“Winter is coming!” หรือ “ฤดูหนาวกำลังจะมา!” นี้ นอกจากจะเป็นสำนวนสำนวนหนึ่งที่บ่งถึงอาการว่าไม่สู้ดีนักแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณที่กล่าวเตือนถึงภยันตรายซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการส่งสัญญาณให้ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความยากลำบากที่กำลังคืบคลานเข้ามา เช่นเดียวกับการที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับ “ความเหน็บหนาวแห่งฤดูกาลปกป้องสิทธิ์” ที่กำลังค่อยๆคืบคลานเข้ามาในสังคมโลก

แอนนา นีสแตต (Anna Neistat) ผู้อำนวยการวิจัยอาวุโส แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เขียนบทความเรื่อง For human rights, winter is coming[i] เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า ฤดูกาลที่งดงามของการปกป้องสิทธิมนุษยชนและชัยชนะของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ กำลังจะผ่านพ้นไป ท่ามกลางกระแสการมุ่งเอาชนะทางการเมืองและการสร้างคะแนนนิยมภายในประเทศ

นีสแตตมองว่า มีเหตุปัจจัยที่สำคัญอย่างน้อยสองประการที่มีผลโจมตีระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งระบบ ประการแรก การสร้างความเกลียดชัง/เกลียดกลัวผ่านสโลแกนหรือนโยบายทางการเมือง เช่น การสร้างความเกลียดชังคนแปลกหน้าหรือคนต่างชาติ การสร้างความเกลียดกลัวต่อผู้หญิง หรือการลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยการสร้างความเป็นอื่น เป็นต้น ประการที่สอง การหาข้ออ้างเพื่อเบี่ยงเบนหลักการสิทธิมนุษยชน เช่น เรื่องความมั่นคง เรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่แต่เพียงเพราะเหตุปัจจัยที่ว่ามานี้เท่านั้น ทว่าความเป็นสากลของหลักการสิทธิมนุษยชนก็มีปัญหาในตัวของมันเอง ในบทความเรื่อง Brexit and human rights: winter is coming[ii] ของสตีเฟ่น ฮ้อปกู้ด (Stephen Hopgood) ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ The Endtimes of Human Rights (2013) นั้น เขาตั้งคำถามที่สำคัญชวนให้คิดต่อไว้ในบทความนี้ว่า หลักการสิทธิมนุษยชนนั้นเพียงพอที่จะต่อต้านกระแสชาตินิยมฝ่ายขวาแล้วหรือ ?

เขามองว่า ถ้าหากยุคของสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นรูปแบบอันทรงประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับมวลชนมีอยู่จริง สิ่งเหล่านี้ก็คงได้ถึงกาลสิ้นสุดลงแล้ว เพราะในกรณี เบร็กซิท(Brexit)นี้ ได้สะท้อนว่าการรณรงค์ของกลุ่มชาตินิยมฝ่ายขวาเองกลับได้รับความสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชนแห่งสหราชอาณาจักร ค.ศ. 1998 ไปจนถึงการรณรงค์ให้ออกจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ค.ศ 1950 เป็นต้น

ถึงแม้ว่า การรณรงค์เหล่านี้จะอ้างว่าเป็นไปเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่แท้จริง หรืออ้างว่าเพื่อยกระดับสิทธิมนุษยชนก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ผิดไปจากหลักการสิทธิมนุษยชนที่มีเจตนารมณ์ในการปกป้องคุ้มครองผู้ไร้สิทธิ์ให้ได้รับสิทธิ์ ซึ่งเอาเข้าจริงสิ่งที่พวกเขาคำนึงถึงเป็นอันดับแรกก็คือสิทธิของพลเมืองหรือสิทธิตามกำเนิดซึ่งไม่ครอบคลุมไปถึงอาชญากรและผู้ลี้ภัย แน่ละว่าในแง่นี้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้กลับกลายเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนเสียเอง

อย่างไรก็ตาม กรณีแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ทั้งในประเทศมหาอำนาจและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่การตั้งคำถามและท้าทายความคิดเรื่องความเป็นสากลของหลักการสิทธิมนุษยชน และที่ชัดเจนที่สุดก็คือ แม้กระทั่งประเทศมหาอำนาจที่สนับสนุนและส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนเองก็ยังหันกลับมาให้ความสำคัญกับผลประโยชน์แห่งชาติเป็นอันดับแรก

ฤดูกาลอันแสนเหน็บหนาวของการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่กำลังจะเข้ามาถึงและจะดำเนินต่อไปอีกยาวนานนี้ ไม่เพียงแต่จะต้องยกระดับการป้องกันการโจมตีระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งระบบเท่านั้น แต่ยังต้องรับมือกับประเทศมหาอำนาจ (เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ) ที่ไม่เพียงถอยห่างจากการสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังเบี่ยงเบนหลักการสิทธิมนุษยชนไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริง (เช่น รัสเซีย และจีน)

ถึงที่สุดแล้ว เราจะรอดพ้นหรือไม่เข้าสู่ฤดูกาลที่เหน็บหนาวนี้เร็วจนเกินไปอย่างไรนั้น ฮ้อปกู้ดกล่าวว่า ในเมื่อศูนย์กลางอย่างประเทศมหาอำนาจไม่อาจเหนี่ยวรั้งหลักการสิทธิมนุษยชนให้ยืนยงได้ก็คงถึงเวลาที่พวกเราจะต้องเลือกข้างแล้ว ขณะที่นีสแตตเองเสนอว่า เราควรต่อต้านการแบ่งแยกพวกเราออกไป และใช้การสื่อสารทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิทั้งของตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ ยังต้องเปิดใจของพวกเราให้กับผู้ที่ต้องการการปกป้องคุ้มครอง รวมทั้งให้การสนับสนุนและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับทุกคนหรือทุกชุมชนที่ต้องเผชิญกับความอยุติธรรม

หากมองสิทธิมนุษยชนในฐานะชุดคุณค่าหนึ่งในท่ามกลางชุดคุณค่าหลาย ๆ ชุดที่ดำรงอยู่ในสังคมและในโลกแล้ว ผู้เขียนเองมองว่า การที่สังคมใดสังคมหนึ่งจะธำรงรักษาชุดคุณค่านั้น ๆ ไว้ หมายถึงการที่ชุดคุณค่าเหล่านั้นต้องได้รับการยอมรับจากสังคมจนกลายเป็นค่านิยมร่วมหรือค่านิยมหลักของสังคมนั้นๆก่อน เนื่องจากการบอกว่าชุดคุณค่าหนึ่งสูงส่งกว่าหรือดีกว่าอีกชุดคุณค่าหนึ่งเป็นเรื่องที่ชี้ชัดได้ยาก ด้วยทุกชุดคุณค่าล้วนมีข้อจำกัดโดยตัวมันเองทั้งสิ้น

สิ่งที่สำคัญคือ เราจะเกื้อหนุนและอยู่ร่วมกันท่ามกลางชุดคุณค่าที่ดีแตกต่างกันได้อย่างไร พร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนให้สิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของชีวิตประจำวัน เป็นวัฒนธรรมของทุก ๆ คน มากกว่าการเป็นเพียงเรื่องทางกฎหมายหรือกลุ่มวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งเท่านั้น


เชิงอรรถ

[i] Anna Neistat, “For human rights, winter is coming” Huffington Post https://www.huffingtonpost.com/entry/for-human-rights-winter-is-coming_us_599ec5c8e4b0cb7715bfd364  (Aug 24, 2017)

[ii] Stephen Hopgood, “Brexit and human rights: winter is coming” openDemocracy https://www.opendemocracy.net/openglobalrights/stephen-hopgood/brexit-and-human-rights-winter-is-coming (June 29, 2016)

———————————-
บดินทร์ สายแสง : เขียน
เมธสิงห์ : เรียบเรียบ

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish