ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีโอกาสได้พบปะเพื่อนๆรุ่นราวคราวเดียวกัน ก่อนหน้านี้ระดับความสนิทสนมอยู่ในระดับปกติทั่วไป ตลกร้ายมากที่อยู่ๆความไม่ PC ก็ทำให้เรารู้สึกสนิทกับคนอื่นมากขึ้น แต่ไม่ควรเป็นเรื่องที่น่ายินดีเท่าไหร่ จึงจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ได้มาแบบตลกร้ายมากๆ โดยเฉพาะกับคนที่ทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนนับว่ารับไม่ได้ทีเดียว

PC ซึ่งในบทความ English Today สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผศ.ชลาธิป ชาญชัยฤกษ์ ได้อธิบายความหมายว่า Political Correctness นั้นเป็นทัศนคติ นโยบาย หรือพฤติกรรมที่จะไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่ากำลังเหยียดเชื้อชาติ เพศ สติปัญญา ความบกพร่องทางกาย ฯลฯ รวมถึงการหลีกเลี่ยงคำพูดที่ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างเดียวกันนั้นด้วย
(ที่มา : http://www.culi.chula.ac.th/…/Eng.-40%20(Politically%20corr…)

 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2559 มีเหตุการณ์ให้ได้ทบทวนพฤติกรรมบางอย่างของตัวเอง ในขณะที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนกึ่งเก่ากึ่งใหม่ ความประพฤติของเราต่อสังคมในขณะนั้นทำให้เราได้มาขบคิดคำตอบอยู่  2 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 คือ การให้เกียรติกันหรือสุภาพทางคำพูด กริยา มารยาท อาจจะไม่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างวัยเดียวกันมีแนวโน้มที่ดีเสมอไป ประเด็นที่ 2 คือ การล้อเลียนและเสียดสีจนกระทั่งการเหยียด การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างที่นักสิทธิ์มักกล่าวถึง ในบางครั้งกลับเป็นเรื่องที่รับได้ในหมู่วัยเดียวกัน และถูกมองเป็นเรื่องขำขันได้อย่างไร ?

เหตุการณ์ก็คือ ตัวเองล้อเลียน ล้อเล่นกับเพื่อนมุสลิม รวมถึงเพื่อนไทยพุทธ คริสต์ เพราะมีหลากหลายมาก แต่อย่างที่รู้กันว่า ระหว่างเพื่อนมุสลิมจะมีความรู้สึกบางอย่างว่าต้องเคารพและอาจจะต้องระมัดระวังคำพูดมากกว่าคนอื่น เนื่องจากความไม่รู้ที่แท้จริงของหลักปฏิบัติตามศาสนา แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันที่เผลอไปตามความคึกคะนอง เราล้อเลียนใส่เพื่อน ตั้งฉายาให้เขาอีก “ยัยตัวร้ายใต้ฮิญาบ” ปฏิกิริยาของเพื่อนดันหัวเราะ เเละผลัดกันล้อกันไปมา เอาคืนกันอย่างออกรส มีการชักสีหน้า จิกกัดกันสนุกเฮฮา เช่น ล้อว่าเพื่อนซ้อนมอเตอร์ไซด์ผู้ชายใส่หมวกกันน๊อคหรือใส่ฮิญาบก่อน ล้อว่าที่แต่งงานกับแฟนแอบคบกันก่อนแต่งใช่ไหม ? เพื่อนคนที่ถูกถามก็หันไปแซะคืนว่า สาระแน(แบบกระแทกเสียง) สู่รู้ รู้มาก รู้ดี สารพัดจะหยอกเล่นกัน แต่นั่นก็มีทั้งสองความรู้สึกคือ รู้สึกว่าเป็นคำพูดหรือท่าทางที่เพื่อนไม่สมควรจะปฏิบัติต่อกันนั้น ในขณะเดียวกันมันกลับพังกำแพงเล็กๆที่กั้นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนลงไปด้วย ความสัมพันธ์ที่เคยปกติๆทั่วไปมันยิ่งดีขึ้นไปอีก ทำให้พูดคุยกันมากขึ้น และเพื่อนคนนั้นๆ(ที่ถูกแซว)ก็ดูมีความสุขที่ได้ปรับตัวพูดคุยกับเพื่อนคนอื่นๆนอกจากเพื่อนกลุ่มมุสลิมด้วยกันเอง เราพูดคุยกันถึงลักษณะที่เกิดขึ้น มันเป็นวิธีการสานสัมพันธ์ในแบบที่อาจดูค่อนข้างแย่ และตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราเชื่อในหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง
 ในบทความ “พลั้งปากกับศีลธรรมใหม่” ของ คุณกล้า สมุทวณิช กล่าวว่า วาทจรรยาว่าด้วย Political Correctness นี้เป็นเหมือนศีลธรรมใหม่ในยุคปัจจุบัน และมีการยกตัวอย่าง การพูดบางอย่างนั้นถูกควบคุมอยู่ เช่น เราไม่ควรเอาเรื่องเชื้อชาติของแต่ละคนมาเล่าเป็นเรื่องตลก การล้อเลียนความเชื่อทางศาสนามาทำให้ตลก และยังมีการอธิบายถึงเรื่องที่ในสังคมยังไม่รู้สึกว่ามีปัญหา เพราะตามสื่อทีวี การแสดงมุขตลก ก็มีการใช้ “ตลกสังขาร” (การนำลักษณะทางกายภาพของมนุษย์มาล้อเลียน เช่น คนต่างด้าว ต่างจังหวัด ฯลฯ) มาเล่นล้อเลียนกันอยู่ (Source : http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1411794714) ซึ่งในสังคมไทยที่ค่อนข้างชอบลักษณะของ “ความขำขันสนุกสนาน” อาจจะทำให้พบเจออาการที่เรียกว่า “ไม่ PC” เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

แต่จากเหตุการณ์ที่ได้เก็บมาเขียนแบ่งปันประสบการณ์นี้ อาจจะสรุปได้ว่า ถึงแม้การพูดไม่สุภาพ การล้อเลียนระหว่างวัยเดียวกันจะมีแนวโน้มทำให้ความสัมพันธ์นั้นดีขึ้น(ในบางกรณี,ไม่เสมอไป)แต่ลักษณะการสานสัมพันธ์ที่ดีนั้นมีในหลายรูปแบบและสมารถทำได้ในเชิงลักษณะสร้างสรรค์ และถึงแม้ว่าความสุภาพในบางครั้งจะทำให้เรามีระยะของความสัมพันธ์อยู่บ้างแต่ด้วยความจริงใจก็น่าจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีได้เช่นกัน ในความเห็นของผู้เขียนความสุภาพในเชิง PC เป็นค่ากลางที่เหมาะสม และลดความขัดแย้งได้ดี เพราะกระทำบนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ง่าย เพราะปัญหาทุกวันนี้ส่วนหนึ่ง “เราอาจจะคิดว่าหยอกล้อเพื่อกระชับมิตร “(แกล้งเพราะอยากสนิท) คนที่ถูกกระทำเขาอาจจะไม่ได้มีอารมณ์ขัน และนำมาซึ่งความเกลียดชังขัดแย้งกันในที่สุด เป็นปัญหาและเป็นสาเหตุที่ทำให้คนบนโลกใบนี้ฆ่ากันมาแล้วนับไม่ถ้วน  “เพราะฉะนั้น ต้อง PC กันนะ จวัมวั๊ยย เกร๋ๆ”

——————————————–
เขียน : พิชญุตา ธนพิทชัย/ นักสิทธิ์ รุ่น 11 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
เรียบเรียง : เมธี สิงห์สู่ถ้า

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish