พูดคุยกับอุ้ม อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 17 ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กับสถานการณ์ในประเทศที่ยังคงคลุมเครือ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แต่ก็ยังเชื่อว่าในอนาคตจะมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้น หากทุกคนรู้จักคุณค่าความหมายของ สิทธิมนุษยชน ก็อาจทำให้มีอิสระ และตระหนักในคุณค่าของตัวเองมากขึ้นได้

ถ้าย้อนกลับไป ทำไมถึงเลือกที่จะมาสมัครเข้าโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน

” ตอนนั้นมีพี่กับอาจารย์ที่รู้จักเขาแนะนำมาในช่วงที่เรายังว่างงาน คือคนรอบตัวเราก็มีไปสอบเป็นข้าราชการบ้าง ทำนู่นนี่นั่นบ้าง แต่เรายังไม่อยากเข้าระบบ ยังอยากหาประสบการณ์แล้วโครงการนี้มันก็เป็นเหมือนการฝึกงาน เรารู้สึกว่าเรายังไม่มีประสบการณ์มากขนาดที่จะไปสมัครที่อื่น ก็เลยมาลองดูดีกว่าและอีกอย่างเราเองก็สนใจด้านสิทธิ์ด้วย ได้ประสบการณ์ด้วย มีค่าตอบแทนด้วย ก็เลยอยากมาสมัครโครงการนี้ค่ะ “

คิดว่าประเด็นด้านสิทธิมีความน่าสนใจอย่างไร

” จริง ๆ มันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเราในทุกวันค่ะ แต่เหมือนบางทีเวลาเราเรียนหรือว่าเราคุยกัน เรารู้สึกว่ามันเป็นประเด็นที่นามธรรมมาก อยู่ไกลตัวมาก เอาง่าย ๆ อย่างเราเป็นคนหลากหลายทางเพศ เรื่องสมรสเท่าเทียมหรือเรื่องสิทธิบางอย่าง เราอาจจะมองว่าทุกวันนี้มันก็เท่าเทียมกันอยู่แล้วอะไรอย่างนี้ สังคมก็ยอมรับแล้วแต่ในบางเรื่อง การใช้สิทธิ์การแต่งงาน การจดทะเบียนครอบครัว หรืออะไรต่าง ๆ บางทีก็ยังโดนละเมิดอยู่หรือบางทีก็ยังโดนเลือกปฏิบัติอยู่ ถ้าไม่ใช่ที่เป็นประเด็นกฎหมายก็อาจโดนเลือกปฏิบัติ ก็เลยสนใจอยากมาจับต้อง อยากรู้ว่ามันทำได้จริงไหม “

อยากให้ลองขยายว่า บทบาทหน้าที่ในประเด็นที่ทำอยู่เป็นยังไงบ้าง

” คือจริง ๆ พี่เขายังไม่ได้ให้ทําอะไรเป็นหลัก เขาก็ให้วิ่งดูทุกโครงการ เพื่อที่เราจะได้ฝึกดูด้วยว่าแต่ละอันมันทำยังไงประเด็นไหน แต่ว่าหลัก ๆ ตอนนี้ที่ไปช่วยดูคือเรื่องที่กำลังจะเสนอการขับเคลื่อนร่าง พรบ. รับรองอัตลักณ์ทางเพศค่ะ แล้วก็มีไปทำงานกับ กทสช. เรื่องคำที่ควรใช้ในสื่อ เพราะว่าที่มูลนิธิเขาทำคู่มือกับสื่อ เราอยากจะผลักดันให้มันเป็นรูปธรรมมากขึ้น ให้สื่อตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น และโครงการอื่น ๆ ที่ตามมาอีกเช่น หน้าที่ต่อไปที่จะได้ทำแบบจริงจังแล้วก็คือ จะทำ Web based Application รับเรื่องร้องเรียน อย่างเช่นการละเมิดสิทธิ์คนข้ามเพศในสื่อ เรื่องเกณฑ์ทหาร หรือโดนเลือกปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุแห่งเพศในการสมัครงาน เราจะรวมเป็นช่องทางเดียว แล้วเราที่เป็นแอดมิน Web based ก็จะมอนิเตอร์เรื่องเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อไปค่ะ “

ถ้าเกิดให้ลองสะท้อนในมุมของเราสี่เดือนที่ผ่านมา ปัญหาด้านสิทธิที่เราเจอ มันมีปัญหาอะไรบ้าง เคสไหนบ้างที่เรารู้สึกกับมันมากที่สุด

” ตอนนี้มันอาจจะไม่ได้มีเรื่องที่เราทัชกับมันมากค่ะ เพราะเรารู้สึกว่าเราดูหลายอย่างแล้วเราก็สนใจทุกอย่างด้วย ยังไม่มีอันไหนที่ทําเฉพาะเจาะจง แค่รู้สึกว่ามันเป็นประเด็นที่ก่อนหน้านี้เราเป็นคนนอกที่ทำได้เพียงแค่มอง เราใช้คำว่าเราอินกับประเด็นที่เราสนใจมากขึ้นดีกว่า ในทุก ๆ งานที่เข้าไปช่วยเขาเลย เราเคยบอกกับองค์กรว่าเราเป็นแค่คนภายนอก เราทำได้แค่เสนอความคิดเห็น เสนอชื่อ แล้วก็ไปลงชื่อให้ แต่ตอนนี้พอเราได้เข้ามาจับข้างในแล้ว ได้เข้ามาลงมือทำแล้ว รู้สึกว่าเราน่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนอะไรได้มากกว่าแค่ให้ความคิดเห็นหรือลงชื่อร่างกฎหมายเฉย ๆ แต่นี่คือเข้ามาทำงานเป็นฟันเฟืองนึงจริง ๆ “

” ในส่วนของปัญหา ตอนนี้เราอาจจะยังรู้ไม่ลึกมากพอในเรื่องที่ทำมากกว่า ตอนแรกก็คิดว่าเป็นประเด็นที่สนใจไม่น่าจะยาก แต่พอเข้าไปทำจริง ๆ แล้ว มันมีเอกสาร มีรายละเอียด มีข้อมูลที่ยังต้องอ่านต้องศึกษาเพิ่มเติม เรารู้สึกว่าเรามีประสบการณ์และความรู้น้อย อยากเก่งขึ้นเพื่อที่จะช่วยงานประเด็นให้ได้มากกว่านี้ “

ถ้าเกิดให้มองสถานการณ์ด้านสิทธิปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต คิดว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป

” เราว่าประเด็นสิทธิในบ้านเรามันค่อนข้างดูคลุมเครือค่ะ มันเหมือนมีคนพยายามผลักดันขับเคลื่อนมาตลอด แต่มันก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แต่เรามองว่าในอนาคตมันน่าจะมีความก้าวหน้า บางอย่างอาจจะผ่านไปได้ บางประเด็นอาจจะยังผ่านไม่ได้ แต่เราเชื่อว่ายิ่งมาเจอเพื่อน ๆ ที่ มอส. ยิ่งได้มาทำตรงนี้ เรารู้สึกว่ามันยังมีคนมีไฟ ยังมีเรา มีเพื่อนคนอื่น ประเด็นมันน่าจะถูกผลักไปได้อีกข้างหน้า ต่อให้มันช้าหรือกำลังพัฒนาอยู่แต่มันก็จะไม่หยุดนิ่ง และจะยังไปต่อแน่ “

ถ้าเกิดมีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่ไม่เข้าใจด้านสิทธิ อยากจะคุยกับเขายังไงบ้าง

” เราไม่รู้ว่าบอกแล้วเขาจะเข้าใจไหมแต่เราอยากจะบอกเขาว่า มันอาจเป็นคําที่นามธรรมมาก ดูเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่เราอยากจะบอกว่ามันเป็นเรื่องง่าย ๆ พื้นฐานในชีวิตประจำวันเลยค่ะ ตั้งแต่เกิดมา แม้กระทั่งในครอบครัวหรือในโรงเรียน บางคนอาจจะเคยชินกับเรื่องระบบอาวุโสบ้านเราที่โดนกดทับมาตลอด เราอยากจะบอกคุณว่า จริง ๆ ถ้าคุณรู้จักคำนี้หรือสนใจคำนี้ ในชีวิตคุณจะเป็นอิสระมากขึ้นและเราจะตระหนักในคุณค่าของตัวเองมากขึ้น และเราก็จะเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้นด้วย “

จะทำงานกับประเด็นด้านสิทธิยังไงต่อในรูปแบบของเราเอง

” เรายังคิดไม่ออกเลยว่าจะทำแบบไหนต่อ แต่ว่าอาจจะทำกับองค์กรต่อแล้วก็ถ้ามีความสามารถ มีประสบการณ์มากพอคงเขียนขอทําโครงการสักอย่างนึงค่ะ จริง ๆ อยากจะไปเผยแพร่ให้กับมหาลัย รุ่นน้อง หรือคนที่บ้าน เรารู้สึกว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ถ้าพูดในกรุงเทพหรือที่ทำงาน คนก็ตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากขึ้นแล้ว แต่รู้สึกว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดคนยังเข้าไม่ถึงเรื่องนี้ ก็คงอาจจะเอาไปกระจาย เผยแพร่ พูดต่อ หรือถ้าทำสื่อทำอะไรออกไปได้ก็คงทำค่ะ “

ติดตามพวกเราได้ที่ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | Thai Volunteer Service (TVS)

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish