เจน วาสนา โชคชีวา อาสาคืนถิ่นรุ่น 7 จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เจนพึ่งศึกษาจบที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขานิติศาสตร์ ราชภัฏเชียงใหม่ ตอนนี้กำลังพัฒนาโครงการสำหรับชุมชน เพื่อสื่อสารเรื่องราวของไร่หมุนเวียนให้คนภายนอกได้รับรู้ เข้าใจ และกำลังจะทำงานประจำ

เจนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยง อาศัยบนพื้นที่สูงที่รอบลอมไปด้วยภูเขา ป่าไม้ ลำธาร มีวิถีชีวิตผูกพันธ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ในวัยเด็กมีชีวิตอยู่ไร่กับพ่อแม่ ตั้งแต่กระบวนการแรกของการปลูกข้าวจนเก็บเกี่ยว รู้สึกคุ้นชินกับวิถีแบบนี้ คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำไร่ผสมผสาน ปลูกข้าว พริก ผัก ผลไม้ให้เราสามารถกินได้โดยไม่ต้องไปซื้อที่ไหน

เจนเรียนโรงเรียนในหมู่บ้าน แต่ถ้ามองย้อนกลับไป เจนรู้สึกว่าไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ และด้วยความที่ตอนนั้นเป็นเด็กไร้สัญชาติ ทำให้มีความทรงจำที่ไม่ดีจากการถูกล้อว่าเป็นคนต่างด้าว โอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษา ทุนการศึกษา และสวัสดิการ ยังมีการเลือกปฏิบัติ มาจนถึงปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ก็ยังมีอยู่

This image has an empty alt attribute; its file name is DSC_0355-2-scaled.jpg

ในวันที่ยังไม่ได้สัญชาติ จนวันที่ได้สัญชาติ

ตอนเด็กช่วงประถมยังไม่เห็นถึงความสำคัญต่อเรื่องนี้ เราอยู่แค่ในชุมชนยังไม่รู้เรื่องอะไร อยู่กับเพื่อนในเซฟโซน แต่พอเริ่มต้องเข้าไปเรียนโรงเรียนในเมือง ก็ได้เห็นว่าเราไม่มีโอกาสในการรับทุนการศึกษา ต่อมาได้รู้จักกับองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสถานะบุคคล แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญมาก จนกระทั่งเรียน ปวช. การที่เราเลือกเรียนสิ่งนี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องสัญชาติด้วย เรากลัวว่าถ้าเลือกสายสามัญ เวลาจบไปจะไม่มีงานทำ แต่ถ้าสายอาชีพ อย่างน้อยเราก็มีทักษะ มีงานทำ พอเข้ามาเรียน เห็นคนเยอะขึ้น ก็ทำให้มีความมั่นใจน้อยลงมาก 

ก็เลยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการอบรม ทำกิจกรรม หาความรู้เกี่ยวกับเรื่องสัญชาติมากขึ้น จนมีโอกาสได้ไปช่วยพี่น้องที่อยู่บนดอยด้วยกัน เขาไม่สามารถเขียนได้ เราก็เข้าไปช่วยเขียน ระหว่างที่ทำไปก็รู้สึกเศร้าไป เพราะในขณะที่เราสามารถเขียน ช่วยคนได้ แต่เราเองก็ยังไม่มีสถานะและสัญชาติไทย ก็พยายามทำมาเกือบสองปี ทั้งการเรียนรู้และเข้าถึงกระบวนการ การไปช่วยงานในตัวอำเภอ พยายามเข้าไปคลุกคลีให้ได้มากที่สุด จนได้สัญชาติไทย

พอได้สัญชาติไทย ก็เข้ามาช่วยพี่น้องในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านเองก็เห็นถึงศักยภาพ รวมถึงในชุมชนตอนนั้นยังไม่มีชุดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ขนาดนั้น เราก็เลยได้ไปช่วยพูด หรือว่าทำเอกสารเหล่านี้

ตัดสินใจไปเรียนเรียนนิติ

ตอนนั้นอายุ 17 ปี ด้วยความที่ช่วงนั้นทั้งเรียนและทำกิจกรรมเยอะ ไม่ได้มีแค่เรื่องสัญชาติ แต่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิ ทั้งเรื่องผู้หญิง การเข้าถึงสวัสดิการ ก็เลยรู้สึกว่า ทำไมเราอินกับเรื่องสิทธิ เลยหามหาลัยที่เราสามารถเข้าเรียนได้จากการจบสายอาชีพ ก็เลยเลือกเรียนนิติ เพราะถ้ามีใครต้องการพูดคุยปรึกษาด้านสิทธิหรือสัญชาติ เราก็สามารถให้ความรู้พี่น้องชาวบ้านได้

ส่วนหนึ่งที่ได้เรียนโดยเฉพาะประเด็นสิทธิก็ได้เอามาปรับใช้ในชีวิต ทั้งในชุมชน ครอบครัว ไม่ใช่การใช้สิทธิของตัวเองในการต่อต้านครอบครัวนะคะ ฮ่าาา แต่เป็นการพูดคุยแนะนำเรื่องสิทธิ ทั้งการรักษาพยาบาล บัตรทอง คือให้ชุดข้อมูลกับญาติ ครอบครัว และคนในชุมชนได้

เป็นคนแรกในชุมชน หมู่บ้าน ที่ออกมาศึกษาเรียนต่อ และเชื่อมโยงกับประเด็นด้านสิทธิ

ใช่คะ ในชุมชนเองก็มีบ้างที่เพื่อนๆไปเรียนมหาลัย แต่ก็น้อยมากที่จะเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิ หนูน่าจะเป็นคนเดียวที่พยายามพูดเรื่องสิทธิ และพูดเรื่องราวของชุมชนให้คนนอกรู้จัก

ความตั้งใจแรกหลังเรียนจบ

ก่อนเข้ามหาลัยมีความสนใจอยากทำงานในประเด็นด้านสิทธิมาตั้งแต่แรกแล้ว พอจบมามันก็รู้สึกว่าได้ทำไปบ้างแล้ว ก็พยายามทำงานกับชุมชน และเด็กๆในชุมชนรับรู้เรื่องสิทธิ อยากปลูกฝังน้องๆแบบนั้น

การเข้าร่วมโครงการ HRC (Human Rights Camp)

รู้จักโครงการนี้ในช่วงสอบด้วย รู้สึกว่าน่าสนใจเพราะคำว่า Human Rights กแต่ก็สองจิตสองใจแต่ก็ตัดสินใจจะไป เพราะคิดว่าเราต้องได้อะไรกลับมา ซึ่งก็ได้กลับมาจริงๆ เพราะตอนแรกเรารู้จักแค่ประเด็นเรื่องสัญชาติ พอเราไปเจอเพื่อนที่อยู่สามจังหวัด ก็เห็นว่าเขาถูกละเมิดสิทธิเหมือนกัน ทำให้เรารู้สึกว่าปัญหาเรื่องสัญชาติก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาอื่นๆอีกมากมายในประเทศไทย มันค่อนข้างเปิดมุมมองให้กับเรามาก

แถมหนูได้เพื่อนสนิทจากการเข้าร่วมโครงการนี้ ถึงตอนนี้เราก็ยังสนิทกัน แล้วก็เพื่อนที่สามจังหวัดเองเราก็มีการคอนเนคกันกับเพื่อนๆ สามารถปรึกษากันได้ มีอีกอย่างนึงคือการได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับแต่ละคน มีข้อถกเถียงกับคนที่มีมุมมองต่างกัน แต่ว่าเราก็สามารถคุยกันได้ เพราะส่วนมากเพื่อนจะเรียนนิติกัน มันเลยเป็นการแลกเปลี่ยนกันที่ดีมาก

