มอส.ร่วมมือวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ จัดทำโครงการอาสาสมัครมหาวิทยาลัยขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2556 โดยการเปิดรับคนหนุ่มสาวที่อยากกลับไปทำงานที่บ้านเกิด โดยทิศทางที่เน้นเรื่องเกษตรอินทรีย์ เพื่อฟื้นฟูองค์ความรู้ชุมชน ตามนโยบายที่อยากส่งเสริมเรื่องนี้ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ หรือ สสส.และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือสวทน.

10296558_643480519080085_2470727111050355225_n

ด้วยเนื้อหาการเรียนรู้ที่เน้นเรื่องการทำความเข้าใจตนเอง ชุมชน สังคม และวิเคราะห์บทบาทของการกลับไปทำงานชุมชน ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ด้วยกระบวนการที่เน้นการพัฒนากิจกรรมที่จะเป็นฐานการยังชีพระยะยาวในกรอบของการทำเกษตรอินทรีย์ที่เกื้อกูลต่อระบบนิเวศน์ โดยมีอาสาสมัครรุ่นแรกทั้งสิ้น 19 คน ส่วนมากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมีตัวแทนเยาวชนในท้องถิ่นเข้าร่วมสมทบ มีวาระการทำงาน 1 ปี เริ่มลงพื้นที่ทำงานเดือนแรกตั้งแต่มิถุนายนปีนี้ จะหมดวาระตอนมิถุนายนปี 2558

ด้วยรายละเอียดที่แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 2 ช่วง ช่วง 6 เดือนแรกเน้นความเข้าใจตนเอง เข้าใจชุมชน สังคม จนสามารถวิเคราะห์บทบาทของตนเองกับชุมชนได้ ช่วงที่ 2 เป็นช่วงของการพัฒนาโครงการที่เน้นการสร้างฐานเศรษฐกิจตนเอง ด้วยความเชื่อว่า การส่งบัณฑิตกลับบ้าน จะช่วยอุดช่องว่างของการผลัดที่ผลัดถิ่น จนทำให้ชุมชนขาดคนสืบสานองค์ความรู้ และคนหนุ่มสาวเองก็ขาดความเข้าใจรากเหง้าพื้นฐานที่ชุมชนใช้ในการสร้างชุมชนมาแต่อดีต

โดยมีประเด็นที่อาสาสมัครแต่ละคนให้ความสนใจแตกต่างกันออกไป เช่น บางคนสนใจเรื่องกาแฟ เรื่องสตรอว์เบอร์รี่ บางคนสนใจการปลูกผักปลอดสาร เรื่องวัว เรื่องหมอต้นไม้ บางคนสนใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นไปตามบริบทพื้นที่ ซึ่งมีทีมทำงานจากมอส.และทีมพี่เลี้ยงจากภาคคอยหนุนเสริมและติดตามการเรียนรู้เป็นระยะ ในช่วง 6 เดือนหลังจากนี้จะเน้นกระบวนการดูงานในเรื่องการผลิต และการตลาด โดยเฉพาะเรื่องการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมหรือ Social Enterprise ที่กำลังได้รับความสนใจจากคนหนุ่มสาวยุคใหม่อยู่มาก

10462667_643480555746748_782558568352655349_n

แน่นอนว่าการกลับไปอยู่บ้านของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องต่อสู้กับแนวคิดกระแสหลักที่ว่าคนกลับไปอยู่ที่บ้าน ถ้าไม่ใช่กลับไปเป็นข้าราชการ ประกอบธุรกิจส่วนตัว ก็ต้องเป็นคนตกงาน หรือล้มเหลว ยิ่งการกลับไปทำเกษตรอันเป็นอาชีพดั้งเดิมของสังคมไทยยิ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก ทั้งที่ว่าจะทำเกษตรอย่างไรให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ยิ่งเป็นเรื่องยาก ถึงแม้ว่าการทำเกษตรอินทรีย์จะเป็นผลดีทั้งต่อผู้ปลูกที่มีพืชผักปลอดภัยไว้บริโภค และเกื้อหนุนต่อระบบนิเวศน์องค์รวม แต่แนวคิดเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเต็มที่นัก

เมื่อ 2 เดือนผ่านมา น้องๆ ได้ช่วยกันทำแผน จากประสบการณ์การทำงานในช่วงครึ่งปีแรกที่แต่ละคนมีความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์มากขึ้น รวมทั้งมีความมั่นคงทางใจในการกลับไปทำงานที่บ้านเกิดมากขึ้น แต่โจทย์ที่หนักหนาอยู่ที่เรื่องความยั่งยืนในการอยู่ต่อ ทั้งเรื่องการผลิต และเรื่องการตลาด เพราะจะทำงานแบบที่พ่อแม่เคยทำอย่างไรให้ร่วมสมัย ด้วยจิตเจตนาอย่างสืบสานภูมิปัญญาให้คงอยู่ต่อในบริบทสังคมยุคปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการทำงานที่จะยังประโยชน์ต่อคนหมู่มาก เรื่องนี้จะเป็นเรื่องยากต่อคนหนุ่มสาวที่เพิ่งออกพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัย แต่ก็คงไม่ยากเกินคนผู้มีใจสู้จะใฝ่ฝัน ให้สมกับคำขวัญหรือสโลแกนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าคน”

มาเอาใจช่วยน้องๆ คนรุ่นใหม่ไฟแรงเหล่านี้ เพื่อให้เขาได้มีโอกาสกลับไปอยู่ต่อในบ้านเกิดอย่างมีศักดิ์ศรีด้วยกันเถิด

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish