
เรามักจะคุ้นชินกับคำว่า ‘การศึกษา (Education)’ และ ‘การเรียนรู้ (Learning)’ แต่ถ้าหากลองมองหาคุณค่าและความหมายอีกครั้ง จะพบว่ามีความเหมือนและต่าง ทั้งยังทำงานร่วมกันอยู่เสมอ
การศึกษา (Education) เป็นการเรียนรู้อย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาและมีการกำกับดูแล
การเรียนรู้ (Learning) จะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติจากการเห็นหรือสังเกตสิ่งต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์ในชีวิตที่เกิดขึ้นได้เสมอ มีความต่อเนื่องและยาวนาน1
แต่การศึกษาในโครงสร้างสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียม ก็สะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพของระบบการศึกษาในประเทศไทยปัจจุบันนี้มีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่นโยบายการแก้ปัญหาโดยรวม ก็ยังไม่สามารถทำงานได้ดีกับบริบทที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
เมื่อขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นก็จะเห็นว่า ทุกขณะแห่งความผันแปรในยุคโลกาภิวัฒน์เช่นนี้ มักจะมาพร้อมกับ ‘วิกฤตการเรียนรู้ (learning crisis)’ อยู่เสมอ โดยเฉพาะในประเทศทีมีอัตราความยากจนสูงและกำลังพัฒนา2
จึงเลี่ยงไม่ได้ว่า “เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางของสังคมไทยยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และยังขาดแคลนพื้นที่เรียนรู้ที่เอื้อต่อการเสริมสร้างพัฒนาการตามช่วงวัย”
ต่อลมหายใจใน ‘พื้นที่เรียนรู้ (Learning Space)’
พื้นที่เรียนรู้อาจมีอยู่เพื่อต่อลมหายใจการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน ที่เติบโตมากับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง ความผันผวนที่เกิดขึ้นเสมอในโลกสมัยใหม่ ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ จึงเป็นองค์ประกอบของพื้นที่เรียนรู้ เพื่อการเชื่อมต่อพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างการเติบโตควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรม เพื่อให้เขาสามารถกลับมาสู่การเชื่อมโยงภายในระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน สังคม และโลกของเราได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคม เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นในอนาคต หนึ่งในทฤษฎีด้านการเรียนรู้ที่มีมาอย่างยาวนานอย่างคอนสตรัคติวิสต์ (Contructivist Theory) เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการเรียนรู้ใหม่ๆ รวมถึง ‘การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลาย (Active learning)’ มีแนวคิดที่เชื่อว่าผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงหรือสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์และลงมือปฏิบัติท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นครูจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็นผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มขึ้น และสามารถเรียนรู้ข้อมูลใหม่จากประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ
“ ดังนั้นพื้นที่การเรียนรู้จึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป ”
5 พื้นที่เรียนรู้ ทางเลือกทดลองของการศึกษานอกห้องใน ‘โครงการคนรุ่นใหม่กับการออกแบบพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อสังคมสุขภาวะ (Community-based Learning space)’
เมื่อพรมแดนของการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน การเรียนรู้อย่างอิสระก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่อย่างไร้ขอบเขต และเมื่อพื้นที่ทั้ง 5 ขยับเข้ามาทดลองทำงานร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการพัฒนา การขับเคลื่อน และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับบริบท รวมถึงศักยภาพของเด็ก และเยาวชนในอนาคตที่กำลังจะมาถึง
‘ การเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based learning) ’ กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการออกแบบและจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน


พื้นที่บ้านห้วยขมิ้น จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนทางด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่คนรุ่นใหม่มีบทบาทในชุมชน ทั้งในบทบาทของผู้ใหญ่บ้าน และศูนย์เด็กเล็ก ด้วยแนวคิดการพัฒนาชุมชน คุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน โดยมีเป้าหมายเรื่องการคงไว้ซึ้ง ‘วิถีเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน’


พื้นที่บ้านแพะริมน้ำ (ดอยบวบ) จ.ลำพูน เป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนเรื่องแหล่งผลิตอาหารบนฐานนิเวศน์แม่ทา SE และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ เยาวชน และผู้ใหญ่ร่วมด้วยช่วยกันเชื่อมโยงตุ้นทุนที่มี ด้วยแนวคิดของการพัฒนาทักษะชีวิตผ่านการค้นหาตนเอง ให้สามารถเข้าใจชุมชนและสังคม โดยมีภาพฝันถึงส่วนประกอบของอุโมงค์ความคิด ความหมายของชีวิต ภายใต้เสรีภาพและความเท่าเทียม


พื้นที่บ้านหนองเลา และบ้านธาตุภูซาง จ.พะเยา เป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ การเกษตร และแหล่งผลิต ผ่านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ โดยผู้ใหญ่ (กลุ่มอาชีพ) และ คนรุ่นใหม่ (ผู้จัดการเรียนรู้) บนฐานของชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยมีพื้นที่การเล่นให้เรียนรู้ มี Smart Child ที่กล้าจะพัฒนาตัวเอง และนำไปสู่การรู้จักความรักในตนเอง ชุมชน สังคม และโลกใบนี้

พื้นที่บ้านตามุย และบ้านบะไห จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นเรียนรู้ทางธรรมชาติ ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงกับแม่น้ำโขง ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ด้วยคนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ (ผู้เฒ่าผู้แก่) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน โดยเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านระบบนิเวศ อาชีพ และศิลปะเพื่อการดำรงชีวิต ในพื้นที่ด้วยความรักความเข้มเเข็งของคนในชุมชน และสังคม ภายใต้ความยุติธรรม เสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบ ที่จะช่วยให้ปัญหาด้านทรัพยากรที่เกิดขึ้นในพื้นที่คลี่คลาย


พื้นที่บ้านปากลัด จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่แห่งการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างมโนราห์ไว้ได้ด้วยคนรุ่นใหม่ที่คอยดูแลประคับประคองความคิด จิตใจของเยาวชน ให้มีความรักใคร่กลมเกลียว ผูกพันเหมือนพี่ดูแลน้อง โดยการบูรณาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างศิลปะมโนราห์ และการดำรงชีพควบคู่ไปกับเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือในการออกแบบกิจกรรม ที่มีภาพฝันถึงการรับฟังเสียงของประชาชนจากภาครัฐ
แต่ก่อนเรียนรู้เราต้องรัก (Loving) ?
ชาวอียิปต์โบราณและชาวกรีกตั้งข้อสันนิษฐานว่าสติปัญญา ความรู้สึก และอารมณ์เป็นหน้าที่ของหัวใจ แต่เมื่อประมาณศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช นักปรัชญาและแพทย์ชื่อ Alcmaeon of Croton ได้เสนอว่าสมองเป็นที่นั่งของจิตใจ ซึ่งควบคุมสติปัญญา เช่นเดียวกับประสาทสัมผัส3
สิ่งมีชีวิตอาจถูกสร้างขึ้นมาพร้อมการเรียนรู้โดยธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากการเรียนรู้จะคงอยู่คู่กับเราไปตลอดชีวิต สำหรับเด็กและเยาวชน การได้ลงมือทำเป็นหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีการสนับสนุนที่ดีจากผู้ใหญ่ จะช่วยเสริมสร้างความรักในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ได้ ซึ่งเด็กและเยาวชนที่ถูกปลูกฝังให้รักในการเรียนรู้ พวกเขาจะสามารถเข้าใจในตัวเองได้ดี และอาจนำไปสู่ความสามารถที่จะมีความรักทั้งกับ ตนเอง คนรอบข้าง ชุมชน สังคม และโลกใบนี้
เมื่อผลผลิตของปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้กระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาอย่างเดียว ไม่เพียงพออีกต่อไป ดังนั้นการเพิ่ม ‘พื้นที่เรียนรู้ทางเลือก’ ให้กับเด็กและเยาวชน อาจเป็นหนึ่งในข้อต่อสำคัญของการแก้ไขปัญหาด้านการเรียนรู้และการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยได้
แต่ในขณะเดียวกันการขับเคลื่อนด้านนโยบายก็มีส่วนสำคัญที่จะพาพวกเราทุกคนไปถึงความฝันที่กำลังก่อร่างอยู่ได้เช่นเดียวกัน
หากคุณคือคนที่สนใจเรื่องราวของการเรียนรู้หรือการศึกษาของเด็กและเยาวชนในไทย โปรดติดตามและให้การสนับสนุน โครงการคนรุ่นใหม่กับการออกแบบพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อสังคมสุขภาวะ (Learning Space) – มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
–
“ เพราะเราเชื่อว่า คนรุ่นใหม่ (Key Actor) สามารถเป็นผู้ร่วมสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายเพื่อเด็กและเยาวชนมีทางเลือกในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม ”
–
อ้างอิง
1 Surbhi S. (2021). Difference Between Learning and Education. Retrived Oct 17, 2022, from https://keydifferences.com/difference-between-learning-and-education.html
2 กานต์ธีรา ภูริวิกรัย. (2564). การศึกษาโลกในศตวรรษที่ 21 : ระบบยังเหลื่อมล้ำ การเรียนรู้ยังวิกฤต. สืบค้นเมื่อวัน 16 ตุลาคม, 2565, จากเว็บไซต์ https://www.eef.or.th/global-education/
3 Wickens, Andrew P. (2015) A History of the Brain: From Stone Age Surgery to Modern Neuroscience. London: Psychology Press. Retrived Oct 17, 2022, from https://edcrocks.com/2021/03/03/history-of-learning-and-learning-theories-looking-back-to-move-forward/