
บางครั้งเราเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเองโดยที่ไม่มีใครสอนเรา อาจเป็นบทเรียนจากการเดินทางที่ไม่คาดคิด ประโยคจากคนแปลกหน้า หรือช่วงเวลาเงียบสงบที่เราได้อยู่กับตัวเอง ทุกที่ที่เราไป ทุกคนที่เราพบ และทุกประสบการณ์ที่เรามีนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้ (นอกห้องเรียน)
“เพราะโลกทั้งใบคือห้องเรียนของเรา”
ในโลกศตวรรษที่ 21 โลกไร้พรมแดน โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ ทำให้คำว่า การเรียนรู้ ไม่สามารถจำกัดอยู่แค่ในหนังสือเรียนหรือห้องเรียนแบบเดิมอีกต่อไป
สำหรับเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน การเรียนรู้ไม่ได้เป็นเพียงความรู้ทางวิชาการ หรือความเข้าใจในทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะในแต่ละด้านของชีวิต อย่างเช่น การปรับตัว วิเคราะห์ เชื่อมโยง และสร้างสรรค์ ประสบการณ์ของการการเรียนรู้นำไปสู่การสร้างความมั่นใจ ความเห็นอกเห็นใจ และการมีจินตนาการใหม่อีกด้วย
เดินทางกันมาถึง 2 ปี กับโครงการคนรุ่นใหม่กับการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน โดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) สนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่เชื่อในเรื่องของการเรียนรู้ ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยริเริ่มหรือพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนของตนเอง ผ่านการร่วมออกแบบกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงคนในพื้นที่ โดยปีนี้มีพื้นที่ที่ทำงานร่วมกัน 6 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ทำงานต่อเนื่อง 2 แห่ง และพื้นที่ริเริ่มใหม่อีก 4 แห่ง
เราได้เห็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่โปรแกรมหลังเลิกเรียนหรือเฉพาะวันหยุด แต่ยังเป็นการเชิญชวนให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้เริ่มสำรวจและเชื่อมโยงกับโลกรอบตัวอีกครั้ง เริ่มสร้างความสัมพันธ์ นำไปสู่การเติบโต พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน สำหรับการเรียนรู้ที่จะฟัง แสดงออก ทำผิดพลาด และลองใหม่อีกครั้งได้
ในขณะที่การเติบโตของคนทำงานและพื้นที่เรียนรู้เชิงกายภาพนั้น ไม่ได้เกิดจากการมีพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือมีทรัพยากรที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่เรียนรู้เล็กๆ ที่เติบโตจาก ความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และความเข้าใจบริบทของท้องถิ่น อย่างแท้จริง
การเติบโตอย่างต่อเนื่องจากความเข้มแข็งของรากฐานที่วางไว้
- ศูนย์สืบสานมโนราห์ปักษ์ใต้บ้านปากลัด (สุราษฎร์ธานี)


ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนที่เยาวชนลุกขึ้นมาพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เกี่ยวกับมโนราห์ และขยายการเรียนรู้สู่โรงเรียนในพื้นที่ กลายเป็นตัวอย่างของการเชื่อมโยง “ชุมชน – โรงเรียน – เยาวชน” อย่างเป็นระบบ โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นผู้นำกระบวนการ
- Maetha Mellow Space (ลำพูน)


จากจุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเล็กๆ สู่การเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่างๆ ในลุ่มน้ำแม่ทา ที่มุ่งเป้าจะสร้าง “พื้นที่เล่นสำหรับเด็กและเยาวชน” โดยให้ความสำคัญกับเด็ก ผู้ดูแลเด็ก และการพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนอย่างมีส่วนร่วม
พื้นที่ใหม่แห่งความงอกงาม จากความตั้งใจเล็กๆ สู่การเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้
- สวนผักหรรษา (เชียงราย)


พื้นที่เล่นกลางสวนและหุบเขาที่เชื้อเชิญเด็กและครอบครัวมาปลูกดอกไม้ ปลูกผัก ทำขนม ทำศิลปะ และทำกิจกรรมร่วมกับพื้นที่ธรรมชาติโดยรอบ ไม่จำเป็นต้องมีของเล่นราคาแพง แต่มีความอบอุ่นของความสัมพันธ์เป็นพื้นฐาน
- บ้านดินสร้างสรรค์ (อุบลราชธานี)


บ้านดินร้างที่ถูกฟื้นคืนเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆ ด้วยกิจกรรมศิลปะ ทักษะชีวิต และการเรียนรู้เรื่องสิทธิชุมชน ไปจนถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นผู้เลือก และเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยตนเอง
- ห้วยสวนควนนาวา (พัทลุง)


พื้นที่เรียนรู้พัฒนาจากฐานทุนด้านปัจจัย 4 ของชุมชน (อาหาร ยา ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม) เชื่อมโยงเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ให้กลับมานั่งล้อมวงทำกิจกรรม เล่าเรื่อง ข้ามรุ่น ข้ามวัย ด้วยความรักและความเข้าใจในทรัพยากรที่มีฐานชุมชนของตนเอง
- ลานเล่นลานเล (พัทลุง)


ลานเล่นเล็กๆ ริมทะเล ที่กลายเป็นพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน ได้เรียนรู้เรื่องสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ทำบ้านให้สัตว์น้ำ แปรรูปอาหาร และเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศรอบตัว ควบคู่กับการพัฒนา “ทักษะชีวิต” และจินตนาการไปพร้อมกัน
ทั้ง 6 พื้นที่แสดงให้เราเห็นถึง “ความเชื่อมั่นในพลังของเด็กและเยาวชน ความไว้วางใจในชุมชน และความตั้งใจของคนรุ่นใหม่” บทเรียนจากปีนี้จึงไม่ใช่แค่ผลลัพธ์เชิงปริมาณ แต่คือการได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจริงในเนื้อตัวของเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้คนโดยรอบในชุมชนหรือพื้นที่เรียนรู้เหล่านั้น
เมื่อรากของความสัมพันธ์เริ่มหยั่งลึก เราจึงเริ่มมองเห็น “โอกาสของความยั่งยืน” ทั้งในรูปแบบของการสร้างการมีส่วนร่วมในระยะยาว การพัฒนาทักษะที่นำไปสู่รายได้ในชุมชน เช่น งานแปรรูป การทำอาหาร ศิลปะ งานฝีมือ หรือแม้แต่การออกแบบกิจกรรมที่ผู้ปกครองและชุมชนพร้อมจะสนับสนุนกันได้ในอนาคต และขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงของการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและพื้นที่ต่างๆ เพื่อผลักดันให้พื้นที่เรียนรู้เหล่านี้สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง พร้อมเป็นแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
เพราะเป้าหมายไม่ใช่แค่ให้เด็กมีที่เล่น แต่คือการสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่อยู่ได้จริง อยู่ได้ยาว และอยู่ได้ด้วยหัวใจของทุกคนในชุมชน
… และในแง่นั้น เราทุกคนยังคงเรียนรู้
“ทุกพื้นที่เป็นสถานที่แห่งจินตนาการและการเปลี่ยนแปลง”
การเรียนรู้ที่ทรงพลังและยั่งยืนที่สุดมักเกิดขึ้นนอกขอบเขตของการศึกษา เมื่อเด็กๆ เข้าใจสภาพแวดล้อม การมีส่วนร่วมกับผู้อื่น และสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์จริงได้ พวกเขาจะพัฒนาทักษะ ปัญญาและความยืดหยุ่น ที่ตำราเรียนไม่สามารถให้ได้ เมื่อพวกเขาได้เรียนรู้ว่า มีความรู้อยู่ทุกหนทุกแห่ง พวกเขาก็มีพลังในการสร้างโลกรอบตัวพวกเขา
ถ้าเด็กและเยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เปิดกว้างและสนับสนุนพวกเขาได้อย่างอิสระ จะช่วยให้เกิดการสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเป็นใครและสามารถเป็นอะไรได้บ้าง เป็นพื้นที่ที่กระตุ้นความอยากรู้ บ่มเพาะโลกภายใน และคอยย้ำเตือนว่าพวกเขาไม่ใช่แค่นักเรียนของระบบ แต่พวกเขาเป็นพลเมืองของโลก (Global Citizen)