพยายามแสวงหาโอกาสของรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้ตนเองจึงเป็นเรื่องปกติที่ต้องดิ้นรนประกอบสร้าง ส่งผลให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเก็บกระเป๋าออกเดินทางจากชนบทเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร เพราะมองว่าการอยู่บ้านในชุมชนชนบทห่างไกลไม่มีงานและรายได้รองรับความต้องการได้เพียงพอ ดังนั้น การอพยพของคนรุ่นใหม่อีสานจากชนบทเข้าสู่เมืองเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคเสรีทุนนิยมปัจจุบัน

การเป็น “เสาหลัก” ของครอบครัว : คนรุ่นใหม่ทั้งชายและหญิงจำนวนไม่น้อยถูกตั้งความหวังและเป็น “เสาหลัก” ของครอบครัว เพราะความเหลื่อมล้ำทางสังคมในชนบทอีสานนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิตและความมั่นคงด้านการงานของคนรุ่นใหม่ กล่าวคือ เพราะอาชีพเกษตรกรรมในชนบทซึ่งต้องลงทุนและลงแรงไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ลงไปในแต่ละฤดูกาล (ลงทุนมากได้ค่าตอบแทนต่ำ) ส่งผลให้คนรุ่นใหม่อีสานถูก “ผลัก” ออกห่างชนบทสู่เมือง เช่น กรณีของ “ปลา” ปาริฉัตรดอกแก้ว อายุ 36 ปี ฉายให้เห็นภาพของคนรุ่นใหม่ผ่านเรื่องราวของเธอว่า หลังจากเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายพ่อแม่ไม่เห็นด้วยกับการเรียนต่อ ไม่อยากให้เรียนเพราะข้อจำกัดของครอบครัว แต่ตัวเองอยากเรียนเพราะคิดว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ตัวเองมีทางเลือกในการทำงานมากกว่า พี่ๆ ที่ไม่ได้เรียนต่อ เพราะฐานะครอบครัวและเป้าหมายชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ปลา ตัดสินใจเข้าเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยใช้เงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และส่วนหนึ่งจากการส่งเสียของทางบ้าน ปลา ยอมรับว่าตอนนั้นไม่รู้ว่าชีวิตต้องการอะไร เพียงแต่อยากเรียนเพื่อที่หวังว่าวันหนึ่งจะมีงานทำและมีรายได้ส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัวให้มีชีวิตที่ดี “ตอนนั้นมีความฝันแบบนี้” หลังจากเรียนจบพ่อกับแม่คาดหวังว่าปลาจะเป็น “เสาหลัก” และดูแลครอบครัวได้ เพราะปลาเรียนจบสูงกว่าคนอื่น ชีวิตในโรงงานของปลาจึงเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552-2561 ทำงานในโรงงานมาตลอด ซึ่งชีวิตในโรงงานได้รับค่าตอบแทนของระดับการศึกษา แต่ดูเหมือนว่าชีวิตในแต่ละวันมันเป็นชีวิตที่ “วนลูป” คือ ใช้ชีวิตซ้ำไปซ้ำมา ตื่นนอน เข้างาน ทำงาน เลิกงาน “มันเป็นอยู่แบบนี้ รู้แค่ว่าชีวิตแต่ละวันไม่มีความสุข” ปลา ตัดสินใจบอกพ่อกับแม่ว่า “ไม่มีความสุข” แต่ทั้งสองยังไม่เข้าใจและตั้งความหวังทำนองว่าใครจะกลับมาบ้านก็ได้ยกเว้นปลา

คำถามและความกดดัน : การเดินทางเข้าเมืองของคนรุ่นใหม่อีสานไม่ได้ราบรื่นสวยหรู เพราะชีวิตการทำงานในเมืองใหญ่เต็มไปด้วยอุปสรรค ค่าใช้จ่าย และความกดดันต่างๆ ที่ต้องแบกรับ ปลา เล่าย้ำให้เห็นว่าที่ผ่านมาการเข้าเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เดินทางจากอีสานเข้าสู่ชนบทต้องแบกรับแรงกดดันเหล่านั้น ท่ามกลาง “เสียง” ของความหวังจากครอบครัวที่ดังก้องเมื่อเอ่ยปากว่าจะกลับบ้าน “อาการแบบนี้เกิดขึ้นหลังจากกลับมาอยู่บ้านในช่วงแรกๆ ก่อนสมัครอาสาคืนถิ่น” ปลา เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะอยู่อย่างไร? จะทำอย่างไร? “มันหนักตั้งแต่ตอบคำถามตัวเองไม่ได้ ตอบคำถามพ่อแม่ไม่ได้ และตอบคำถามคนรอบข้างไม่ได้” มันคือเสียงรอบข้างที่วิ่งสวนทางกันไปมาในความคิดจนสับสน “มันสับสนอยู่แบบนั้นราวๆ 1 ปี เพราะใจหนึ่งอยากกลับบ้าน ใจหนึ่งยังตอบคำถามไม่ได้ว่ากลับไปแล้วจะทำยังไงต่อ”

ท่ามกลางการต่อสู้และดิ้นรน : การเข้าเมืองของคนรุ่นใหม่อีสานต้อง “ต่อสู่” และ “ดิ้นรน” บางคนใช้ชีวิตในโรงงานมากกว่า 10 ปี เช่น “กุ้ง” อำพรดาวเรรัมย์ อายุ 39 ปี เล่าว่าชีวิตของเธอและคนจากชนบทที่มีวุฒิการศึกษาน้อยต้องทำงานหนักเพื่อที่จะให้ตัวเองมีรายได้ “อย่างน้อยๆ ขอแค่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ”กุ้ง เล่าอีกว่า ชีวิตในโรงงานเริ่มตั้งแต่ปี 2548–2564 ชีวิตวนเวียนอยู่กับการเป็น “สาวโรงงาน” เริ่มต้นที่โรงงานหมวกกันน็อคสู่โรงงานผลิตชุดชั้นในและโรงงานอะไหล่รถยนต์ “สาวโรงงานที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ยุคที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 200 บาท” ต้องบริหารจัดการรายได้แต่ละเดือน เพราะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายอย่างที่ต้องจัดการ คือ เงินส่วนแรกใช้จ่ายกับชีวิตประจำวัน เช่น ค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร และซื้อของให้ตัวเองบ้างหลังจากที่ต้องทำงานหนัก (เดินตลาดนัด) เงินส่วนสองส่งกลับให้พ่อแม่ที่ไม่มีรายได้ และเงินส่วนสามเหลือเล็กน้อยก็เก็บออมสะสมไว้ “ชีวิตของสาวโรงงานแบบนี้ไม่อยากอยู่จนแก่เฒ่า” แต่ด้วยข้อจำกัดของชีวิตและครอบครัวมันเป็น “ห่วง” ที่ทำให้ต้องอยู่ในโรงงานต่อไป แต่พอถึงจุดหนึ่งของชีวิตเริ่มอยากหาอย่างอื่นทำ กุ้ง ทุ่มเงินสะสมด้วยน้ำแรงหยาดเหงื่อสมัครเข้าอบรมหลักสูตรนวดแผนไทยของเอกชนและได้ใบประกอบวิชาชีพมา เปิดโอกาสการทำงานในสถานบริการนวดแผนไทย ชีวิตกำลังเริ่มไปได้ดีแต่กลับต้องเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 รัฐบาลประกาศ Lockdown และปิดสถานบริการนวดแผนไทย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้อย่างไม่ทันตั้งตัว “มีรายได้ไม่พอก็เริ่มคิดหาช่องทางกลับมาอยู่ที่บ้าน”

การกลับบ้านและความท้าทาย : สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้แรงงานในเมืองและโรงงานได้รับผลกระทบและหลายคนต้องจำใจกลับบ้าน แต่การกลับบ้านเกิดขึ้นพร้อมกับ “คำถาม” ว่า “กลับบ้านมาแล้วจะทำอะไรให้อยู่ได้” กุ้ง เลือกประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยใช้ต้นทุนเดิมของครอบครัว คือ การดูแลสวนยางพารา 15 ไร่ ปลูกข้าวในที่นา 4 ไร่ และให้คนเช่าที่ดินปลูกมันสำปะหลัง 7 ไร่ “อยากหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองหลายๆ ทาง” เนื่องจากมองว่าการไปทำงานในโรงงานที่ผ่านมา “มันจับต้องอะไรไม่ได้” เพราะคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ใช้ไปหมดก็ไม่น้อย “ถ้านับค่าเช่าห้องรวมกันตีเป็นมูลค่าคงมากพอสำหรับซื้อบ้านได้เป็นหลัง” กุ้ง มองว่าจะอยู่ที่บ้านหรือไปทำงานที่อื่นๆ รายได้ไม่ต่างกันถ้าหักลบค่าครองชีพออก อยู่ในเมืองมีเงินแต่จ่ายเยอะ อยู่บ้านนอกไม่มีเงินแต่ไม่ได้ใช้เงิน ขณะที่ ปลา สะท้อนว่ากลับบ้านพอดีกับช่วงที่แม่ไม่สบาย ตัดสินใจลาออกจากงานมาดูแลแม่ “เป็นการตัดสินใจที่ยังคงมีคำถามว่ากลับบ้านแล้วจะทำอะไร จะมีรายได้จากที่ไหน”

ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในเมืองแล้ว : คนรุ่นใหม่อีสานจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และต้องกลับบ้านอย่างไม่ทันตั้งตัว รวมทั้งการตัดสินใจกลับบ้านด้วยเหตุผลต่างๆ (คนที่มีเงินเก็บก็พออยู่ได้ชั่วครู่หนึ่ง) บางคนกลับบ้านแล้วค่อยหาทางออกต่อ ปลา เล่าว่าลาออกและกลับมาอยู่บ้านราวๆ 1 ปี เห็นประกาศรับสมัครคนเข้าร่วมโครงการ “อาสาคืนถิ่นฯ” โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ตัดสินใจลองส่งใบสมัครเข้าร่วมโดยที่ไม่เคยรู้รายละเอียดมาก่อน เห็นว่ากิจกรรมน่าสนใจและจะเป็นโอกาสได้แนวคิด เครื่องมือ เครือข่ายคน และแนวทางการใช้ชีวิตของ “คนคืนถิ่น” กระทั่ง การเข้าร่วมโครงการช่วยตอบคำถามและยืนยันว่าการตัดสินใจกลับบ้านไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสในการมีชีวิตที่บ้าน “ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในเมือง” ปลา ให้คำตอบกับตัวเองว่า “พอแล้วกับการให้เสียงของพ่อแม่หรือเสียงของคนรอบข้างมาดังกว่าเสียงของตัวเอง”

ทางรอดและงานในชุมชน : หลังกลับบ้านหลายคนเริ่มพบปะพูดคุยและเกาะกลุ่ม มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง คือ ปลา จบระดับอุดมศึกษาและเป็นวิศวกรในโรงงานมาก่อน กุ้ง สาวโรงงานที่มีประสบการณ์และอยากกลับบ้าน แพร เป็นคนที่อยากอยู่บ้านและทำงานอาสามาตลอด โค้ชสิงห์ ทำกิจกรรมชมรมฟุตบอล และ กล้วย เป็นแฟนของกุ้งที่ลาออกจากโรงงานมาอยู่ด้วยกัน ทุกคนมี “โจทย์” และ “เป้าหมาย” ร่วมกัน คือ การมีชีวิตให้รอดในหมู่บ้าน จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนเพื่อให้มีรายได้ Brand “Khong Green” Local Products From Khongchiam สินค้าท้องถิ่นที่มองถึงคุณค่าจากทรัพยากรในผืนป่าริมฝั่งแม่โขงสู่ผู้บริโภค ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ 2 ชิ้น คือ เม็ดกระบกคั่วและเม็ดมะม่วงหิมพานต์อบแห้ง ทุกคนพบปะพูดคุยกันสม่ำเสมอ ผลักดันผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับทุกคนร่วมกับคนในชุมชน ผ่านแนวคิด “ธุรกิจเพื่อชุมชน” อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ และมองว่าเป็นการสร้างงานในหมู่บ้านไม่ต้องไปหางานในเมือง ปลา กล่าวว่า “อยากทำธุรกิจโดยที่ไม่ใช่ธุรกิจของเราคนเดียว” ขณะที่ กุ้ง กล่าวว่า “อยากให้มีงานในชุมชนเป็นพื้นที่รองรับคนรุ่นหลังที่อยากอยู่บ้าน”

มุมคิดการกลับบ้านหลังจากเป็นแรงงานในเมือง : การเดินทางสู่เมืองท่ามกลางเหตุผลหลากหลายแตกต่าง แต่สิ่งที่เป็นประเด็นร่วมคือชีวิตบนการต่อสู้ดิ้นรนให้ตัวเองและครอบครัวดีขึ้น การ “กลับบ้าน” ของคนรุ่นใหม่จึงไม่ได้ราบรื่นมากนัก การรวมตัวเพื่อผลักดันให้เกิดงานในชุมชนจึงเป็นทางเลือกและทางรอดใหม่ โอกาสทางเศรษฐกิจที่ไม่ต้องวิ่งแข่งกับเสรีนิยมในเมืองใหญ่ ไม่ต้องใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องตอบคำถามที่เคย “วนลูป” ตลอดเวลา ปลา เสนอว่า หากต้องการกลับบ้านสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือการฟังเสียงและความต้องการของตัวเอง และค่อยๆ หาทางสร้างงานให้ตัวเอง แม้หมู่บ้านไม่มีเงินเดือนประจำ แต่ถ้าบริหารจัดการทุนต่างๆ ที่มีก็พอจะสร้างรายได้ในแต่ละเดือนได้ ขณะที่ กุ้ง กล่าวทำนองเดียวกันว่าการกลับมาบ้านทำให้เห็นต้นทุนของครอบครัวที่มี เช่น ที่ดินทำกิน สวน ไร่ นา สามารถใช้เป็นทุนในการสร้างรายได้ที่หลากหลาย เพียงแต่ต้องลงมือทำและหาโอกาสด้านเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish