พูดคุยกับกานต์ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 17 ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในช่วงของการช่วยเหลือกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ ปัญหาของการขอสัญชาติและการทำงานของรัฐไทยในปัจจุบัน
ทำไมถึงเลือกเข้ามาเป็นอาสาสมทบในโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน
” เท้าความตอนแรกคือ พี่ไผ่ เคยเป็นอาสาสมัครนักสิทธิ พี่ไผ่ก็เลยแนะนำ และอีกอย่างในมูลนิธิก็มีรุ่นน้องประมาณ 2-3 คนที่เคยมาฝึกงานเป็นอาสาสมัครอยู่ที่มูลนิธิ พี่ไผ่ก็เลยพูดให้รู้ว่ามีมูลนิธินี้อยู่นะ สนใจไหม แล้วทีนี้พอได้ยินแล้วก็รู้สึกสนใจเพราะเรารู้สึกว่าในการทำงานมาสักพักหนึ่ง ในชุมชนชาติพันธ์ุหรือผู้คน ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสิทธิในบางเรื่องที่ตัวเองพึงได้และพึงมี พวกเขายังละเลยกันอยู่เพราะรู้สึกว่ามันมีความเคยชินในหลาย ๆ เรื่อง “
ส่วนตัวคิดว่าประเด็นด้านสิทธิมันมีความน่าสนใจอย่างไร
” มันมีความน่าสนใจเยอะมากเลยค่ะ เพราะว่าด้วยความเป็นชาติพันธ์ุ ในบางเรื่องเรามองข้ามได้ง่ายมากเลยแล้วยิ่งถ้าเราไม่มีความรู้ในเรื่องสิทธิ เราก็จะมีความรู้สึกว่า อย่างคำพูดบางคำหรือว่าการกระทำบางอย่างที่เรารู้สึกว่าไม่โอเค เราก็จะไม่ได้คิดว่ามันคือการละเมิดสิทธิของเรา แต่เราจะคิดว่ามันคือพฤติกรรมหรือการกระทำที่ทำมาตลอดอยู่แล้ว มันไม่เป็นไร เราก็เลยอยากเรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้น เพราะในบางเรื่องเราก็ไม่รู้ว่าอย่างการกระทำ คำพูด หรือว่าตัวเราเองจะไปละเมิดเขาโดยที่เราไม่รู้หรือเปล่าด้วยความเคยชิน เราเลยมีความสนใจในด้านนี้และพาตัวเองเข้ามาสู่กระบวนการของนักสิทธิฯ “
อยากให้ลองขยายว่า บทบาทหน้าที่ในประเด็นที่ทำอยู่เป็นยังไงบ้าง
” ส่วนมากตอนนี้เราจะทำเกี่ยวกับเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน เพราะว่าตอนนี้ด้วยสงครามหรือความไม่สงบหลาย ๆ เรื่อง มีผู้คนโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ฝั่งไทยเยอะ เราก็เลยอยากคุ้มครองสิทธิเด็กเพราะว่าบางทีการโยกย้ายถิ่นฐาน เด็กหลาย ๆ คนถูกล่วงละเมิดบ้างหรือไม่ก็คือการไม่มีปัจจัยในการที่จะเรียนหนังสือสูง ๆ และการมาอยู่หอพักที่มีการดูแลแค่ขั้นพื้นฐานจริง ๆ ไม่ได้ดูแลแบบครอบคลุมที่อยู่ที่กิน หรือจำนวนผู้ดูแลมันเพียงพอหรือเปล่า “
” ในส่วนนี้เราก็เลยเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนมากก็ไปจัดกิจกรรมหรือว่าให้ความรู้ว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องในบางเรื่อง อย่างสมมุติว่าคุณอยู่ที่หอพักนี้ มูลนิธินี้ ถ้าเขาดูแลไม่ดีหรือว่าที่อยู่ที่กินแทนที่มันจะต้องสะอาดกว่านี้หรือว่ามีของใช้ส่วนตัวบางอย่างที่เขาต้องให้ ถ้าคุณไม่ได้อะไรคุณก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องได้นะ ไม่ใช่ว่าเรามาอยู่ในที่ของเขาแล้วเราต้องยอมทุกอย่าง เพราะว่ามันคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะต้องได้อยู่แล้ว “
ถ้าเกิดให้ลองสะท้อนในมุมของเราสี่เดือนที่ผ่านมา ปัญหาด้านสิทธิที่เราเจอ มันมีปัญหาอะไรบ้าง เคสไหนบ้างที่เรารู้สึกกับมันมากที่สุด
” เป็นเคสของน้องที่เขาเกิดไทยแต่เขาไม่มีหลักฐานอะไรสักอย่าง แล้วเราก็พิสูจน์อะไรไม่ได้เลย เรารู้สึกว่าเราอยากจะให้เขาได้ เพราะว่าด้วยความเป็นชาติพันธุ์แล้วพ่อแม่ของเขาก็ติดคุก ทำให้น้องเขาไม่สามารถติดต่อกับพ่อแม่ได้เลย ตอนนี้น้องเขาอยู่กับคุณตาคุณยาย แล้วน้องเขาก็ไม่รู้จะตามหาแม่ยังไงเพื่อที่จะมายืนยันให้ตัวเอง แค่รู้ว่าพ่อกับแม่ติดคุกอยู่ แล้วเคสนี้เรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วน้องเขามีสิทธิ์ที่จะได้สถานะได้บัตรประชาชนได้เลย แต่เราก็ไม่รู้จะช่วยยังไงเพราะว่าน้องให้ข้อมูลอะไรไม่ได้เลย น้องยังเด็กอยู่ ถึงแม้น้องจะมีหลักฐานของพ่อกับแม่ว่าเป็นบุคคลในพื้นที่สูงจริง ๆ แต่หลักฐานยืนยันตัวตนว่าเกิดที่หมู่บ้านนี้หรือว่าที่ไหนมันยังไม่มี เราก็เลยรู้สึกสงสารเคสนี้ จนตอนนี้น้องเขาถอดใจไม่ดำเนินเรื่องแล้ว น้องเขาตัดสินใจขอเขียนในใบ สปค. 14 ว่าน้องเกิดพม่าเพื่อที่น้องจะได้เลข 000 ค่ะ “
ถ้าเกิดให้มองสถานการณ์ด้านสิทธิปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต คิดว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป
” ขนาดปัจจุบันเรายังจัดการอะไรไม่ได้เลย อนาคตก็คิดว่ามันไม่น่าจะต่างกันมาก เพราะว่าการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนมันจะมีขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะว่าระบบการจัดการของรัฐไทยมันยังไม่รัดกุมขนาดนั้น รัฐไทยยังไม่ยอมรับเลยว่าเรามีผู้ลี้ภัย แล้วทีนี้เราจะให้ผลักดันให้มันหมดไปได้ยังไง เอาง่าย ๆ แค่เด็กรหัส G ในเมื่อมันมีการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาเรื่อย ๆ แต่ว่ารัฐไทยยังไม่ยอมรับเลยว่ามีผู้ลี้ภัย รัฐไทยยังไม่ได้ออกกฏอะไรเลย ตอนนี้แค่ออกกฏที่ว่าจาก G ให้มาเป็น 000 ทีนี้เราก็เลยรู้สึกว่าปัญหาในอนาคตก็ยังมีอยู่ แล้วก็จะมีปัญหาอันอื่นใหม่ ๆ ที่มันตามมาเรื่อย ๆ แน่ มันไม่สามารถทำได้ ถ้าสมมุติว่าระบบใหญ่มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้ “
ถ้าเกิดมีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่ไม่เข้าใจด้านสิทธิ อยากจะคุยกับเขายังไงบ้าง
” ถ้ากับชาวบ้าน เราอยากคุยแล้วก็อยากให้เขารู้ว่าเราต้องเคารพสิทธิของกันและกัน อย่างบางทีเราอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันแล้วพฤติกรรมบางอย่าง เช่นการพูดแบบไม่ให้เกียรติกัน อันนี้ก็คือเป็นการละเมิดสิทธินะ คุณไม่ควรพูด จะบอกว่าไม่ควรพูดก็ไม่ใช่ แต่คุณควรจะคิดถึงอีกคนนึงด้วยว่าเป็นการละเมิดเขาหรือเปล่า คุณจะมาพูดตามความเคยชินไม่ได้ “
จะทำงานกับประเด็นด้านสิทธิยังไงต่อในรูปแบบของเราเอง
” คิดว่ายังคงทำงานในด้านนี้ต่อค่ะ ในเมื่อเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิหรือว่ามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมากกว่าชาวบ้านในหมู่บ้านหรือว่ากลุ่มชาติพันธ์ุ เราก็ควรจะถ่ายทอดหรือว่ากระจายให้เขารู้ไปเรื่อย ๆ เพื่อที่ทุกคนจะได้รู้ถึงสิทธิที่ตัวเองควรมี อย่างน้อยให้รู้แล้วก็พูดออกมาได้ว่าสิทธินี้คือคุณถูกละเมิด หรือว่าสิทธินี้คุณไปละเมิดเขานะ ก็เลยรู้สึกว่าอยากจะทำงานด้านนี้ต่อไปเรื่อย ๆ กับชาวบ้าน ให้เขามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คิดว่าก็คงทำต่อไปค่ะ “
ติดตามพวกเราได้ที่ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | Thai Volunteer Service (TVS)