ประสบการณ์ที่โครงการพาไปเรียนรู้ชุมชน ปกาเกอะญอ บ้านสบลาน ได้เจอกับ พะตีตาแยะ ทำให้เรากลับมามองชุมชนตัวเองมากขึ้น ที่ยังมีปัญหาเรื่องการจำกัดสิทธิในพื้นที่ทำกินไปหมดแล้ว แล้วก็ในชุมชนเองก็ไม่ได้ใช้พื้นทำกินตามที่ที่เคยใช้อีกแล้ว เราก็สงสัยว่าทำไมในชุมชนยังไม่มีการพัฒนาเรื่องสาธารณูปโภค ทั้งสัญญาน โทรศัพท์ และไฟฟ้าให้เราได้ใช้

ตัดสินใจกลับมาเข้าร่วมกับ อาสาคืนถิ่น

ตอนนั้นอยากทำอะไรซักอย่างกับชุมชนในระยะหนึ่งปี อยากทดลองดูก่อน แต่เราเป็นมือใหม่ที่อยากพูดถึงชุมชนของเราให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงคนในหมู่บ้านก็ให้การสนับสนุนในการกลับไปทำงานในชุมชนได้ดีมาก

พี่ๆและเพื่อนๆ ในอาสาคืนถิ่น จะพูดคุยเรื่องการทำงานของแต่ละคน อาจจะแลกเปลี่ยนได้ยากเพราะยังไม่เคยมีประสบการณ์ แต่รู้สึกว่าได้มิตรภาพที่ดีมากๆ แล้วก็ทุกคนคือพี่ เราสามารถขอคำปรึกษาในการทำงานกับชุมชนได้กับทุกคนเลย

ตอนนี้ก็ทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต ก็จะมีนักท่องเที่ยวลองเข้ามาคนสองคน อีกอย่างก็คือจะทำงานกับเด็กและเยาวชนในชุมชนเกี่ยวกับการสื่อสารเรื่องไร่หมุนเวียนให้มากขึ้น และสามารถที่จะทำสื่อสาธารณะได้

ตอนนี้เป็นแกนคนรุ่นใหม่นำคนเดียวในชุมชน แต่ก็จะมีทีมสนับสนุนที่เป็นเพื่อนจากโครงการ HRC ด้วย คนที่มาช่วยเป็นม้ง และเพื่อนอีกคนเป็นคนพิษณุโลก จริงๆ ก็พยายามจะเล่าเรื่องชุมชน เราพยายามพูดและนำเสนอเรื่องราวให้ได้มากที่สุดในทุกๆเวทีที่ได้ไป 

เรื่องที่อยากบอกเล่าคือเรื่องไร่หมุนเวียน ตั้งแต่เด็กเราทำมาหากินตรงนี้มานานมาก ในไร่ทุกฤดูกาลเราทำหลายอย่าง มีการเก็บเกี่ยว มากิน มาทำอาหาร หรือช่วนฝนตกเราก็ไปจับกบกับพ่อ มันเป็นเรื่องราวที่ถ้ามองย้อนกลับไปมันสมบูรณ์แบบมากในการใช้ชีวิตแบบนั้นสำหรับเรา เพราะพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เพราะพวกเรารักษาไว้ ในชุมชนยังคงเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมและยังมีการอนุรักษณ์ป่า ทรัพยากรเหล่านั้นไว้ แต่ก็มีเรื่องขยะที่เราอยากแก้ไข

สัญชาติ พื้นที่ทำกิน เรื่องการศึกษา ยังคงมีปัญหาอยู่ 

เด็กๆในชุมชนยังไม่เข้าถึงโอกาสในการเข้ารับการศึกษาที่ดีในทุกวิชา เวลาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การทำกิจกรรม ในขณะเดียวกันพ่อแม่ คนในชุมชนยังมีข้อจำกัดในการทำมาหากิน เพราะกฎหมายบังคับให้เราต้องมีกรอบในการทำมาหากิน ที่ถูกจำกัด รวมถึงคนในชุมชนยังไม่ได้ต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าที่ควร ส่วนปัญหาด้านสัญชาติ ในชุมชนยังมีหลายคนที่ยังไม่รู้ข้อมูลในการ ยื่น ทำ สัญชาติ มีเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีเอกสารรับรอง 

วิถีชีวิตบนดอยและในเมืองสำหรับเรา

มันต่างกันมาก คนรุ่นใหม่ส่วนมากไม่ค่อยอยากกลับบ้านเพราะเขาอาจจะไม่อยากลำบาก เราสังเกตว่าในชุมชนแทบไม่มีคนรุ่นใหม่เลย เขาออกมาหาโอกาสกัน เพราะถ้าอยู่ที่บ้านไม่มีอะไรเลยต้องทำไร่อย่างเดียว แม้แต่ในตัวอำเภอก็ยังไม่ค่อยมีอะไรให้ทำ ก็ยากที่จะสามารถเข้าไปทำงานได้ เห็นถึงความแตกต่าง ความสะดวกสะบาย ในชุมชมไม่มีสิ่งอำนายความสะดวกให้เรา

ถ้าทุกอย่างดีก็อยากอยู่บ้าน ตอนนี้ใจจริงก็อยากอยู่บ้านเพราะทั้งได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและวิถีชีวิตตัวเองที่ เกิดและเติบโตในที่ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ถ้าที่นี่มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โรงพบาบาล การเดินทางที่ดี เราก็อยากอยู่บ้าน ด้วยธรรมชาติ วิถีชีวิต ผู้คนในชุมชน ก็คงคิดว่าไม่ได้อยากจะออกไปที่อื่น แต่ว่าก็เชื่อว่า คนรุ่นใหม่อยากหาโอกาสมากกว่าในการที่อยากได้อะไรที่ดีขึ้น

อยากให้มีไฟฟ้ามาก เพราะโซล่าเซลใช้กันมานานมาก ตอนนั้นบ้านเรายังใช้ตะเกียง เราออกมาเห็นข้างนอก ทำไมมันเหลื่อมล้ำมาก ยิ่งช่วงฤดูฝน ไม่มีแดด เราก็ไม่มีไฟฟ้าเลยเพราะมันไม่เสถียร 

ท่องเที่ยวชุมชนที่กำลังจะลองทำ อยากนำเสนอเรื่องไร่หมุนเวียน โปรแกรมก็จะมี พาไปจุดชมวิวทางก่นเข้าพื้นที่ชุมชน พอมาถึงชุมชนก็ให้พักบ้านชาวบ้าน วันต่อมาจะชวนไปไร่กับชาวบ้าน หาของ เก็บเกี่ยวผลผลิตมาทำกิน ให้เขาได้รู้จักวิถีชีวิตในไร่หมุนเวียน พร้อมกับเดินดูพื้นที่รอบชุมชนและเส้นทางธรรมชาติ กิจกรรมต่างๆ จะขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่เหมาะสม อยากให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสวิถีชีวิตให้ได้มากที่สุด 

ไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย

จริงๆ ก็ไม่คิดว่าจะเกิดกับตัวเองด้วยซ้ำ มีเหตุการณ์ที่ถูกถามว่า กระเหรี่ยง ชอบเผาป่าไม่ใช่หรอ? เราก็คิดว่า มันขนาดนั้นเลยหรอ ความเข้าใจของคนนอก แต่เราก็ได้อธิบายให้เขาฟังว่าจริงๆแล้วเป็นอย่างไร มันไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอย เราทำไร่หมุนเวียน เราก็พยายามสื่อสารในทุกครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุย ในหลายๆครั้งเราต้องอธิบายให้เขาฟัง

///

Our Ethnic Friends บทสนทนาระหว่างเพื่อนกับเพื่อน พูดคุยทำความรู้จักกับเพื่อนอาสาสมัครพร้อมกันกับพวกเรา

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish