โดย : โครงการคนรุ่นใหมกับการลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และลดความเหลื่อมล้ำบนฐานชุมชน
หากลองตั้งสมมติฐานว่าโครงสร้างทางสังคมที่ประกอบไปด้วยความเหลื่อมล้ำตั้งแต่การศึกษา การประกอบอาชีพ และการดูแลสุขภาพ มีส่วนผลักดันให้บุคคลเกิดความตึงเครียด แล้วหันหน้าเข้าสู่การพึ่งพาปัจจัยเสี่ยงซึ่งได้แก่ แอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน ได้อย่างไรบ้าง แล้วหน้าตาของความไม่เท่าเทียมนั้นเป็นอย่างไร? หากลองวิเคราะห์จะเห็นว่า
จากปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้นโยบายกับระบบทุนที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มที่ถือครองความมั่งคั่งเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงให้ความสำคัญกับการเติบโตทางผลกำไรมากกว่า ‘สวัสดิการทางสังคม’ ส่งผลต่อการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาส ที่ไม่เท่าเทียยมกัน จากสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในโครงสร้างมาโดยตลอด
- การศึกษา โอกาสทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันอาจนำไปสู่โอกาสในการทำงานที่จำกัด ทำให้ศักยภาพในการสร้างรายได้ลดลง
- ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจกับค่าครองชีพ การดิ้นรนให้มาซึ่งรายได้ อุปสรรคทางการเงิน ส่งผลต่อความความเครียดกับการต้องเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคง
- ความเครียดในที่ทำงาน จากระบบอุตสาหกรรมที่มีชั่วโมงการทำงานในโรงงานที่ยาวนานสวนทางกับค่าแรง ในขณะที่สภาพแวดล้อมการทำงานส่งผลให้มีความพึงพอใจในงานต่ำ
- ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำกัด และการคุ้มครองการรักษาพยาบาลที่ยังไม่ครอบคลุม
ยังมีอีกหลายมิติที่เป็นองค์ประกอบของปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ เมื่อยังไม่มีการจัดการกับความไม่เท่าเทียมหรือให้การสนับสนุนทางสังคมที่เพียงพอ ก่อให้เกิดวงจรความเสียเปรียบอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ในระดับปัจเจกบุคคลเกิดสภาวะไร้ความมั่นคง รู้สึกไร้อำนาจในการต่อรอง มีความเครียด ความวิตกกังวล ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงอย่าง แอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน จึงเป็นหนทางหนึ่งในการบรรเทาความทุกข์ทางอารมณ์เหล่านี้
ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนขับเคลื่อนด้วยผลกำไร และใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุก รวมถึงการตัดสินใจทางการเมืองที่ส่งผลต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยที่ผลกระทบของการพึ่งพาปัจจัยเสี่ยง สามารถทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวตึงเครียด นำไปสู่ความขัดแย้ง รวมถึงการแยกตัวทางสังคม จากการตีตรา สร้างอคติ และการตัดสิน มุมมองเหล่านี้อาจชี้ให้เห็นว่าเงื่อนไขที่ถูกสร้างขึ้นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทย ส่งผลกระทบในด้านการดำรงชีวิต การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และปัญหาด้านสุขภาพ
‘สุขภาพที่ดีถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน’
ความเสมอภาคด้านสุขภาพ (Health equity) เป็นแนวคิดที่พูดถึงหลักการในการรับประกันว่าทุกคนมีโอกาสในการมีสุขภาพที่ดีอย่างยุติธรรม ไม่ว่าสถานการณ์ทางสังคมหรือเศรษฐกิจจะมีลักษณะแบบใด รวมถึงการจัดการด้านสุขภาพและการส่งเสริมการเข้าถึงบริการ หรือทรัพยากรด้านการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียมกันสำหรับบุคคลทุกคน
ความเสมอภาคด้านสุขภาพถูกกำหนดโดยเงื่อนไขที่ผู้คนเกิด เติบโต มีชีวิตอยู่ ทำงาน และช่วงอายุ รวมถึงปัจจัยกำหนดทางชีวภาพ ปัจจัยกำหนดเชิงโครงสร้าง (การเมือง กฎหมาย และเศรษฐกิจ) ที่มีบรรทัดฐานทางสังคมและกลไกทางการเมืองเป็นตัวกำหนดรูปแบบการกระจายอำนาจ และการตระหนักถึงสิทธิด้านสุขภาพ
ในโครงการ ‘คนรุ่นใหมกับการลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และลดความเหลื่อมล้ำบนฐานชุมชน’ ต้องการที่จะสร้างนิเวศชุมชนให้มีความเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ และผลกระทบ เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับปัจเจก ชุมชน สังคม เพื่อขจัดความไม่เสมอภาค รวมถึงการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพในชุมชน
10 พื้นที่ปฏิบัติการร่วมสร้างนิเวศน์ชุมชน
- กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
- ชุมชนแรงงานอ่างทองพื้นที่อำเภอเมืองอ่างทอง
- สหภาพแรงงานและชุมชนพื้นที่จังหวัดสระบุรี
- ชุมชนบ้านโนนมะงา ตำบลสะแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
- ชุมชนตำบลธงธานี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
- ชุมชนตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
- ตำบลเขวาไร่ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
- ตำบลสันโป่ง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
- ชุมชนบ้านหนองเลา ตำบลภูซาง จังหวัดพะเยา
- ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ในบริบทที่แตกต่างและหลากหลายของแต่ละพื้นที่อย่าง ประเด็นแรงงาน ประเด็นด้านสุขภาพจิต การลดความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมภาคประชาชน และภาคเกษตรกรที่แข็งแรง และอื่นๆ
ประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงมิติของปัญหาที่เกิดขึ้นใน 10 พื้นที่ชุมชนหลังจากการเก็บข้อมูล โดยมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นแกนนำในการผลักดันและมีส่วนร่วมพัฒนา ออกแบบ ให้ชุมชนมีศักยภาพ และสร้างนิเวศน์ชุมชนในฝันที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำ ลดปัจจัยเสี่ยง และ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพได้
เพราะไม่เพียงแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจและนโยบายเท่านั้น แต่หากมองระดับที่ย่อยลงมาให้เอื้อมถึงได้อย่างความพยายามที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของปัจจัยเสี่ยง และส่งเสริมกลไกการรับมือ สร้างระบบสนับสนุนสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ จึงเป็นหนึ่งในเส้นทางการสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเด็นความเป็นธรรมด้านสุขภาพในชุมชน