รู้จักกับตลาดชุมชนวัดบ้านโนนมะงา ตลาดวัดบ้าน ๆ ที่เป็นมากกว่าแค่ตลาด !!
นี่คือภาพของบรรยากาศตลาดชุมชนไร้แอลกอฮอล์ที่จัดขึ้นในวัดบ้านโนนมะงา ชุมชนบ้านโนนมะงา ต.สะแก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ในช่วงสิ้นเดือน
ภายในวัดเต็มไปด้วยซาเล้งของชาวบ้านที่วางขายสินค้าบ้าน ๆ อย่างผลไม้ที่เก็บได้จากสวนหลังบ้าน หรือหอยที่ชาวบ้านพึ่งงมได้มาจากแม่น้ำมูล เด็ก ๆ บางคนกำลังขายชานมที่ชงด้วยตัวเอง บ้างก็ขายลูกชิ้นปิ้ง บ้างก็ขายอาหารอีสานที่ปรุงจากครัวหลังบ้าน
ความพิเศษของตลาดแห่งนี้ คือมีการจัดพื้นที่ส่วนกลาง ให้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของคนทุกวัย มีตั้งแต่เด็กเล็ก คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ เริ่มตั้งแต่ทางเข้าตลาดที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และพยาบาลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมะพริก จัดตั้งสถานีสุขภาพ ให้บริการวัดความดันและตรวจสุขภาพเบื้องต้นของชาวบ้านทุกคนที่มาเดินตลาด แถมยังมีบูทจัดแสดงความรู้ด้านสุขภาพเบื้องต้นกับชุมชน ใกล้กับสถานีสุขภาพก็มุมเล่นอิสระ ที่เต็มไปด้วยสมุดภาพระบายสี และเครื่องเขียนหลากหลายสีสัน ให้เด็ก ๆ ในชุมชนได้ออกมาปลดปล่อยจินตนาการผ่านการขีดเขียน ภายในตลาดยังมีการจัดให้มีสนามกีฬา ทั้งสนามฟุตบอล และสนามวอลเลย์บอล ที่เต็มไปด้วยเด็ก ๆ ผู้ปกครองและผู้สูงอายุกำลังเล่นกีฬาด้วยกัน พร้อมส่งเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนาน
เพื่อไม่ให้บรรยากาศของตลาดเงียบเกินไปนัก ตลาดส่วนใหญ่มักจะเปิดเพลงหรือดนตรีคลอไปด้วย แต่ว่าเสียงเพลงที่ได้ยินจากตลาดชุมชนวัดบ้านโนนมะงากลับมีเนื้อหาที่น่าสนใจและแตกต่างจากตลาดแห่งอื่น
“ฟังไว้เด้อพวกคนเฒ่า ทั้งหนุ่มสาว พ่อและแม่ สุขภาพดีแท้มีได้ทุกคน สุขภาพดีล้นต้องสร้างก่อกระทำเอา อย่ามัวเมานำเหล้าแอลกอฮอล์เด้อเจ้า…” นี่คือส่วนหนึ่งของเสียงเพลงกลอนลำ เล่นกินลดเสี่ยง ที่ถูกร้องลำนำโดยหมอลำของชุมชน ซึ่งทีมผู้ก่อตั้งตลาดตั้งใจให้ผลิตเพลงนี้ขึ้นมา หวังให้เป็นสื่อที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพกับชาวบ้านในชุมชน
เบื้องหลังของตลาดชุมชนสุดน่ารักแห่งนี้ ถูกขับเคลื่อนโดยทีมห้องเรียนเถียงนา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดยแฮ็คส์ นก บังอร สามสาวกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของชุมชน
“คนในชุมชนเรา มีปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือนที่รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ทําให้วัยแรงงานที่มีกําลังก็ออกไปทํางานข้างนอก ก็จะเหลือคนที่อยู่ในชุมชนหลัก ๆ ก็จะเป็นผู้สูงอายุกับเด็ก หลายคนเลี้ยงลูกหลานด้วยมือถือ ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ลดลง มันจะนําไปสู่เรื่องของการนําปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องแอลกอฮอล์หรือสิ่งเสพติดในชุมชนมันก็ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ” แฮ็คส์-เยาวลักษณ์ บุญตา สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพของชุมชนให้ฟัง
กลุ่มห้องเรียนเถียงนาได้พยายามขับเคลื่อนการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมแกนนำให้มีทักษะการทำงานในชุมชนที่ดีขึ้น การสร้างพื้นที่ในชุมชนให้มีกิจกรรมร่วมกัน อย่างเช่น การจัดทำตลาดชุมชนชน หรือเปลี่ยนพื้นที่หน้าบ้านให้เป็นสวนผักของเด็ก ๆ รวมไปถึงมีการเชื่อมภาคีเครือข่ายท้องถิ่นอย่างเทศบาล โรงเรียน หรือรพ.สต.ในชุมชน
เมื่อชุมชนมีกิจกรรมมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยลดเวลาในการไปดื่มแอลกอฮอล์ ทีมงานหลักเองก็ลดเวลาในการดื่มลง รวมไปถึงชาวบ้านในชุมชนก็ลดปริมาณในการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเห็นได้ชัด
“แต่ก่อนเป็นคนดื่มตามวาระหรือว่าตามงาน แต่ว่าพอเรามาทํากิจกรรม เรามีความตระหนักมากขึ้น การกินอะไรเงี้ย เราต้องมองดูครอบครัว แล้วก็ลูกเราด้วย เพราะว่าเขาเป็นเด็กด้วย เราต้องเป็นแบบอย่างให้เขาด้วย เหมือนมีจิตสํานึกมากขึ้น” อมรรัตน์ หลอมพลทัน หนึ่งในแกนนำหลักของห้องเรียนเถียงนาเล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ
นับได้ว่ากลุ่มห้องเรียนเถียงนาเป็นตัวอย่างที่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งพวกเขาได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน เพื่อทำกิจกรรมลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เกิดการเชื่อมโยงความร่วมมือในระดับท้องถิ่น และเกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ทีมทำงาน ไปจนถึงระดับชุมชน
สามารถไปเที่ยวตลาดชุมชนบ้านโนนมะงา และติดตามความเคลื่อนไหวของห้องเรียนเถียงนาได้ที่นี่ 👇👇
และสามารถรับชมเนื้อหาในรูปแบบวิดิโอได้ที่ลิ้งก์นี้ 👇👇