Announcing

เปิดรับอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 18 (วันนี้ - 29 ก.พ. 67)

ลงชื่อเข้าร่วมในแถลงการณ์จากกลุ่มภาคีนิติธรรมพลเมือง "สารถึงคนหนุ่มสาวผู้กล้าหาญ และคำเรียกร้องต่อศาลเพื่อทรงสถิตยุติธรรม"

กลุ่ม @BeachForLifeTH เเละขบวนประชาชนทวงคืนชายหาด 91 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อทวงคืนชายหาดจากการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

#ดงมะไฟ ไม่ใช่เหมืองธรรมดา แต่เป็นเหมืองที่ยึดคืนจากรัฐและนายทุน❗️การต่อสู้ของเครือข่ายชาวบ้านกินเวลานานกว่า 27 ปี

สื่อ The Reporters รายงานมีผู้ลี้ภัยจีนถูกจับหน้าสถานทูตจีน ระหว่างชูป้ายประท้วงประธานาธิบดีจีน ระหว่างประชุมเอเปค ฐานเข้ามาในไทย

ด่วน 10.06 น. ✍️ ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว แซม พรชัย, แม็ก สินบุรี และมิกกี้บัง สามสมาชิก #ทะลุฟ้า โดยให้วางหลักประกันคนละ 100,000 บาท

สมบัติ ทองย้อย ? ถูกคุมขังย่างเข้า 200 วัน หรือนานกว่าครึ่งปีแล้ว! ในคดี ม.112 กรณีโพสต์ #เก่งมากกล้ามากขอบใจ และอีก 2 ข้อความ

สถานการณ์เยาวชนไทย
พลเมืองในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติของการเป็นผู้มีความรอบรู้ สามารถปรับตัวอย่างเท่าทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลก มีการคิดอย่างเป็นเหตุผล กล้าตัดสินใจ ทั้งยังมีการริเริ่มและลงมือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายสำหรับนโยบาย โครงการ และกิจกรรมเยาวชน ที่ได้รับการจัดให้มีขึ้นอยู่เสมอ กระนั้น เรากลับรู้สึกห่วงใยเมื่อพบว่า แนวโน้มการเติบโตของเยาวชนไทยมิได้เป็นไปในทิศทางที่มุ่งหวัง เยาวชนส่วนใหญ่ดูเหมือนว่ากำลังดำเนินชีวิตโดยไร้จุดมุ่งหมายที่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน เยาวชนอีกจำนวนหนึ่งกลับมีท่าทีการแสดงออก ที่มองได้ว่าเต็มไปด้วยความก้าวร้าว ฉีกขนบ ไม่สอดคล้องกับค่านิยมหลักของสังคม

คลิกดาวน์โหลด E-book ที่นี่

อะไรคืออุปสรรคและทางออกสำหรับการส่งเสริมเยาวชนให้มีการพัฒนาอย่างเหมาะสม เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไปในวันข้างหน้า?

โครงการพัฒนากลไกและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน เพื่อเสริมสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะ สำรวจ 9 กรณีศึกษาสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนเพื่อรวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนทั้งในระดับวิธีคิด นโยบาย กฎกติกา และภาคปฏิบัติการ ตลอดจนกระบวนการเคลื่อนไหวที่แสดงถึงบทบาทการมีส่วนร่วมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของเยาวชน พบว่า ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี สังคมไทยมีการใช้ทรัพยากรไม่น้อยในการจัดทำนโยบาย โครงสร้าง และดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาเยาวชน อย่างไรก็ตาม “หลุมพราง” อยู่ที่ทัศนคติซึ่งหยั่งรากลึกนับจากอดีต และส่งผลถึงปัจจุบัน ทำให้ความตั้งใจดีที่เป็นจุดเริ่มต้นของหลากหลายภารกิจไม่อาจบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน พบว่ามีหลากหลายกิจกรรมความเคลื่อนไหวของเยาวชนที่เป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนถึงศักยภาพ ความสามารถ รวมทั้งความตั้งใจและพลังสร้างสรรค์อันเต็มเปี่ยมของเยาวชนในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม ทว่า ด้วยมุมมองแบบเดิมกลายเป็นกรอบจำกัดของหลายฝ่ายในการทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การแสดงศักยภาพและความสามารถของเยาวชนในหลายกรณีแทนที่จะได้รับการส่งเสริมให้ก้าวหน้า แต่กลับถูกตัดสินตีตราว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ท้าทาย ไปจนถึงเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม เยาวชนจำนวนหนึ่งจึงต้องเผชิญกับการลงโทษเอาผิด ส่วนสังคมไทยต้องสูญเสียโอกาสที่จะเก็บรับประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากความมุ่งมั่นและสมรรถนะของพลเมืองรุ่นใหม่

บทความจาก 9 กรณีศึกษาสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน แต่ละประเด็นมีความเป็นเอกเทศที่สามารถเลือกอ่านตามความสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ เนื่องจากแนวทางการนำเสนอของแต่ละกรณีศึกษาเป็นการรายงานข้อมูลปมปัญหา รวมทั้งไล่เรียงถึงสาเหตุความเป็นมา เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะทางออกของแต่ละเรื่องราว อย่างไรก็ตาม หนังสือจัดวางเนื้อหาโดยเริ่มต้นจากกรณีศึกษาที่สะท้อนถึงนโยบายและภารกิจที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดที่ปิดกั้นการดำเนินงานไม่ให้บรรลุถึงเป้าหมาย ติดตามด้วยบทความที่ว่าด้วยสาเหตุจากรากฐานทางวัฒนธรรมความคิดต่อเด็กและเยาวชนของสังคมไทย จากนั้นจึงนำเสนอบทความที่แสดงถึงความสามารถและสร้างสรรค์ของเยาวชนในหลากหลายมิติ เพื่อนำไปสู่บทสรุปในช่วงท้ายซึ่งเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้พิจารณาเป็นแนวทางที่จะก้าวข้ามอุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่ และหวังให้นำไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมให้เยาวชนได้มีการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างแท้จริง

บทความทั้ง 9 กรณีศึกษา มีการวางลำดับ ดังนี้
(ทั้งหมดอยู่ใน E-book)

  1. ก้าวทันพลวัต: กับดักนโยบายด้านเด็กและเยาวชน
  2. กระบวนทัศน์การพัฒนาสภาเด็กและเยาวชนในประเทศไทย
  3. ระบบการศึกษากับการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม: กรณีศึกษา “กิจกรรมสภานักเรียน”
  4. อำนาจวัฒนธรรมของการตกแต่งนิสัยใจคอเด็กไทยให้เป็น “เด็กดี”
  5. นวตกรรมเยาวชน: สำนึกรับผิดชอบและการนำเสนออัตลักษณ์
  6. เกษตรกรคนรุ่นใหม่ ความคิด ความเชื่อการลงมือทำบนทางเลือกวิถีอินทรีย์และอาชีพทางเลือก
  7. การมีส่วนร่วมของเยาวชนภายในพรรคการเมือง: เมื่อต้นกล้าแตกหน่อ
  8. เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบทางตรง
  9. การมีส่วนร่วมของเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในรูปแบบใหม่

รัฐไทยกับภารกิจ “พัฒนาเยาวชน”
บทความ ก้าวทันพลวัต: กับดักนโยบายด้านเด็กและเยาวชน เบญจมาศ เป็งเรือน นำเสนอการดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดยศึกษาควบคู่ไปกับพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองตามลำดับเวลานับตั้งแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2502-2506) จนถึงแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) โดยใช้แผนแม่บทดังกล่าวในการสะท้อนมุมมองและการดำเนินงานของภาครัฐ พร้อมกับพิจารณาบริบททางสังคมแวดล้อมซึ่งมีส่วนกำหนดทิศทางการพัฒนางานด้านเด็กและเยาวชนของประเทศไทยในอีกทางหนึ่ง

จากการศึกษา พบว่า การประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2502-2506) ถือเป็นจุดเริ่มต้นการมีหน่วยงานดูแลงานด้านเด็กและเยาวชน ได้แก่ สำนักงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) เป้าหมายเพื่อการพัฒนาเยาวชนให้เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันคือกิจกรรมนักศึกษา ภายใต้บริบทของสงครามเย็นที่เป็นการเผชิญหน้าของอุดมการณ์เสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคทั่วโลกโดยมีสองขั้วมหาอำนาจให้การสนับสนุน

การดำเนินงานของหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาเยาวชน มีการหยุดชะงักเป็นระยะอันเป็นผลจากเหตุการณ์ทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล บางจังหวะเวลามีความก้าวหน้าที่สำคัญ อาทิ การประกาศใช้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนครั้งแรกในปี พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่โดยมีนักศึกษาปัญญาชนเป็นแกนนำ และการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในปี พ.ศ.2535 โดยการผลักดันจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งถือกำเนิดและเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงทศวรรษ 2520

อีกช่วงเวลาที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ได้แก่ หลังมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่รัฐบาลไทยมีการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับเพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในด้านการศึกษา อาทิ พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ได้รับการจัดทำขึ้นในรัฐบาลที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งรับรองสิทธิประชาชนและเยาวชนเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือการควบคุมสังคมโดยกองทัพ ซึ่งส่งผลต่อเยาวชนที่ทำกิจกรรม นักศึกษาจำนวนหนึ่งถูกข่มขู่คุกคามในหลากหลายรูปแบบ บางคนถูกจับกุมดำเนินคดี เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการต่อต้านรัฐบาล

จากการประมวลผลการดำเนินงานด้านเยาวชน พบว่านโยบายของรัฐมีเพียงสองมิติหลัก ได้แก่ การมุ่งเน้นการพัฒนาด้านกำลังแรงงานเพื่อการผลิตทางเศรษฐกิจ ส่วนอีกด้านเป็นการคุ้มครองดูแลในเชิงสงเคราะห์แก่เยาวชนที่ยากลำบาก ในลักษณะเดียวกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสอื่น ทำให้ไม่สามารถรับรู้ถึงศักยภาพและบทบาทของเยาวชนอย่างรอบด้านเพียงพอ อีกช่องว่างสำคัญ ได้แก่ การขาดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีภารกิจด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน

สภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ.2560 นับเป็นอีกกลไกสำคัญในการดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนของภาครัฐ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บทความ กระบวนทัศน์การพัฒนาสภาเด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดย ศุภชัย ไตรไทยธีระ พบว่า โครงสร้างและการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนได้รับการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และตำบล มีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงาน และมี “สมัชชาเยาวชนเด็กและเยาวชนแห่งชาติ” เป็นช่องทางที่ให้สมาชิกสามารถนำเสนอปัญหาและเสนอแนะทิศทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อรัฐบาลเป็นประจำทุกปี

ทว่า ในการดำเนินงานจริง กลับพบอุปสรรคหลายประการซึ่งส่งผลให้สภาเด็กและเยาวชนไม่อาจเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนากลุ่มเป้าหมายและสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมสำหรับเด็กและเยาวชน ที่สำคัญได้แก่การบริหารจัดการ ซึ่งแม้จะมีการกำหนดขั้นตอนและวิธีการอย่างชัดเจนเป็นแบบแผนในทุกระดับ ทว่า ในความเป็นจริง กลไกในระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ และตำบล มีลักษณะ สภาพปัญหา และต้องการวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การดำเนินงานขาดประสิทธิภาพ ที่สำคัญ การทำงานที่กำหนดการทำงานโดยผูกติดกับระบบของราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่งผลให้สภาเด็กและเยาวชนไม่อาจเป็นเวทีการเรียนรู้และมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่เป็นลักษณะของการทำงานเพื่อตอบสนองหน่วยงาน อีกทั้งข้อเสนอผ่านสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติเป็นได้เพียงการส่งเสียงสะท้อนแก่รัฐบาล แต่ขาดการสานต่อดำเนินงานอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ข้อกำหนดด้านคุณสมบัติของเด็กและเยาวชนให้ต้องมีภูมิลำเนาในท้องที่ ซึ่งเยาวชนจำนวนมากไม่ได้อาศัยตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ขณะเดียวกัน การขาดการประชาสัมพันธ์อย่างเหมาะสม ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่ไม่รับรู้และขาดโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน รวมทั้งการกำหนดให้สมาชิกสภาเด็กและเยาวชนต้องมีสัญชาติไทย เยาวชนในกลุ่มชาติพันธุ์จึงไม่สามารถมีส่วนร่วมได้

ไม่แตกต่างจาก “สภานักเรียน” ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต เสนอบทความเรื่อง ระบบการศึกษากับการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม: กรณีศึกษา “กิจกรรมสภานักเรียน” พบว่าสภานักเรียนซึ่งปัจจุบันเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ระบุว่า กิจกรรมสภานักเรียนถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และมีข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเรื่อง “การมีส่วนร่วม” ของนักเรียน อาทิ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ระบุว่า “เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนปฏิบัติด้วยตนเองอย่างครบวงจร ตั้งแต่ศึกษา วิเคราะห์ ปฏิบัติตามแผน ประเมินและปรับปรุงการทำงาน โดยเน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม”  ขณะที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ระบุว่า “ให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติเองทุกขั้นตอน ได้แก่ การศึกษาวิเคราะห์ วางแผน ปฏิบัติตามแผน ประเมินและปรับปรุงการทำงาน เน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียน บริบทของสถานศึกษาและท้องถิ่น”

ในทางปฏิบัติ สภานักเรียนกลับไม่ใช่เวทีที่สร้างการมีส่วนร่วมสำหรับเยาวชน เนื่องจากการดำเนินงานอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติงานประจำปีของโรงเรียน โดยโรงเรียนจะจัดสรรงบประมาณสำหรับการทำกิจกรรมที่นำเสนอโดยสภานักเรียน รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณส่วนเดียวกันให้กับกิจกรรมตามนโยบายของทางโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ได้รับการกำหนดเป็นนโยบายจากส่วนกลาง และโรงเรียนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับภารกิจในส่วนนี้ ส่งผลให้สัดส่วนงบประมาณรวมทั้งเวลาที่นักเรียนจะทำกิจกรรมตามข้อเสนอของสภานักเรียนต้องลดลง และนักเรียนกลายเป็น “ผู้ช่วยครู” ในการทำกิจกรรมตามนโยบายจากส่วนกลางซึ่งมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติมาแล้ว นักเรียนเพียงแค่ลงมือทำเพื่อให้แล้วเสร็จเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น กิจกรรมโดยนโยบายจากส่วนกลางมักเป็นแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศ และส่วนใหญ่ไม่มีการเชื่อมโยงกิจกรรมของสภานักเรียนกับชุมชนท้องถิ่นตามที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ตอนต้นแต่อย่างใด

“เด็กเอ๋ยเด็กดี” แห่งยุค 4.0
น่าสนใจว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้การดำเนินงานด้านเยาวชนของไทยตลอดทุกยุคสมัย ซึ่งแทบทุกภารกิจล้วนกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชน ไม่เคยประสบผลตามที่ตั้งไว้ บทความ “อำนาจวัฒนธรรมของการตกแต่งนิสัยใจคอเด็กไทยให้เป็น ‘เด็กดี’” ของ กษมา สัตยาหุรักษ์ สืบค้นความเป็นมาในการ “สร้างคน” ของไทย พบว่าการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการนำวินัยในพุทธศาสนามาเป็นแนวทาง อันเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรม “เด็กดี” โดยมีตัวอย่างคำสอนทางพุทธศาสนาที่ถูกบรรจุในตำราเรียน ได้แก่ การเป็นคน “ว่านอนสอนง่าย” ซึ่งมาจากมงคลชีวิต 38 ประการ ขณะเดียวกัน แนวทางดังกล่าวก็สอดคล้องกับแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมของไทย ที่ยึดระบบ “อาวุโส” อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ระหว่างผู้มีอำนาจมากและผู้มีอำนาจน้อย สาระสำคัญของการศึกษาและการปลูกฝังค่านิยมการดำเนินชีวิตจึงเน้นการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมให้ปลอดภัย โดยการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมท่ามกลางบริบทแห่งอำนาจที่ไม่เท่าเทียม

และไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะดำเนินไปในทิศทางใด จะยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หรือผู้นำกองทัพคุมอำนาจ ความเป็น “เด็กเอ๋ยเด็กดี” กลับถูกแช่แข็งและส่งต่อผ่านยุคสมัยโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในปี พ.ศ.2498 สหประชาชาติมีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นการขยายแนวคิดการสนับสนุนให้เด็กได้ใช้สิทธิในการแสดงออก รัฐบาลไทยมีการจัดงานวันเด็กขึ้นเป็นครั้งแรก ทว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงาน คือมุ่งสื่อสารให้เด็กได้รู้จัก “หน้าที่ของตน” และ “อยู่ในระเบียบวินัยอันดี” ขณะที่หนังสือวันเด็ก ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2502 ถือเป็นตัวแทนในการดำรงอยู่ของอุดมการณ์ของรัฐที่มีต่อ “ความเป็นเด็กดี” อย่างชัดเจนตลอดระยะเวลา 60 ปี ปัจจุบัน ยังมีการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยระบุคุณลักษณะของการเป็นเด็กไทย คือมีความประพฤติดี มีระเบียบวินัย เชื่อฟังพ่อแม่ และครูอาจารย์

ความคาดหวังต่อเยาวชนแบบดั้งเดิม ยังคงปรากฏอย่างชัดเจนในรัฐบาลที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ด้วย “ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ” เนื้อหาแทบไม่ต่างจาก “หน้าที่ของเด็กไทย” ที่ถูกบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ.2498 ชวนให้ตั้งคำถามว่าขณะที่ทักษะและองค์ความรู้ที่จำเป็นของยุคสมัย ได้แก่ การคิด วิเคราะห์ และตั้งคำถาม เป็นสิ่งที่ไปกันได้กับการเป็นเด็กดีที่ต้อง “เชื่อฟัง ท่องจำ และทำตาม” สักเพียงใด

“พลังเยาวชน” ไม่อาจถูกทำลาย
ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้เยาวชนได้มีการพัฒนาตนเองและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมอย่างเหมาะสม กระนั้น กลับพบว่ามีหลายกรณีที่แสดงให้เห็นว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่มีพร้อมทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจและความสามารถในหลากหลายแง่มุม อีกทั้งยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า ในเกือบทุกกรณี การสร้างสรรค์ผลงานของเยาวชนล้วนเกิดขึ้นบนพื้นที่นอกบริบทของห้องเรียนและระบบกิจกรรมที่เป็นทางการ

โสภิดา วีระกุลเทวัญ นำเสนอบทความ การสร้างสรรค์นวัตกรรม: กรณีศึกษาประสบการณ์และมุมมองของเยาวชน โดยการสัมภาษณ์เยาวชน 12 คน ช่วงอายุระหว่าง 17-24 ปี ที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์จำนวน 8 โครงการ ประกอบด้วยทั้งกิจกรรมการสร้างโครงงานทางวิทยาศาสตร์ การจัดทำแอพพลิเคชันเพื่ออำนวยความสะดวกในการหางานสำหรับคนพิการ ไปจนถึงการเปิดร้านขนมออนไลน์โดยเยาวชนในกลุ่มดาวน์ซินโดรม เยาวชนทุกคนล้วนสื่อสารประเด็นอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดและมุมมองที่เป็นตัวของตัวเอง พร้อมไปกับการให้ความสนใจกับการลงมือทำเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

จากกรณีศึกษาทั้ง 8 โครงการ พบว่าเยาวชนแต่ละคนมีภูมิหลังของครอบครัวและเส้นทางการเรียนรู้แตกต่างกัน เยาวชนจำนวนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในการค้นหาตัวเองเพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ส่วนเยาวชนอีกกลุ่มถูกปฏิเสธ หรือขับออกจากระบบการศึกษา สิ่งที่มีร่วมกันคือ เยาวชนทุกคนมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่สามารถเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง และสร้างสรรค์งาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มในการนำให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะอันเป็นพื้นฐานสำหรับการค้นหาตัวเองและการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในลำดับถัดไปอย่างชัดเจน

พลังในการริเริ่มสร้างสรรค์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่งปรากฎให้เห็นในไร่นาซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ของความลำบากยากจน บทความ เส้นทางของเกษตรกรรุ่นใหม่: ความคิดความเชื่อบนทางเลือกวิถีอินทรีย์ โดย พีระพล เวียงคำ ติดตามคนรุ่นใหม่หลายรายที่หันหลังให้กับงานประจำในการเป็นลูกจ้างในเมืองใหญ่ เพื่อไปใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรในแนวทางเกษตรอินทรีย์ มีทั้งคนที่มีต้นทุนจากพื้นฐานการทำเกษตรกรรมของครอบครัว และคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหลากหลายแหล่งที่มา เนื้อหาที่ได้จากการสัมภาษณ์เกษตรกรรุ่นใหม่ ทำให้เห็นถึงสิ่งที่มีร่วมกัน คือความไม่พอใจต่อเกษตรกรรมใช้สารเคมีซึ่งยังคงเป็นแนวทางหลัก เนื่องจากพวกเขาตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน กระนั้น การเลือกที่จะทำเกษตรอินทรีย์เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาแนวทางและทดลองสิ่งใหม่ เส้นทางการเป็นเกษตรกรอินทรีย์ของทุกคนจึงเป็นการพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ซึ่งทุกคนล้วนมีจิตใจเปิดกว้างพร้อมรับองค์ความรู้ เทคโนโลยีซึ่งมีความแตกต่างจากที่คนส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ รวมทั้งเทคโนโลยีทางสังคม โดยเกือบทุกกรณีศึกษาให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในหมู่เกษตรกรที่มีความสนใจในแนวทางเดียวกันอีกด้วย

พื้นที่ทางการเมืองของเยาวชน อยู่ที่ไหน ?
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจตั้งแต่ครั้งอดีต เยาวชนคนรุ่นใหม่ถูกคาดหวังให้มีบทบาทในการชี้นำและสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ขึ้นในสังคม ในบทความ การมีส่วนร่วมของเยาวชนภายในพรรคการเมือง: เมื่อต้นกล้าแตกหน่อ ศิววงศ์ สุขทวี นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “ปีกเยาวชน” (Youth Wings) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนขึ้นในพรรคการเมือง เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ของพรรคให้หยั่งรากลึกในตัวคนรุ่นใหม่ พร้อมกับคาดหวังว่ากลุ่ม “เลือดใหม่” ในพรรคจะมีการริเริ่มและผลักดันการเปลี่ยนแปลงของรัฐ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเยาวชนมักจะมีความคิดและอุดมการณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งอาจแตกต่างจากของพรรคที่ตนสังกัด และถูกผู้ใหญ่ในพรรคมองว่า “สุดขั้ว” จนเกินไป และเมื่อโครงสร้างการจัดการภายในพรรคไม่เปิดพื้นที่ให้กับปีกเยาวชนได้มีบทบาทอย่างเพียงพอ ประกอบกับการขยายตัวของพื้นที่ทางการเมืองทางตรงที่เปิดกว้างให้เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมโดยมีข้อจำกัดน้อยกว่า จึงมีแนวโน้มที่เยาวชนในยุคหลังหันมาปฏิบัติการนอกระบบโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นทางการเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการเมืองไทยร่วมสมัย พรรคการเมืองที่มีแนวคิดและการดำเนินงานในรูปแบบของ “ปีกเยาวชน” ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ที่มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเยาวชน เมื่อปี พ.ศ.2549 ขณะที่พรรคเพื่อไทย มีการจัดตั้งสถาบันเยาวชนเพื่อไทย ในปี พ.ศ.2556 แต่พากันยุติบทบาทไปหลังการรัฐประหาร ในปี พ.ศ.2561 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการยื่นขอแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง มี 2 พรรค ที่มีความพยายามจัดตั้งปีกเยาวชนขึ้นอย่างเป็นทางการ ได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคสามัญชน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่อย่าง พริษฐ์ วัชรสินธุ มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม พบว่า เยาวชนในพรรคการเมืองร่วมสมัยของไทยยังมีข้อจำกัดจากกระบวนการทำงานของพรรคกับเยาวชนที่ขาดความชัดเจนและต่อเนื่อง รวมทั้งการต้องเผชิญแรงกดดันจากอคติของสังคมที่มีต่อพรรคการเมือง บทบาทของเยาวชนในพรรคการเมืองของไทยจึงถูกมองเป็นเรื่องความสนใจส่วนบุคคล และพรรคการเมืองยังไม่สามารถเป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้และมีบทบาทอย่างเป็นระบบมากนัก

วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย แสดงความสนใจกับเยาวชนที่มีปฏิบัติการนอกระบบสถาบันการเมือง ผ่านการนำเสนอบทความเรื่อง เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบทางตรง โดยการสัมภาษณ์เยาวชนนักกิจกรรม 8 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีภูมิหลังทางสังคม วัฒนธรรม และพื้นที่ปฏิบัติการแตกต่างกัน กระนั้น ลักษณะร่วมที่ค้นพบและน่าสนใจไม่น้อย คือการที่ทุกกลุ่มมีการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองในเชิงประเด็น ขณะเดียวกันก็เป็นการเรียนรู้ท่ามกลางบริบททางสังคมที่เปิดกว้างด้วยเทคโนโลยีสื่อสารไร้พรมแดน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมให้เยาวชนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะให้คุณค่ากับอุดมการณ์สากลด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเท่าเทียมทางสังคม

อีกประสบการณ์ร่วมที่สำคัญของกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ ได้แก่ การที่พวกเขาไม่มีที่ทางในโครงสร้างเชิงสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นสภานักเรียน สภาเด็กและเยาวชน ไปจนถึงพรรคการเมือง ด้วยสาเหตุจากการถูกประทับตราว่าเป็น “เด็กนอกคอก” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เยาวชนเบือนหน้าหนีจากการมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ ไปสู่การค้นหา “ทางเลือกใหม่” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก จิตราภรณ์ วนัสพงศ์ นำเสนอบทความ “บนเส้นทางการแสวงหา รูปแบบใหม่ ของการมีส่วนร่วมของเยาวชน” โดยชี้ให้เห็นถึงโจทย์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน แม้จะมีข้อมูลชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆ หันมาจัดทำนโยบายเยาวชนกันมากขึ้น แต่ความท้าทายคือ ทำอย่างไรนโยบาย โครงสร้าง และกิจกรรม ที่ภาครัฐจัดให้มีขึ้นจะดึงดูดเยาวชนให้เข้าร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐมักมีลักษณะที่จำกัดคุณสมบัติของผู้ที่เข้าร่วม โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มเยาวชนอย่างเพียงพอ กิจกรรมส่วนใหญ่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา ฝึกอาชีพ ที่จะนำไปสู่การจ้างงาน รวมทั้งการวางกรอบกิจกรรมให้อยู่ในประเด็นที่ไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างอำนาจซึ่งเป็นที่ทางการดำรงอยู่ของผู้ใหญ่

ในอีกด้าน พบว่ากิจกรรมที่เยาวชนนิยมเข้าร่วม ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่ภาครัฐพยายามดำเนินการ โดยกิจกรรมที่เยาวชนให้ความสนใจมีลักษณะร่วมที่สำคัญ ได้แก่ เป็นกิจกรรมที่หลีกหนีจากระบบและโครงสร้างที่เป็นทางการ มีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัย ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มตามความสนใจแบบเป็นครั้งคราว ไม่ใช่กลุ่มถาวร รวมทั้งให้ความสำคัญกับการ “สะท้อนตัวตน” (Self-expression) เช่น การแสดงความคิดเห็น ความเชื่อ แสดงตัวตนและวิถีชีวิตของตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ทุกฝ่ายพยายามมองหา คือ “นวัตกรรม” ที่จะสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับเยาวชนทั้งด้านการเมืองและการเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างไรก็ตาม จิตราภรณ์เน้นย้ำว่า “นวัตกรรม” ต้องไม่ใช่ “เป้าหมาย” แต่ควรเป็น “เครื่องมือ” เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ซึ่งหลายฝ่ายต้องร่วมกันคิดและสร้างให้เกิดมีขึ้น

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish