ภารกิจสำคัญของฝ่ายอาสาสมัคร คือ ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้กับคนหนุ่มสาวที่มีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อสังคมได้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาตนเองทั้งด้านความคิด มุมมอง ทัศนคติทางสังคม พัฒนาความสามารถในการทำงาน ภายใต้โครงการ “โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน” โดยการปฏิบัติงานกับองค์กรที่ทำงานเชื่อมประสานกับผู้ที่ถูกละเมิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อเป็นการจุดไฟให้กับคน หนุ่ม สาว เหล่านั้น ไปต่อยอดเพื่อที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไปเติบโตอยู่ ณ ที่ใด

ในแต่ละปี มอส. จะดำเนินการคัดเลือก ฝึกอบรมและจัดส่งอาสาสมัครได้เข้าไปทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศ โดยอาสาสมัครจะได้รับค่ายังชีพรายเดือนในระหว่างวาระการเป็นอาสาสมัครนั้น ฝ่ายอาสาสมัครจะมีกระบวนการพัฒนาศักยภาพให้กับอาสาสมัครทั้งงานทางด้าน ความคิด ทางด้านชีวิต ทางด้านจิตใจ โดยใช้กระบวนการนำบทเรียนหรือประสบการณ์ที่พบเจอจากการทำงานของอาสาสมัครเอง หรือให้ความรู้เฉพาะทางที่อาสาสมัครจะสามารถนำไปใช้ในงาน ประเด็นการทำงานที่อาสาสมัครได้เข้าไปทำงานร่วมด้วย เช่น ประเด็นคนไร้รัฐ ไร้สถานะ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นแรงงานทั้งแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทย ประเด็นผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ประเด็นผู้หญิง ประเด็นที่ดิน เป็นต้น

โครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมีผลิตอาสาสมัครแล้วทั้งหมด 13 รุ่น จำนวน 290 คน (ปัจจุบัน/2562 คือ รุ่น 14)  จากการดำเนินโครงการอาสาสมัครนักกฎหมายของมูลนิธินั้น ได้ก่อเกิดการจัดตั้ง เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขึ้นมาและปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็นสามคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผลของการที่อดีตอาสาสมัครได้รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมต่อเนื่อง และเป็นพื้นที่ให้กับอดีตอาสาสมัครและคนที่สนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนได้มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน พูดคุยและทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน มอส. เห็นว่าการที่คนหนุ่มสาว รุ่นใหม่จะได้ที่นอกเหนือสิ่งอื่นใดในการทำงานอาสาสมัครนั้นคือ อาสาสมัครจะได้ประสบการณ์ชีวิตที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหน

วัตถุประสงค์ของโครงการ
       1. เสริมสร้างนักกฎหมายและคนรุ่นใหม่ให้มีความเข้าใจปัญหาสังคม ปัญหาประชาชนผู้เสียเปรียบ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตระหนักในบทบาทที่จะใช้วิชาชีพและความรู้ให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรมและมีอุดมคติในการทำงานเพื่อสังคม
2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีบุคลากรทางกฎหมายและผู้ที่มีใจช่วยเหลือ ได้เข้ามาหนุนช่วยการแก้ปัญหาของผู้ด้อยโอกาส องค์กรชุมชน และหนุนช่วยการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน
3. ส่งเสริมการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ที่เอื้อให้นักศึกษาด้านนิติศาสตร์ได้เข้าใจปัญหาและมีการฝึกปฏิบัติกับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
4. ส่งเสริมเวทีการแลกเปลี่ยนของอาสาสมัครทั้งอดีตและปัจจุบัน เพื่อให้เกิดเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่จะหนุนช่วยกันทำงานแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิในอนาคต

“การเป็นอาสาสมัครคือ การพาตนมาเดินอยู่บานเส้นทางแห่งการพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การเป็นอาสาสมัครจึงไม่จำกัดอยู่ที่ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แท้จริงอาสาสมัครเป็นงานที่เราควรทำไปตลอดชีวิต”

พระไพศาล วิสาโล

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish