พูดคุยกับภูมิ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 17 ที่ทำงานร่วมกับ Project เสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค ปัญหาที่คล้ายคลึงกันแม้จะต่างบริบท รวมถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในสายตาของคนที่ไม่ได้มองโลกในแง่ดีซักเท่าไหร่นัก

ช่วยแนะนำตัวให้เราฟังหน่อย ว่าตอนนี้ทำงานอยู่ที่ไหน และทำประเด็นอะไรอยู่บ้าง

” ชื่อ ภูมิ ครับ ตอนนี้ทำงานอยู่ที่ Project เสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครับ งานของเราจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับ NGO ต่างประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซียหรือใกล้เคียงก็ตาม ได้เข้ามาพูดถึงประเด็นที่ทำอยู่ หรือแม้แต่ปัญหาในพื้นที่ เหมือนเป็นวงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นไล่ไปตั้งแต่การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนครับ “

ทำไมถึงเข้ามาสมัครเป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน

” ก่อนที่ผมจะมาทำงานอาสานักสิทธิฯ ผมเคยทำงานที่โลตัสมาครับ งานก็จะเป็นการใช้แรงงานแล้วก็คิดเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วผมก็รู้สึกว่าอยากจะทำงานอะไรบางอย่างที่มันได้ค้นหาตัวเอง แล้วก็มีเพื่อนคนนึงแนะนำมาว่า ให้ลองมาทำที่นี่สิ มันมีองค์กรให้เลือกเยอะเลยนะ เผื่อจะได้เรียนรู้อะไร ผมก็เลยมาสมัครครับ “

ประเด็นด้านสิทธิมีความน่าสนใจอย่างไร แล้วมันเชื่อมโยงกับสิ่งที่ทำอยู่ยังไงบ้าง

” ประเด็นด้านสิทธิผมว่ามันมีความน่าสนใจครับ แต่ว่าถ้าจะเชื่อมโยงกับการทำงานของผมยังไง การทำงานของโปรเจคเสวนา คือเราจะเอาประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพราะในทุกประเทศมีการละเมิดสิทธิ์ แต่มันจะมีความสลับซับซ้อนของปัญหาหรือมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเด็น อย่างเช่นที่พม่าหลังจากเกิดการรัฐประหาร กองทัพพม่าก็ไล่ฆ่าคน ยึดที่ดินเผาบ้าน ส่วนในลาวความรุนแรงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน มันจะเป็นการสร้างเขื่อน การให้สัมปทานที่ดินป่าไม้ ที่ลาวชาวบ้านมีการดำรงชีวิตด้วยการเก็บหาของป่า ทีนี้พอกลุ่มนายทุนเข้ามา มันก็พรากเอาทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้หรืออะไรหลาย ๆ อย่างไป มันไม่อุดมสมบูรณ์ พอมันไม่อุดมสมบูรณ์แบบนี้ คนเขาก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากขึ้น ส่วนในกัมพูชาก็เป็นเรื่องการให้สัมปทานที่ดิน คือระบบที่ดินของกัมพูชาจะเป็นของรัฐ ประชาชนจะเป็นแค่ผู้เช่าและไม่มีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของ รัฐจะยึดตอนไหนก็ได้ “

” ส่วนประเด็นด้านสิทธิในไทยผมคิดว่ามันมีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับปัญหาของในแต่ละพื้นที่ เช่นวันนี้ผมได้ฟังเรื่องปัญหาที่ดินหรือแม้แต่เรื่องสัญชาติ แต่ส่วนที่หนักสุดในไทยจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เช่น เราไม่สามารถพูดถึงสถาบันกษัตริย์เพราะเราจะโดนข้อหามาตรา 112 ได้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะพูดอะไรก็ได้แต่ในประเทศนี้ไม่สามารถทำได้ และผมมองว่าเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้มันขึ้นอยู่กับบางเรื่อง คือบางเรื่องอาจจะมี แต่บางเรื่องก็ไม่มี “

ถ้าเกิดให้ลองสะท้อนในมุมของเราสี่เดือนที่ผ่านมา ประเด็นด้านสิทธิที่เราเจอ ประเด็นไหนที่เรารู้สึกกับมันมากที่สุด

” ผมรู้สึกกับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากครับ มันอาจจะกว้างก็จริงแต่ท้ายที่สุดมันเป็นการละเมิดมนุษย์ครับ ไม่ว่าจะด้วยความรุนแรง ด้วยนโยบายหรือด้วยอะไรก็แล้วแต่ ในส่วนที่สะเทือนใจที่สุดผมคิดว่าน่าจะเป็นที่เมียนมาร์ครับ คือละเมิดสิทธิ์ไม่พอคุณไปพรากชีวิตเขาด้วย อันนี้ผมรับไม่ได้อย่างถึงที่สุดครับ “

ถ้าได้พูดกับคนที่ยังไม่รู้เรื่องประเด็นสิทธิในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยากจะพูดอะไรกับเขาบ้าง

” ผมอยากจะบอกเขาว่าปัญหาในแต่ละประเทศมันก็คล้าย ๆ กัน เพียงแต่ในบริบทที่ต่างกัน ก็มีการรับมือหรือการแก้ไขปัญหาที่มีความแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่เรามีร่วมกันคือมันคล้ายกันมากเลยนะครับ เกี่ยวกับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการเมือง ทุกที่มีเหมือนกันหมด ผมแค่อยากให้คนรุ่นผมหรือใครก็ตามที่มาฟัง ได้มองรอบ ๆ ไม่ใช่แค่ประเด็นในพื้นที่ของตัวเอง อยากจะให้มองรอบ ๆ ว่าเรามีปัญหาร่วมกัน ถ้ามีโอกาสเรามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันไหมว่าคุณเจอมายังไง คุณรับมือยังไง เผื่อมันจะช่วยเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ครับ “

ถ้าเกิดให้มองสถานการณ์ด้านสิทธิปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต คิดว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป

” อันนี้ผมเป็นคนไม่ได้มองโลกในแง่ดีเท่าไหร่นะครับ ตราบใดก็ตามที่ประชาชนยังไม่สามารถที่จะรวมกัน ถึงแม้จะมีการรวมตัวกันเยอะจนสามารถที่จะล้มรัฐบาลไปได้ แล้วด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างที่ผมประเมิน ผมคิดว่าสถานการณ์หรือแนวโน้มสิทธิที่มันจะแย่ลงไปเรื่อย ๆ คือท้ายที่สุด ถ้าฝั่งรัฐบาลหรืออะไรก็ตาม เขาแค่ทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชาชนอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิเลยก็ได้ ขอแค่เขาอยู่ได้ แต่ผมคิดว่าจริง ๆ ที่คนออกมาเรียกร้อง เขาแค่อยู่ไม่ได้ เขาถูกละเมิดจนเขาไม่สามารถที่จะอยู่ได้ คือกูขอตายดีกว่า ขอออกมาดีกว่า “

อยากจะบอกอะไรกับคนที่ไม่รู้จักคําว่า สิทธิมนุษยชน

” ผมว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ เราเป็นมนุษย์ เรามีค่ามากกว่าที่เรารู้ คือก่อนที่ผมจะรู้จักกับสิทธิมนุษยชนผมยังมีความคิดว่า ทำสิ่งนั้นดีไหม กฎหมายมันมีข้อห้ามอะไรไหม แต่พอผมรู้จักกับสิทธิมนุษยชน มันปลดล็อคหลาย ๆ อย่าง ทั้งวิธีการคิด เสรีภาพในการคิดอะไรแบบนี้ เราสามารถทำได้ทุกอย่าง “

จะทำงานกับประเด็นด้านสิทธิยังไงต่อในรูปแบบของเราเอง

” ตอนนี้ผมก็ยังมองไม่ออกเหมือนกัน แต่ประเด็นหนึ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวผมก็คือ ผมไปหลายที่และรับรู้ข้อมูลเยอะมาก รับมาอย่างเดียว แต่ผมไม่แน่ใจว่าการทำงานของผมมันช่วยเหลือสังคมยังไง อันนี้ผมตั้งคําถามตลอดเลยว่า การทำงานของผมกับโปรเจคเสวนา ไปลงพื้นที่ และจัดพื้นที่ให้คนมาคุยกัน เราตอบโจทย์สังคมจริง ๆ เหรอ เราให้อะไรกับสังคมจริง ๆ เหรอ ส่วนในอนาคต คิดว่าถ้าได้ทำต่อก็คงจะเทรนอาสาสมัครเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ์และเรื่องปัญหาในพื้นที่ครับ “

ติดตามพวกเราได้ที่ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | Thai Volunteer Service (TVS)

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish